แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

วันอาทิตย์ที่ 3 เทศกาลมหาพรต

พระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญยอห์น (ยน 4:5-42)                                                      

เวลานั้น พระเยซูเจ้าเสด็จมาถึงเมืองหนึ่งในแคว้นสะมาเรียชื่อสิคาร์ ใกล้ที่ดินที่ยาโคบยกให้โยเซฟบุตรชาย ที่นั่นมีบ่อน้ำของยาโคบ พระเยซูเจ้าทรงเหน็ดเหนื่อยจากการเดินทาง จึงประทับที่ขอบบ่อ ขณะนั้นเป็นเวลาประมาณเที่ยงวัน หญิงชาวสะมาเรียคนหนึ่งมาตักน้ำ พระเยซูเจ้าตรัสแก่นางว่า “ขอน้ำดื่มสักหน่อยเถิด” บรรดาศิษย์ของพระองค์ไปซื้ออาหารในเมือง หญิงชาวสะมาเรียทูลพระองค์ว่า “ท่านเป็นชาวยิว ทำไมจึงขอน้ำดื่มจากดิฉันซึ่งเป็นชาวสะมาเรียเล่า” เพราะชาวยิวไม่ติดต่อกับชาวสะมาเรียเลย พระเยซูเจ้าตรัสตอบนางว่า

“หากท่านรู้จักของประทานของพระเจ้า และรู้จักผู้ที่บอกท่านว่า “ขอน้ำดื่มสักหน่อยเถิด” ท่านคงกลับเป็นผู้ขอ และผู้นั้นจะให้ “น้ำที่ให้ชีวิต” แก่ท่าน นางจึงทูลว่า “นายเจ้าข้า ท่านไม่มีถังตักน้ำ และบ่อก็ลึกมาก ท่านจะเอาน้ำที่ให้ชีวิต มาจากไหน ท่านยิ่งใหญ่กว่ายาโคบ บรรพบุรุษของเราหรือ ยาโคบให้บ่อน้ำนี้แก่เรา ยาโคบลูกหลานและฝูงสัตว์ก็ได้ดื่มน้ำจากบ่อนี้” พระเยซูเจ้าตรัสตอบว่า “ทุกคนที่ดื่มน้ำนี้จะกระหายอีก แต่ผู้ที่ดื่มน้ำซึ่งเราจะให้นั้นจะไม่กระหายอีก น้ำที่เราจะให้เขาจะกลายเป็นธารน้ำในตัวเขา ไหลรินเพื่อชีวิตนิรันดร” หญิงนั้นจึงทูลว่า “นายเจ้าขา โปรดให้น้ำนั้นแก่ดิฉันบ้าง เพื่อดิฉันจะไม่ต้องกระหายหรือต้องมาตักน้ำที่นี่อีก” พระเยซูเจ้าตรัสแก่นางว่า “จงไปเรียกสามีของเธอ และกลับมาที่นี่” หญิงผู้นั้นทูลตอบว่า “ดิฉันไม่มีสามี” พระเยซูเจ้าตรัสแก่นางว่า “เธอพูดถูกแล้วที่ว่า “ดิฉันไม่มีสามี” เพราะเธอมีสามีมาแล้วถึงห้าคน และคนที่อยู่กับเธอเวลานี้ ก็ไม่ใช่สามีของเธอด้วย เธอพูดจริงทีเดียว” หญิงผู้นั้นจึงทูลว่า “ดิฉันเห็นแล้วว่าท่านเป็นประกาศก บรรพบุรุษของเราเคยนมัสการพระเจ้าบนภูเขานี้แต่ท่านพูดว่า สถานที่สำหรับนมัสการพระเจ้าคือกรุงเยรูซาเล็ม” พระเยซูเจ้าตรัสแก่นางว่า “นางเอ๋ย เชื่อเราเถิด ถึงเวลาแล้วที่ท่านทั้งหลายจะนมัสการพระบิดาเจ้าไม่ใช่เฉพาะบนภูเขานี้ หรือที่กรุงเยรูซาเล็ม ท่านนมัสการพระเจ้าที่ท่านไม่รู้จัก แต่เรานมัสการพระเจ้าที่เรารู้จัก เพราะความรอดพ้นมาจากชาวยิว แต่จะถึงเวลาคือเวลานี้ เมื่อผู้นมัสการแท้จริงจะนมัสการพระบิดาเจ้าเดชะพระจิตเจ้า และตามความจริง เพราะพระบิดาทรงแสวงหาผู้นมัสการพระองค์เช่นนี้ พระเจ้าทรงเป็นจิต ผู้ที่นมัสการพระองค์ จะต้องนมัสการเดชะพระจิตเจ้า และตามความจริง” หญิงผู้นั้นจึงทูลว่า “ดิฉันรู้ว่า พระเมสสิยาห์คือพระคริสต์กำลังจะเสด็จมา และเมื่อเสด็จมา พระองค์จะทรงแจ้งทุกเรื่องให้เรารู้” พระเยซูเจ้าตรัสว่า “เราที่กำลังพูดอยู่กับเธอคือพระเมสสิยาห์” ขณะนั้น บรรดาศิษย์มาถึง รู้สึกประหลาดใจที่พระองค์ทรงสนทนาอยู่กับหญิงผู้นั้น แต่ไม่มีใครทูลถามว่า “พระองค์ทรงต้องการสิ่งใดจากนาง” หรือว่า “พระองค์กำลังตรัสอะไรกับนาง” หญิงผู้นั้นทิ้งไหน้ำของนางไว้ที่นั่น กลับเข้าไปในเมือง และบอกประชาชนว่า “มาเถิด มาดูชายคนหนึ่งที่บอกทุกอย่างที่ดิฉันเคยทำ เขาเป็นพระคริสต์กระมัง” ประชาชนจึงออกจากเมืองมาเฝ้าพระองค์ ระหว่างนั้น บรรดาศิษย์ทูลรบเร้าพระองค์ว่า “รับบี เชิญรับประทานอาหารบ้างเถิด” แต่พระองค์ตรัสตอบว่า “เรามีอาหารอื่นที่ท่านทั้งหลายไม่รู้จัก” บรรดาศิษย์จึงถามกันว่า “มีใครนำสิ่งใดมาให้พระองค์รับประทานหรือ” พระเยซูเจ้าจึงตรัสกับเขาว่า “อาหารของเราคือการทำตามพระประสงค์ของพระผู้ทรงส่งเรามา และการประกอบภารกิจของพระองค์ให้สำเร็จลุล่วงไป ท่านพูดกันมิใช่หรือ อีกสี่เดือนก็จะถึงเวลาเก็บเกี่ยว ถูกแล้ว เราบอกท่านทั้งหลายว่า จงเงยหน้าขึ้น มองดูทุ่งนาเถิด ทุ่งนาเหลืองอร่ามพร้อมจะเก็บเกี่ยวได้แล้ว

คนเก็บเกี่ยวกำลังจะรับค่าจ้างและรวบรวมผลไว้เพื่อชีวิตนิรันดร เพื่อทั้งคนหว่านและคนเก็บเกี่ยวจะมีความยินดีร่วมกัน ในกรณีนี้ก็เป็นจริงตามคำพูดที่ว่า คนหนึ่งหว่าน อีกคนหนึ่งเก็บเกี่ยว เราส่งท่านทั้งหลายไปเก็บเกี่ยวสิ่งที่ท่านไม่ได้ลงแรงทำงานไว้ คนอื่นลงแรงไว้แล้วท่านเข้ามาเก็บผลจากแรงงานของพวกเขา” ชาวสะมาเรียหลายคนจากเมืองนั้นมีความเชื่อในพระองค์ เพราะคำของหญิงคนนั้นที่ยืนยันว่า “เขาได้บอกทุกสิ่งที่ดิฉันเคยทำ” เมื่อชาวสะมาเรียมาเฝ้าพระองค์แล้ว ก็วอนขอให้ประทับอยู่กับเขา พระองค์ประทับอยู่ที่นั่นสองวัน คนที่มีความเชื่อเพราะพระวาจาของพระองค์มีจำนวนมากขึ้น เขากล่าวแก่หญิงผู้นั้นว่า “เรามีความเชื่อไม่ใช่เพราะคำพูดของท่านอีกแล้ว เราเองได้ยินและรู้ว่า พระองค์เป็นพระผู้ไถ่ของโลกโดยแท้จริง”


ยน 4:1-45 พงษ์พันธุ์ดั้งเดิม 12 เผ่าของชาวอิสราเอลที่อาศัยอยู่ในแผ่นดินคานาอันนั้นได้แบ่งแยกออกเป็นอาณาจักรทางเหนือ ซึ่งประกอบด้วยสองเผ่า ตั้งถิ่นฐานอยู่ที่เยรูซาเล็ม และอาณาจักรทางใต้ ซึ่งเป็นการรวมตัวของอีกสิบเผ่าที่เหลือ อาศัยอยู่ทางแคว้นสะมาเรีย ในศตวรรษที่ 8 ก่อนคริสตกาล ชาวอัสซีเรียได้มีชัยชนะต่ออาณาจักรทางเหนือ ส่วนหนึ่งของพวกเขาจึงถูกเนรเทศ ที่เหลือนั้นก็ได้มีการสมรสกับคนต่างศาสนา หลังจากนั้นประมาณหนึ่งถึงสองศตวรรษ อาณาจักรทางใต้ก็ได้พ่ายแพ้แก่พวกบาบิโลน ต้องถูกอพยพเช่นกัน เป็นช่วงเวลานี้เองที่ความเชื่อและการปฏิบัติศาสนาของพวกเขาแตกแยกเป็นสองกลุ่ม ประเด็นหลักที่ถกเถียงกันก็คือเรื่องที่ตั้งของพระวิหาร ชาวสะมาเรียได้สร้างพระวิหารที่เมืองเกริซิม โดยเชื่อว่านั่นเป็นสถานที่ซึ่งพระเจ้าทรงประสงค์ให้เป็นศูนย์กลางของการนมัสการ มิใช่ที่กรุงเยรูซาเล็ม แต่พระวิหารนี้ได้ถูกทำลายไปโดยกษัตริย์เยวิสในศตวรรษที่สองก่อนคริสตกาล ชาวสะมาเรียคงยึดเพียงโทราห์เป็นหนังสือศักดิ์สิทธิ์ ส่วนใหญ่จึงได้หลงลืมหนังสือปรีชาญาณและหนังสือประกาศกไป พวกเขาพอใจถูกเรียกว่าชาวอิสราเอลและเชื่อว่าพวกเขาคือผู้สืบเชื้อสายโดยตรงจากโมเสส ในสมัยของพระเยซูเจ้าชาวยิวและชาวสะมาเรียดูหมิ่นและเป็นศัตรูต่อกันและกันอย่างเปิดเผย      


ยน 4:4-6  จำเป็นต้องเสด็จผ่านแคว้นสะมาเรีย : ในสมัยพระเยซูเจ้ามีสองเส้นทางหลักจากแคว้นยูดาห์ไปยังแคว้นกาลิลีคือ เส้นทางหนึ่งจะเลาะไปตามแม่น้ำจอร์แดน เป็นระยะทางสั้นกว่า ผ่านทางเมืองสะมาเรีย แต่ชาวยิวถือว่าชาวสะมาเรียเป็นพวกมีมลทิน จึงมักเลือกเดินทางไปอีกทางหนึ่งซึ่งมีระยะทางยาวกว่า  เหน็ดเหนื่อย : พระคริสตเจ้าผู้ทรงเป็นมนุษย์แท้ ยกเว้นแต่การทำบาป ทรงทำประสบการณ์ของมนุษย์ในความยากลำบาก ความหิวและกระหาย      

การแจ้งข่าวเรื่องพระอาณาจักรของพระเจ้า

CCC ข้อ 544 พระอาณาจักรนี้เป็นอาณาจักรของคนยากจนและต่ำต้อย นั่นคือเป็นของคนเหล่านั้นที่รับพระอาณาจักรด้วยจิตใจถ่อมตน พระเจ้าทรงส่งพระเยซูเจ้ามา “ประกาศข่าวดีแก่คนยากจน” (ลก 4:18) พระองค์ทรงประกาศว่าคนเหล่านี้ย่อมเป็นสุข “เพราะอาณาจักรสวรรค์เป็นของเขา” (มธ 5:3) พระบิดาทรงโปรดที่จะเปิดเผยเรื่องที่ถูกปิดบังไว้จากผู้มีปรีชาและรอบรู้ให้แก่ “บรรดาผู้ต่ำต้อย” เหล่านี้ พระเยซูเจ้าทรงร่วมชีวิตของผู้ยากจนนับตั้งแต่ทรงสมภพในรางหญ้าจนถึงไม้กางเขน ทรงมีประสบการณ์ความหิวโหย ความกระหาย และความขัดสน ยิ่งกว่านั้น  พระองค์ยังทรงกระทำพระองค์เป็นหนึ่งเดียวกับคนยากจนทุกชนิดและทรงกำหนดให้ความรักต่อคนเหล่านี้เป็นเงื่อนไขที่ผู้หนึ่งจะเข้าในพระอาณาจักรของพระองค์ได้   

CCC ข้อ 545 พระเยซูเจ้าทรงเชิญคนบาปเข้ามาร่วมโต๊ะของพระอาณาจักร “เราไม่ได้มาเพื่อเรียกคนชอบธรรม แต่เรามาเพื่อเรียกคนบาป” (มก 2:17) พระองค์ทรงเชิญคนเหล่านี้ให้กลับใจ ถ้าไม่กลับใจก็จะเข้าพระอาณาจักรไม่ได้ แต่ก็ยังทรงแสดงทั้งด้วยพระวาจาและการกระทำให้เขาเหล่านั้นแลเห็นพระกรุณาหาขอบเขตมิได้ของพระบิดาต่อเขาทั้งหลายด้วย และยังตรัสด้วยว่า “จะมีความยินดียิ่งใหญ่ในสวรรค์เพราะคนบาปคนหนึ่งกลับใจ” (ลก 15:7) การพิสูจน์สูงสุดของความรักนี้ก็คือการถวายชีวิตของพระองค์เองเป็นบูชา “เพื่ออภัยบาปของมนุษย์ทั้งหลาย” (มธ 26:28)    


ยน 4:7-9  การพบปะนี้มีความหมายในหลายระดับด้วยกัน ชาวยิวไม่คบค้าสมาคมกับชาวสะมาเรียด้วยการมองว่าพวกเขาเป็นคนละทิ้งศาสนาและเป็นคนบาป ชาวยิว อย่างเช่นพวกรับบีย่อมไม่พูดจากับสตรีในที่สาธารณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับหญิงชาวสะมาเรีย เช่นนี้ มลทินของชาวสะมาเรียย่อมทำให้น้ำในบ่อของชาวสะมาเรียมีมลทินไปด้วย 

พระเยซูเจ้าและธรรมบัญญัติ    

CCC ข้อ 579 หลักการที่ต้องปฏิบัติตามธรรมบัญญัติโดยครบถ้วนนี้ไม่หมายเพียงการปฏิบัติตามตัวอักษร แต่ตามเจตนารมณ์ด้วยนั้น ชาวฟาริสีถือว่าเป็นเรื่องใหญ่ เขาสอนหลักการนี้แก่ชาวอิสราเอล นำชาวยิวจำนวนมากในสมัยพระเยซูเจ้าให้มีความกระตือรือร้นอย่างยิ่ง ความกระตือรือร้นนี้ ถ้าไม่สลายตัวกลายเป็นการถกเถียงกันถึงรายละเอียดแบบหน้าซื่อใจคดเท่านั้น น่าจะเตรียมประชาชนไว้สำหรับการเสด็จมาของพระเจ้าอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนโดยที่ผู้ชอบธรรมเพียงผู้เดียวซึ่งจะปฏิบัติตามธรรมบัญญัติอย่างสมบูรณ์แทนที่คนบาปทุกคน    


ยน 4:10-14  ท่านคงกลับเป็นผู้ขอ... น้ำที่ให้ชีวิต : พระคริสตเจ้าทรงหมายถึง “น้ำ” ที่ให้ชีวิตประทานจากพระจิตเจ้า และน้ำแห่งศีลล้างบาป ที่ประทานความสุขแท้ คือ “บ่อน้ำ” แห่งการอธิษฐานภาวนาที่เราสามารถ “ตักตวงน้ำ” คือพิธีบูชาขอบพระคุณ พระคัมภีร์ และพิธีกรรม รวมทั้งการปฏิบัติคุณธรรมทางเทววิทยา      

สัญลักษณ์ของพระจิตเจ้า   

CCC ข้อ 694 “น้ำ” เป็นสัญลักษณ์ซึ่งหมายถึงการกระทำของพระจิตเจ้าในศีลล้างบาป เนื่องจากว่าหลังจากการเรียกขานพระจิตเจ้าแล้ว น้ำกลายเป็นเครื่องหมายศีลศักดิ์สิทธิ์ของการเกิดใหม่ การเกิดครั้งแรกของเราเกิดขึ้นในน้ำภายในครรภ์มารดาฉันใด อันที่จริงน้ำศีลล้างบาปก็หมายความว่าเราได้เกิดมารับชีวิตของพระเจ้าเดชะพระจิตเจ้าฉันนั้น แต่ “เดชะพระจิตเจ้าพระองค์เดียว เราทุกคนได้รับการล้างมารวมกัน[…] เราทุกคนต่างได้รับพระจิตเจ้าพระองค์เดียวกัน” (1 คร 12:13) พระจิตเจ้าเองจึงทรงเป็นน้ำทรงชีวิตที่เกิดจากพระคริสตเจ้าผู้ทรงถูกตรึงกางเขนประหนึ่งจากพุน้ำซึ่งไหลรินในตัวเราเพื่อชีวิตนิรันดร    

พระเยซูคริสตเจ้า

CCC ข้อ 728 พระเยซูเจ้ามิได้ทรงเปิดเผยเรื่องพระจิตเจ้าเต็มที่จนกระทั่งพระองค์ทรงได้รับพระสิริรุ่งโรจน์โดยการสิ้นพระชนม์และทรงกลับคืนพระชนมชีพแล้วเท่านั้น ถึงกระนั้นพระองค์ก็ทรงกล่าวพาดพิงถึงพระจิตเจ้าบ้างแล้วเมื่อตรัสสอนประชาชน เมื่อทรงเปิดเผยว่าพระกายของพระองค์เป็นอาหารเพื่อชีวิตในอนาคตของโลก พระองค์ยังตรัสพาดพิงถึงพระจิตเจ้าด้วยกับนิโคเดมัส กับหญิงชาวสะมาเรีย และกับประชาชนที่มาร่วมฉลองเทศกาลอยู่เพิงพร้อมกับพระองค์ พระองค์ตรัสอย่างเปิดเผยแก่บรรดาศิษย์เมื่อตรัสเกี่ยวกับการอธิษฐานภาวนา และการเป็นพยานที่พวกเขาจะต้องแสดงถึงพระองค์    

ผู้ประกอบพิธีกรรมในสวรรค์

CCC ข้อ 1137 หนังสือวิวรณ์ของนักบุญยอห์นที่อ่านในพิธีกรรมของพระศาสนจักร ก่อนอื่นเปิดเผยให้เราเห็นพระบัลลังก์องค์หนึ่งตั้งไว้ในสวรรค์และผู้ประทับอยู่บนพระบัลลังก์นั้น คือ “องค์พระผู้เป็นเจ้า” (อสย 6:1) แล้วจึงเห็น “ลูกแกะยืนอยู่ทั้งๆ ที่ถูกประหารชีวิตแล้ว” (วว 5:6) พระคริสตเจ้าผู้ทรงถูกตรึงกางเขนและกลับคืนพระชนมชีพแล้ว พระมหาสมณะหนึ่งเดียวของกระโจมแท้จริง ทรงเป็นพระองค์เดียวที่ทรงเป็น “ทั้งผู้ถวายและถูกถวาย ผู้รับและผู้ให้” ในที่สุด เรายังเห็น “แม่น้ำแห่งชีวิต […] ไหลจากพระบัลลังก์ของพระเจ้าและของลูกแกะ” (วว 22:1) เป็นหนึ่งในเครื่องหมายงดงามที่สุดของพระจิตเจ้า    

การอธิษฐานภาวนาในฐานะของประทานจากพระเจ้า

CCC ข้อ 2560 “หากท่านรู้จักของประทานของพระเจ้า” (ยน 4:10) ความน่าพิศวงของการอธิษฐานภาวนาได้รับการเปิดเผยริมบ่อน้ำที่พวกเรามาตักน้ำ ที่ตรงนั้นพระคริสตเจ้าเสด็จมาพบเรามนุษย์ทุกคน พระองค์ทรงเป็นคนแรกที่มาหาพวกเราและขอน้ำดื่ม พระเยซูเจ้าทรงกระหาย คำขอของพระองค์มาจากส่วนลึกของพระเจ้าผู้ทรงปรารถนาพวกเรา ไม่ว่าเราจะรู้หรือไม่ การอธิษฐานภาวนาเป็นการที่ความกระหายของพระเจ้าและของเรามาพบกัน พระเจ้าทรงกระหายอยากให้เรากระหายหาพระองค์    

CCC ข้อ 2561 “ท่านคงกลับเป็นผู้ขอ และผู้นั้นจะให้น้ำที่ให้ชีวิตแก่ท่าน” (ยน 4:10) ดูเหมือนว่าไม่น่าจะเป็นไปได้ คำภาวนาวอนขอของเรากลับเป็นคำตอบ เป็นคำตอบต่อคำวอนขอของพระเจ้าผู้ทรงชีวิต “เขาได้ละทิ้งเราซึ่งเป็นพุน้ำไหล แล้วไปสกัดหินเป็นที่ขังน้ำสำหรับตน เป็นที่ขังน้ำรั่วซึ่งเก็บน้ำไว้ไม่ได้” (ยรม 2:13) เป็นคำตอบของความเชื่อต่อพระสัญญาที่จะประทานความรอดพ้นให้เปล่าๆ เป็นคำตอบของความรักต่อความกระหายของพระบุตรเพียงพระองค์เดียว 

บ่อเกิดของการอธิษฐานภาวนา    

CCC ข้อ 2652 พระจิตเจ้าซึ่งเป็น “ธารน้ำ” ที่ไหลริน “เพื่อชีวิตนิรันดร” ในใจของผู้อธิษฐานภาวนา พระจิตเจ้ายังทรงสอนเราให้รับน้ำนี้จากพระคริสตเจ้าซึ่งทรงเป็นตาน้ำเอง ในชีวิตคริสตชนมีธารน้ำหลายสายจากตาน้ำนี้ ที่พระคริสตเจ้าทรงคอยอยู่เพื่อจะให้เราดื่มน้ำนี้ คือพระจิตเจ้า

พระวาจาของพระเจ้า

CCC ข้อ 2653 พระศาสนจักร “จึงขอเตือนอย่างหนักแน่นเป็นพิเศษให้คริสตชนทั้งหลาย […] ได้อ่านพระคัมภีร์บ่อยๆ เพื่อจะได้เรียนรู้ ‘ความรู้ล้ำเลิศถึงพระเยซูคริสตเจ้า’ (ฟป 3:8) […] ให้เขาระลึกด้วยว่าการอ่านพระคัมภีร์จะต้องมีการภาวนาควบคู่อยู่ด้วยเสมอ เพื่อจะเป็นการสนทนาของพระเจ้ากับมนุษย์ เพราะว่า ‘เราพูดกับพระเจ้าเมื่อเราภาวนา เราฟังพระองค์เมื่อเราอ่านพระวาจา’”

  CCC ข้อ 2654 บรรดาปิตาจารย์ผู้สอนเรื่องชีวิตจิต เมื่ออธิบายพระวรสาร มธ 7:7 สรุปถึงท่าทีของจิตใจที่ได้รับการหล่อเลี้ยงด้วยพระวาจาในการอธิษฐานภาวนาไว้ว่า “จงแสวงหาโดยอ่าน และท่านจะพบเมื่อไตร่ตรอง จงเคาะด้วยการอธิษฐานภาวนา และพระเจ้าจะทรงเปิดใจให้ท่านโดยการเพ่งฌาณ”

พิธีกรรมของพระศาสนจักร

CCC ข้อ 2655 พันธกิจของพระคริสตเจ้าและของพระจิตเจ้าซึ่งประกาศพระธรรมล้ำลึกเรื่องความรอดพ้น ทำให้พระธรรมล้ำลึกนี้เป็นปัจจุบันเผยแผ่ออกไปในพิธีกรรมของพระศาสนจักร ยังดำเนินต่อไปในใจที่อธิษฐานภาวนา บรรดาปิตาจารย์ผู้สอนเรื่องชีวิตจิตบางครั้งเปรียบใจของเรากับพระแท่นบูชา การอธิษฐานภาวนาทำให้พิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์เข้ามาอยู่ในใจเป็นของตนโดยเฉพาะ ทั้งในช่วงเวลาประกอบพิธีกรรมและหลังจากการประกอบพิธีแล้ว การอธิษฐานภาวนา แม้จะเกิดขึ้น “ในห้องส่วนตัว” (มธ 6:6) ก็เป็นการอธิษฐานภาวนาของพระศาสนจักรเสมอ การอธิษฐานภาวนานี้เป็นความสัมพันธ์กับพระตรีเอกภาพศักดิ์สิทธิ์

คุณธรรมเกี่ยวกับพระเจ้า

CCC ข้อ 2656 การเข้าในการอธิษฐานภาวนาเกิดขึ้นเช่นเดียวกับการเข้าร่วมพิธีกรรม คือผ่านทางความเชื่อที่เป็นเหมือนประตูแคบ เราอยากได้และแสวงหาพระพักตร์ขององค์พระผู้เป็นเจ้าผ่านเครื่องหมายการประทับอยู่ของพระองค์ เราอยากได้ยินและรักษาพระวาจาของพระองค์ไว้

  CCC ข้อ 2657 พระจิตเจ้าผู้ทรงสอนเราให้ประกอบพิธีกรรมขณะที่รอคอยการเสด็จกลับมาของพระคริสตเจ้าทรงย้ำให้เราอธิษฐานภาวนาด้วยความหวัง  ในทางกลับกัน การอธิษฐานภาวนาของพระศาสนจักรและการอธิษฐานภาวนาส่วนตัวของเราก็หล่อเลี้ยงความหวังด้วย เพลงสดุดีโดยเฉพาะ ใช้สำนวนที่เป็นรูปธรรมต่างๆ สอนเราให้มีความหวังแน่วแน่ในพระเจ้า “ข้าพเจ้ารอคอยองค์พระผู้เป็นเจ้าด้วยความหวังและพระองค์ก็ทรงฟังเสียงร้องของข้าพเจ้า” (สดด 40:1) “ขอพระเจ้าผู้ประทานความหวังโปรดให้ท่านทั้งหลายเปี่ยมด้วยความยินดีและสันติทุกประการในการที่ท่านเชื่อเช่นนั้น เพื่อว่าท่านทั้งหลายจะได้มีความหวังอย่างเต็มเปี่ยมเดชะพระฤทธานุภาพของพระจิตเจ้า” (รม 15:13)

  CCC ข้อ 2658 “ความหวังไม่ทำให้เราผิดหวัง เพราะพระจิตเจ้าซึ่งพระเจ้าประทานให้เราทรงหลั่งความรักของพระเจ้าลงในดวงใจของเรา” (รม 5:5) การอธิษฐานภาวนาที่รับการหล่อเลี้ยงจากพิธีกรรมตักตวงทุกสิ่งในความรักที่พระคริสตเจ้าทรงรักเราและโปรดให้เราตอบสนองพระองค์ด้วยความรักเหมือนกับที่ทรงรักเรา ความรักเป็นบ่อเกิดเพียงหนึ่งเดียวของการอธิษฐานภาวนา ผู้ที่ตักตวงจากความรักนี้ก็บรรลุถึงจุดยอดของการอธิษฐานภาวนา

“ข้าแต่พระเจ้าของข้าพเจ้า ข้าพเจ้ารักพระองค์ ความปรารถนาเพียงประการเดียวของข้าพเจ้าก็คือ รักพระองค์จนถึงลมหายใจเฮือกสุดท้ายของชีวิตข้าพเจ้า ข้าพเจ้ารักพระองค์ ข้าแต่พระเจ้าผู้ทรงน่ารักอย่างหาขอบเขตมิได้ และข้าพเจ้าอยากตายโดยรักพระองค์มากกว่าจะมีชีวิตอยู่โดยไม่รักพระองค์

ข้าแต่องค์พระผู้เป็นเจ้า ข้าพเจ้ารักพระองค์ และพระหรรษทานประการเดียวที่ข้าพเจ้าขอจากพระองค์ก็คือให้รักพระองค์ตลอดนิรันดร […] ข้าแต่พระเจ้าของข้าพเจ้า แม้ปากข้าพเจ้าไม่อาจกล่าวทุกขณะได้ว่าข้าพเจ้ารักพระองค์ ข้าพเจ้าก็อยากให้ใจข้าพเจ้ากล่าวซ้ำคำนี้ทุกครั้งที่ข้าพเจ้าหายใจ”


ยน 4:18  มีสามีมาแล้วถึงห้าคน : เรื่องราวชีวิตของหญิงนี้เหมาะสำหรับเปรียบเทียบกับประวัติศาสตร์ชาวสะมาเรีย ในระหว่างช่วงเวลาแห่งชัยชนะของชาวอัสซีเรีย มีชาวต่างชาติห้าเผ่าที่สมรสกับชาวอิสราเอลจึงเกิดเป็นอาณาจักรทางเหนือขึ้น แต่ละเผ่าต่างกราบไหว้รูปเคารพหรือบาอัลของตนเสมือน “พระเจ้า” หรือ “สามี” อีกทั้งยังทำให้ระลึกถึงบรรพบุรุษทั้งสามแห่งพันธสัญญาเดิม คือ อิสอัค ยาโคบ และโมเสส ซึ่งต่างได้พบภรรยาของตนที่บ่อน้ำ (เทียบ ปฐก 24:10-20; 29:10-20; อพย 2:15-21) เปรียบคล้ายดังพระคริสตเจ้าผู้ประทานแรงบันดาลใจให้ชาวสะมาเรียกลับใจจากบาปของตน และเชื้อเชิญพวกเขาให้มอบตนcfjพระองค์ ผู้ทรงเป็นเจ้าบ่าวและพระเจ้าเที่ยงแท้    

บาปแรกของมนุษย์

CCC ข้อ 401หลังจากบาปแรก บาปก็ “เข้ามารุกราน” ทั่วโลกอย่างแท้จริง กาอินฆ่าอาแบลน้องชาย ความเสื่อมทรามทั่วโลกเป็นผลตามมาของบาป บาปแสดงตัวออกมาบ่อยๆ แม้กระทั่งในประวัติศาสตร์ของอิสราเอล โดยเฉพาะในรูปของความไม่ซื่อสัตย์ต่อพระเจ้าแห่งพันธสัญญาและในฐานะการฝ่าฝืนธรรมบัญญัติของโมเสส แม้กระทั่งหลังจากการไถ่กู้โดยพระคริสตเจ้าแล้ว ในหมู่คริสตชน บาปก็ยังแสดงตัวในแบบต่างๆ มากมาย พระคัมภีร์และธรรมประเพณีของพระศาสนจักรไม่เคยหยุดเตือนเลยให้ระลึกว่าบาปมีอยู่ทั่วไปในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ “เรื่องราวที่พระเจ้าทรงเปิดเผยให้เรารู้สอดคล้องกับประสบการณ์ด้วย เมื่อมนุษย์เราสำรวจดูจิตใจของตนก็พบว่าตนมีความโน้มเอียงไปหาความชั่วและยังจมอยู่ในความชั่วร้ายมากมาย ซึ่งไม่อาจมาได้จากพระผู้สร้างที่ดีของตน เมื่อมนุษย์ปฏิเสธไม่ยอมรับพระเจ้าเป็นปฐมเหตุของตน รวมทั้งไม่ยอมรับระเบียบที่ทรงจัดไว้เพื่อมุ่งไปหาจุดหมายสุดท้ายของตน เขาก็ยังทำลายทั้งระเบียบที่ถูกจัดไว้สำหรับตนหรือต่อเพื่อนมนุษย์และต่อสิ่งสร้างทั้งมวลในเวลาเดียวกันด้วย”     

ในช่วงเวลาที่อิสราเอลมีกษัตริย์ปกครอง และช่วงเวลาถูกกวาดต้อนไปเป็นเชลย

CCC ข้อ 710 การลืมธรรมบัญญัติและความไม่ซื่อสัตย์ต่อพันธสัญญานำประชากรไปสู่ความตาย การถูกกวาดต้อนเป็นเชลยไปในแดนเนรเทศดูเผินๆ เป็นเหมือนความล้มเหลวของพระสัญญา แต่อันที่จริงเป็นความซื่อสัตย์ลึกลับของพระเจ้าผู้ทรงกอบกู้ และเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างชาติขึ้นใหม่ตามพระสัญญา แต่เป็นพระสัญญาตามพระจิตเจ้า ประชากรของพระเจ้าจำเป็นต้องรับการชำระให้บริสุทธิ์ การถูกกวาดต้อนเป็นเชลยไปในถิ่นเนรเทศตามแผนการของพระเจ้าเป็นเสมือนเงาของไม้กางเขน และบรรดาผู้ยากจนที่รอดชีวิตกลับมาจากแดนเนรเทศก็เป็นภาพที่ชัดเจนมากภาพหนึ่งของพระศาสนจักร    


ยน 4:19-20  ดิฉันเห็นแล้วว่าท่านเป็นประกาศก : ด้วยธรรมชาติพระเจ้า พระคริสตเจ้าทรงสามารถอ่านในจิตใจของมนุษย์ได้ ทรงทำให้หญิงนี้ประหลาดใจอย่างยิ่ง ในฐานะชาวสะมาเรีย นางรู้จักประกาศกเพียงคนเดียวคือ โมเสส เท่านั้น  บรรพบุรุษของเราเคยนมัสการพระเจ้าบนภูเขานี้ : ชาวสะมาเรียเชื่อว่าภูเขาเกริซิมเป็นสถานที่ที่อับราฮัมเกือบจะถวายบูชาบุตรชายของท่าน อิสอัค และเป็นที่ซึ่งโยชูวาได้รับคำสั่งให้ตั้งแท่นบูชาเพื่อทำศานติบูชาแด่พระเจ้า   

พระคริสตเจ้า

CCC ข้อ 436 คำว่า “พระคริสตเจ้า” (Christos) เป็นคำแปลภาษากรีกของคำภาษาฮีบรูว่า “เมสสิยาห์” ซึ่งแปลว่า “ผู้รับเจิม” คำนี้กลายเป็นพระนามเฉพาะของพระเยซูเจ้าก็เพราะพระองค์ทรงปฏิบัติพระภารกิจที่พระเจ้าทรงมอบให้ตามความหมายของคำนี้สำเร็จอย่างสมบูรณ์ เพราะในอิสราเอลผู้ที่ถวายตนปฏิบัติภารกิจที่พระเจ้าทรงมอบหมายให้ทำมักได้รับการเจิมถวายแด่พระองค์ เช่นในกรณีของกษัตริย์ สมณะ และบางครั้ง ประกาศกด้วย ดังนั้น กรณีพิเศษสุดต้องเป็นกรณีของผู้รับเจิมที่พระเจ้าจะทรงส่งมาเพื่อสถาปนาพระอาณาจักรของพระองค์ขึ้นใหม่ในยุคสุดท้าย พระเมสสิยาห์จำเป็นต้องได้รับเจิมโดยพระจิตขององค์พระผู้เป็นเจ้า ในฐานะกษัตริย์และสมณะ รวมทั้งในฐานะประกาศกด้วย พระเยซูเจ้าทรงทำให้ความหวังของอิสราเอลเกี่ยวกับพระเมสสิยาห์ในทั้งสามบทบาทของสมณะ ประกาศก และกษัตริย์สำเร็จเป็นจริง    


ยน 4:21-26  ท่านนมัสการ... ที่เรารู้จัก : ชาวยิวมีความรู้เรื่องการเสด็จมาของพระเมสสิยาห์มากกว่าชาวสะมาเรีย เพราะพวกเขามีพยานของบรรดาประกาศกและรับแรงบันดาลใจจากหนังสือปรีชาญาณ  ไม่ใช่เฉพาะบนภูเขานี้... ที่กรุงเยรูซาเล็ม : เป็นการอ้างอิงถึงการทำลายกรุงเยรูซาเล็มที่จะมาถึง ในพันธสัญญาใหม่การนมัสการย่อมไม่ใช่ที่ภูเขาเกริซิมหรือที่กรุงเยรูซาเล็ม แต่เป็นพระเมสสิยาห์เองที่เป็นพระวิหารใหม่และทรงชีวิตของพระเจ้าที่จะไม่มีวันสิ้นสุดเลย  จากชาวยิว : แม้แต่หนังสือโทราห์ก็ได้บอกว่าพระเมสสิยาห์ต้องมาจากเชื้อพระวงศ์กษัตริย์ดาวิด จากเผ่ายูดาห์     

พระคริสตเจ้า   

CCC ข้อ 439 ชาวยิวจำนวนมาก และแม้แต่ชนต่างชาติบางคนที่ร่วมความหวังของชาวยิว ยอมรับคุณลักษณะพื้นฐานของพระเมสสิยาห์ในองค์พระเยซูเจ้า คือการที่ทรงเป็น “พระโอรสของกษัตริย์ดาวิด” ที่พระเจ้าทรงสัญญาไว้กับอิสราเอล พระเยซูเจ้าทรงยอมรับตำแหน่งพระเมสสิยาห์ตามสิทธิที่ทรงมี แต่ก็ยังคงสงวนท่าที เพราะผู้ร่วมสมัยของพระองค์หลายคนเข้าใจตำแหน่งนี้ตามความเข้าใจแบบมนุษย์มากเกินไป คือเข้าใจตามความหมายทางการเมืองโดยเฉพาะ  

พระเจ้าแท้และมนุษย์แท้  

CCC ข้อ 469 พระศาสนจักรจึงประกาศยืนยันว่าพระเยซูเจ้าทรงเป็นทั้งพระเจ้าแท้และมนุษย์แท้โดยไม่แยกจากกัน ทรงเป็นพระบุตรของพระเจ้าอย่างแท้จริงซึ่งทรงรับสภาพมนุษย์ กลายเป็นพี่น้องของเรา ถึงกระนั้นก็ยังไม่เลิกเป็นพระเจ้า องค์พระผู้เป็นเจ้าของเรา

พิธีกรรมจารีตโรมันมีบทเพลงบทหนึ่งความว่า “พระองค์ยังคงเป็นอย่างที่เคยเป็น ทรงรับสภาพที่ไม่เคยเป็น” พิธีกรรมของนักบุญยอห์น ครีโซสตม ก็มีบทขับร้องที่ประกาศว่า “ข้าแต่พระบุตรเพียงพระองค์เดียวและพระวจนาตถ์ของพระเจ้า ผู้ทรงอมตะ พระองค์ทรงยอมรับสภาพมนุษย์จากพระมารดาของพระเจ้า พระนางมารีย์ผู้ทรงเป็นพรหมจารีเสมอ เพื่อความรอดพ้นของข้าพเจ้าทั้งหลาย พระองค์ทรงรับสภาพมนุษย์และทรงถูกตรึงกางเขนโดยไม่ทรงเปลี่ยนแปลง ข้าแต่พระคริสตเจ้า พระองค์ทรงพิชิตความตาย ทรงเป็นพระองค์หนึ่งในพระตรีเอกภาพ ทรงพระสิริรุ่งโรจน์ร่วมกับพระบิดาและพระจิตเจ้า โปรดทรงช่วยข้าพเจ้าทั้งหลายให้รอดพ้นเถิด”    

พระธรรมล้ำลึกปฐมวัยของพระเยซูเจ้า

CCC ข้อ 528 การที่พระเยซูกุมารทรงแสดงองค์(แก่บรรดาโหราจารย์)เป็นการที่พระเยซูเจ้า ในฐานะที่ทรงเป็นพระเมสสิยาห์ของอิสราเอล ทรงสำแดงพระองค์เป็นพระบุตรของพระเจ้าและเป็นพระผู้กอบกู้โลก การสมโภชนี้เฉลิมฉลองการที่บรรดา “โหราจารย์” จากทิศตะวันออกมานมัสการพระเยซูกุมาร พร้อมกันนั้นยังเฉลิมฉลองการที่พระเยซูเจ้าทรงรับพิธีล้างที่แม่น้ำจอร์แดนและงานมงคลสมรสที่หมู่บ้านคานา ในบรรดา “โหราจารย์” เหล่านี้ พระวรสารแลเห็นผู้แทนศาสนาของชนต่างชาติที่อยู่โดยรอบนั้นเป็นคนกลุ่มแรกที่รับข่าวดีถึงความรอดพ้น(ของมนุษยชาติ)ซึ่งพระเยซูคริสตเจ้าทรงนำมาให้โดยการทรงรับสภาพเป็นมนุษย์ การที่บรรดาโหราจารย์มาที่กรุงเยรูซาเล็มเพื่อนมัสการกษัตริย์ของชาวยิวแสดงให้เห็นว่าเขาเหล่านั้นได้รับแรงบันดาลใจจากดวงดาวของกษัตริย์ดาวิดซึ่งหมายถึงพระเมสสิยาห์ ให้มาแสวงหาพระผู้ทรงเป็นกษัตริย์ของนานาชาติ การมาถึงของบรรดาโหราจารย์หมายถึงการที่ชนต่างศาสนามาพบพระเยซูเจ้าและนมัสการพระองค์เป็นพระบุตรของพระเจ้า และยอมรับว่าตนจะมานมัสการพระผู้กอบกู้โลกไม่ได้นอกจากจะหันมาหาชาวยิวและรับพระสัญญาของพระเมสสิยาห์ตามที่มีบันทึกไว้ในพันธสัญญาเดิม วันสมโภชพระคริสต์ทรงแสดงองค์แสดงว่านานาชาติเข้ามาอยู่ในครอบครัวของบรรดาบรรพบุรุษ(ของอิสราเอล) และเข้ามารับ “ศักดิ์ศรีเป็นประชากรอิสราเอล” ด้วย    

พระเยซูเจ้าและพระวิหาร

CCC ข้อ 586 พระเยซูเจ้าไม่ทรงเป็นอริต่อพระวิหารเลย[385] พระองค์ทรงสั่งสอนหลักคำสอนของพระองค์ในพระวิหาร ทรงประสงค์จ่ายภาษีแก่พระวิหารและทรงต้องการให้เปโตร ที่เพิ่งทรงแต่งตั้งให้เป็นรากฐานของพระศาสนจักรในอนาคต ปฏิบัติเช่นเดียวกันด้วย ยิ่งกว่านั้น พระองค์ยังตรัสว่าทรงเป็นพระวิหารที่แสดงว่าพระเจ้าประทับในหมู่มนุษย์ตลอดไปด้วย เพราะเหตุนี้ การที่พระกายทรงถูกประหาร จึงเป็นการแจ้งถึงการที่พระวิหารจะถูกทำลายซึ่งจะแจ้งว่ายุคใหม่ของประวัติศาสตร์ความรอดพ้นมาถึงแล้ว “ถึงเวลาแล้วที่ท่านทั้งหลายจะนมัสการพระบิดาเจ้าไม่ใช่เฉพาะบนภูเขานี้หรือที่กรุงเยรูซาเล็ม” (ยน 4:21)    

CCC ข้อ 728 (อ่านเพิ่มเติมด้านบน ยน 4:10-14)

ต้องประกอบพิธีกรรมที่ไหน?

CCC ข้อ 1179 คารวกิจของพันธสัญญาใหม่ “ด้วยจิตและตามความจริง” (ยน 4:24) ไม่ผูกติดอยู่กับสถานที่เพียงแห่งเดียว โลกทั้งโลกนั้นศักดิ์สิทธิ์และพระเจ้าทรงมอบไว้ให้แก่มวลมนุษย์ เมื่อบรรดาผู้มีความเชื่อมาชุมนุมในสถานที่เดียวกัน เหตุผลแรกก็คือเพราะเขาเป็น “ศิลาที่มีชีวิตสำหรับก่อสร้างขึ้นเป็นวิหารของพระจิตเจ้า” (1 ปต 2:5) พระวรกายของพระคริสตเจ้าผู้ทรงกลับคืนพระชนมชีพแล้วนี้เป็นพระวิหารฝ่ายจิต เป็นท่อธารที่หลั่งน้ำทรงชีวิตออกมา พวกเราทุกคนที่รวมเป็นพระวรกายเดียวกับพระคริสตเจ้าโดยทางพระจิตเจ้าล้วนเป็น “พระวิหารของพระเจ้าผู้ทรงชีวิต” (2 คร 6:16)   


ยน 4:26  ไม่มีที่อื่นใดเปิดเผยถึงอัตลักษณ์ของพระเยซูเจ้าในฐานะพระเมสสิยาห์ได้ดีกว่าในพระวรสาร  


ยน 4:28  ทิ้งไหน้ำของนาง : ดังเช่นอัครสาวกลุ่มแรกที่ละทิ้งเรือประมงเพื่อติดตามพระคริสตเจ้า หญิงคนนี้ได้ละทิ้งไหน้ำของนางไว้เพื่อประกาศถึงข่าวดีที่นางได้ยินมา รายละเอียดนี้ทำให้เข้าใจถึงความต้องการปฏิเสธทุกสิ่งเพื่อเป็นประจักษ์พยานที่เชื่อถือได้ของความจริงแห่งพระวรสาร    

การมีจิตใจยากจน

CCC ข้อ 2544 พระเยซูเจ้าทรงสั่งบรรดาศิษย์ให้ถือว่าพระองค์สำคัญมากกว่าทุกสิ่งและทุกคน และยังทรงเสนอให้เขาสละทุกสิ่งที่ตนมีเพราะพระองค์และเพราะข่าวดี ไม่นานก่อนที่จะทรงรับทรมาน พระองค์ทรงเสนอหญิงม่ายชาวกรุงเยรูซาเล็มให้เป็นตัวอย่างแก่เขา หญิงม่ายผู้นี้ ทั้งๆ ที่ขัดสน ได้ให้ทุกสิ่งที่จำเป็นสำหรับเลี้ยงชีพมาทำทาน บัญญัติให้มีใจเป็นอิสระไม่ผูกพันกับทรัพย์สมบัติเป็นข้อบังคับที่จำเป็นเพื่อจะเข้าในอาณาจักรสวรรค์ได้    


ยน 4:34  อาหารของเราคือการทำ... ภารกิจของพระองค์ : พระคริสตเจ้าทรงน้อมรับพระประสงค์และแผนการไถ่กู้ของพระบิดาของพระองค์อย่างเต็มที่ ทรงหล่อเลี้ยงและรับพละกำลังจากภารกิจนี้     

พระชนมชีพทั้งหมดของพระคริสตเจ้าเป็นของถวายแด่พระบิดา

CCC ข้อ 606 พระบุตรของพระเจ้าซึ่งเสด็จลงมาจากสวรรค์ไม่ใช่เพื่อปฏิบัติตามพระทัยของพระองค์เอง แต่เพื่อปฏิบัติตามพระทัยของพระผู้ทรงส่งพระองค์มา “เมื่อเสด็จมาในโลกตรัสว่า […] ข้าพเจ้ามาเพื่อปฏิบัติตามพระประสงค์ของพระองค์ […] โดยพระประสงค์นี้เอง เราทั้งหลายได้รับความศักดิ์สิทธิ์เดชะการถวายพระวรกายของพระองค์เป็นการบูชาที่พระเยซูคริสตเจ้าทรงกระทำแต่เพียงครั้งเดียวโดยมีผลตลอดไป” (ฮบ 10:5-10) นับตั้งแต่วาระแรกที่ทรงรับสภาพมนุษย์ พระบุตรทรงรับเอาแผนการไถ่กู้ของพระเจ้ามาเป็นพันธกิจของพระองค์ “อาหารของเราคือการทำตามพระประสงค์ของพระผู้ทรงส่งเรามา และการประกอบภารกิจของพระองค์ให้สำเร็จลุล่วงไป” (ยน 4:34) การถวายบูชาของพระเยซูเจ้า “เพื่อ(ชดเชยบาปของมนุษย์)ทั้งโลกด้วย” (1 ยน 2:2) จึงเป็นการแสดงถึงความสัมพันธ์ความรักของพระองค์กับพระบิดา “พระบิดาทรงรักเราเพราะเราสละชีวิตของเรา” (ยน 10:17) “โลกจะต้องรู้ว่ารักพระบิดาและรู้ว่าพระบิดาทรงบัญชาให้เราทำอย่างไร เราก็ทำอย่างนั้น”(ยน 14:31)    

พระเยซูเจ้าทรงสอนให้อธิษฐานภาวนา

CCC ข้อ 2611 การอธิษฐานภาวนาด้วยความเชื่อไม่ได้ประกอบด้วยเพียงการกล่าวว่า “พระเจ้าข้า พระเจ้าข้า” แต่อยู่ในใจที่พร้อมที่จะปฏิบัติตามพระประสงค์ของพระบิดา พระเยซูเจ้าทรงเชื้อเชิญบรรดาศิษย์ให้สนใจร่วมแผนงานกับพระเจ้าในการอธิษฐานภาวนาด้วย    

“พระประสงค์จงสำเร็จในแผ่นดินเหมือนในสวรรค์”

CCC ข้อ 2824 พระประสงค์ของพระบิดาได้สำเร็จแล้วในพระคริสตเจ้า และโดยพระประสงค์แบบมนุษย์ของพระองค์ก็ได้สำเร็จไปแล้วโดยสมบูรณ์สำหรับตลอดไป เมื่อเสด็จมาในโลกนี้ พระเยซูเจ้าได้ตรัสว่า “ข้าพเจ้ามาเพื่อปฏิบัติตามพระประสงค์ของพระองค์” (ฮบ 10:7) พระเยซูเจ้าเท่านั้นอาจตรัสได้ว่า “เราทำตามที่พระองค์พอพระทัยเสมอ” (ยน 8:29) ในคำอธิษฐานภาวนาเมื่อทรงเป็นทุกข์อย่างสาหัส พระองค์ทรงยอมรับพระประสงค์นี้ของพระบิดา “อย่าให้เป็นไปตามใจข้าพเจ้า ให้เป็นไปตามพระประสงค์ของพระองค์เถิด” (ลก 22:42) นี่เป็นเหตุผลที่พระเยซูเจ้า “ทรงมอบพระองค์เพื่อช่วยเราให้รอดพ้นจากบาป […] ตามพระประสงค์ของพระเจ้าพระบิดาของเรา” (กท 1:4) “โดยพระประสงค์นี้เอง เราทั้งหลายได้รับความศักดิ์สิทธิ์ เดชะการถวายพระวรกายเป็นการบูชาของพระคริสต์เยซู”(ฮบ 10:10)    


ยน 4:42  พระผู้ไถ่ของโลก : เป็นที่น่าสังเกตว่าความเคารพนับถือของหญิงชาวสะมาเรียต่อพระคริสตเจ้านั้นเพิ่มมากขึ้นจนถึงขั้นสูงสุดคือ บรรลุถึงการกลับใจ คือ ความรู้ถึงพระองค์นั้นหยั่งลึกยิ่งขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งทำให้รับรู้ถึงพระองค์ในฐานะประกาศก (เทียบ ยน 4:19) พระเมสสิยาห์ (เทียบ ยน 4:29) และพระผู้ไถ่กู้  

“พระนามพระองค์จงเป็นที่สักการะ”

CCC ข้อ 2812 ในที่สุด พระนามของพระเจ้าผู้ศักดิ์สิทธิ์ก็ได้รับการเปิดเผยและประทานให้เราในพระเยซูเจ้าพระผู้ไถ่ที่ทรงรับสภาพมนุษย์ ได้รับการเปิดเผยจากสภาพที่พระองค์เองทรงเป็น จากพระวาจาที่ตรัสและจากการถวายบูชาของพระองค์ การเปิดเผยนี้เป็นหัวใจของคำอธิษฐานภาวนาของพระองค์ในฐานะมหาสมณะ เมื่อตรัสว่า “ข้าแต่พระบิดา ข้าพเจ้าถวายตนเป็นบูชาสำหรับเขา เพื่อเขาจะได้รับความศักดิ์สิทธิ์อย่างแท้จริงด้วย” (ยน 17:19) เพราะว่าพระเยซูเจ้าทรง “บันดาลความศักดิ์สิทธิ์” แก่พระนามของพระองค์ ก็ยังทรง “แสดง”[69] พระนามของพระบิดาให้แก่เราด้วย เมื่อปัสกาของพระเยซูเจ้าสิ้นสุดแล้ว พระบิดาก็ประทานพระนามที่ประเสริฐกว่านามอื่นใดทั้งสิ้นให้แก่พระองค์ด้วยโดยทรงประกาศว่า พระเยซูทรงเป็นองค์พระผู้เป็นเจ้าเพื่อพระสิริรุ่งโรจน์ของพระเจ้าพระบิดา    

(จากหนังสือ THE DIDACHE BIBLE with commentaries based on the Catechism of the Catholic Church, Ignatius Bible Edition)