แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

วันพฤหัสบดี  สัปดาห์ที่ 2  เทศกาลมหาพรต

พระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญลูกา (ลก 16:19-31)                                                        

เวลานั้น พระเยซูเจ้าตรัสกับพวกฟาริสีว่า “เศรษฐีผู้หนึ่ง แต่งกายหรูหราด้วยเสื้อผ้าเนื้อดีราคาแพง จัดงานเลี้ยงใหญ่ทุกวัน คนยากจนผู้หนึ่งชื่อลาซารัส นอนอยู่ที่ประตูบ้านของเศรษฐีผู้นั้น เขามีบาดแผลเต็มตัว อยากจะกินเศษอาหารที่ตกจากโต๊ะของเศรษฐี มีแต่สุนัขมาเลียแผลของเขา วันหนึ่ง คนยากจนผู้นี้ตาย ทูตสวรรค์นำเขาไปอยู่ในอ้อมอกของอับราฮัม เศรษฐีคนนั้นก็ตายเช่นเดียวกัน และถูกฝังไว้ เศรษฐีซึ่งกำลังถูกทรมานอยู่ในแดนผู้ตาย แหงนหน้าขึ้น มองเห็นอับราฮัมแต่ไกล และเห็นลาซารัสอยู่ในอ้อมอก จึงร้องตะโกนว่า ‘ท่านพ่ออับราฮัม จงสงสารลูกด้วย กรุณาส่งลาซารัสให้ใช้ปลายนิ้วจุ่มน้ำมาแตะลิ้นให้ลูกสดชื่นขึ้นบ้าง เพราะลูกกำลังทุกข์ทรมานอย่างสาหัสในเปลวไฟนี้’ แต่อับราฮัมตอบว่า ‘ลูกเอ๋ย จงจำไว้ว่า เมื่อยังมีชีวิต ลูกได้รับแต่สิ่งดีๆ ส่วนลาซารัสได้รับแต่สิ่งเลวๆ บัดนี้เขาได้รับการบรรเทาใจที่นี่ ส่วนลูกต้องรับทรมาน ยิ่งกว่านั้น ยังมีเหวใหญ่ขวางอยู่ระหว่างเราทั้งสอง จนใครที่ต้องการจะข้ามจากที่นี่ไปหาลูก ก็ข้ามไปไม่ได้ และผู้ที่ต้องการจะข้ามจากด้านโน้นมาหาเรา ก็ข้ามมาไม่ได้ด้วย’

เศรษฐีจึงพูดว่า ‘ท่านพ่อ ลูกอ้อนวอนให้ท่านส่งลาซารัสไปยังบ้านบิดาของลูก เพราะลูกยังมีพี่น้องอีกห้าคน ขอให้ลาซารัสเตือนเขาอย่าให้มายังสถานที่ทรมานแห่งนี้เลย’ อับราฮัมตอบว่า ‘พี่น้องของลูกมีโมเสสและบรรดาประกาศกอยู่แล้ว ให้เขาเชื่อฟังท่านเหล่านั้นเถิด’ แต่เศรษฐีพูดว่า ‘มิใช่เช่นนั้น ท่านพ่ออับราฮัม ถ้าใครคนหนึ่งจากบรรดาผู้ตายไปหาเขา เขาจึงจะกลับใจ’ อับราฮัมตอบว่า ‘ถ้าเขาไม่เชื่อฟังโมเสสและบรรดาประกาศก แม้ใครที่กลับคืนชีวิตจากบรรดาผู้ตายเตือนเขา เขาก็จะไม่เชื่อ’”


ลก 16:19-31 อุปมาเรื่องเศรษฐีกับลาซารัสมีความโดดเด่นในด้านภาพจินตนาการเกี่ยวกับชีวิตหลังความตาย

ความหนักของบาป – บาปหนักและบาปเบา

CCC ข้อ 1859 จะเป็นบาปหนักได้จำเป็นต้องมีความรู้ตัวเต็มที่ และมีความจงใจเต็มที่ด้วย บาปหนักสมมุติว่าต้องมีความรู้ว่าการกระทำนั้นมีลักษณะเป็นบาป ขัดกับพระบัญญัติของพระเจ้า บาปหนักยังเรียกร้องให้มีความตั้งใจที่รู้ตัวเพียงพอที่จะเป็นการเลือกส่วนตัวได้ การแสร้งว่าไม่รู้และใจดื้อด้านไม่ทำให้ความจงใจทำบาปน้อยลง แต่ยิ่งทำให้เพิ่มมากขึ้น

การปฏิบัติต่อผู้ที่ต่ำต้อย

CCC ข้อ 2463 ทำไมเราจึงแลไม่เห็นลาซารัส ยาจกผู้หิวโหยของเรื่องเปรียบเทียบในเพื่อนมนุษย์จำนวนมากที่ไม่มีอาหาร บ้านพัก ที่อยู่อาศัย ทำไมเราจึงไม่ได้ยินพระเยซูเจ้าตรัสว่า “ท่านไม่ได้ทำสิ่งใดต่อผู้ต่ำต้อยของเราคนหนึ่ง ท่านก็ไม่ได้ทำสิ่งนั้นต่อเรา” (มธ 25:45)

 

“โปรดประทานอาหารประจำวันแก่ข้าพเจ้าทั้งหลายในวันนี้”

CCC ข้อ 2831 แต่การที่ยังมีคนที่ขาดแคลนอาหารก็เปิดเผยความหมายที่ลึกซึ้งอีกประการหนึ่งของคำขอนี้ การที่ยังมีความหิวโหยขาดแคลนอาหารอยู่ในโลกนี้อีกนั้นเชิญชวนบรรดาคริสตชนที่อธิษฐานภาวนาจากใจจริงให้มีความรับผิดชอบอย่างจริงจังต่อบรรดาเพื่อนพี่น้อง ทั้งในวิธีการปฏิบัติตนส่วนตัวและในการร่วมใจเป็นหนึ่งเดียวกันกับครอบครัวเพื่อนมนุษย์ทุกคน คำวอนขอของบทข้าแต่พระบิดานี้ไม่อาจแยกได้จากนิทานอุปมาเรื่องลาซารัส ผู้ยากจน และเรื่องการพิพากษาครั้งสุดท้าย


ลก 16:22  อ้อมอกอับราฮัม : บรรดาผู้ซื่อสัตย์ที่เสียชีวิตในพันธสัญญาเดิมยังต้องรอคอยการไถ่กู้ของตนโดยพระคริสตเจ้า เป็นบรรดาวิญญาณที่พระคริสตเจ้าเสด็จมาหาพวกเขาหลังจากการสิ้นพระชนม์ของพระองค์เพื่อปลดปล่อยพวกเขา และนำพวกเขาไปสู่ความสุขชั่วนิรันดร์ในสวรรค์ นี่คือความหมายของคำว่า “ไฟชำระ” ในบทยืนยันความเชื่อของอัครสาวก เมื่อเรากล่าวว่า “เสด็จสู่แดนมรณะ” 

“พระเยซูคริสตเจ้าเสด็จสู่แดนมรณะวันที่สามทรงกลับคืนพระชนมชีพจากบรรดาผู้ตาย”

CCC ข้อ 631 พระเยซูเจ้า “ได้เสด็จลงไปยังแผ่นดินเบื้องล่างก่อนแล้ว และพระองค์ผู้เสด็จลงไปก็เป็นองค์เดียวกับผู้เสด็จขึ้นมา” (อฟ 4:9-10) สูตรประกาศความเชื่อของอัครสาวกกล่าวในข้อเดียวกันถึงการเสด็จของพระคริสตเจ้าสู่แดนมรณะ และการกลับคืนพระชนมชีพจากบรรดาผู้ตายในวันที่สาม เพราะในวันปัสกาพระองค์ทรงบันดาลให้ชีวิตผุดขึ้นมาจากส่วนลึกของความตาย “พระคริสตเจ้าพระบุตรของพระองค์ ผู้เสด็จกลับคืนพระชนมชีพจากแดนผู้ตาย ส่องแสงนำสันติภาพมาให้มนุษยชาติ และทรงดำรงพระชนม์และครองราชย์ตลอดนิรันดร”

พระคริสตเจ้าเสด็จสู่แดนมรณะ

CCC ข้อ 632 คำยืนยันหลายครั้งในพันธสัญญาใหม่ว่าพระเยซูเจ้า “ทรงกลับคืนพระชนมชีพจากบรรดาผู้ตาย” (1 คร 15:20) เป็นการอนุมานว่าก่อนจะทรงกลับคืนพระชนมชีพ พระองค์ทรงพำนักอยู่ในแดนผู้ตาย การเทศน์สอนของบรรดาอัครสาวกให้ความหมายแรกของการเสด็จสู่แดนมรณะว่า เมื่อพระเยซูเจ้าสิ้นพระชนม์แล้วเหมือนมนุษย์ทุกคนแล้ว ได้เสด็จด้วยพระวิญญาณลงไปยังที่พำนักของบรรดาผู้ตาย แต่เสด็จลงไปที่นั่นดังพระผู้กอบกู้ ประกาศข่าวดีแก่บรรดาจิตวิญญาณที่ถูกกักขังอยู่ที่นั่น


ลก 16:23  แดนผู้ตาย : ศัพท์ภาษากรีกที่ใช้ในการแปลคำภาษาฮีบรูว่า Sheol (แดนผู้ตาย) บ่งบอกถึงสถานที่แห่งความตาย ซึ่งเป็นสถานะทั้งสำหรับคนชอบธรรม (เทียบ ลก 16:22) และคนที่ถูกสาปแช่ง ผู้ซึ่งจะถูกแยกออกจากกันด้วยเหวใหญ่ที่ไม่สามารถผ่านไปหากันได้

พระคริสตเจ้าเสด็จสู่แดนมรณะ

CCC ข้อ 633 พระคัมภีร์เรียกที่พำนักของผู้ตายที่พระคริสตเจ้าลงไปเมื่อสิ้นพระชนม์ว่า “Sheol” (“เชโอล” ในภาษาฮีบรู) หรือ “Haides” (“ไฮเดส” ในภาษากรีก) (เราแปลเป็นภาษาไทยว่า “แดนผู้ตาย” หรือ “แดนมรณะ” ส่วนภาษาอังกฤษแปลว่า “hell” ซึ่งที่นี่ต้องไม่แปลว่า “นรก”) ซึ่งผู้ที่อยู่ที่นั่นไม่อาจเห็นพระเจ้าได้ ผู้ตายทุกคน ทั้งคนดีและคนชั่วซึ่งรอคอยพระผู้ไถ่ อยู่ในสภาพเช่นนี้จริงๆ แต่นี่ก็มิได้หมายความว่าเขามีชะตากรรมเดียวกัน ดังที่พระเยซูเจ้าทรงแสดงให้เห็นในเรื่องอุปมาที่เล่าว่าลาซารัสผู้ยากจนถูกรับไปอยู่ “ในอ้อมอกของอับราฮัม” “ดังนั้น พระคริสต์องค์พระผู้เป็นเจ้าจึงเสด็จลงไปในแดนมรณะเพื่อช่วยวิญญาณของบรรดาผู้เลื่อมใสศรัทธาที่รอคอยอยู่ในอ้อมอกของอับราฮัม” พระเยซูเจ้ามิได้เสด็จลงไปในแดนมรณะเพื่อช่วยผู้ที่ถูกพิพากษาลงโทษแล้ว และไม่ใช่เพื่อทำลายนรกของคนบาปที่ถูกพิพากษาลงโทษแล้ว แต่เพื่อช่วยบรรดาผู้ชอบธรรมซึ่งสิ้นชีวิตล่วงหน้าไปก่อนพระองค์

(จากหนังสือ THE DIDACHE BIBLE with commentaries based on the Catechism of the Catholic Church, Ignatius Bible Edition)