วันอาทิตย์ที่ 1 เทศกาลมหาพรต
พระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญมัทธิว (มธ 4:1-11)
เวลานั้น พระจิตเจ้าทรงนำพระเยซูเจ้าไปในถิ่นทุรกันดาร เพื่อให้ปีศาจมาผจญพระองค์ เมื่อทรงอดอาหารสี่สิบวันสี่สิบคืนแล้ว ทรงหิว ปีศาจผู้ผจญจึงเข้ามาใกล้ ทูลว่า “ถ้าท่านเป็นบุตรพระเจ้า จงสั่งก้อนหินเหล่านี้ให้กลายเป็นขนมปังเถิด” แต่พระองค์ตรัสตอบว่า “มีเขียนไว้ในพระคัมภีร์ว่า มนุษย์มิได้ดำรงชีวิตด้วยอาหารเท่านั้น แต่ดำรงชีวิตด้วยพระวาจาทุกคำที่ออกจากพระโอษฐ์ของพระเจ้า” ต่อจากนั้น ปีศาจอุ้มพระองค์ไปยังนครศักดิ์สิทธิ์ วางพระองค์ลงที่ยอดพระวิหาร แล้วทูลว่า “ถ้าท่านเป็นบุตรพระเจ้า จงกระโดดลงไปเบื้องล่างเถิด เพราะมีเขียนไว้ในพระคัมภีร์ว่า พระเจ้าทรงสั่งทูตสวรรค์เกี่ยวกับท่าน ให้คอยพยุงท่านไว้มิให้เท้ากระทบหิน” พระเยซูเจ้าตรัสตอบว่า “ในพระคัมภีร์ยังมีเขียนไว้ด้วยว่า อย่าทดลององค์พระผู้เป็นเจ้า พระเจ้าของท่านเลย” อีกครั้งหนึ่งปีศาจนำพระองค์ไปบนยอดเขาสูงมาก ชี้ให้พระองค์ทอดพระเนตรอาณาจักรรุ่งเรืองต่าง ๆ ของโลก แล้วทูลว่า “เราจะให้ทุกสิ่งนี้แก่ท่าน ถ้าท่านกราบนมัสการเรา” พระเยซูเจ้าจึงตรัสว่า “เจ้าซาตาน จงไปให้พ้น ยังมีเขียนไว้ในพระคัมภีร์ว่า จงกราบนมัสการองค์พระผู้เป็นเจ้าพระเจ้าของท่าน และรับใช้พระองค์แต่ผู้เดียวเท่านั้น” ปีศาจจึงได้ละพระองค์ไป แล้วทูตสวรรค์ก็เข้ามาปรนนิบัติรับใช้พระองค์
มธ 4:1-11 พระคริสตเจ้าทรงอธิษฐานภาวนาและจำศีลอดอาหารเป็นเวลาสี่สิบวันเพื่อเตรียมตัวสู่ศาสนบริการของพระองค์ ในพระคัมภีร์หมายเลขสี่สิบเป็นสัญลักษณ์ของช่วงเวลาแห่งการรอคอยและการเตรียมตัว โมเสสได้ใช้เวลาสี่สิบวันบนภูเขาเพื่อเตรียมตัวรับพระบัญญัติสิบประการ (เทียบ อพย 34:28) และประกาศกเอลียาห์ได้อยู่ในที่เปลี่ยวสี่สิบวันเพื่อเตรียมตัวสำหรับพันธกิจของท่าน (เทียบ 1พกษ 19:5-8) ชาวอิสราเอลเร่ร่อนอยู่ในที่เปลี่ยวสี่สิบวันเพื่อเตรียมตัวเข้าสู่แผ่นดินแห่งพระสัญญา (เทียบ อพย 8:1-6) ต่างกับชาวอิสราเอลที่ตกในบาปครั้งแล้วครั้งเล่า ชัยชนะของพระคริสตเจ้าในที่เปลี่ยวนี้เป็นการบอกล่วงหน้าถึงชัยชนะของพระองค์เหนือบาปและความตายในพระธรรมล้ำลึกปัสกา ตัวเลขนี้ยังเตือนให้ระลึกถึงช่วงเวลามหาพรตและตรีวารปัสกาซึ่งเป็นเวลาสี่สิบวันแห่งการเตรียมตัวสู่การกลับคืนพระชนมชีพของพระคริสตเจ้าในวันปัสกาด้วยการอธิษฐานภาวนา จำศีลอดอาหารและพลีกรรม การใช้โทษบาปเหล่านี้เป็นเครื่องมือเหนือธรรมชาติเบื้องต้นเพื่อขยายพระอาณาจักรพระเจ้าในโลก
พระคริสตเจ้า “กับทูตสวรรค์ทั้งมวลของพระองค์”
CCC ข้อ 333 นับตั้งแต่การรับสภาพมนุษย์จนถึงการเสด็จสู่สวรรค์ พระชนมชีพของพระวจนาตถ์ผู้รับสภาพมนุษย์มีทูตสวรรค์คอยนมัสการและรับใช้อยู่ตลอดเวลา เมื่อพระเจ้า “ทรงส่งพระโอรสองค์แรกมาสู่โลกมนุษย์ พระองค์ตรัสว่า ‘ให้ทูตสวรรค์ทั้งหลายของพระเจ้ากราบนมัสการพระองค์เถิด’” (ฮบ 1:6) บทเพลงสรรเสริญของบรรดาทูตสวรรค์ในการสมภพของพระคริสตเจ้ายังคงดังก้องอยู่ตลอดมาในการขับร้องสรรเสริญของพระศาสนจักร “พระสิริรุ่งโรจน์จงมีแด่พระเจ้าในสวรรค์สูงสุด.....”(ลก 2:14) บรรดาทูตสวรรค์คอยปกป้องพระเยซูเจ้าในปฐมวัย คอยปรนนิบัติรับใช้พระองค์ในถิ่นทุรกันดาร มาปลอบโยนเมื่อพระองค์ทรงทนทุกข์ในสวนเกทเสมนี ถ้าทรงประสงค์ พระองค์อาจทรงได้รับความช่วยเหลือจากทูตสวรรค์ให้พ้นจากเงื้อมมือของบรรดาศัตรู เช่นเดียวกับที่อิสราเอลเคยได้รับในอดีตด้วย บรรดาทูตสวรรค์ยังนำข่าวดีมาบอก ให้บรรดาคนเลี้ยงแกะรู้เรื่องการที่พระเจ้าเสด็จมาบังเกิดเป็นมนุษย์ และประกาศข่าวการกลับคืนพระชนมชีพของพระคริสตเจ้าให้บรรดาศิษย์รู้ บรรดาทูตสวรรค์จะปรากฏมาประกาศการเสด็จกลับมาของพระคริสตเจ้า และมารับใช้พระองค์ในการพิพากษามวลมนุษย์
ทูตสวรรค์ตกในบาป
CCC ข้อ 394 พระคัมภีร์ยืนยันถึงอิทธิพลอันตรายของผู้ที่พระเยซูเจ้าทรงเรียกว่า “ฆาตกรมาตั้งแต่แรกเริ่ม” (ยน 8:44) และที่ยังพยายามที่จะทำให้พันธกิจที่พระเยซูเจ้าทรงรับมาจากพระบิดาเบี่ยงเบนไป “พระบุตรของพระเจ้าทรงสำแดงพระองค์เพื่อทรงทำลายงานของปีศาจ” (1 ยน 3:8) ผลร้ายที่สุดของงานเหล่านี้ก็คือการมุสาล่อลวงที่ชักชวนให้มนุษย์ไม่เชื่อฟังพระเจ้า
พระเยซูเจ้าทรงถูกทดลอง
CCC ข้อ 538 พระวรสารเล่าว่าทันทีหลังจากทรงรับพิธีล้างจากยอห์นแล้ว พระองค์เสด็จไปประทับในถิ่นทุรกันดารอยู่ช่วงเวลาหนึ่ง “พระจิตเจ้าทรงดลให้พระองค์เสด็จเข้าไปในถิ่นทุรกันดาร” (มก 1:12) และประทับอยู่ที่นั่นสี่สิบวันโดยไม่เสวยสิ่งใดเลย ทรงอยู่กับสัตว์ป่าและบรรดาทูตสวรรค์ปรนนิบัติรับใช้พระองค์ เมื่อจบช่วงเวลานี้ ปีศาจมาทดลองพระองค์สามครั้ง พยายามตั้งคำถามให้ทรงสงสัยความสัมพันธ์ของพระองค์กับพระเจ้าในฐานะพระบุตร พระเยซูเจ้าทรงตอบโต้การจู่โจมเหล่านี้ซึ่งเป็นเหมือนการรื้อฟื้นการถูกทดลองของอาดัมในสวนอุทยานและของอิสราเอลในถิ่นทุรกันดาร ในที่สุดปีศาจแยกจากพระองค์ไป “รอจนกว่าจะถึงเวลาที่เหมาะสม” (ลก 4:13)
CCC ข้อ 539 บรรดาผู้นิพนธ์พระวรสารอธิบายว่าเหตุการณ์ลึกลับนี้มีความหมายเกี่ยวกับความรอดพ้น พระเยซูเจ้าในฐานะอาดัมคนใหม่ยังคงซื่อสัตย์ในเมื่ออาดัมคนแรกได้พ่ายแพ้การผจญ พระเยซูเจ้าทรงปฏิบัติตามการเรียกอิสราเอลอย่างสมบูรณ์ ขณะที่อิสราเอลได้ท้าทายพระเจ้าเมื่อเดินทางในถิ่นทุรกันดารเป็นเวลาสี่สิบปี พระคริสตเจ้ากลับทรงแสดงพระองค์เป็นผู้รับใช้พระเจ้าที่เชื่อฟังปฏิบัติตามพระประสงค์ของพระเจ้าอย่างเต็มที่ พระเยซูเจ้าทรงพิชิตปีศาจในเรื่องนี้ พระองค์ทรงมัดคนเข้มแข็งนั้นไว้เพื่อจะปล้นเอาทรัพย์ของเขาไปได้ ชัยชนะของพระเยซูเจ้าเหนือปีศาจผู้มาผจญในถิ่นทุรกันดารบอกล่วงหน้าถึงชัยชนะแห่งพระทรมาน ซึ่งเป็นการแสดงการเชื่อฟังอย่างสูงสุดด้วยความรักเยี่ยงบุตรต่อพระบิดา
CCC ข้อ 540 การที่พระเยซูเจ้าทรงถูกทดลองแสดงให้เห็นวิธีการที่พระบุตรของพระเจ้าทรงเป็นพระเมสสิยาห์ตรงข้ามกับวิธีการที่ปีศาจและมนุษย์เสนอแนะพระองค์ให้ทรงกระทำ เพราะเหตุนี้พระคริสตเจ้าจึงทรงพิชิตผู้ผจญแทนเรา “เราไม่มีมหาสมณะที่ร่วมทุกข์กับเราผู้อ่อนแอไม่ได้ แต่เรามีมหาสมณะผู้ทรงผ่านการผจญทุกอย่างเหมือนกับเรายกเว้นบาป” (ฮบ 4:15) ทุกๆ ปี พระศาสนจักรร่วมเป็นหนึ่งเดียวกับพระธรรมล้ำลึกของพระเยซูเจ้าในถิ่นทุรกันดารตลอดเวลาสี่สิบวันของเทศกาลมหาพรตที่ยิ่งใหญ่
มธ 4:1 ปีศาจมาผจญพระองค์ : ปีศาจพยายามหันเหพระคริสตเจ้าไปจากพันธกิจของพระองค์ ซึ่งก็คือการทำให้พระประสงค์ของพระบิดาสำเร็จไป การอธิษฐานภาวนาเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อเอาชนะการประจญของปีศาจ (CCC 394, 2849) ต่างจากอาดัมที่ยอมแพ้ต่อการประจญ (CCC 539) พระคริสตเจ้าทรง “ผ่านการผจญทุกอย่างเหมือนกับเรา ยกเว้นบาป” ถึงแม้พระองค์ประสบกับการประจญแต่มนุษยภาพของพระองค์ยังคงชิดสนิทกับพระประสงค์ของพระบิดาอย่างสมบูรณ์แบบ เพราะพระองค์มิได้ทรงทำบาป
พระบุตรของพระเจ้าทรงเป็นมนุษย์อย่างไร
CCC ข้อ 470 เนื่องจากว่าในพระธรรมล้ำลึกการรับสภาพมนุษย์ ธรรมชาติมนุษย์นี้ถูก “รับมา ไม่ได้ถูกกลืนหายไป” จึงทำให้พระศาสนจักรประกาศยืนยันตลอดมาทุกสมัยว่าพระคริสตเจ้าทรงเป็นมนุษย์โดยแท้จริง ทรงมีวิญญาณพร้อมกับสติปัญญาและเจตนาที่ปฏิบัติงานได้อย่างสมบูรณ์เต็มที่และมีร่างกายเช่นเดียวกับมนุษย์ทุกคน โดยวิธีเดียวกัน พระศาสนจักรก็ต้องเตือนให้ระลึกด้วยว่าสภาพมนุษย์ของพระคริสตเจ้าเป็นของพระบุคคลพระเจ้าขององค์พระบุตรพระเจ้าผู้ทรงรับสภาพมนุษย์นี้ อะไรไม่ว่าที่ทรงเป็นหรือทรงทำโดยทางสภาพมนุษย์นี้ล้วนมาจาก “พระองค์หนึ่งในพระตรีเอกภาพ” ดังนั้น พระบุตรของพระเจ้าจึงทรงถ่ายทอดวิธีความเป็นอยู่เฉพาะส่วนพระองค์ที่ทรงมีในพระตรีเอกภาพแก่สภาพมนุษย์ของพระองค์ พระคริสตเจ้าทั้งในพระวิญญาณและ พระกายจึงทรงแสดงคุณสมบัติพระเจ้าของพระตรีเอกภาพด้วยการกระทำอย่างมนุษย์
“พระบุตรของพระเจ้า[….]ทรงทำงานด้วยมือมนุษย์ ทรงคิดด้วยใจมนุษย์ ทรงกระทำด้วยเจตนามนุษย์ ทรงรักด้วยหัวใจมนุษย์ เมื่อทรงบังเกิดจากพระนางมารีย์พรหมจารี พระองค์ทรงกลับเป็นพวกเราคนหนึ่ง เหมือนกับเราทุกอย่างเว้นแต่บาป”
เจตนาแบบมนุษย์ของพระคริสตเจ้า
CCC ข้อ 475 ในทำนองเดียวกัน พระศาสนจักรประกาศยืนยันในสภาสังคายนาสากลครั้งที่ 6 ว่าพระคริสตเจ้าทรงมีสองเจตนาและมีการกระทำตามธรรมชาติสองแบบ คือการกระทำแบบพระเจ้าและแบบมนุษย์ การกระทำทั้งสองแบบนี้ไม่ขัดแย้งกัน แต่ร่วมทำงานด้วยกันอย่างที่ว่าพระวจนาตถ์ผู้รับสภาพมนุษย์ทรงประสงค์แบบมนุษย์สิ่งใดไม่ว่าที่ทรงประสงค์แบบพระเจ้าที่จะกระทำพร้อมกับพระบิดาและพระจิตเจ้าเพื่อความรอดพ้นของเรา พระศาสนจักรยอมรับว่า “พระเจตนาแบบมนุษย์ของพระองค์ไม่ต่อต้านหรือไม่เต็มใจ แต่ยอมอยู่ใต้บังคับพระประสงค์ทรงอานุภาพของพระเจ้า”
พระเจ้าแท้และมนุษย์แท้
CCC ข้อ 482 พระคริสตเจ้า เนื่องจากทรงเป็นพระเจ้าแท้และมนุษย์แท้ ทรงพระสติปัญญาและเจตนาแบบมนุษย์ที่สอดคล้องและเชื่อฟังพระประสงค์ของพระเจ้าซึ่งทรงมีร่วมกับพระบิดาและพระจิตเจ้า
“โปรดช่วยข้าพเจ้าไม่ให้แพ้การประจญ” (ตามตัวอักษรว่า “อย่านำข้าพเจ้าทั้งหลายเข้าไปในการประจญ”)
CCC ข้อ 2849 การต่อสู้เช่นนี้และชัยชนะเช่นนี้ย่อมเป็นไปไม่ได้นอกจากด้วยการอธิษฐานภาวนา อาศัยการอธิษฐานภาวนา พระเยซูเจ้าทรงพิชิตมารผจญตั้งแต่แรก รวมทั้งในการต่อสู้กับการทนทุกข์ทรมานครั้งสุดท้าย ในการวอนขอพระบิดาของเราครั้งนี้ พระคริสตเจ้าทรงรวมเราไว้กับการต่อสู้กับการทนทุกข์ครั้งสุดท้ายของพระองค์ด้วย มีการกล่าวอยู่ตลอดเวลาให้เรามีใจตื่นเฝ้าระวัง ร่วมกับการตื่นเฝ้าระวังของพระองค์ การตื่นเฝ้าเป็น “การคอยเฝ้าระวังจิตใจ” และพระเยซูเจ้าทรงวอนขอพระบิดาให้ทรงเฝ้ารักษาพวกเราไว้ในพระนามของพระองค์ พระจิตเจ้าทรงพยายามปลุกเร้าเราไว้ตลอดเวลาให้คอยตื่นเฝ้าเช่นนี้ คำขอข้อนี้มีความหมายจริงจังเป็นพิเศษในความสัมพันธ์กับการผจญในการต่อสู้ครั้งสุดท้ายของเราในโลกนี้ คำวอนขอข้อนี้วอนขอให้เรามีความยืนหยัดมั่นคงจนถึงวาระสุดท้าย “ดูเถิด เรามาเหมือนขโมย ผู้ที่ตื่นเฝ้า....ย่อมเป็นสุข” (วว 16:15)
มธ 4:2 การจำศีลอดอาหารยังมีความหมายถึงการเตรียมตัวฝ่ายจิต การปฏิบัติพระบัญญัติ การใช้โทษบาป ที่ปฏิบัติอย่างเคร่งครัดระหว่างเทศกาลมหาพรต ชาวคาทอลิกของพิธีกรรมลาตินต้องถือการจำศีลอดอาหารในวันพุธรับเถ้า วันศุกร์ศักดิ์สิทธิ์ และต้องอดอาหารหนึ่งชั่วโมงก่อนการรับศีลมหาสนิท ในอีกบางเวลาการอดอาหารยังเป็นการปฏิบัติกิจอื่นๆ ที่เหมาะสมด้วย
“ท่านทั้งหลายจงรับไปกินเถิด” – การรับศีลมหาสนิท
CCC ข้อ 1387 บรรดาผู้มีความเชื่อจะต้องอดอาหารตามที่มีกำหนดไว้ในพระศาสนจักรของตนเป็นการเตรียมตัวอย่างเหมาะสมเพื่อรับศีลนี้ การวางตน (กิริยาท่าทาง เสื้อผ้า) จะแสดงออกถึงความเคารพ ความสง่า และความยินดีของช่วงเวลาที่พระคริสตเจ้าทรงเป็นแขกรับเชิญของเรา
มธ 4:4 ด้วยอาหารเท่านั้น : ในบทภาวนาขององค์พระผู้เป็นเจ้าเราวอนขอพระเจ้า “โปรดประทานอาหารประจำวันแก่ข้าพเจ้าทั้งหลาย” เราพึ่งพาพระเจ้าในความจำเป็นทุกอย่างของเราและตระหนักว่าความหิวโหยยิ่งใหญ่ที่สุดก็คือ การพบกับพระเจ้า เจ้าซาตาน : หมายความว่า “ศัตรู” หรือ “ปฏิปักษ์” ในภาษาฮีบรูและแอราเมอิก
“โปรดประทานอาหารประจำวันแก่ข้าพเจ้าทั้งหลายในวันนี้”
CCC ข้อ 2835 การวอนขอนี้และความรับผิดชอบที่มากับการวอนขอนี้ ยังใช้ได้กับความหิวอีกอย่างหนึ่งที่ทำร้ายชีวิตมนุษย์ “มนุษย์มิได้ดำรงชีวิตด้วยอาหารเท่านั้น แต่ดำรงชีวิตด้วยพระวาจาทุกคำที่ออกจากพระโอษฐ์ของพระเจ้า” (มธ 4:4) นั่นคือด้วยพระวาจาและพระจิตของพระองค์ คริสตชนทุกคนต้องใช้ความพยายามทุกอย่างเพื่อ “ประกาศข่าวดีแก่คนยากจน” ในโลกนี้มีหลายคนที่มีความหิว“ไม่ใช่หิวอาหารหรือหิวน้ำ แต่หิวที่จะฟังพระวาจา” (อมส 8:11) เพราะฉะนั้น ความหมายพิเศษสำหรับคริสตชนของคำขอข้อสี่นี้จึงหมายถึงอาหารสำหรับชีวิต นั่นคือพระวาจาของพระเจ้าที่จะต้องรับด้วยความเชื่อ และพระกายของพระคริสตเจ้าที่เรารับในศีลมหาสนิท
มธ 4:10 พระคริสตเจ้าทรงเตือนเราถึงพระบัญญัติประการแรก ประการที่สองและ Shema (เทียบ ฉธบ 6:4, 13) การนมัสการพระเจ้าอย่างถูกต้องเป็นการปฏิบัติตามคุณธรรมด้านศาสนาตามพระบัญญัติประการที่หนึ่ง
“ท่านจะต้องรักองค์พระผู้เป็นเจ้าพระเจ้าของท่านสุดจิตใจ สุดวิญญาณ สุดสติปัญญาของท่าน”
CCC ข้อ 2083 พระเยซูเจ้าทรงสรุปหน้าที่ของมนุษย์ต่อพระเจ้าไว้ในบัญญัติข้อนี้ว่า “ท่านจะต้องรักองค์พระผู้เป็นเจ้าพระเจ้าของท่านสุดจิตใจ สุดวิญญาณ สุดสติปัญญาของท่าน” (มธ 22:37) ข้อความนี้ชวนให้เราคิดถึงพระสุรเสียงเรียกอย่างสง่าที่ว่า “อิสราเอลเอ๋ย จงฟังเถิด องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงเป็นพระเจ้าของเรา องค์พระผู้เป็นเจ้ามีเพียงพระองค์เดียว” (ฉธบ 6:4)
พระเจ้าทรงรักเราก่อน บทบัญญัติประการแรกของ “พระบัญญัติสิบประการ” จึงเตือนให้ระลึกถึงความรักต่อพระเจ้าหนึ่งเดียวนี้ บทบัญญัติต่อไปจึงค่อยๆ คลี่คลายว่ามนุษย์ต้องตอบสนองความรักต่อพระเจ้าที่ทรงเรียกเขาให้ตอบสนองได้อย่างไร
กราบนมัสการพระเจ้า
CCC ข้อ 2135 “จงกราบนมัสการองค์พระผู้เป็นเจ้าพระเจ้าของท่าน” (มธ 4:10) การกราบนมัสการพระเจ้า อธิษฐานวอนขอพระองค์ ถวายคารวกิจที่พระองค์ควรได้รับแด่พระองค์ รักษาคำสัญญาและการบนบานที่ถวายไว้แด่พระองค์ ทั้งหมดนี้เป็นกิจกรรมด้านศาสนาที่สืบเนื่องมาจากการปฏิบัติตามพระบัญญัติประการแรก
(จากหนังสือ THE DIDACHE BIBLE with commentaries based on the Catechism of the Catholic Church, Ignatius Bible Edition)