วันอังคาร สัปดาห์ที่ 6 เทศกาลธรรมดา
พระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญมาระโก (มก 8:14-22)
เวลานั้น บรรดาศิษย์ลืมนำขนมปังไปด้วย และในเรือของเขามีขนมปังเหลือเพียงก้อนเดียว พระเยซูเจ้าทรงกำชับเขาว่า “จงระวังให้ดี จงระวังเชื้อแป้งของชาวฟาริสี และเชื้อแป้งของกษัตริย์เฮโรด” บรรดาศิษย์จึงพูดกันว่า “นี่เป็นเพราะเราไม่มีขนมปัง” พระเยซูเจ้าทรงทราบ จึงตรัสว่า “ทำไมท่านจึงถกเถียงกันเรื่องไม่มีขนมปัง ท่านยังไม่รู้ไม่เข้าใจอีกหรือ ท่านยังมีใจแข็งกระด้างกันอยู่อีกหรือ มีตา แต่ไม่เห็น มีหู แต่ไม่ได้ยินหรือ ท่านจำไม่ได้หรือว่า เมื่อเราบิขนมปังห้าก้อนเลี้ยงคนห้าพันคน ท่านเก็บเศษที่เหลือได้เต็มกี่กระบุง” เขาตอบว่า “สิบสองกระบุง” “เมื่อเราบิขนมปังเจ็ดก้อนเลี้ยงคนสี่พันคน ท่านเก็บเศษที่เหลือได้เต็มกี่ตะกร้า” เขาทูลตอบว่า “เจ็ดตะกร้า” แล้วพระองค์ตรัสถามเขาว่า “ท่านยังไม่เข้าใจอีกหรือ”
พระเยซูเจ้าเสด็จมาพร้อมกับบรรดาศิษย์ถึงเมืองเบธไซดา มีผู้นำคนตาบอดคนหนึ่งมาขอให้พระองค์ทรงสัมผัส
มก 8:11-21 พระคริสตเจ้าจะไม่ทรงทำอัศจรรย์ตามความต้องการของผู้ปฏิเสธที่จะเชื่อ อันที่จริง พระองค์ทรงเตือนถึงเชื้อแป้งของชาวฟาริสี ซึ่งหมายถึงความแข็งกระด้างของจิตใจอันมาจากความจองหองและความไม่เชื่อ บรรดาอัครสาวกยังไม่เข้าใจทั้งเรื่องการเปรียบเทียบกับเชื้อแป้งของชาวฟาริสีและความหมายของการทวีขนมปัง พวกเขาจะเข้าใจในเรื่องนี้หลังจากการรับประทานอาหารค่ำมื้อสุดท้ายและการเสด็จมาของพระจิตเจ้าในวันเปนเตกอสเต
งานธรรมทูต – ความจำเป็นสำหรับสากลภาพของพระศาสนจักร
CCC ข้อ 854 โดยพันธกิจของตน พระศาสนจักร “ดำเนินไปพร้อมกับมวลมนุษยชาติและประสบชะตากรรมเดียวกันร่วมกับโลกและเป็นประดุจวิญญาณของสังคมมนุษย์ที่ต้องรับการฟื้นฟูในพระคริสตเจ้าและเปลี่ยนให้เป็นครอบครัวของพระเจ้า” งานธรรมทูตจึงเรียกร้องให้มีความพากเพียร งานนี้เริ่มโดยการประกาศ พระวรสารแก่ประชากรและกลุ่มชนต่างๆ ที่ยังไม่มีความเชื่อในพระคริสตเจ้า ดำเนินต่อไปโดยตั้งชุมชนคริสตชนซึ่งเป็นเครื่องหมายการประทับอยู่ของพระเจ้าในโลก และตั้งพระศาสนจักรท้องถิ่น เริ่มกระบวนการเข้าสู่วัฒนธรรมเพื่อทำให้การประกาศข่าวดีอยู่ในวัฒนธรรมของประชากรเหล่านั้น แต่ก็อาจต้องประสบผลตรงกันข้าม “ส่วนที่เกี่ยวกับกลุ่มชนและประชากรนั้น พระศาสนจักรค่อยๆ เข้าถึงและแทรกซึมเข้าไปได้เท่านั้น และดังนี้จึงอาจนำเขาเข้ามาเป็นสากลหรือคาทอลิกได้อย่างสมบูรณ์”
มก 8:18-26 มีตา... แต่ไม่ได้ยิน : สำนวนเชิงโวหารนี้มีความสำคัญเป็นพิเศษในกรณีของการรักษาคนใบ้หูหนวก (เทียบ มก 7:31-37) และตามด้วยพระวรสารตอนที่เกี่ยวกับการรักษาคนตาบอด (เทียบ มก 8: 22-26) เรื่องการรักษาคนตาบอดเป็นการเปรียบเทียบกับการเดินทางแห่งความเชื่อของเรา พระคริสตเจ้าทรงรักษาเราจากความมืดบอดทางวิญญาณ จนกว่าเราจะสามารถเห็นพระองค์ในทุกสถานการณ์และเหตุการณ์ต่างๆ ในชีวิตประจำวันของเรา (เทียบ มก 7:33)
เครื่องหมายและสัญลักษณ์
CCC ข้อ 1151 เครื่องหมายที่พระคริสตเจ้าทรงรับมา พระเยซูองค์พระผู้เป็นเจ้าทรงใช้สิ่งสร้างเป็นเครื่องหมายเพื่อทรงสอนพระธรรมล้ำลึกเรื่องพระอาณาจักรของพระเจ้า ทรงใช้วัตถุหรือการกระทำแบบสัญลักษณ์เป็นเครื่องหมายเมื่อทรงรักษาโรคหรือเทศน์สอน พระองค์ทรงให้ความหมายใหม่แก่เหตุการณ์และเครื่องหมายต่างๆ ในพันธสัญญาเดิม โดยเฉพาะการอพยพและฉลองปัสกา เพราะพระองค์ทรงเป็นความหมายของเครื่องหมายเหล่านี้ทั้งหมด
พระคริสตเจ้าทรงเป็นเสมือนนายแพทย์
CCC ข้อ 1504 พระเยซูเจ้าทรงขอร้องคนเจ็บป่วยให้มีความเชื่อ ทรงใช้เครื่องหมายเพื่อบำบัดรักษา เช่นทรงใช้พระเขฬะ การปกพระหัตถ์ ทรงป้ายโคลนและสั่งให้ไปล้างออก บรรดาคนเจ็บป่วยพยายามสัมผัสพระองค์ “เพราะมีพระอานุภาพออกจากพระองค์รักษาทุกคนให้หายโรค” (ลก 6:19) ดังนั้น ในศีลศักดิ์สิทธิ์ พระคริสตเจ้ายังคงทรง “สัมผัส” เพื่อบำบัดรักษาพวกเรา
(จากหนังสือ THE DIDACHE BIBLE with commentaries based on the Catechism of the Catholic Church, Ignatius Bible Edition)