วันจันทร์ ฉลองพระเยซูเจ้าทรงรับพิธีล้าง
พระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญมัทธิว (มธ 3:13-17)
เวลานั้น พระเยซูเจ้าเสด็จมาจากแคว้นกาลิลีถึงแม่น้ำจอร์แดน เพื่อรับพิธีล้างจากยอห์น ยอห์นพยายามชักชวนพระองค์ให้เปลี่ยนพระทัย เขากล่าวว่า “ข้าพเจ้าควรจะรับพิธีล้างจากท่าน แต่ท่านกลับมาพบข้าพเจ้า” พระเยซูเจ้าตรัสตอบว่า “เวลานี้ ปล่อยให้เป็นเช่นนี้ก่อน เพราะเราควรจะทำทุกอย่างตามพระประสงค์ของพระเจ้า” ยอห์นจึงยอมทำตาม เมื่อพระเยซูเจ้าทรงรับพิธีล้างแล้ว เสด็จขึ้นจากน้ำ ทันใดนั้นท้องฟ้าเปิดออก พระองค์ทอดพระเนตรเห็นพระจิตของพระเจ้าเสด็จลงมา เหนือพระองค์ดุจนกพิราบ และมีเสียงจากสวรรค์กล่าวว่า “ผู้นี้เป็นบุตรสุดที่รักของเรา เป็นที่โปรดปรานของเรา”
มธ 3:13-15 พิธีล้างของพระคริสตเจ้าบ่งชี้ถึงการเริ่มต้นของภารกิจสาธารณะของพระคริสตเจ้าและการยอมรับพันธกิจแห่งผู้รับใช้ผู้รับทรมาน (เทียบ อสย 42:1) ถึงแม้ทรงปราศจากบาป พระองค์ก็ทรงรับพิธีล้างจากยอห์น บัปติสต์เสมือนที่คนบาปกระทำกัน พิธีล้างนี้เป็นการทำให้ “การล้าง” แห่งพระทรมานและการสิ้นพระชนม์ของพระองค์เกิดขึ้นล่วงหน้า (เทียบ มก 10:38; ลก 12:50) ที่ซึ่งพระองค์ทรงรับอัตลักษณ์ของการเป็นคนบาปด้วยการทรงรับเอาบาปของโลกไว้กับพระองค์ อีกทั้งยังเป็นการกล่าวถึงล่วงหน้าถึงศีลล้างบาปที่พระคริสตเจ้าจะทรงสั่งให้บรรดาศิษย์ของพระองค์กระทำต่อไป (เทียบ มธ 28:19)
พระเยซูเจ้าทรงรับพิธีล้าง
CCC ข้อ 535 พระเยซูเจ้าทรงเริ่มพระชนมชีพเปิดเผยโดยทรงรับพิธีล้างจากยอห์นในแม่น้ำจอร์แดน ยอห์น “เทศน์สอนเรื่องพิธีล้างซึ่งแสดงถึงการเป็นทุกข์กลับใจเพื่อจะได้รับการอภัยบาป” (ลก 3:3)คนบาปจำนวนมาก คนเก็บภาษีและทหาร ชาวฟาริสีและสะดูสี และหญิงโสเภณี พากันมารับพิธีล้างจากยอห์น “เวลานั้น พระเยซูเจ้าก็เสด็จมา” ด้วย ยอห์นรู้สึกลังเลใจ แต่พระเยซูเจ้าทรงยืนยันและรับพิธีล้าง แล้วพระจิตเจ้าเสด็จลงมาเหนือพระเยซูเจ้าดุจนกพิราบ และมีเสียงจากสวรรค์กล่าวว่า “ผู้นี้เป็นบุตรสุดที่รักของเรา” (มธ 3:13-17) เหตุการณ์นี้เป็นการแสดงองค์ของพระเยซูเจ้า (“Epiphania”) ว่าทรงเป็นพระเมสสิยาห์แห่งอิสราเอลและพระบุตรของพระเจ้า
CCC ข้อ 536 สำหรับพระเยซูเจ้า การทรงรับพิธีล้าง เป็นการยอมรับและเริ่มพันธกิจของพระองค์ในฐานะ “ผู้รับใช้ผู้รับทรมาน(ของพระเจ้า)” พระองค์ทรงอนุญาตให้ใครๆ นับว่าทรงเป็นคนบาปคนหนึ่ง พระองค์ทรงเป็น “ลูกแกะของพระเจ้า ผู้ทรงลบล้างบาปของโลก” (ยน 1:29) อยู่แล้ว “พิธีล้าง”ยังเกริ่นถึงการสิ้นพระชนม์อย่างเหี้ยมโหดของพระองค์ พระองค์เสด็จมาก็เพื่อ “ทำให้ความยุติธรรมทุกอย่างสมบูรณ์” (มธ 3:15) ซึ่งหมายความว่า “ทรงทำทุกอย่างตามพระประสงค์ของพระเจ้า” พระองค์ทรงยอมด้วยความรักที่จะรับการล้างซึ่งหมายถึงการสิ้นพระชนม์เพื่อบาปของเราจะได้รับการอภัย พระสุรเสียงของพระบิดาตอบการยอมรับนี้โดยตรัสว่าทรงพอพระทัยอย่างยิ่งในพระบุตรของพระองค์ พระจิตเจ้าซึ่งพระเยซูเจ้าทรงมีอย่างเต็มเปี่ยมแล้วตั้งแต่ทรงปฏิสนธิยังเสด็จลงมา “ประทับอยู่เหนือพระองค์” พระเยซูเจ้าจะทรงเป็นผู้ประทานพระจิตเจ้านี้สำหรับมวลมนุษย์ เมื่อทรงรับพิธีล้าง “ท้องฟ้าเปิดออก” (มธ 3:16) ท้องฟ้านี้ซึ่งบาปของอาดัมได้ปิดไว้ และน้ำที่ได้รับความศักดิ์สิทธิ์โดยพระเยซูเจ้าและการเสด็จลงมาของพระจิตเจ้าจึงเป็นเสมือนการเปิดฉากการเนรมิตสร้างครั้งใหม่
“ลูกแกะที่ทรงลบล้างบาปของโลก”
CCC ข้อ 608 ยอห์นผู้ประกอบพิธีล้าง หลังจากยอมประกอบพิธีล้างให้พระเยซูเจ้าพร้อมกับบรรดาคนบาปแล้ว เห็นในพระองค์และแจ้งให้ทุกคนรู้ว่าพระองค์คือ “ลูกแกะของพระเจ้า ซึ่งลบล้างบาปของโลก”ดังนี้ เขาจึงเปิดเผยว่าพระเยซูเจ้าทรงเป็นทั้ง “ผู้รับใช้ผู้รับทรมาน” ที่ยอมมอบตนโดยไม่ปริปากให้ถูกนำไปฆ่า และแบกบาปของคนทั้งปวง ทั้งยังเป็น “ลูกแกะปัสกา” สัญลักษณ์การไถ่กู้อิสราเอลในการฉลองปัสกาครั้งแรก พระชนมชีพทั้งหมดของพระคริสตเจ้าแสดงพันธกิจของพระองค์ คือการรับใช้และมอบชีวิตของพระองค์เป็นสินไถ่เพื่อมนุษย์ทั้งหลาย
พิธีล้างของพระคริสตเจ้า
CCC ข้อ 1223 รูปแบบต่างๆ ที่เป็นการกล่าวล่วงหน้าในพันธสัญญาเดิมสำเร็จเป็นจริงสมบูรณ์ในพระเยซูคริสตเจ้า พระองค์ทรงเริ่มพระชนมชีพเปิดเผยหลังจากเสด็จไปรับพิธีล้างจากนักบุญยอห์นผู้ทำพิธีล้างในแม่น้ำจอร์แดน และหลังจากที่ทรงกลับคืนพระชนมชีพแล้ว พระองค์ยังทรงมอบพันธกิจนี้แก่บรรดาอัครสาวกว่า “ดังนั้น ท่านทั้งหลายจงไปสั่งสอนนานาชาติให้มาเป็นศิษย์ของเรา ทำพิธีล้างบาปให้เขาเดชะพระนามพระบิดา พระบุตรและพระจิต จงสอนเขาให้ปฏิบัติตามคำสั่งทุกข้อที่เราให้แก่ท่าน” (มธ 28:19-20)
CCC ข้อ 1224 องค์พระผู้เป็นเจ้าของเราทรงสมัครพระทัยรับพิธีล้างของยอห์นผู้ทำพิธีล้างที่กำหนดไว้สำหรับคนบาปเพื่อทรงทำทุกอย่างตามพระประสงค์ของพระเจ้า การกระทำเช่นนี้ของพระเยซูเจ้าเป็นการแสดงถึง “การสละพระองค์จนหมดสิ้น” พระจิตเจ้าซึ่งเคยทรงร่อนอยู่เหนือน้ำเมื่อทรงเนรมิตสร้างโลกตั้งแต่แรกนั้นเสด็จลงมาประทับเหนือพระคริสตเจ้า เป็นการเกริ่นถึงการเนรมิตสร้างครั้งใหม่ และพระบิดาก็ทรงประกาศว่าพระเยซูเจ้าทรงเป็นพระบุตรของพระองค์
มธ 3:15-16 ทำทุกอย่างตามพระประสงค์ของพระเจ้า : การที่พระคริสตเจ้าทรงรับพิธีล้างจากยอห์น บัปติสต์นั้นหมายความถึงการน้อมรับอย่างสมบูรณ์ที่จะทำให้พระประสงค์ของพระบิดาสำเร็จอย่างสมบูรณ์ กล่าวคือ พระคริสตเจ้าสิ้นพระชนม์เพื่อไถ่กู้มนุษย์ให้รอดพ้นจากบาป ท้องฟ้าเปิดออก : บาปของอาดัมได้ปิดประตูสวรรค์ (เทียบ ปฐก 3:24) แต่พระคริสตเจ้าทรงเปิดประตูนั้นอีกครั้งหนึ่งอาศัยการพลีบูชาแห่งการไถ่กู้ของพระองค์ ดุจนกพิราบ : นกพิราบเป็นสัญลักษณ์ถึงพระจิตเจ้า การกระทำของนกพิราบ (พระจิต) เหนือน้ำและการเสด็จมาเหนือพระคริสตเจ้าเตือนให้ระลึกถึงพระจิตเจ้าเหนือนำในเหตุการณ์การเนรมิตสร้าง (เทียบ ปฐก 1:2) อาศัยการล้างบาปบุคคลหนึ่งจึงกลายเป็นสิ่งสร้างใหม่ในพระคริสตเจ้า (เทียบ 2คร 5:17) ประกาศกอิสยาห์ได้ทำนายว่า เครื่องหมายของพระเมสสิยาห์คือพระจิตเจ้าที่ประทับอยู่เหนือพระองค์ (เทียบ อสย 11:2; 42:1; 61:1)
CCC ข้อ 536 อ่านเพิ่มเติมด้านบน (มธ 3:13-15)
สัญลักษณ์ของพระจิตเจ้า
CCC ข้อ 701 “นกพิราบ” เมื่อน้ำวินาศสิ้นสุด (น้ำวินาศยังเป็นสัญลักษณ์ของศีลล้างบาปซึ่งเป็นการทำลายล้างความชั่วร้ายทั้งหลาย) นกพิราบที่โนอาห์ส่งออกไปบินกลับมา คาบกิ่งอ่อนของต้นมะกอกเทศมาด้วย ซึ่งหมายความว่าพื้นดินแห้งสามารถอาศัยอยู่ได้แล้ว เมื่อพระเยซูเจ้าเสด็จขึ้นจากน้ำเมื่อทรงรับพิธีล้างแล้ว พระจิตเจ้าเสด็จลงมาประทับอยู่เหนือพระองค์ในรูปของนกพิราบ พระจิตเจ้าเสด็จลงมาในใจบริสุทธิ์ของผู้รับศีลล้างบาปแล้วและประทับอยู่ที่นั่น ในโบสถ์บางแห่งมีธรรมเนียมเก็บรักษาศีลมหาสนิทไว้ในที่เก็บทำด้วยโลหะเป็นรูปนกพิราบ (ที่เรียกว่า “columarium”) แขวนไว้เหนือพระแท่นบูชา สัญลักษณ์รูปนกพิราบที่หมายถึงพระจิตเจ้าเห็นได้ทั่วไปในธรรมประเพณีวิจิตรศิลป์ของคริสตชน
CCC ข้อ 1224 อ่านเพิ่มเติมด้านบน (มธ 3:13-15)
ศีลกำลังในแผนการความรอดพ้น
CCC ข้อ 1286 ในพันธสัญญาเดิม บรรดาประกาศกประกาศว่าทุกคนรอคอยให้พระจิตขององค์พระผู้เป็นเจ้าเสด็จลงมาประทับเหนือพระเมสสิยาห์ เพื่อประกอบพระพันธกิจในการนำความรอดพ้นของพระองค์ การเสด็จลงมาของพระจิตเจ้าเหนือพระเยซูเจ้าเมื่อทรงรับพิธีล้างจากท่านยอห์นเป็นเครื่องหมายแสดงว่าพระองค์ (พระเยซูเจ้า) คือผู้ที่จะต้องเสด็จมา พระองค์เป็นพระเมสสิยาห์ เป็นพระบุตรของพระเจ้า พระเยซูเจ้าทรงปฏิสนธิเดชะพระจิตเจ้า พระชนมชีพและพระพันธกิจทั้งหมดของพระองค์ดำเนินไปในความสัมพันธ์ร่วมกับพระจิตเจ้าที่พระบิดา “ประทานให้อย่างไม่จำกัด” (ยน 3:34)
มธ 3:17 เสียงจากสวรรค์ : พิธีล้างของพระคริสตเจ้า กล่าวคือ พระสุรเสียงของพระบิดาเจ้า การรับพิธีล้างของพระบุตร และการเสด็จมาของพระจิตเจ้าในรูปของนกพิราบล้วนแสดงถึงพระตรีเอกภาพ พระสุรเสียงของพระบิดาในเหตุการณ์จำแลงพระกายของพระเยซูเจ้าเป็นการยืนยันอีกครั้งหนึ่งว่าพระคริสตเจ้าทรงเป็นพระบุตรของพระเจ้า (เทียบ มธ 17:5)
พระบุตรเพียงพระองค์เดียวของพระเจ้า
CCC ข้อ 444 พระวรสารเล่าว่าในโอกาสสำคัญสองครั้ง คือเมื่อพระคริสตเจ้าทรงรับพิธีล้างและทรงแสดงพระองค์อย่างรุ่งโรจน์ พระบิดาทรงเปล่งพระสุรเสียงประกาศว่าพระคริสตเจ้าทรงเป็น “บุตรสุดที่รัก” ของพระองค์[60] พระเยซูเจ้ายังตรัสถึงพระองค์เองว่าทรงเป็น “พระบุตรเพียงพระองค์เดียว” ของพระเจ้า (ยน 3:16) และทรงใช้ตำแหน่งนี้ยืนยันว่าทรงดำรงอยู่ก่อนแล้วตั้งแต่นิรันดร ทรงเรียกร้องให้ทุกคนมีความเชื่อ “ในพระนามของพระบุตรเพียงพระองค์เดียวของพระเจ้า” (ยน 3:18) การประกาศความเชื่อของคริสตชนเช่นนี้ปรากฏแล้วเมื่อนายร้อยโรมันประกาศเฉพาะพระพักตร์พระเยซูเจ้าบนไม้กางเขนว่า “ชายคนนี้เป็นพระบุตรของพระเจ้าแน่ทีเดียว” (มก 15:39) ในพระธรรมล้ำลึกปัสกาเท่านั้น ผู้มีความเชื่อจึงอาจให้ความหมายของตำแหน่ง “พระบุตรของพระเจ้า” ได้อย่างสมบูรณ์
การรอคอยพระเมสสิยาห์และจิตของพระองค์
CCC ข้อ 713 ภาพลักษณ์ของพระเมสสิยาห์เปิดเผยให้เห็นชัดเจนโดยเฉพาะใน “บทเพลงของผู้รับใช้” บทเพลงเหล่านี้แจ้งว่าพระทรมานของพระเยซูเจ้ามีความหมายอย่างไร และดังนี้จึงชี้ให้เห็นวิธีการที่พระองค์จะหลั่งพระจิตเจ้าเพื่อประทานชีวิตแก่คนจำนวนมาก ไม่ใช่จากภายนอก แต่เมื่อทรงรับ “สภาพดุจทาส” (ฟป 2:7) เป็นมนุษย์เหมือนเรา ทรงรับความตายของเรา พระองค์ก็อาจบันดาลให้เรามีส่วนในพระจิตแห่งชีวิตของพระองค์ได้
(จากหนังสือ THE DIDACHE BIBLE with commentaries based on the Catechism of the Catholic Church, Ignatius Bible Edition)