แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

วันอังคาร เทศกาลพระคริสตสมภพ

พระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญยอห์น (ยน 1:29-34)                                

เวลานั้น ยอห์นเห็นพระเยซูเจ้าเสด็จมาหาตน จึงกล่าวว่า “นี่คือลูกแกะของพระเจ้า ผู้ทรงลบล้างบาปของโลก ผู้นี้คือผู้ที่ข้าพเจ้าเคยพูดถึงว่า “บุรุษผู้หนึ่งมาภายหลังข้าพเจ้า แต่นำหน้าข้าพเจ้า  เพราะอยู่มาก่อนข้าพเจ้า”  ข้าพเจ้าไม่รู้จักพระองค์ แต่ข้าพเจ้าถูกส่งมาให้ทำพิธีล้าง เพื่อทำให้พระองค์เป็นที่รู้จักแก่อิสราเอล  ยอห์นยังยืนยันอีกว่า “ข้าพเจ้าเห็นพระจิตเจ้าเสด็จลงมาจากสวรรค์เหมือนนกพิราบ และทรงอยู่เหนือพระองค์  ข้าพเจ้าไม่รู้จักพระองค์ แต่ผู้ที่ทรงส่งข้าพเจ้ามาใช้น้ำทำพิธีล้าง ตรัสแก่ข้าพเจ้าว่า “เจ้าเห็นพระจิตเจ้าเสด็จลงมาประทับอยู่เหนือผู้ใด ผู้นั้นคือผู้ที่ทำพิธีล้างเดชะพระจิตเจ้า”  ข้าพเจ้าเห็น และเป็นพยานยืนยันว่า ท่านผู้นี้เป็นพระบุตรของพระเจ้า”


ยน 1:19-34 ยอห์น บัปติสต์ไม่เคยประกาศตนว่าเป็นพระคริสตเจ้า หรือเอลียาห์ หรือโมเสส แต่บอกว่า ท่านเป็นเสียงของผู้ที่ร้องตะโกนในถิ่นทุรกันดาร ให้เตรียมทางต้อนรับการเสด็จมาของพระเมสสิยาห์ ลูกแกะของพระเจ้า 

พระคริสตเจ้า

CCC ข้อ 438 การที่พระเยซูเจ้าทรงรับเจิมเป็นพระเมสสิยาห์นี้แสดงให้เห็นพันธกิจที่ทรงได้รับจากพระเจ้า “ตามความหมายของพระนาม เพราะนาม ‘พระคริสต์’ หมายถึง ‘ผู้เจิม’ และ ‘ผู้รับเจิม’ รวมทั้งการเจิมที่ทรงรับด้วย ผู้ที่ทรงเจิมคือพระบิดา ผู้ทรงรับเจิมคือพระบุตร พระองค์ทรงรับเจิมในองค์พระจิตเจ้าซึ่งทรงเป็นการเจิม” การที่ทรงรับเจิมเป็นพระเมสสิยาห์ตั้งแต่นิรันดรนี้ถูกเปิดเผยในช่วงเวลาที่ทรงพระชนมชีพในโลกเมื่อทรงรับพิธีล้างจากยอห์น เมื่อ “พระเจ้าทรงเจิมพระองค์ด้วยพระอานุภาพเดชะพระจิตเจ้า” (กจ 10:38) “เพื่อทำให้พระองค์เป็นที่รู้จักแก่อิสราเอล” (ยน 1:31) ในฐานะพระเมสสิยาห์ของตน พระภารกิจและพระวาจาของพระองค์แสดงให้พระองค์เป็นที่รู้จักในฐานะ “พระผู้ศักดิ์สิทธิ์ของพระเจ้า”

การสิ้นพระชนม์ของพระคริสตเจ้าเป็นการถวายบูชาหนึ่งเดียวที่สมบูรณ์

CCC ข้อ 613 การสิ้นพระชนม์ของพระคริสตเจ้าเป็นทั้งการถวายบูชาปัสกา ซึ่งทำให้การไถ่กู้มนุษยชาติสำเร็จบริบูรณ์ อาศัยลูกแกะผู้ทรงลบล้างบาปของโลก และเป็นการถวายบูชาแห่งพันธสัญญาใหม่ ซึ่งทำให้มนุษย์มีความสัมพันธ์ที่ดีกับพระเจ้าอีกครั้งหนึ่ง ทำให้มนุษย์กลับคืนดีกับพระองค์อาศัยพระโลหิตที่หลั่งออกเพื่ออภัยบาปมนุษย์ทั้งหลาย   


ยน 1:29  ลูกแกะของพระเจ้า : ยอห์น บัปติสต์ได้ใช้วลีนี้เพื่อที่บ่งชี้ถึงอัตลักษณ์ของพระคริสตเจ้า เป็นการยืนยันว่าการพลีบูชาเพื่อการไถ่กู้ของพระคริสตเจ้าจะต้องดำเนินไปเพื่อความรอดพ้นของมนุษย์ทั้งปวง ลูกแกะเป็นภาพลักษณ์ที่เชื่อมโยงถึงงานเลี้ยงปัสกาและการอพยพในพันธสัญญาเดิม เมื่อพระเจ้าตรัสแก่ชาวอิสราเอลให้ฆ่าลูกแกะไร้ตำหนิและเอาเลือดของแกะทาที่ประตูบ้านเพื่อให้รอดพ้นจากภัยพิบัติสิบประการ ทำให้บุตรชายหัวปีได้รอดพ้นจากความตาย ภาพลักษณ์นี้ยังทำให้คำทำนายของอิสยาห์ถึงผู้รับใช้ผู้รับทรมานสำเร็จไปอย่างสมบูรณ์ด้วย ประกาศกได้บรรยายถึงพระองค์ว่าเป็นลูกแกะบริสุทธิ์ที่ถูกฆ่าเพื่อชดเชยบาปของผู้อื่น (เทียบ อสย 53:7-12)  บาปของโลก : สำนวนนี้บ่งชี้ถึงผลของบาปกำเนิดและและบาปส่วนตัวทั้งหมดของมนุษยชาติ

  การต่อสู้ที่หนักหน่วง..... 

CCC ข้อ 408 ผลตามมาของบาปกำเนิดและบาปส่วนตัวของมนุษย์ทุกคนนำสภาพบาปมาให้โลกในส่วนรวม สภาพที่อาจเรียกได้โดยใช้สำนวนของนักบุญยอห์นว่า “บาปของโลก” (ยน 1:29) วลีนี้ยังหมายถึงอิทธิพลด้านลบที่สภาพความเป็นอยู่ของชุมชนและโครงสร้างด้านสังคม ซึ่งเป็นผลจากบาปของมนุษย์ มีอิทธิพลต่อมนุษย์แต่ละคนด้วย 

การจัดเตรียมจากพระเจ้า 

CCC ข้อ 523 พระเจ้าทรงส่งนักบุญยอห์นผู้ทำพิธีล้างเป็นผู้นำหน้าคนสุดท้ายขององค์พระผู้เป็นเจ้าเพื่อเตรียมทางให้พระองค์ท่าน ท่านยอห์นในฐานะ “ประกาศกของพระผู้สูงสุด” (ลก 1:76) ยิ่งใหญ่กว่าบรรดาประกาศกทั้งหลาย และเป็นประกาศกคนสุดท้าย เป็นผู้เริ่มประกาศข่าวดี (หรือพระวรสาร) ตั้งแต่จากครรภ์มารดาแล้วท่านต้อนรับการเสด็จมาของพระคริสตเจ้า และมีความยินดีที่ได้เป็นเสมือน “เพื่อนเจ้าบ่าว” (ยน 3:29) ซึ่งได้รับนามว่า “ลูกแกะของพระเจ้า ผู้ทรงลบล้างบาปของโลก” (ยน 1:29) ท่าน “มีจิตใจและพลังของประกาศกเอลียาห์”(ลก 1:17) นำหน้าพระเยซูเจ้า เป็นพยานยืนยันถึงพระองค์โดยการเทศน์สอน โดยประกอบพิธีล้างให้ประชาชนกลับใจ และในที่สุดโดยการเป็นมรณสักขีของท่านด้วย 

  “ลูกแกะที่ทรงลบล้างบาปของโลก”

CCC ข้อ 608 ยอห์นผู้ประกอบพิธีล้าง หลังจากยอมประกอบพิธีล้างให้พระเยซูเจ้าพร้อมกับบรรดาคนบาปแล้ว เห็นในพระองค์และแจ้งให้ทุกคนรู้ว่าพระองค์คือ “ลูกแกะของพระเจ้า ซึ่งลบล้างบาปของโลก”ดังนี้ เขาจึงเปิดเผยว่าพระเยซูเจ้าทรงเป็นทั้ง “ผู้รับใช้ผู้รับทรมาน” ที่ยอมมอบตนโดยไม่ปริปากให้ถูกนำไปฆ่า และแบกบาปของคนทั้งปวง ทั้งยังเป็น “ลูกแกะปัสกา” สัญลักษณ์การไถ่กู้อิสราเอลในการฉลองปัสกาครั้งแรก พระชนมชีพทั้งหมดของพระคริสตเจ้าแสดงพันธกิจของพระองค์ คือการรับใช้และมอบชีวิตของพระองค์เป็นสินไถ่เพื่อมนุษย์ทั้งหลาย  

ผู้ประกอบพิธีกรรมในสวรรค์

CCC ข้อ 1137 หนังสือวิวรณ์ของนักบุญยอห์นที่อ่านในพิธีกรรมของพระศาสนจักร ก่อนอื่นเปิดเผยให้เราเห็นพระบัลลังก์องค์หนึ่งตั้งไว้ในสวรรค์และผู้ประทับอยู่บนพระบัลลังก์นั้น คือ “องค์พระผู้เป็นเจ้า” (อสย 6:1) แล้วจึงเห็น “ลูกแกะยืนอยู่ทั้งๆ ที่ถูกประหารชีวิตแล้ว” (วว 5:6) พระคริสตเจ้าผู้ทรงถูกตรึงกางเขนและกลับคืนพระชนมชีพแล้ว พระมหาสมณะหนึ่งเดียวของกระโจมแท้จริง ทรงเป็นพระองค์เดียวที่ทรงเป็น “ทั้งผู้ถวายและถูกถวาย ผู้รับและผู้ให้” ในที่สุด เรายังเห็น “แม่น้ำแห่งชีวิต […] ไหลจากพระบัลลังก์ของพระเจ้าและของลูกแกะ” (วว 22:1) เป็นหนึ่งในเครื่องหมายงดงามที่สุดของพระจิตเจ้า  

พระคริสตเจ้าทรงเป็นเสมือนนายแพทย์

CCC ข้อ 1505 พระคริสตเจ้าทรงสะเทือนพระทัยเพราะความเจ็บปวดมากมายเช่นนี้ไม่เพียงแต่ทรงอนุญาตให้คนเจ็บป่วยสัมผัสพระองค์ได้ แต่ยังทรงทำให้ความน่าสงสารของเราเป็นของพระองค์ด้วย “พระองค์ทรงรับเอาความอ่อนแอของเราไว้ และทรงแบกความเจ็บป่วยของเรา” (มธ 8:17) พระองค์มิได้ทรงบำบัดรักษาความเจ็บป่วยทั้งหมด การที่ทรงบำบัดรักษาเป็นเครื่องหมายว่าพระอาณาจักรของพระเจ้ามาถึงแล้ว เป็นการแจ้งถึงการบำบัดรักษาที่ลึกซึ้งกว่านั้น คือแจ้งถึงชัยชนะต่อบาปและความตายโดยปัสกาของพระองค์ บนไม้กางเขน พระคริสตเจ้าทรงรับน้ำหนักทั้งหมดของความชั่วมาไว้กับพระองค์ และทรงแบก “บาปของโลก” ไว้ (ยน 1:29) ความเจ็บป่วยเป็นเพียงผลของบาปนี้เท่านั้น อาศัยพระทรมานและการสิ้นพระชนม์บนไม้กางเขน พระคริสตเจ้าประทานความหมายใหม่ให้แก่ความทุกข์ ตั้งแต่นี้ไป ความทุกข์อาจทำให้เราเป็นเหมือนพระองค์และอาจมีส่วนร่วมกับพระทรมานเพื่อไถ่กู้ของพระองค์ด้วย  


ยน 1:31-36  อันที่จริงพระคริสตเจ้าเองทรงเป็นลูกแกะของพระเจ้า พระองค์จึงไม่ทรงต้องรับการไถ่กู้ แต่พระองค์ได้ทรงรับพิธีล้างร่วมกับคนบาปเพื่อร่วมในอัตลักษณ์ของมนุษยชาติที่ตกในบาป เป็นพยานถึงการประทับอยู่ของพระจิตเจ้าเหนือพระคริสตเจ้า เพื่อยืนยันถึงการเล่าเรื่องพิธีล้างในพระวรสารสหทรรศน์ การเสด็จมาของพระจิตเจ้าเป็นการยืนยันสำหรับยอห์น (และสำหรับเรา) ว่าพระเยซูเจ้าทรงเป็นพระเมสสิยาห์ พระบุตรพระเจ้าที่ได้รับเจิมโดยพระจิตเจ้า    

 

พระคริสตเจ้า

CCC ข้อ 438 การที่พระเยซูเจ้าทรงรับเจิมเป็นพระเมสสิยาห์นี้แสดงให้เห็นพันธกิจที่ทรงได้รับจากพระเจ้า “ตามความหมายของพระนาม เพราะนาม ‘พระคริสต์’ หมายถึง ‘ผู้เจิม’ และ ‘ผู้รับเจิม’ รวมทั้งการเจิมที่ทรงรับด้วย ผู้ที่ทรงเจิมคือพระบิดา ผู้ทรงรับเจิมคือพระบุตร พระองค์ทรงรับเจิมในองค์พระจิตเจ้าซึ่งทรงเป็นการเจิม” การที่ทรงรับเจิมเป็นพระเมสสิยาห์ตั้งแต่นิรันดรนี้ถูกเปิดเผยในช่วงเวลาที่ทรงพระชนมชีพในโลกเมื่อทรงรับพิธีล้างจากยอห์น เมื่อ “พระเจ้าทรงเจิมพระองค์ด้วยพระอานุภาพเดชะพระจิตเจ้า” (กจ 10:38) “เพื่อทำให้พระองค์เป็นที่รู้จักแก่อิสราเอล” (ยน 1:31) ในฐานะพระเมสสิยาห์ของตน พระภารกิจและพระวาจาของพระองค์แสดงให้พระองค์เป็นที่รู้จักในฐานะ “พระผู้ศักดิ์สิทธิ์ของพระเจ้า”

ทรงปฏิสนธิเดชะพระจิตเจ้า.....

CCC ข้อ 486 พระบุตรเพียงพระองค์เดียวของพระบิดาทรงปฏิสนธิเป็นมนุษย์ในพระครรภ์ของพระนางมารีย์พรหมจารี ทรงเป็น “พระคริสตเจ้า” นั่นคือทรงรับเจิมจากพระจิตเจ้า ตั้งแต่แรกเริ่มที่ทรงความเป็นอยู่อย่างมนุษย์ แม้ว่าการแสดงความจริงประการนี้ค่อยๆ ปรากฏตามลำดับ แก่บรรดาผู้เลี้ยงแกะ แก่โหราจารย์ แก่ยอห์นผู้ประกอบพิธีล้าง แก่บรรดาศิษย์ ดังนั้น พระชนมชีพทั้งหมดของพระเยซูคริสตเจ้าจะแสดงให้ปรากฏว่า “พระเจ้าทรงเจิมพระเยซูเจ้าชาวนาซาเร็ธด้วยพระอานุภาพเดชะพระจิตเจ้า” (กจ 10:38)

พระเยซูเจ้าทรงรับพิธีล้าง

CCC ข้อ 536 สำหรับพระเยซูเจ้า การทรงรับพิธีล้าง เป็นการยอมรับและเริ่มพันธกิจของพระองค์ในฐานะ “ผู้รับใช้ผู้รับทรมาน(ของพระเจ้า)” พระองค์ทรงอนุญาตให้ใครๆ นับว่าทรงเป็นคนบาปคนหนึ่งพระองค์ทรงเป็น “ลูกแกะของพระเจ้า ผู้ทรงลบล้างบาปของโลก” (ยน 1:29) อยู่แล้ว “พิธีล้าง” ยังเกริ่นถึงการสิ้นพระชนม์อย่างเหี้ยมโหดของพระองค์ พระองค์เสด็จมาก็เพื่อ “ทำให้ความยุติธรรมทุกอย่างสมบูรณ์” (มธ 3:15) ซึ่งหมายความว่า “ทรงทำทุกอย่างตามพระประสงค์ของพระเจ้า” พระองค์ทรงยอมด้วยความรักที่จะรับการล้างซึ่งหมายถึงการสิ้นพระชนม์เพื่อบาปของเราจะได้รับการอภัย พระสุรเสียงของพระบิดาตอบการยอมรับนี้โดยตรัสว่าทรงพอพระทัยอย่างยิ่งในพระบุตรของพระองค์ พระจิตเจ้าซึ่งพระเยซูเจ้าทรงมีอย่างเต็มเปี่ยมแล้วตั้งแต่ทรงปฏิสนธิยังเสด็จลงมา “ประทับอยู่เหนือพระองค์” พระเยซูเจ้าจะทรงเป็นผู้ประทานพระจิตเจ้านี้สำหรับมวลมนุษย์ เมื่อทรงรับพิธีล้าง “ท้องฟ้าเปิดออก” (มธ 3:16) ท้องฟ้านี้ซึ่งบาปของอาดัมได้ปิดไว้ และน้ำที่ได้รับความศักดิ์สิทธิ์โดยพระเยซูเจ้าและการเสด็จลงมาของพระจิตเจ้าจึงเป็นเสมือนการเปิดฉากการเนรมิตสร้างครั้งใหม่

ยอห์น ผู้นำหน้าพระคริสตเจ้า ประกาศก และผู้ประกอบพิธีล้าง

CCC ข้อ 719 ยอห์นเป็น “ยิ่งกว่าประกาศก” พระจิตเจ้าทรงทำให้ “การตรัสทางประกาศก” สำเร็จไปในตัวเขา ยอห์นเป็นผู้ทำให้ “กลุ่ม” ประกาศกซึ่งเริ่มต้นตั้งแต่ประกาศกเอลียาห์สิ้นสุดลง ยอห์นประกาศว่าการปลอบโยนอิสราเอลอยู่ใกล้แล้ว เป็น “เสียง” ของผู้ปลอบโยนซึ่งกำลังจะมาถึง “เขามาในฐานะพยานเพื่อเป็นพยานถึงแสงสว่าง” (ยน 1:7) ตามที่พระจิตเจ้าแห่งความจริงจะทรงเป็นพยานด้วย ดังนี้ ในยอห์น พระจิตเจ้าทรงบันดาลให้ “การค้นหาและวิเคราะห์ของบรรดาประกาศก” และ “ความปรารถนา” ของบรรดาทูตสวรรค์สำเร็จเป็นจริง “เจ้าเห็นพระจิตเจ้าเสด็จลงมาประทับอยู่เหนือผู้ใด ผู้นั้นคือผู้ที่ทำพิธีล้างเดชะพระจิตเจ้า ข้าพเจ้าเห็นและเป็นพยานยืนยันว่าท่านผู้นี้เป็นพระบุตรของพระเจ้า […] นี่คือลูกแกะของพระเจ้า” (ยน 1:33-36)

ศีลกำลังในแผนการความรอดพ้น

CCC ข้อ 1286 ในพันธสัญญาเดิม บรรดาประกาศกประกาศว่าทุกคนรอคอยให้พระจิตขององค์พระผู้เป็นเจ้าเสด็จลงมาประทับเหนือพระเมสสิยาห์ เพื่อประกอบพระพันธกิจในการนำความรอดพ้นของพระองค์ การเสด็จลงมาของพระจิตเจ้าเหนือพระเยซูเจ้าเมื่อทรงรับพิธีล้างจากท่านยอห์นเป็นเครื่องหมายแสดงว่าพระองค์ (พระเยซูเจ้า) คือผู้ที่จะต้องเสด็จมา พระองค์เป็นพระเมสสิยาห์ เป็นพระบุตรของพระเจ้า พระเยซูเจ้าทรงปฏิสนธิเดชะพระจิตเจ้า พระชนมชีพและพระพันธกิจทั้งหมดของพระองค์ดำเนินไปในความสัมพันธ์ร่วมกับพระจิตเจ้าที่พระบิดา “ประทานให้อย่างไม่จำกัด” (ยน 3:34)

(จากหนังสือ THE DIDACHE BIBLE with commentaries based on the Catechism of the Catholic Church, Ignatius Bible Edition)