แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

วันพฤหัสบดี สัปดาห์ที่ 1 เทศกาลพระคริสตสมภพ

พระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญลูกา (ลก 2:22-35)                               

เวลานั้น เมื่อครบกำหนดเวลาที่มารดาและบุตรจะต้องทำพิธีชำระมลทินตามธรรมบัญญัติของโมเสส โยเซฟพร้อมกับพระนางมารีย์นำพระกุมารไปที่กรุงเยรูซาเล็มเพื่อถวายแด่พระเจ้า มีเขียนไว้ในธรรมบัญญัติขององค์พระผู้เป็นเจ้าว่า จะต้องถวายบุตรชายคนแรกแด่องค์พระผู้เป็นเจ้า และถวายเครื่องบูชาคือนกเขาหนึ่งคู่หรือนกพิราบสองตัวตามที่มีกำหนดไว้ในธรรมบัญญัติของพระเจ้า เวลานั้นที่กรุงเยรูซาเล็ม ชายผู้หนึ่งชื่อสิเมโอน เป็นคนชอบธรรมและยำเกรงพระเจ้า เขารอคอยความรอดพ้นของอิสราเอล พระจิตเจ้าสถิตอยู่กับเขา และทรงเปิดเผยให้เขารู้ว่า เขาจะไม่ตายก่อนที่จะได้เห็นพระคริสต์ขององค์พระผู้เป็นเจ้า พระจิตเจ้าทรงนำสิเมโอนเข้าไปในพระวิหาร ขณะที่โยเซฟพร้อมกับพระนางมารีย์นำพระกุมารเข้ามาปฏิบัติตามที่ธรรมบัญญัติกำหนดไว้ สิเมโอนรับพระกุมารมาอุ้มไว้ และกล่าวถวายพระพรแด่พระเจ้าว่า “ข้าแต่องค์พระผู้เป็นเจ้า บัดนี้ พระองค์ทรงปล่อยผู้รับใช้ของพระองค์ไปเป็นสุข ตามพระดำรัสของพระองค์ เพราะนัยน์ตาของข้าพเจ้าได้เห็นองค์พระผู้ช่วยให้รอดพ้น ผู้ที่พระองค์ทรงจัดเตรียมไว้สำหรับนานาประชาชาติเป็นแสงสว่างเปิดเผยให้คนต่างชาติรู้จักพระองค์ และเป็นสิริรุ่งโรจน์สำหรับอิสราเอลประชากรของพระองค์”

โยเซฟประหลาดใจในถ้อยคำที่กล่าวถึงพระกุมาร พระนางมารีย์ก็ทรงรู้สึกเช่นเดียวกัน สิเมโอนอวยพรท่านทั้งสองและกล่าวแก่พระนางมารีย์ พระมารดาว่า “พระเจ้าทรงกำหนดให้กุมารนี้เป็นเหตุให้คนจำนวนมากในอิสราเอลต้องล้มลง หรือลุกขึ้น และเป็นเครื่องหมายแห่งการต่อต้าน เพื่อความในใจของคนจำนวนมากจะถูกเปิดเผย” ส่วนท่าน ดาบจะแทงทะลุจิตใจของท่าน


ลก 2:21-24  พระคริสตเจ้าทรงรับพิธีเข้าสุหนัตในวันที่แปดหลังการประสูติของพระองค์ เป็นเหตุการณ์ที่เฉลิมฉลองในปฏิทินพิธีกรรมของอัฐมวารพระคริสตสมภพ คือในวันที่ 1 มกราคม การเข้าสุหนัตเป็นเครื่องหมายของการเข้าร่วมพันธสัญญาของอิสราเอลในฐานะลูกหลานของอับราฮัม (เทียบ ลก 1:59–66) ในทำนองเดียวกัน ตามกฎหมายของชาวยิว บิดามารดาของพระคริสตเจ้าได้นำพระองค์ไปที่พระวิหารหลังจากที่พระองค์บังเกิดได้สี่สิบวันเพื่อทำพิธีชำระมลทินและการถวายบุตรหัวปี การชำระมลทินของสตรีหลังจากการคลอดบุตรนั้นเป็นสิ่งจำเป็นต้องทำก่อนที่นางจะไปนมัสการในพระวิหารหรือแตะต้องสิ่งของศักดิ์สิทธิ์อีกครั้งหนึ่ง กระทำโดยการถวายเครื่องบูชาด้วยลูกแกะ นกเขาหนึ่งคู่หรือนกพิราบสองตัว ที่จริงแล้วในกรณีของการปฏิสนธิของพระนางมารีย์และการประสูติของพระคริสตเจ้ามิได้ทำให้พระนางมีมลทินใดภายใต้ธรรมบัญญัติ แต่พระนางก็ได้ปฏิบัติตามธรรมบัญญัติ พิธีถวายบุตรชายคนแรกนั้นเป็น “การไถ่กู้เชิงสาธารณะ” ที่จำเป็นสำหรับบุตรชายหัวปีของชนทุกเผ่าที่แตกต่างเผ่าเลวี กล่าวคือ บิดามารดาจะถวายบุตรชายของพวกเขาแด่พระเจ้าในเชิงสัญลักษณ์ และซื้อบุตรกลับคืนด้วยการถวายเงินจำนวนเล็กน้อย การถวายพระคริสตเจ้าในพระวิหารเป็นข้อรำพึงที่สี่ในพระธรรมล้ำลึกแห่งความปิติยินดีของการสวดสายประคำ และมีการเฉลิมฉลองตามปฏิทินพิธีกรรมในวันที่สี่สิบหลังจากวันพระคริสตสมภพ คือในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ การฉลองนี้เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า การเสกเทียน (“ มิสซาเสกเทียน”) เพื่อเน้นว่าพระคริสตเจ้าทรงเป็นแสงสว่างของโลก ตามคำทำนายของซิเมโอน ด้วยเหตุนี้จึงมีการนำเทียนที่ได้รับการเสกในวันนี้ไปใช้ตลอดทั้งปี 

พระเยซูเจ้า

CCC ข้อ 435 พระนามเยซูเป็นศูนย์กลางของคำอธิษฐานภาวนาของคริสตชน คำภาวนาทางพิธีกรรมทุกบทล้วนลงท้ายด้วยสูตรว่า “อาศัยพระบารมีพระเยซูคริสตเจ้า องค์พระผู้เป็นเจ้าของข้าพเจ้าทั้งหลาย” บท “วันทามารีย์” มีจุดยอดอยู่ที่คำว่า “และพระเยซูโอรสของท่านทรงได้รับพระพรยิ่งนัก” บทภาวนายกจิตใจของคริสตชนตะวันออกที่เรียกว่า “บทภาวนาเยซู” (Jesus prayer) มีข้อความว่า “ข้าแต่พระเยซูคริสตเจ้า พระบุตรของพระเจ้า องค์พระผู้เป็นเจ้า โปรดทรงพระเมตตาข้าพเจ้าคนบาปเถิด” คริสตชนจำนวนมาก อย่างเช่นนักบุญโยนออฟอาร์ค สิ้นใจขณะที่ออกพระนาม “เยซู” จากปากของตน

พระธรรมล้ำลึกปฐมวัยของพระเยซูเจ้า

CCC ข้อ 527 การรับพิธีสุหนัตของพระเยซูเจ้าในวันที่แปดหลังจากทรงสมภพ เป็นเครื่องหมายว่าพระองค์ทรงเข้ามาเป็นลูกหลานของอับราฮัม เป็นสมาชิกของประชากรที่พระเจ้าทรงทำพันธสัญญาด้วย ทรงอยู่ใต้ธรรมบัญญัติ เพื่อทรงมีส่วนร่วมในคารวกิจของอิสราเอลตลอดพระชนมชีพของพระองค์ เครื่องหมายนี้บอกล่วงหน้าถึงศีลล้างบาป ซึ่งเป็นเสมือน “พิธีสุหนัตที่มาจากพระคริสตเจ้า”

CCC ข้อ 529 การถวายพระกุมารเยซูในพระวิหาร แสดงว่าพระองค์ทรงเป็นบุตรคนแรกที่เป็นขององค์พระผู้เป็นเจ้าโดยแท้จริง พร้อมกับท่านผู้เฒ่าสิเมโอนและประกาศกหญิงอันนา ประชากรอิสราเอลทั้งหมดรอคอยจะพบกับพระผู้ไถ่ของตน – ธรรมประเพณีพิธีกรรมของจารีตไบเซนไตน์ใช้ชื่อเรียกเหตุการณ์นี้ว่า “การพบ” – พระเยซูเจ้าทรงได้รับการยอมรับว่าเป็น  พระเมสสิยาห์ที่มนุษยชาติรอคอยมาเป็นเวลานาน เป็น “แสงสว่างส่องนานาชาติ” และเป็น “สิริรุ่งโรจน์สำหรับอิสราเอล” แต่ก็ยังทรงเป็น “เครื่องหมายแห่งการต่อต้าน” อีกด้วยดาบแห่งความทุกข์ที่ท่านสิเมโอน กล่าวพยากรณ์แก่พระนางมารีย์ยังแจ้งถึงการถวายพระองค์อีกประการหนึ่ง ซึ่งเป็นการถวายองค์อย่างสมบูรณ์หนึ่งเดียว คือการถวายองค์บนไม้กางเขนซึ่งจะนำความรอดพ้นที่พระเจ้า “ทรงจัดเตรียมไว้สำหรับนานาประชาชาติ” มาให้มวลมนุษย์

พระเยซูเจ้าและพระวิหาร

CCC ข้อ 583 เช่นเดียวกับบรรดาประกาศกที่มาก่อนหน้าพระองค์ พระเยซูเจ้าทรงแสดงความเคารพอย่างลึกซึ้งต่อพระวิหารที่กรุงเยรูซาเล็ม ที่นั่น โยเซฟและพระนางมารีย์นำพระองค์ไปถวายหลังจากทรงสมภพได้สี่สิบวัน เมื่อทรงพระชนมายุสิบสองพรรษาพระองค์ทรงตัดสินพระทัยค้างอยู่ในพระวิหารเพื่อทรงเตือนบิดามารดาให้ระลึกว่าพระองค์จำเป็นต้องทำธุรกิจของ พระบิดา ทุกปีในช่วงเวลาที่ทรงพระชนมชีพซ่อนเร้น พระองค์เสด็จขึ้นไปที่นั่นอย่างน้อยในเทศกาลปัสกา ช่วงเวลาที่ทรงเทศน์สอนประชาชนดูเหมือนจะถูกกำหนดโดยช่วงเวลาที่เสด็จขึ้นไปกรุงเยรูซาเล็มในโอกาสฉลองสำคัญของชาวยิว

การอธิบายความหมายขั้นตอนต่างๆ ของพิธีกรรม

CCC ข้อ 1245 การอวยพรอย่างสง่า ปิดพิธีศีลล้างบาป ถ้าเป็นพิธีศีลล้างบาปของทารกที่เพิ่งเกิด พิธีอวยพรมารดาของเด็กมีความสำคัญเป็นพิเศษ


ลก 2:25-38  ความเชื่อของพระนางมารีย์ไม่เคยหวั่นไหวเพราะพระนางไว้วางใจในพระวาจาของพระเจ้าอย่างเต็มเปี่ยม พระนางทำประสบการณ์และมีส่วนร่วมอย่างใกล้ชิดกับธรรมล้ำลึกแห่งพระมหาทรมานที่พระคริสตเจ้าทรงรับเพื่อความรอดพ้นของเรามากกว่าใครทั้งสิ้น ในประวัติศาสตร์บทเพลงของซิเมโอนที่เรียกว่า Nunc Dimittis นั้นมาจากคำแรกของการแปลในภาษาละติน ใช้ในการสวดภาวนาทำวัตรค่ำ

อับราฮัม – “บิดาของทุกคนผู้มีความเชื่อ”

CCC ข้อ 145 จดหมายถึงชาวฮีบรูที่กล่าวยกย่องบรรพบุรุษของอิสราเอลอย่างมากมายได้ย้ำเป็นพิเศษถึงความเชื่อของอับราฮัม “เพราะความเชื่อ อับราฮัมเชื่อฟังเมื่อพระเจ้าทรงเรียกให้ออกเดินทางไปสู่สถานที่ที่เขาจะได้รับเป็นมรดก เขาออกเดินทางโดยไม่รู้ว่าจะไปไหน” (ฮบ 11:8) เพราะความเชื่อ เขาอาศัยอยู่ในแผ่นดินแห่งพระสัญญาอย่างคนต่างถิ่น เพราะความเชื่อ นางซาราห์ได้รับพระพรให้ปฏิสนธิบุตรแห่งพระสัญญา ในที่สุด เพราะความเชื่ออับราฮัมจึงถวายบูชายัญบุตรคนเดียวของตน

พระเยซูเจ้าและอิสราเอล

CCC ข้อ 575 การกระทำและพระวาจาในหลายกรณีจึงเป็น “เครื่องหมายแห่งการต่อต้าน” สำหรับผู้นำทางศาสนาที่กรุงเยรูซาเล็ม ซึ่งพระวรสารของยอห์นเรียกบ่อยๆ ว่า “ชาวยิว” มากกว่าสำหรับสามัญชนประชากรของพระเจ้าโดยทั่วไป โดยแท้จริงแล้ว ความสัมพันธ์ของพระองค์กับชาวฟาริสีมิได้มีแต่ความขัดแย้งกันเสมอไปเท่านั้น ชาวฟาริสีบางคนทูลเตือนพระองค์ถึงอันตรายที่พระองค์กำลังจะต้องเผชิญ พระองค์ทรงกล่าวชมพวกเขาบางคน เช่นธรรมาจารย์ที่ มก 12:34 กล่าวถึง และหลายครั้งทรงรับเชิญไปเสวยพระกระยาหารที่บ้านของชาวฟาริสี พระองค์ทรงยืนยันคำสอนที่กลุ่มศาสนาพิเศษในประชากรของพระเจ้ากลุ่มนี้ยอมรับเป็นคำสอนของตน เช่นคำสอนเรื่องการกลับคืนชีพของผู้ตาย  รูปแบบต่างๆ เพื่อแสดงความเลื่อมใสศรัทธา (การให้ทาน การอธิษฐานภาวนา และการจำศีลอดอาหาร) และธรรมเนียมเรียกพระเจ้าเป็นพระบิดา และกำหนดว่าความรักต่อพระเจ้าและเพื่อนมนุษย์เป็นบทบัญญัติสำคัญที่สุด

พระเยซูเจ้าและความเชื่อของอิสราเอลในพระเจ้าและพระผู้ไถ่กู้หนึ่งเดียว

CCC ข้อ 587 ถ้าธรรมบัญญัติและพระวิหารที่กรุงเยรูซาเล็มอาจเป็น “เครื่องหมายแห่งการต่อต้าน” พระเยซูเจ้าสำหรับผู้นำทางศาสนาของอิสราเอล พันธกิจของพระองค์ในการไถ่บาปซึ่งเป็นผลงานยอดเยี่ยมของพระเจ้าจึงเป็นศิลาที่ทำให้พวกเขาสะดุดล้มโดยแท้จริง

การที่เรามีส่วนร่วมการถวายบูชาของพระคริสตเจ้า

CCC ข้อ 618 ไม้กางเขนเป็นการถวายบูชาเพียงหนึ่งเดียวของพระคริสตเจ้า คนกลางเพียงผู้เดียวระหว่างพระเจ้ากับมนุษย์ แต่เนื่องจากว่าพระองค์ “ทรงประหนึ่งว่ารวมเป็นหนึ่งเดียวกับมนุษย์ทุกคน” ในพระบุคคลพระเจ้าผู้ทรงรับสภาพมนุษย์ “พระองค์จึงประทานให้มนุษย์ทุกคนมีโอกาสร่วมส่วนในพระธรรมล้ำลึกปัสกาได้โดยวิธีการที่พระเจ้าทรงทราบ” พระองค์ทรงเรียกร้องให้บรรดาศิษย์แบกไม้กางเขนของตนและตามพระองค์ เพราะพระองค์ทรงรับทรมานเพื่อเราและประทานแบบฉบับไว้ให้เราดำเนินตามรอยพระบาท พระองค์ทรงประสงค์ให้ผู้ที่ได้รับประโยชน์จากการถวายบูชาไถ่กู้ของพระองค์ก่อนผู้อื่นได้มีส่วนร่วมในการถวายบูชานี้ด้วย การนี้เป็นจริงอย่างสมบูรณ์ในองค์พระมารดาของพระองค์ ผู้ทรงมีส่วนร่วมพระธรรมล้ำลึกพระทรมานไถ่กู้ของพระองค์อย่างลึกซึ้งมากกว่าผู้ใดทั้งสิ้น “นี่คือบันไดแท้จริงเพียงหนึ่งเดียวเพื่อขึ้นสวรรค์ และไม่มีบันไดอื่นใดอีกนอกจากไม้กางเขนที่เราจะใช้เดินขึ้นสวรรค์ได้”

สัญลักษณ์ของพระจิตเจ้า

CCC ข้อ 695 “การเจิม” การใช้น้ำมันเจิมยังหมายถึงพระจิตเจ้า จนกลายเป็นคำที่มีความหมายเดียวกันด้วย ในพิธีรับคริสตชนใหม่ การเจิมเป็นเครื่องหมายของศีลกำลัง ซึ่งในพระศาสนจักรตะวันออกเรียกว่า “การเจิมน้ำมันคริสมา” แต่เพื่อจะเข้าใจความหมายทั้งหมดของการนี้ ก่อนอื่นจำเป็นต้องกลับไปยังการเจิมครั้งแรกที่พระจิตเจ้าทรงบันดาลให้ คือการเจิมของพระเยซูเจ้า พระคริสตเจ้า (“พระเมสสิยาห์” ในภาษาฮีบรู) หมายถึง “ผู้รับเจิม” ของพระจิตเจ้า ในพันธสัญญาเดิมมี “ผู้รับเจิม” อยู่หลายคน กษัตริย์ดาวิดทรงเป็น “ผู้รับเจิม” พิเศษ แต่พระเยซูเจ้าทรงเป็น “ผู้รับเจิม” พิเศษสุดของพระเจ้า พระธรรมชาติมนุษย์ที่พระบุตรทรงรับมานั้น “ได้รับเจิมทั้งหมดจากพระจิตเจ้า” พระเยซูเจ้าทรงได้รับแต่งตั้งจากพระจิตเจ้าเป็น “พระคริสตเจ้า” พระนางมารีย์พรหมจารีทรงปฏิสนธิพระคริสตเจ้าเดชะพระจิตเจ้าผู้ทรงใช้ทูตสวรรค์มาแจ้งข่าวเมื่อทรงประสูติว่าทรงเป็นพระคริสตเจ้า และยังดลใจผู้เฒ่าสิเมโอนให้เข้ามาในพระวิหารเพื่อจะได้เห็นพระคริสต์ขององค์พระผู้เป็นเจ้า พระคริสตเจ้าทรงรับพระจิตเจ้าอย่างเต็มเปี่ยม และพระพลังของพระจิตเจ้าออกจากพระคริสตเจ้าเมื่อพระองค์ทรงรักษาโรคและประทานความรอดพ้น ในที่สุด พระจิตเจ้ายังทรงปลุกพระเยซูเจ้าให้กลับคืนพระชนมชีพจากบรรดาผู้ตาย บัดนี้พระเยซูเจ้าผู้ทรงได้รับแต่งตั้งเป็น “พระคริสตเจ้า” (ผู้รับเจิม) โดยสมบูรณ์ในสภาพมนุษย์ที่มีชัยชนะเหนือความตาย ทรงหลั่งพระจิตเจ้าอย่างอุดมบริบูรณ์จนกระทั่งว่า “บรรดาผู้ศักดิ์สิทธิ์” ร่วมกับพระธรรมชาติมนุษย์ของพระบุตรพระเจ้า “เป็นผู้ใหญ่เต็มที่ตามมาตรฐานความสมบูรณ์ของพระคริสตเจ้า” (อฟ 4:13) หรือเป็น “พระคริสตเจ้าสมบูรณ์” ตามสำนวนของนักบุญออกัสติน


ลก 2:25  ความรอดพ้นของอิสราเอล : คำว่า การเสด็จมาของพระเมสสิยาห์ พระผู้ไถ่กู้ และคำว่า “การไถ่กู้กรุงเยรูซาเล็ม” ล้วนบ่งบอกว่าทั้งซิเมโอนและอันนาต่างก็กำลังรอคอยพระเมสสิยาห์ และค้นพบว่าการรอคอยอันยาวนานของพวกเขานั้นสำเร็จไปในองค์พระคริสตกุมาร

การรอคอยพระเมสสิยาห์และจิตของพระองค์

CCC ข้อ 711 “ดูเถิด เรากำลังจะทำสิ่งใหม่” (อสย 43:19) มีคำสอนสองสายของประกาศกที่ค่อยๆ พัฒนาขึ้นสายหนึ่งนำไปสู่การรอคอยพระเมสสิยาห์ อีกสายหนึ่งเป็นการแจ้งล่วงหน้าถึงชีวิตจิตใจใหม่ คำสอนทั้งสองสายนี้มาบรรจบกันใน “บรรดาผู้รอดชีวิต” คือประชากรผู้ถ่อมตน (หรือ “ยากจน”) ที่มีความหวังกำลังรอคอย “ความรอดพ้นของอิสราเอล” และ “การไถ่กู้กรุงเยรูซาเล็ม” (ลก 2:25, 38) เราได้เห็นมาแล้วว่าพระเยซูเจ้าทรงทำให้คำพยากรณ์ถึงพระองค์เป็นจริงไปอย่างไร ที่ตรงนี้เราจะจำกัดอยู่เพียงคำพยากรณ์ที่แสดงให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างพระเมสสิยาห์กับพระจิตของพระองค์ชัดเจนมากกว่า


ลก 2:32  ภาษาที่ระบุถึงอัตลักษณ์ของพระเมสสิยาห์นี้ชวนให้ระลึกถึงบทเพลงของผู้รับใช้ที่ประกาศกอิสยาห์ได้กล่าวไว้ (เทียบ อสย 49:5-6)

การรอคอยพระเมสสิยาห์และจิตของพระองค์

CCC ข้อ 713 ภาพลักษณ์ของพระเมสสิยาห์เปิดเผยให้เห็นชัดเจนโดยเฉพาะใน “บทเพลงของผู้รับใช้” บทเพลงเหล่านี้แจ้งว่าพระทรมานของพระเยซูเจ้ามีความหมายอย่างไร และดังนี้จึงชี้ให้เห็นวิธีการที่พระองค์จะหลั่งพระจิตเจ้าเพื่อประทานชีวิตแก่คนจำนวนมาก ไม่ใช่จากภายนอก แต่เมื่อทรงรับ “สภาพดุจทาส” (ฟป 2:7) เป็นมนุษย์เหมือนเรา ทรงรับความตายของเรา พระองค์ก็อาจบันดาลให้เรามีส่วนในพระจิตแห่งชีวิตของพระองค์ได้

(จากหนังสือ THE DIDACHE BIBLE with commentaries based on the Catechism of the Catholic Church, Ignatius Bible Edition)