แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

วันศุกร์ สัปดาห์ที่ 3 เทศกาลเตรียมรับเสด็จพระคริสตเจ้า (บุญราศีฟิลิป สีฟอง และเพื่อนมรณสักขี)

พระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญยอห์น (ยน 5:33-36)                                              

เวลานั้น พระเยซูเจ้าตรัสว่า “ท่านทั้งหลายได้ส่งคนไปถามยอห์น และยอห์นก็ได้เป็นพยานยืนยันถึงความจริง เราไม่ต้องการคำยืนยันจากมนุษย์ แต่เรากล่าวเช่นนั้นเพื่อท่านทั้งหลายจะได้รอดพ้น ยอห์นเป็นเหมือนตะเกียงสว่างไสวที่จุดอยู่ ท่านทั้งหลายก็พอใจที่จะชื่นชมกับแสงสว่างของเขาอยู่ชั่วระยะหนึ่งเท่านั้น แต่เรามีคำยืนยันที่ยิ่งใหญ่กว่าคำยืนยันของยอห์น คืองานที่พระบิดาทรงมอบหมายให้เราทำจนสำเร็จ งานที่เรากำลังทำอยู่นี้ เป็นพยานถึงเราว่าพระบิดาทรงส่งเรามา”    


ยน 5:30-40 กฎหมายของชาวยิวเรียกร้องให้มีประจักษ์พยานอย่างน้อยสองคนเพื่อพิจารณาให้ข้อกล่าวหาถือว่าถูกต้อง เพื่อแสดงว่าพระคริสตเจ้าไม่ได้กล่าวอ้างเกี่ยวกับตัวเองโดยปราศจากการสนับสนุนที่น่าเชื่อถือ ทรงชี้ให้เห็นว่าพระองค์ทรงมีอำนาจของโมเสส อัศจรรย์ต่างๆ ของพระองค์ตลอดจนการอ้างอิงถึงพระองค์มากมายในพระคัมภีร์เป็นประจักษ์พยานถึงความเป็นพระเจ้าของพระองค์  เราไม่แสวงหา... ผู้ทรงส่งเรามา : พระคริสตเจ้าทรงกระทำตามพระประสงค์ของพระบิดาเสมอ ซึ่งเป็นแบบอย่างสำหรับท่าทีที่เหมาะสมของเราด้วย

เครื่องหมายพระอาณาจักรของพระเจ้า

CCC ข้อ 548 เครื่องหมายอัศจรรย์ที่พระเยซูเจ้าทรงกระทำเป็นพยานยืนยันว่าพระบิดาทรงส่งพระองค์มา เครื่องหมายอัศจรรย์เหล่านี้เชิญชวนให้ทุกคนมีความเชื่อในพระองค์ พระองค์โปรดให้ผู้ที่มีความเชื่อในพระองค์ได้รับตามที่ขอ อัศจรรย์จึงเสริมความเชื่อต่อพระองค์ผู้ทรงทำกิจการของพระบิดา กิจการเหล่านี้เป็นพยานยืนยันว่าพระองค์ทรงเป็นพระบุตรของพระเจ้า แต่อัศจรรย์เหล่านี้ก็อาจเป็นโอกาสความแคลงใจได้เหมือนกัน อัศจรรย์เหล่านี้ไม่มีเจตนาตอบสนองความมักรู้มักเห็นหรือความอยากดูมายากล แม้ทรงทำอัศจรรย์ที่ชัดเจนเช่นนี้แล้ว หลายคนก็ยังไม่ยอมรับพระองค์ และยังทรงถูกกล่าวหาว่าทรงทำเช่นนี้อาศัยอำนาจของปีศาจ

พระเยซูเจ้าและธรรมบัญญัติ

CCC ข้อ 582 ยิ่งกว่านั้น พระเยซูเจ้ายังทรงปฏิรูปกฎเกี่ยวกับเรื่องอาหารมีมลทินหรือไม่มีมลทิน ที่เป็นเรื่องสำคัญในชีวิตประจำวันของชาวยิว ให้สมบูรณ์ขึ้น โดยทรงอธิบายความหมายในมุมมองของความเป็นเหมือน “ครูพี่เลี้ยง” ของกฎเหล่านี้ “สิ่งต่างๆ จากภายนอกที่เข้าไปในมนุษย์นั้นทำให้เขาเป็นมลทินไม่ได้ […] – ดังนี้ ทรงประกาศว่าอาหารทุกชนิดไม่เป็นมลทิน พระองค์ยังตรัสอีกว่า สิ่งที่ออกจากภายในมนุษย์นั้นแหละทำให้เขามีมลทิน จากภายใน คือจากใจมนุษย์นั้นเป็นที่มาของความคิดชั่วร้าย” (มก 7:18-21) พระเยซูเจ้าซึ่งทรงใช้อำนาจพระเจ้าอธิบายความหมายสุดท้ายของกฎเกณฑ์ต่างๆ จึงทรงขัดแย้งกับนักกฎหมายบางคนที่ไม่ยอมรับการอธิบายของพระองค์ ทั้งๆ ที่พระองค์ทรงทำเครื่องหมายอัศจรรย์เพื่อยืนยันพระวาจาที่ทรงสั่งสอน การเช่นนี้เห็นได้ชัดเป็นพิเศษในปัญหาเรื่องวันสับบาโต หลายครั้งพระเยซูเจ้าทรงใช้เหตุผลของบรรดาธรรมาจารย์เอง เพื่อชี้ให้เห็นว่าการรับใช้พระเจ้าและเพื่อนมนุษย์ไม่เป็นการผิดพระบัญญัติให้หยุดพักในวันสับบาโต เพราะพระองค์ทรงรักษาโรคในวันสับบาโต

“พระกายหนึ่งเดียวกัน”

CCC ข้อ 791 การร่วมเป็นร่างกายเดียวกันนี้ไม่ทำให้ความแตกต่างของส่วนประกอบต่างๆ ของพระวรกายสิ้นสุดลง “ในการเสริมสร้างพระวรกายของพระคริสตเจ้ายังคงมีความแตกต่างของส่วนประกอบและบทบาทของส่วนประกอบเหล่านั้น มีพระจิตเจ้าพระองค์เดียวที่ทรงแบ่งปันพระพรต่างๆ ตามความร่ำรวยของพระองค์และตามความต้องการเพื่อผลประโยชน์ของพระศาสนจักร” เอกภาพของบรรดาผู้มีความเชื่อที่รวมกันเป็นพระกายทิพย์ก่อให้เกิดและส่งเสริมความรัก “ดังนั้น ถ้าส่วนประกอบส่วนหนึ่งเจ็บป่วย ส่วนประกอบทุกส่วนก็เจ็บป่วยร่วมกันด้วย หรือถ้าส่วนประกอบส่วนหนึ่งได้รับเกียรติ ส่วนประกอบทุกส่วนก็ร่วมยินดีด้วย” ในที่สุด เอกภาพของพระกายทิพย์ของพระคริสตเจ้ายังมีชัยชนะต่อการแบ่งแยกทุกอย่างของมนุษย์ “เพราะท่านทุกคนที่ได้รับศีลล้างบาปในพระคริสตเจ้า ก็สวมพระคริสตเจ้าไว้ ไม่มีชาวยิวหรือชาวกรีกอีกต่อไป ไม่มีทาสหรือมีไทย ไม่มีชายหรือมีหญิงอีกต่อไป เพราะท่านทุกคนเป็นหนึ่งเดียวกันในพระคริสตเยซู” (กท 3:27-28)

“พระประสงค์จงสำเร็จในแผ่นดินเหมือนในสวรรค์”

CCC ข้อ 2824  พระประสงค์ของพระบิดาได้สำเร็จแล้วในพระคริสตเจ้า และโดยพระประสงค์แบบมนุษย์ของพระองค์ก็ได้สำเร็จไปแล้วโดยสมบูรณ์สำหรับตลอดไป เมื่อเสด็จมาในโลกนี้ พระเยซูเจ้าได้ตรัสว่า “ข้าพเจ้ามาเพื่อปฏิบัติตามพระประสงค์ของพระองค์” (ฮบ 10:7) พระเยซูเจ้าเท่านั้นอาจตรัสได้ว่า “เราทำตามที่พระองค์พอพระทัยเสมอ” (ยน 8:29) ในคำอธิษฐานภาวนาเมื่อทรงเป็นทุกข์อย่างสาหัส พระองค์ทรงยอมรับพระประสงค์นี้ของพระบิดา “อย่าให้เป็นไปตามใจข้าพเจ้า ให้เป็นไปตามพระประสงค์ของพระองค์เถิด” (ลก 22:42) นี่เป็นเหตุผลที่พระเยซูเจ้า “ทรงมอบพระองค์เพื่อช่วยเราให้รอดพ้นจากบาป […] ตามพระประสงค์ของพระเจ้าพระบิดาของเรา” (กท 1:4) “โดยพระประสงค์นี้เอง เราทั้งหลายได้รับความศักดิ์สิทธิ์ เดชะการถวายพระวรกายเป็นการบูชาของพระคริสต์เยซู”(ฮบ 10:10)

(จากหนังสือ THE DIDACHE BIBLE with commentaries based on the Catechism of the Catholic Church, Ignatius Bible Edition)