วันศุกร์ สัปดาห์ที่ 1 เทศกาลเตรียมรับเสด็จพระคริสตเจ้า
พระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญมัทธิว (มธ 9:27-31)
เวลานั้น ขณะที่พระเยซูเจ้ากำลังเสด็จออกจากที่นั่น คนตาบอดสองคนตามพระองค์ไป ร้องตะโกนว่า “โอรสของกษัตริย์ดาวิด โปรดเมตตาเราเถิด” เมื่อเสด็จมาถึงบ้าน คนตาบอดเข้ามาเฝ้าพระองค์ พระเยซูเจ้าจึงตรัสถามว่า “ท่านเชื่อว่าเราทำเช่นนั้นได้หรือ” เขาทั้งสองคนตอบว่า “เชื่อ พระเจ้าข้า” พระองค์จึงทรงสัมผัสตาของเขา ตรัสว่า “จงเป็นไปตามที่ท่านเชื่อเถิด” แล้วตาของเขาทั้งสองคนก็เริ่มมองเห็น พระเยซูเจ้าทรงกำชับเขาอย่างเข้มงวดว่า “ระวัง อย่าบอกให้ใครรู้เรื่องนี้” แต่เมื่อทั้งสองคนออกไปก็ประกาศเรื่องของพระองค์ทั่วแคว้นนั้น
มธ 9:27-34 โอรสของกษัตริย์ดาวิด : ชื่อนี้แสดงความหมายถึงพระเมสสิยาห์อย่างหนักแน่น เสียงร้องจากชายตาบอดสองคนนี้กลายเป็นรากฐานของ การภาวนาต่อพระเยซูเจ้าที่ว่า “ข้าแต่พระเยซูเจ้า พระบุตรของพระเจ้า โปรดทรงเมตตาต่อข้าพจ้าทั้งหลาย ผู้เป็นคนบาปด้วยเถิด” ถ้อยคำเหล่านี้อาจใช้ในการสวดภาวนาเพื่อแสดงถึงการสำนึกผิดในศีล ศักดิ์สิทธิ์แห่งการคืนดีหรือศีลอภัยบาปด้วย “แล้วตาของเขาทั้งสองคนก็เริ่มมองเห็น” ประโยคนี้ชี้ให้เห็นทั้งการรักษาฝ่ายกายของชายตาบอด และทั้งความสามารถในการมองเห็นแสงสว่างของพระคริสตเจ้าที่ทำให้พวกเขาติดตามพระองค์ “ระวัง อย่าบอกให้ใครรู้เรื่องนี้” น่าแปลกที่พระคริสตเจ้าได้กำชับชายที่ได้รับการรักษาว่า อย่าบอกเรื่องที่เขาได้รับการรักษา โดยพระเมสสิยาห์นี้ให้ใครรู้ ดังที่เรียกกันว่า “ความลับของพระเมสสิยาห์” นี่อาจจะเป็นเพราะพระองค์ไม่ได้เป็นของโลกนี้ ไม่ได้เป็นพระเมสสิยาห์ทางการเมืองตามที่หลายคนคาดหวัง แต่พระองค์มาเพื่อปลดปล่อยประชากรของพระองค์ให้รอดพ้นจากบาปและปีศาจ การเปิดเผยตัวตนของพระองค์ในครั้งนี้ อาจก่อให้เกิดการต่อต้านเร็วเกินไปก่อนที่พันธกิจในโลกนี้ของพระองค์จะสำเร็จ
พระคริสตเจ้า
CCC ข้อ 439 ชาวยิวจำนวนมาก และแม้แต่ชนต่างชาติบางคนที่ร่วมความหวังของชาวยิว ยอมรับคุณลักษณะพื้นฐานของพระเมสสิยาห์ในองค์พระเยซูเจ้า คือการที่ทรงเป็น “พระโอรสของกษัตริย์ดาวิด” ที่พระเจ้าทรงสัญญาไว้กับอิสราเอล พระเยซูเจ้าทรงยอมรับตำแหน่งพระเมสสิยาห์ตามสิทธิที่ทรงมี แต่ก็ยังคงสงวนท่าที เพราะผู้ร่วมสมัยของพระองค์หลายคนเข้าใจตำแหน่งนี้ตามความเข้าใจแบบมนุษย์มากเกินไป คือเข้าใจตามความหมายทางการเมืองโดยเฉพาะ
พระเยซูเจ้าทรงฟังคำอธิษฐานภาวนาของเรา
CCC ข้อ 2616 พระเยซูเจ้าทรงรับฟังการอธิษฐานภาวนาต่อพระองค์แล้วตั้งแต่ในเวลาที่ทรงเทศน์สอนประชาชนผ่านทางเครื่องหมายที่เกริ่นล่วงหน้าแล้วถึงอานุภาพของการสิ้นพระชนม์และการกลับคืนพระชนมชีพของพระองค์ พระเยซูเจ้าทรงฟังคำอธิษฐานภาวนาด้วยความเชื่อที่แสดงออกด้วยคำพูด (จากคนโรคเรื้อน จากไยรัส จากหญิงชาวคานาอัน จากโจรกลับใจ) หรือที่แสดงออกเงียบๆ (จากคนที่แบกคนอัมพาตเข้ามาจากหญิงตกเลือดที่มาสัมผัสฉลองพระองค์ด้วยนํ้าตาและเครื่องหอมของหญิงคนบาป) การพร่ำขอของคนตาบอดว่า “โอรสของกษัตริย์ดาวิดโปรดเมตตาเราเถิด” (มธ 9:27) หรือ “ข้าแต่พระเยซู โอรสของกษัตริย์ดาวิดเจ้าข้า โปรดเมตตาข้าพเจ้าเถิด” (มก 10:47) ซึ่งจะถูกรับไว้ในธรรมประเพณีต่อมาที่เรียกว่า การอธิษฐานภาวนาต่อพระเยซูเจ้า คือวลีว่า “ข้าแต่พระเยซู ข้าแต่พระคริสตเจ้า ข้าแต่พระบุตรของพระเจ้า พระเจ้าข้า โปรดทรงพระเมตตาต่อข้าพเจ้าคนบาปด้วยเถิด” พระเยซูเจ้าทรงตอบการอธิษฐานภาวนาที่อ้อนวอนพระองค์ด้วยความเชื่อเสมอ โดยทรงรักษาโรคหรือประทานอภัยบาป “จงไปเป็นสุขเถิดความเชื่อของลูกช่วยลูกให้รอดพ้นแล้ว”
การอธิษฐานภาวนาโดยเปล่งเสียง
CCC ข้อ 2700 พระเจ้าตรัสกับมนุษย์ทางพระวาจา (พระวจนาตถ์) ของพระองค์ การอธิษฐานภาวนาของเราเติบโตขึ้นด้วยถ้อยคำ ทั้งที่อยู่ในใจหรือที่เปล่งออกมาเป็นเสียง แต่ที่สำคัญที่สุดคือการที่ใจของเราอยู่เฉพาะพระพักตร์พระองค์ที่เรากราบทูลด้วยในการอธิษฐานภาวนาของเรา “การที่พระเจ้าทรงฟังเราไม่อยู่ที่ถ้อยคำจำนวนมาก แต่อยู่ที่ความตั้งใจ”
(จากหนังสือ THE DIDACHE BIBLE with commentaries based on the Catechism of the Catholic Church, Ignatius Bible Edition)