วันอังคาร สัปดาห์ที่ 32 เทศกาลธรรมดา
พระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญลูกา (ลก 17:7-10)
เวลานั้น พระเยซูเจ้าตรัสว่า “ท่านผู้ใดที่มีผู้รับใช้ออกไปไถนา หรือไปเลี้ยงแกะ เมื่อผู้รับใช้กลับจากทุ่งนา ผู้นั้นจะพูดกับผู้รับใช้หรือว่า ‘เร็วเข้า มานั่งโต๊ะเถิด’ แต่จะพูดมิใช่หรือว่า ‘จงเตรียมอาหารมาให้ฉันเถิด จงคาดสะเอว คอยรับใช้ฉันขณะที่ฉันกินและดื่ม หลังจากนั้นเจ้าจึงกินและดื่ม’ นายย่อมไม่ขอบใจผู้รับใช้ที่ปฏิบัติตามคำสั่งมิใช่หรือ ท่านทั้งหลายก็เช่นเดียวกัน เมื่อท่านได้ทำตามคำสั่งทุกประการแล้ว จงพูดว่า ‘ฉันเป็นผู้รับใช้ที่ไร้ประโยชน์ เพราะฉันทำตามหน้าที่ที่ต้องทำเท่านั้น’”
ลก 17:1-10 พระคริสตเจ้าทรงเตือนให้ระวังบาปร้ายแรง ที่อันเป็นต้นเหตุของการเป็นที่สะดุด เป็นการกระทำที่ชักนำผู้อื่นไปสู่บาปหรือความผิดพลาด ไม่ว่าจะเป็นทางตรงหรือโดยอ้อม ซึ่งเกิดขึ้นได้ผ่านทางคำแนะนำ การให้กำลังใจ หรือแบบอย่าง พระองค์ได้ทรงเน้นถึงความจำเป็นของการให้อภัยในทุกเวลา และยืนยันถึงพลังของความเชื่อ ท้ายที่สุด พระองค์ทรงให้ความสำคัญในเรื่องของการรับใช้พระเจ้าและเพื่อนมนุษย์ซึ่งเป็นสิ่งที่คาดหวังจากผู้เป็นสานุศิษย์ของพระคริสตเจ้า
การให้ความเคารพนับถือวิญญาณของผู้อื่น – การชักนำให้ผู้อื่นทำบาป
CCC ข้อ 2284 การชักนำให้ผู้อื่นทำบาปเป็นท่าทีหรือวิธีปฏิบัติที่นำผู้อื่นให้ทำผิด ผู้ชักนำให้ผู้อื่นทำบาปก็เป็นผู้ผจญเพื่อนพี่น้องให้ทำผิด การนี้ทำให้คุณธรรมและความถูกต้องได้รับความเสียหาย อาจชักนำเพื่อนพี่น้องให้รับความตายด้านจิตใจได้ การชักนำให้ผู้อื่นทำบาปนับเป็นความผิดหนักถ้าโดยการกระทำหรือการละเว้นดังกล่าวจงใจนำผู้อื่นให้ทำผิดหนัก
CCC ข้อ 2285 การชักนำให้ผู้อื่นทำบาปมีความหนักเป็นพิเศษ ถ้าผู้เป็นเหตุทำให้ผู้อื่นทำบาปนั้นมีอำนาจปกครอง หรือผู้รับการชักนำนั้นไม่อาจทัดทานได้ การกระทำเช่นนี้ชวนให้องค์พระผู้เป็นเจ้าตรัสสาปแช่งว่า “ผู้ใดเป็นเหตุให้คนธรรมดาๆ เหล่านี้ […] ทำบาป ถ้าเขาจะถูกแขวนคอด้วยหินโม่ใหญ่ถ่วงลงใต้ทะเลก็ยังดีกว่าสำหรับเขา” (มธ 18:6) การชักนำให้ผู้อื่นทำบาปเป็นความผิดหนักถ้าเป็นการกระทำของผู้ที่โดยธรรมชาติหรือโดยหน้าที่ต้องเป็นผู้สอนหรือให้การอบรมผู้อื่น พระเยซูเจ้าทรงตำหนิบรรดาธรรมาจารย์และชาวฟาริสี ทรงเปรียบเทียบว่าพวกนี้เป็นเหมือนสุนัขป่าที่ปลอมตัวเป็นลูกแกะ
CCC ข้อ 2286 การชักนำให้ผู้อื่นทำบาปอาจเกิดจากกฎหมายหรือสถาบัน จากธรรมเนียมปฏิบัติหรือความเห็นก็ได้ ดังนี้ผู้ที่ตรากฎหมายหรือกำหนดโครงสร้างทางสังคมที่นำไปสู่ความเสื่อมทรามทางศีลธรรมหรือทำลายวิถีชีวิตด้านศาสนา หรือนำไปสู่ “สภาพสังคมที่ ไม่ว่าจะโดยจงใจหรือไม่ ทำให้วิธีดำเนินชีวิตแบบคริสตชนตามกฎเกณฑ์ของพระเจ้าผู้ประทานพระบัญญัติยากลำบากหรือแทบจะเป็นไปไม่ได้” หลักการเดียวกันนี้ยังใช้ได้กับผู้นำทางธุรกิจที่เปิดโอกาสส่งเสริมการทุจริต กับครูผู้สอนที่ทำให้เด็ก “ท้อแท้หมดกำลังใจ” หรือกับผู้ที่ใช้ความชาญฉลาดเปลี่ยนแปลงความเห็นของสาธารณะให้หันเหออกไปจากคุณค่าทางศีลธรรม
CCC ข้อ 2287 ผู้ที่ใช้อำนาจที่ตนมีโดยเงื่อนไขที่ชักนำให้ผู้อื่นทำผิด ก็มีความผิดฐานชักนำให้ผู้อื่นทำบาป และต้องรับผิดชอบในผลร้ายที่เขาช่วยทำให้เกิดขึ้นทั้งโดยตรงหรือโดยอ้อม “เหตุที่ชักนำให้ทำบาปจะเกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่วิบัติจงเกิดแก่ผู้ที่เป็นเหตุให้บาปเกิดขึ้น” (ลก 17:1)
(จากหนังสือ THE DIDACHE BIBLE with commentaries based on the Catechism of the Catholic Church, Ignatius Bible Edition)