วันศุกร์ สัปดาห์ที่ 28 เทศกาลธรรมดา (ระลึกถึงแม่พระลูกประคำ)
พระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญลูกา (ลก 11:15-26)
เวลานั้น บางคนกล่าวว่า “พระเยซูเจ้าขับไล่ปีศาจด้วยอำนาจของเบเอลเซบูล เจ้าแห่งปีศาจนั่นเอง” บางคนต้องการจับผิดพระองค์ จึงขอให้พระองค์ทรงแสดงเครื่องหมายจากสวรรค์ พระเยซูเจ้าทรงทราบความคิดของเขาจึงตรัสว่า “อาณาจักรใดแตกแยกภายใน อาณาจักรนั้นย่อมพินาศ บ้านเรือนย่อมพังทลายทับกัน ถ้าซาตานแตกแยกกันเอง อาณาจักรของมันจะตั้งอยู่ได้อย่างไร เพราะท่านบอกว่า เราขับไล่ปีศาจด้วยอำนาจของเบเอลเซบูล ถ้าเราขับไล่ปีศาจด้วยอำนาจของเบเอลเซบูล พวกพ้องของท่านขับไล่มันด้วยอำนาจของใคร พวกพ้องของท่านจะเป็นผู้ตัดสินลงโทษท่าน แต่ถ้าเราขับไล่ปีศาจด้วยอำนาจของพระเจ้า ก็หมายความว่าพระอาณาจักรของพระเจ้ามาถึงท่านแล้ว เมื่อคนแข็งแรงมีอาวุธครบมือเฝ้าบ้านของตน ทรัพย์สมบัติของเขาก็ปลอดภัย แต่ถ้าผู้ใดแข็งแรงกว่าเข้ามาโจมตีและเอาชนะเขาได้ ก็ย่อมริบอาวุธที่เขามั่นใจนั้น และแบ่งปันข้าวของที่ปล้นได้ ผู้ใดไม่อยู่กับเรา ย่อมเป็นปฏิปักษ์กับเรา ใครไม่รวบรวมสิ่งต่างๆ ไว้กับเรา ย่อมทำให้สิ่งเหล่านั้นกระจัดกระจายไป เมื่อปีศาจออกไปจากมนุษย์แล้ว มันท่องเที่ยวไปในที่แห้งแล้งเพื่อหาที่พัก เมื่อไม่พบ มันจึงคิดว่า ‘ข้าจะกลับไปยังบ้านที่ข้าจากมา’ เมื่อกลับมาถึง มันพบว่าบ้านนั้นปัดกวาดตกแต่งไว้เรียบร้อย มันจึงไปพาปีศาจอีกเจ็ดตนที่ชั่วร้ายยิ่งกว่ามันเข้ามาอาศัยที่นั่น สภาพสุดท้ายของมนุษย์ผู้นั้นจึงเลวร้ายกว่าเดิม”
ลก 11:14-28 พระคริสตเจ้าทรงถูกกล่าวหาว่าขับไล่ปีศาจด้วยอำนาจของปีศาจ พระองค์จึงได้ทรงให้คำตอบที่ชัดเจนว่าอำนาจของพระองค์นั้นมาจากใคร นอกนั้นพระองค์ยังทรงสอนอีกว่า การเป็นอิสระจากบาปและจากอำนาจของปีศาจนั้นยังไม่เพียงพอ ที่สำคัญคือเราต้องพยายามบรรลุถึงชีวิตที่ศักดิ์สิทธิ์ โดยเปิดใจเราให้เติมเต็มด้วยองค์พระคริสตเจ้า
มนุษย์ตกในบาป
CCC ข้อ 385 พระเจ้าทรงความดีไร้ขอบเขตและพระราชกิจของพระองค์ทุกอย่างก็ดีด้วย ถึงกระนั้นไม่มีผู้ใดที่หนีพ้นประสบการณ์เรื่องความทุกข์ ความชั่วร้ายในธรรมชาติ – สิ่งเหล่านี้ดูเหมือนจะสัมพันธ์กับขอบเขตจำกัดของสิ่งสร้างโดยเฉพาะ – รวมทั้งปัญหาเรื่องความชั่วร้ายด้านจริยธรรม ความชั่วร้ายมาจากไหน นักบุญออกัสตินเคยถามว่า “ข้าพเจ้าพยายามค้นหาว่าความชั่วมาจากไหน แต่ก็หาไม่พบ” และการค้นคว้าที่เจ็บปวดของท่านก็จะไม่ประสบความสำเร็จนอกจากเมื่อท่านได้กลับใจมาพบพระเจ้าผู้ทรงชีวิตแล้ว เพราะ “ความลึกลับของความชั่วร้าย” (เทียบ 2ธส 2:7) นั้นเข้าใจไม่ได้นอกจากจะพิจารณาถึงธรรมล้ำลึกเรื่องความเคารพเลื่อมใสพระเจ้า [การเปิดเผยความจริงถึงความรักของพระเจ้าในองค์พระคริสตเจ้าแสดงให้เห็นขอบเขตของความชั่วร้ายและความยิ่งใหญ่เกินคาดของพระหรรษทาน เราจึงต้องพิจารณาปัญหาเรื่องที่มาของความชั่วร้ายโดยใช้ความเชื่อหันไปมองพระองค์ (พระคริสตเจ้า) ผู้ทรงเป็นผู้เดียวที่ทรงพิชิตความชั่วร้าย
ลก 11:20 พระอาณาจักรของพระเจ้า : นี่ไม่ใช่พระอาณาจักรฝ่ายโลก แต่เป็นพระอาณาจักรฝ่ายจิตซึ่งปกครองอยู่ในจิตวิญญาณของผู้ติดตามพระคริสตเจ้า ที่ทำให้กลายเป็นปัจจุบันโดยอำนาจของพระจิตเจ้า อำนาจของพระเจ้า : วลีนี้แสดงให้เห็นถึงการกระทำโดยตรงหรืออำนาจของพระเจ้า ได้มีการใช้วลีนี้ถึงสามครั้งในพันธสัญญาเดิมเพื่อแสดงให้เห็นว่า พระเจ้าทรงเขียนกฎแห่งศีลธรรมด้วยพระองค์เอง (เทียบ อพย 8:19; 31:18; ฉธบ 9:10) นอกจากนี้ยังหมายถึงการทำงานของพระจิตเจ้าด้วย เพลงสดุดีที่ใช้ขับร้องในพิธีบูชาขอบพระคุณในวันสมโภชพระจิตเจ้าวิงวอนว่า “เชิญเสด็จมา ข้าแต่พระจิตเจ้า” เป็นการขานพระนามพระจิตเจ้าว่าทรงเป็นดัง “พระดรรชนีพระหัตถ์ขวาของพระบิดา”
สัญลักษณ์ของพระจิตเจ้า
CCC ข้อ 700 นิ้ว (หรือ “พระดรรชนี”) “พระเยซูเจ้าทรงขับไล่ปีศาจด้วยอำนาจ (ตามตัวอักษรว่า “ด้วยนิ้วพระหัตถ์” หรือ “ดรรชนี”) ของพระเจ้า” ถ้าพระธรรมบัญญัติของพระเจ้าได้รับการจารึกไว้บนแผ่นศิลา “ด้วยพระดรรชนีของพระเจ้า” (อพย 31:18) “จดหมายจากพระคริสตเจ้า” ที่บรรดาอัครสาวกได้รับมอบมา “ก็ถูกเขียน […] ด้วยพระจิตของพระเจ้าผู้ทรงชีวิต มิได้จารึกไว้บนแผ่นศิลา แต่จารึกไว้ในดวงใจของมนุษย์ดุจจารึกบนแผ่นศิลา” (2 คร 3:3) บทขับร้อง “Veni Creator Spiritus” ก็เรียกพระจิตเจ้าด้วยวลีที่ว่า “dextrae Dei Tu digitus” (= พระองค์คือพระดรรชนีพระหัตถ์ขวาของพระเจ้า)
(จากหนังสือ THE DIDACHE BIBLE with commentaries based on the Catechism of the Catholic Church, Ignatius Bible Edition)