วันอังคาร สัปดาห์ที่ 19 เทศกาลธรรมดา
พระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญมัทธิว (มธ 18:1-5, 10, 12-14)
เวลานั้น บรรดาศิษย์เข้ามาเฝ้าพระเยซูเจ้า ทูลถามว่า “ผู้ใดยิ่งใหญ่ที่สุดในอาณาจักรสวรรค์” พระเยซูเจ้าทรงเรียกเด็กเล็กๆ คนหนึ่งให้มายืนอยู่กลางกลุ่มพวกเขา แล้วตรัสว่า “เราบอกความจริงแก่ท่านทั้งหลายว่า ถ้าท่านไม่กลับเป็นเหมือนเด็กเล็กๆ ท่านจะเข้าอาณาจักรสวรรค์ไม่ได้เลย ดังนั้น ผู้ใดที่ถ่อมตนลงเป็นเหมือนเด็กเล็กๆ คนนี้ ผู้นั้นจะยิ่งใหญ่ที่สุดในอาณาจักรสวรรค์ ผู้ใดต้อนรับเด็กเล็กๆ เช่นนี้ในนามของเรา ผู้นั้นต้อนรับเรา “จงระวังให้ดี อย่าดูหมิ่นคนธรรมดาๆ เหล่านี้คนใดเลย เราบอกท่านทั้งหลายว่า ตลอดเวลาในสวรรค์ ทูตสวรรค์ของเขาเฝ้าชมพระพักตร์พระบิดาของเราผู้สถิตในสวรรค์ ท่านทั้งหลายคิดอย่างไร ถ้าชายคนหนึ่งมีแกะอยู่ร้อยตัว แล้วแกะตัวหนึ่งบังเอิญหลงทาง เขาจะไม่ปล่อยแกะเก้าสิบเก้าตัวไว้บนภูเขา เพื่อค้นหาแกะตัวที่หลงไปหรือ เราบอกความจริงแก่ท่านทั้งหลายว่า ถ้าเขาหาแกะตัวนั้นพบแล้ว เขาจะรู้สึกยินดีที่พบมัน มากกว่ายินดีในแกะเก้าสิบเก้าตัวที่มิได้พลัดหลง พระบิดาของท่านผู้สถิตในสวรรค์ก็เช่นเดียวกัน ไม่ทรงปรารถนาให้คนธรรมดาๆ เหล่านี้แม้เพียงผู้เดียวต้องพินาศไป”
มธ 18:1-4 การกลายเป็น “เหมือนเด็กเล็กๆ” เพื่อจะเข้าในพระอาณาจักรสวรรค์นั้น ไม่ได้หมายความว่าจะต้องเป็นคนที่ไม่บรรลุวุฒิภาวะหรือไร้เดียงสา แต่หมายถึงการกลายเป็น “ผู้เล็กน้อย” ที่ปลูกฝังความสุภาพถ่อมตนภายในจิตใจ และรู้จักวางใจในพระเจ้า
พระธรรมล้ำลึกการสมภพ
CCC ข้อ 526 “การกลับเป็นเด็ก” ในความสัมพันธ์กับพระเจ้าเป็นเงื่อนไขเพื่อจะเข้าพระอาณาจักรได้ เพื่อจะทำเช่นนี้ได้ จึงจำเป็นต้องถ่อมตน กลายเป็นคนไม่มีความสำคัญ ยิ่งกว่านั้นยังจำเป็นต้อง “เกิดใหม่” (ยน 3:7) คือเกิดจากพระเจ้า เพื่อใครคนหนึ่งจะเป็นบุตรของพระเจ้าได้ พระธรรมล้ำลึกการสมภพของพระคริสตเจ้าจะสำเร็จสมบูรณ์ก็เมื่อพระคริสตเจ้า “จะปรากฏอยู่ในเราอย่างชัดเจน” การสมภพของพระเยซูเจ้าจึงเป็นพระธรรมล้ำลึกแห่ง “การแลกเปลี่ยนน่าพิศวง” นี้ “การแลกเปลี่ยนเช่นนี้น่าพิศวงจริง พระผู้เนรมิตสร้างมนุษยชาติทรงรับร่างกายที่มีชีวิตมาบังเกิดจากพระนางพรหมจารี และเมื่อทรงถ่อมพระองค์สมภพเป็นมนุษย์ พระองค์ก็ประทานพระเทวภาพของพระองค์ให้แก่เรา”
“ข้าแต่พระบิดา”
CCC ข้อ 2785 นอกจากนั้น เรายังต้องกลับใจทำตนให้มีใจถ่อมตนและวางใจในพระองค์ กลับเป็น “เหมือนเด็กเล็กๆ” (มธ 18:3) เพราะพระบิดาทรงเปิดเผยพระองค์ “แก่บรรดาผู้ตํ่าต้อย” (มธ 11:25) การอธิษฐานภาวนาเป็นสภาพ “ที่เกิดขึ้นจากการพิศเพ่งดูเพียงพระเจ้า และจากความรักกระตือรือร้น ที่ทำให้จิตใจมุ่งหาความรักของพระเจ้า และสละตนให้มีความใกล้ชิด สนทนากับพระองค์ด้วยความศรัทธาเป็นพิเศษเหมือนสนทนากับบิดาของตน” “‘ข้าแต่พระบิดาของข้าพเจ้าทั้งหลาย’ เมื่อออกพระนามนี้ ความรักย่อมปลุกตัวขึ้น – จะมีอะไรเป็นที่รักของบุตรมากกว่าบิดา – ความรักที่วอนขอก็ปลุกตัวขึ้นด้วย […] พร้อมกับความรู้สึกว่าเราจะได้รับตามที่เรากำลังจะวอนขอ […] มีอะไรเล่าที่พระองค์จะไม่ประทานให้บุตรที่วอนขอ ในเมื่อก่อนหน้านั้นพระองค์ได้ประทานให้เขาเป็นบุตรแล้ว”
มธ 18:5-9 ข้อความนี้แสดงถึงความจริงจังของการหลีกเลี่ยงการเป็นที่สะดุดและโอกาสของการทำบาปด้วย
การให้ความเคารพนับถือวิญญาณของผู้อื่น – การชักนำให้ผู้อื่นทำบาป
CCC ข้อ 2284 การชักนำให้ผู้อื่นทำบาปเป็นท่าทีหรือวิธีปฏิบัติที่นำผู้อื่นให้ทำผิด ผู้ชักนำให้ผู้อื่นทำบาปก็เป็นผู้ผจญเพื่อนพี่น้องให้ทำผิด การนี้ทำให้คุณธรรมและความถูกต้องได้รับความเสียหาย อาจชักนำเพื่อนพี่น้องให้รับความตายด้านจิตใจได้ การชักนำให้ผู้อื่นทำบาปนับเป็นความผิดหนักถ้าโดยการกระทำหรือการละเว้นดังกล่าวจงใจนำผู้อื่นให้ทำผิดหนัก
มธ 18:10-14 เด็กเล็กๆ : ในขณะที่บริบทปัจจุบันได้กล่าวอ้างอิงถึงเด็กๆ นั้น วลีนี้สามารถขยายความไปถึงผู้ไร้เดียงสาหรือผู้เปราะบางด้วย (“พี่น้องผู้ต่ำต้อยที่สุดของเรา” มธ 25:40) ทูตสวรรค์ของเขา : ในที่นี้พระเยซูเจ้าตรัสถึงอารักขเทวดา ผู้ดูแลมนุษย์ตั้งแต่เกิดจนตาย นักบุญบาซิลได้สอนว่า “ผู้มีความเชื่อแต่ละคนจะมีทูตสวรรค์ที่คอยอยู่เคียงข้าง เป็นผู้ปกครองดูแล และนายชุมพาบาลที่นำสู่ชีวิต” (Adv. Eunominum III, I: PG 29, 656B) เพราะว่าทูตสวรรค์ของแต่ละคนยืนอยู่เฉพาะพระพักตร์พระเจ้าพระบิดา ในความหมายนี้ บรรดาผู้มีความเชื่อจึงร่วมส่วนอยู่ในบรรดาทูตสวรรค์และนักบุญที่อยู่ในสวรรค์ด้วยเช่นกัน
การมีอยู่ของทูตสวรรค์ – ความจริงของความเชื่อ
CCC ข้อ 328 การมีอยู่ของสิ่งที่เป็นจิต ไม่มีร่างกาย ที่พระคัมภีร์มักจะเรียกว่า “ทูตสวรรค์” นั้นเป็นความจริงของข้อความเชื่อ เรื่องนี้ปรากฏชัดจากการยืนยันของพระคัมภีร์และความเห็นเป็นหนึ่งเดียวกันของธรรมประเพณี
ทูตสวรรค์เป็นใคร
CCC ข้อ 329 นักบุญออกัสตินกล่าวไว้ว่า “‘ทูตสวรรค์’ [...] เป็นนามบอกหน้าที่ ไม่ใช่นามที่บอกถึงธรรมชาติ ถ้าใครถามนามของธรรมชาตินี้ คำตอบก็คือ ทูตสวรรค์เป็น “จิต” แต่ถ้าถามว่าจิตนี้มีหน้าที่ ทำอะไร คำตอบก็คือ “เป็นทูต (สวรรค์)” หรือ “ผู้ถือสาร” จากความเป็นอยู่ทั้งหมดของตน บรรดาทูตสวรรค์เป็นผู้รับใช้และผู้ถือสารของพระเจ้า เนื่องจากว่าบรรดาทูตสวรรค์เหล่านี้ “เฝ้าชมพระพักตร์พระบิดาของเราผู้สถิตในสวรรค์” (มธ 18:10) “พร้อมสรรพที่จะฟังเสียงพระบัญชา” (สดด 103:20)
บรรดาทูตสวรรค์ในชีวิตของพระศาสนจักร
CCC ข้อ 336 ชีวิตของมนุษย์ตั้งแต่เกิด จนตาย อยู่ในความอารักขาของบรรดาทูตสวรรค์ และมีบรรดาทูตสวรรค์คอยวอนขอความช่วยเหลือจากพระเจ้า “ไม่มีผู้ใดปฏิเสธว่าผู้มีความเชื่อแต่ละคนมีทูตสวรรค์เป็นผู้คอยแนะนำดูแลและนำชีวิต” ตั้งแต่ในโลกนี้แล้ว ชีวิตคริสตชนมีส่วนในมิตรภาพที่บรรดาทูตสวรรค์และมนุษย์มีร่วมกันกับพระเจ้าอาศัยความเชื่อ
มธ 18:10 ผู้นิพนธ์พระวรสารฉบับอื่นได้เพิ่มเติมอีกว่า “เพราะว่าบุตรแห่งมนุษย์เสด็จมาเพื่อช่วยผู้ที่เสียไปให้รอดพ้น”
มธ 18:14 พระเจ้าพระบิดาทรงปรารถนาให้มนุษย์ทุกคนได้รับความรอดพ้นและมีความสุขในชีวิตนิรันดร จะไม่มีผู้ใดเลยถูกแยกออกไปจากความรักอันไม่มีขอบเขตของพระองค์
พระเจ้าทรงริเริ่มความรักที่ไถ่กู้มวลมนุษย์
CCC ข้อ 605 ความรักนี้ไม่มีข้อยกเว้น ตอนปลายของเรื่องอุปมาเรื่องแกะที่หลงไปนั้น พระองค์ตรัสว่า“พระบิดาของท่านผู้สถิตในสวรรค์ก็เช่นเดียวกัน ไม่ทรงปรารถนาให้คนธรรมดาๆ เหล่านี้แม้เพียงผู้เดียวต้องพินาศไป” (มธ 18:24) พระองค์ทรงยํ้าอีกว่าพระองค์ “ทรงมอบชีวิตของพระองค์เป็นสินไถ่เพื่อมนุษย์ทั้งหลาย” (มธ 20:28) วลีสุดท้ายซึ่งตามตัวอักษรแปลว่า “เพื่อคนจำนวนมาก” มิได้มีความหมายจำกัด แต่เป็นการรวมมนุษยชาติไว้เป็นบุคคลเดียวตรงกันข้ามกับพระผู้ไถ่ซึ่งมอบพระองค์เพื่อช่วยบุคคลนี้ให้รอดพ้น พระศาสนจักรก็ปฏิบัติตามบรรดาอัครสาวก สอนว่าพระคริสตเจ้าสิ้นพระชนม์เพื่อมนุษย์ทุกคนโดยไม่ยกเว้น “ไม่ได้มี และจะไม่มีมนุษย์คนใด ที่พระคริสตเจ้ามิได้ทรงรับทรมานเพื่อเขา”
“พระประสงค์จงสำเร็จในแผ่นดินเหมือนในสวรรค์”
CCC ข้อ 2822 พระประสงค์ของพระบิดาของเราก็คือ “ให้ทุกคนได้รับความรอดพ้นและรู้ความจริงที่สมบูรณ์” (1 ทธ 2:4) พระองค์ “ทรงอดกลั้น […] ไม่ทรงประสงค์ให้ผู้ใดต้องพินาศ” (2 ปต 3:9) พระบัญชาของพระองค์ซึ่งสรุปรวมพระบัญชาอื่นๆ ทั้งหมดและแสดงถึงพระประสงค์ทั้งหมดของพระองค์ก็คือให้เรารักกันเหมือนกับที่พระองค์ทรงรักเรา
(จากหนังสือ THE DIDACHE BIBLE with commentaries based on the Catechism of the Catholic Church, Ignatius Bible Edition)