แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

วันอาทิตย์ที่ 17 เทศกาลธรรมดา

พระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญลูกา (ลก 11:1-13)                                      

เวลานั้น พระเยซูเจ้าทรงอธิษฐานภาวนาอยู่ในสถานที่แห่งหนึ่ง เมื่อทรงอธิษฐานจบแล้ว ศิษย์คนหนึ่งทูลพระองค์ว่า “พระเจ้าข้า โปรดสอนเราให้อธิษฐานภาวนาเหมือนกับที่ยอห์นสอนศิษย์ของเขาเถิด” พระองค์จึงตรัสกับเขาว่า “เมื่อท่านทั้งหลายอธิษฐานภาวนา จงพูดว่า

“ข้าแต่พระบิดา พระนามพระองค์จงเป็นที่สักการะ

  พระอาณาจักรจงมาถึง

  โปรดประทานอาหารประจำวันแก่ข้าพเจ้าทั้งหลายทุกวัน

  โปรดประทานอภัยแก่ข้าพเจ้าทั้งหลาย

  เหมือนข้าพเจ้าทั้งหลายให้อภัยแก่ผู้อื่น

  โปรดช่วยข้าพเจ้าทั้งหลายไม่ให้แพ้การประจญ”

พระเยซูเจ้าตรัสกับบรรดาศิษย์อีกว่า “สมมติว่าท่านคนหนึ่งมีเพื่อนและไปพบเพื่อนนั้นตอนเที่ยงคืนกล่าวว่า “เพื่อนเอ๋ย ให้ฉันขอยืมขนมปังสักสามก้อนเถิด เพราะเพื่อนของฉันเพิ่งเดินทางมาถึงบ้านของฉัน ฉันไม่มีอะไรจะให้เขากิน” สมมติว่าเพื่อนคนนั้นตอบจากในบ้านว่า “อย่ารบกวนฉันเลย ประตูปิดแล้ว ลูก ๆ กับฉันก็เข้านอนแล้ว ฉันลุกขึ้นให้สิ่งใดท่านไม่ได้หรอก” เราบอกท่านทั้งหลายว่า ถ้าคนนั้นไม่ลุกขึ้นให้ขนมปังเพราะเป็นเพื่อนกัน เขาก็จะลุกขึ้นมาให้สิ่งที่เพื่อนต้องการเพราะถูกรบเร้า

เราบอกท่านทั้งหลายว่า จงขอเถิด แล้วท่านจะได้รับ จงแสวงหาเถิด แล้วท่านจะพบ จงเคาะประตูเถิด แล้วเขาจะเปิดประตูรับท่าน เพราะคนที่ขอย่อมได้รับ  คนที่แสวงหาย่อมพบ คนที่เคาะประตูย่อมมีผู้เปิดประตูให้ ท่านที่เป็นพ่อ ถ้าลูกขอปลา จะให้งูแทนปลาหรือ ถ้าลูกขอไข่ จะให้แมงป่องหรือ แม้แต่ท่านทั้งหลายที่เป็นคนชั่วยังรู้จักให้ของดีๆ แก่ลูก แล้วพระบิดาผู้สถิตในสวรรค์จะไม่ประทานพระจิตเจ้าแก่ผู้ที่ทูลขอพระองค์มากกว่านั้นหรือ”


ลก 11:1-4  โปรดสอนเราให้อธิษฐานภาวนา: เพื่อตอบการวอนขอนี้ พระคริสตเจ้าทรงมอบ “บทภาวนาขององค์พระผู้เป็นเจ้า” ให้แก่เรา หรือเป็นที่รู้จักกันว่า บทข้าแต่พระบิดา บทภาวนานี้เชื้อเชิญให้เราเรียกพระเจ้าว่า “พระบิดาของเรา” และให้ไตร่ตรองถึงความสัมพันธ์แห่งการเป็นบุตรของพระเจ้าที่เราได้ชื่นชมโดยทางการรับศีลล้างบาป การใช้บุรุษที่หนึ่งเป็นพหูพจน์นั้นต้องการเน้นว่า นี่เป็นคำภาวนาร่วมกันของครอบครัวของพระเจ้า คือ พระศาสนจักร เช่นเดียวกับความเป็นหนึ่งเดียวที่มีอยู่ในระหว่างสมาชิกของพระศาสนจักรนั่นเอง การภาวนาของเรามีศูนย์กลางอยู่ที่การนมัสการพระเจ้าและพระอาณาจักรของพระองค์ รวมทั้งเป็นการวอนขอพระองค์สำหรับสิ่งที่เราต้องการและสำหรับการร่วมมือกันเพื่อพระอาณาจักรนี้ ในตอนท้ายของบทภาวนามีการเชื่อมโยงถึงการอภัยที่เราได้รับจากพระเจ้าไปสู่การให้อภัยต่อเพื่อนมนุษย์ นี่ยังคงเป็นบทภาวนาพื้นฐานของคริสตชนทุกคน ซึ่งใช้สวดภาวนาพร้อมกันในการทำกิจศรัทธาของพระศาสนจักร รวมทั้งในทุกๆ พิธีบูชาขอบพระคุณอีกด้วย แตร์ตูเลียนได้เขียนไว้ว่า บทภาวนาขององค์พระผู้เป็นเจ้านั้นเป็น “บทสรุปพระวรสารทั้งครบอย่างแท้จริง” (De orat., 1:PL 1, 1155)

ความสัมพันธ์ของเรากับพระธรรมล้ำลึกของพระเยซูเจ้า

  CCC ข้อ 520 ตลอดพระชนมชีพของพระองค์ พระเยซูเจ้าทรงสำแดงพระองค์เป็นแบบฉบับของเราพระองค์ทรงเป็น “มนุษย์ครบครัน” และทรงเชื้อเชิญเราให้เป็นศิษย์ติดตามพระองค์ พระองค์ประทานแบบฉบับให้เราปฏิบัติตามโดยการถ่อมพระองค์ ทรงอธิษฐานภาวนาเป็นตัวอย่างการอธิษฐานภาวนา ทรงเรียกเราให้เอาอย่างความยากจนของพระองค์โดยยอมรับความขัดสนและการถูกเบียดเบียน

ทำไมจึงต้องมีศีลแห่งการคืนดีอีกหลังจากศีลล้างบาป

  CCC ข้อ 1425 “ท่านได้รับการชำระล้างแล้ว ท่านได้รับความศักดิ์สิทธิ์แล้ว ท่านได้รับความชอบธรรมแล้ว เดชะพระนามของพระเยซูคริสต์องค์พระผู้เป็นเจ้า และเดชะพระจิตของพระเจ้าของเรา” (1คร 6:11) เราจึงต้องสำนึกถึงพระพรยิ่งใหญ่ที่พระเจ้าประทานให้เราในศีลของกระบวนการรับเข้าเป็นคริสตชนเพื่อจะเข้าใจว่าบาปเป็นสิ่งแปลกปลอมเพียงไรสำหรับผู้ที่สวมพระคริสตเจ้าไว้แล้ว แต่นักบุญยอห์น อัครสาวกก็เขียนไว้ว่า “ถ้าเราพูดว่า เราไม่มีบาป เรากำลังหลอกตนเอง และความจริงไม่อยู่ในเรา” (1ยน 1:8) และองค์พระผู้เป็นเจ้าเองก็ทรงสอนเราให้อธิษฐานภาวนาว่า “โปรดประทานอภัยแก่ข้าพทั้งหลาย” (ลก 11:4) และทรงเสริมว่าการที่เราให้อภัยความผิดแก่กันนั้นมีความสัมพันธ์กับการอภัยที่พระเจ้าจะประทานแก่บาปของเรา

พระเยซูเจ้าทรงอธิษฐานภาวนา

  CCC ข้อ 2601 “พระเยซูเจ้าทรงอธิษฐานภาวนาอยู่ในสถานที่แห่งหนึ่ง เมื่อทรงอธิษฐานจบแล้ว ศิษย์คนหนึ่งทูลพระองค์ว่า ‘พระเจ้าข้า โปรดสอนเราให้อธิษฐานภาวนาเถิด’” (ลก 11:1) เมื่อศิษย์ของพระคริสตเจ้าเห็นพระอาจารย์ทรงอธิษฐานภาวนา ก็อยากจะอธิษฐานภาวนาด้วย เขาจึงอาจเรียนรู้ได้จากพระอาจารย์แห่งการอธิษฐานภาวนา เมื่อพิจารณาและได้ยินพระบุตร (ทรงอธิษฐานภาวนา) บรรดาบุตรก็เรียนรู้ที่จะอธิษฐานภาวนาต่อพระบิดาด้วย

การอธิษฐานเพื่อวอนขอ

  CCC ข้อ 2632 การวอนขอของคริสตชนมีศูนย์กลางอยู่ที่ความปรารถนาและการแสวงหาพระอาณาจักรที่มาถึงตามคำสอนของพระเยซูเจ้า ต้องมีลำดับความสำคัญในการวอนขอ ก่อนอื่นต้องวอนขอพระอาณาจักร แล้วจึงวอนขอสิ่งที่จำเป็นสำหรับรับพระอาณาจักรนี้ และเพื่อร่วมงานกับการมาถึงของพระอาณาจักร การร่วมงานนี้กับพันธกิจของพระคริสตเจ้าและของพระจิตเจ้า ซึ่งบัดนี้ยังเป็นพันธกิจของพระศาสนจักรด้วย จึงเป็นสาระสำคัญของการอธิษฐานภาวนาของกลุ่มคริสตชนสมัยอัครสาวกเช่นกัน การอธิษฐานภาวนาของเปาโล อัครสาวกผู้ยิ่งใหญ่ เปิดเผยให้เรารู้ว่าความเอาใจใส่ของพระเจ้าต่อกลุ่มคริสตชนทุกแห่งต้องเป็นพลังบันดาลใจของการอธิษฐานภาวนาของคริสตชน ผู้ที่รับศีลล้างบาปแล้วทุกคนร่วมงานให้พระอาณาจักรมาถึงโดยการอธิษฐานภาวนา

  CCC ข้อ 2759-2865


ลก 11:3  อาหารประจำวัน : พระศาสนจักรสอนว่า สิ่งนี้หมายถึงทั้งอาหารที่หล่อเลี้ยงร่างกาย และอาหารสำหรับชีวิตฝ่ายจิต เช่น ศีลมหาสนิท เป็นต้น

อาหารประจำวัน

  CCC ข้อ 2861 ในคำวอนขอข้อสี่ เมื่อกล่าวว่า “โปรดประทาน... แก่ข้าพเจ้าทั้งหลาย” เรามีความสัมพันธ์ร่วมกับเพื่อนพี่น้องของเรา แสดงความไว้วางใจของเราเยี่ยงบุตรต่อพระบิดาในสวรรค์ “อาหาร (ของเรา)” หมายถึงอาหารหล่อเลี้ยงชีวิตของเราในโลกนี้เพื่อทุกคนจะได้มีอาหารที่จำเป็นเพื่อหล่อเลี้ยงชีวิต และยังหมายถึงอาหารที่จำเป็นสำหรับชีวิต คือพระวาจาของพระเจ้าและพระวรกายของพระคริสตเจ้า (ในศีลมหาสนิท) ด้วย เราต้องรับอาหารนี้ “ประจำวัน” ใน “วันนี้” ของพระเจ้าเป็นอาหารที่จำเป็นอย่างยิ่ง จากงานเลี้ยงในพระอาณาจักรสวรรค์ ที่ศีลมหาสนิทเป็นการเกริ่นล่วงหน้าถึงงานเลี้ยงนี้


ลก 11:5-13  หลังจากที่พระคริสตเจ้าทรงสอนเรื่องคำภาวนาขององค์พระผู้เป็นเจ้าแล้ว พระองค์ทรงสอนบทเรียนเกี่ยวกับความจำเป็นที่จะต้องพากเพียรและมุ่งมั่นในการสวดภาวนา โดยเล่าว่า ถ้าหากเพื่อนคนหนึ่งลังเลที่จะทำตามที่เราขอ แต่ที่สุดเขาก็ได้ทำเพราะการคะยั้นคะยอของเราฉันใด พ่อคนหนึ่งก็จะยิ่งให้สิ่งที่ลูกของตนขอมากกว่านั้นสักเท่าใด หากนั่นเป็นสิ่งที่ดีสำหรับลูกของเขา เนื่องจากสถานะของเราในการเป็นบุตรบุญธรรมชายและหญิงของพระเจ้า พระองค์จึงทรงประทานสิ่งที่เราต้องการและประทานความมั่นใจว่า สิ่งที่คาดหวังนั้นจะสำเร็จไป

พระเยซูคริสตเจ้า

  CCC ข้อ 728 พระเยซูเจ้ามิได้ทรงเปิดเผยเรื่องพระจิตเจ้าเต็มที่จนกระทั่งพระองค์ทรงได้รับพระสิริรุ่งโรจน์โดยการสิ้นพระชนม์และทรงกลับคืนพระชนมชีพแล้วเท่านั้น ถึงกระนั้นพระองค์ก็ทรงกล่าวพาดพิงถึงพระจิตเจ้าบ้างแล้วเมื่อตรัสสอนประชาชน เมื่อทรงเปิดเผยว่าพระกายของพระองค์เป็นอาหารเพื่อชีวิตในอนาคตของโลก พระองค์ยังตรัสพาดพิงถึงพระจิตเจ้าด้วยกับนิโคเดมัสกับหญิงชาวสะมาเรีย และกับประชาชนที่มาร่วมฉลองเทศกาลอยู่เพิงพร้อมกับพระองค์ พระองค์ตรัสอย่างเปิดเผยแก่บรรดาศิษย์เมื่อตรัสเกี่ยวกับการอธิษฐานภาวนา และการเป็นพยานที่พวกเขาจะต้องแสดงถึงพระองค์

พระเยซูเจ้าทรงสอนให้อธิษฐานภาวนา

  CCC ข้อ 2613 นักบุญลูกาเล่าเรื่องอุปมาเกี่ยวกับการอธิษฐานภาวนาโดยเฉพาะไว้ให้เราสามเรื่อง - เรื่องแรกคือ “เรื่องเพื่อนที่ไม่รู้จักกาละเทศะ” เชิญเราให้อธิษฐานภาวนาโดยไม่ลดละ “จงเคาะประตูเถิด แล้วเขาจะเปิดประตูรับท่าน” ดังนี้ พระบิดาผู้สถิตในสวรรค์จะประทานทุกสิ่งที่จำเป็นให้แก่ผู้ที่วอนขอ โดยเฉพาะพระจิตเจ้าที่ทรงรวมพระพรทุกอย่างไว้

- เรื่องที่สองคือ “เรื่องหญิงม่ายผู้รบเร้า” มีศูนย์กลางอยู่ที่ลักษณะประการหนึ่งของการอธิษฐานภาวนา คือ “จำเป็นต้องอธิษฐานภาวนาอยู่เสมอโดยไม่ท้อถอย” โดยพากเพียรในความเชื่อ “เมื่อบุตรแห่งมนุษย์เสด็จมา จะทรงพบความเชื่อในโลกนี้หรือ”

- เรื่องที่สามคือ “เรื่องชาวฟาริสีและคนเก็บภาษี” ที่กล่าวถึงใจถ่อมตนของผู้อธิษฐานภาวนา “ข้าแต่พระเจ้า โปรดทรงพระกรุณาต่อข้าพเจ้าคนบาปด้วยเถิด” พระศาสนจักรไม่เคยหยุดยั้งเลยที่จะภาวนาว่า “ข้าแต่องค์พระผู้เป็นเจ้า โปรดทรงเมตตาเทอญ” “Kyrie eleison”

ในช่วงเวลาของพระศาสนจักร

  CCC ข้อ 2623 ในวันเปนเตกอสเต พระจิตเจ้าที่พระคริสตเจ้าทรงสัญญาจะประทานให้นั้นได้หลั่งลงมาเหนือบรรดาศิษย์ “ที่มาชุมนุมในสถานที่เดียวกัน” (กจ 2:1) “ทุกคนร่วมอธิษฐานภาวนา […] เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน” (กจ 1:14) พระจิตเจ้าผู้ทรงสอนและทรงทำให้พระศาสนจักรระลึกถึงทุกสิ่งที่พระเยซูเจ้าเคยตรัสไว้ ยังทรงช่วยเสริมสร้างพระศาสนจักรให้มีชีวิตการอธิษฐานภาวนาด้วย

“เชิญเสด็จมา ข้าแต่พระจิตเจ้า”

  CCC ข้อ 2671 รูปแบบการวอนขอพระจิตเจ้าตามธรรมประเพณีคือการวอนขอพระบิดาให้ประทานพระจิตเจ้าพระผู้บรรเทาให้เราผ่านทางพระคริสต์องค์พระผู้เป็นเจ้าของเรา พระเยซูเจ้าทรงย้ำถึงการวอนขอนี้ในพระนามของพระองค์โดยเฉพาะเมื่อทรงสัญญาจะประทานพระจิตแห่งความจริงเป็นพระพรพิเศษแก่เรา แต่บทภาวนาถึงพระจิตเจ้าแบบซื่อๆ และโดยตรงที่สุดยังเป็นบทภาวนาที่ใช้กันมาเป็นธรรมประเพณี “เชิญเสด็จมา ข้าแต่พระจิตเจ้า” และธรรมประเพณีทางพิธีกรรมแต่ละธรรมประเพณีก็ยังขยายความบทนี้ในบทลำนำและบทเพลงสรรเสริญต่างๆ ด้วย เช่น  “เชิญเสด็จมา ข้าแต่พระจิตเจ้า เชิญเสด็จมาสถิตในดวงใจสัตบุรุษ และทรงบันดาลให้ลุกร้อนด้วยไฟความรักของพระองค์”  “ข้าแต่พระราชาแห่งสวรรค์ พระผู้ทรงบรรเทา พระจิตแห่งความจริง พระผู้ประทับอยู่ทั่วทุกแห่ง ทรงเติมเต็มทุกสิ่ง ข้าแต่ขุมทรัพย์แห่งความดีและบ่อเกิดแห่งชีวิต เชิญเสด็จมาประทับอยู่ในข้าพเจ้าทั้งหลาย โปรดทรงชำระข้าพเจ้าทั้งหลายให้ปลอดจากความแปดเปื้อน และทรงช่วยวิญญาณข้าพเจ้าทั้งหลายให้รอดพ้น พระองค์ผู้ทรงความดีทุกประการ”

“สรุปพระวรสารทั้งหมด”

  CCC ข้อ 2761 “อันที่จริง การสรุปพระวรสารทั้งหมดถูกรวมไว้ในบท ‘ข้าแต่พระบิดา’” องค์พระผู้เป็นเจ้า “หลังจากทรงแสดงวิธีอธิษฐานภาวนาให้เห็นแล้วได้ตรัสว่า จงขอเถิด แล้วท่านจะได้รับ (ยน 16:24) และแต่ละคนมีสิ่งที่ต้องขอสำหรับสภาพแวดล้อมโดยเฉพาะ การอธิษฐานภาวนาขอตามปกติจึงถูกวางไว้ก่อนเป็นเสมือนพื้นฐานของความปรารถนาที่อาจเกิดขึ้นซึ่งเป็นสิทธิที่จะเพิ่มการวอนขอนอกเหนือต่อไปได้”

(จากหนังสือ THE DIDACHE BIBLE with commentaries based on the Catechism of the Catholic Church, Ignatius Bible Edition)