แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

วันพุธ สัปดาห์ที่ 15 เทศกาลธรรมดา

พระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญมัทธิว (มธ 11:25-27)                                             

เวลานั้น พระเยซูเจ้าตรัสว่า “ข้าแต่พระบิดา เจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดิน ข้าพเจ้าสรรเสริญพระองค์ที่ทรงปิดบังเรื่องเหล่านี้จากบรรดาผู้มีปรีชาและรอบรู้ แต่ทรงเปิดเผยแก่บรรดาผู้ต่ำต้อย ถูกแล้ว พระบิดาเจ้าข้า พระองค์พอพระทัยเช่นนั้น พระบิดาทรงมอบทุกสิ่งแก่ข้าพเจ้า ไม่มีใครรู้จักพระบุตร นอกจากพระบิดา และไม่มีใครรู้จักพระบิดา นอกจากพระบุตรและผู้ที่พระบุตรเปิดเผยให้รู้”


มธ 11:25-26  เด็กๆ : อันที่จริงพระคริสตเจ้ามิได้ทรงตั้งใจอ้างอิงถึงบรรดาเด็กๆ แต่ทรงต้องการกล่าวถึงผู้ที่ยินดีรับพระคริสตเจ้าและคำสอนของพระองค์ด้วยความสุภาพถ่อมตนเหมือนกับเด็กๆ ที่มีจิตใจยากจน ผู้ซึ่งไว้วางใจในพระญาณเอื้ออาทรของพระเจ้า ผู้ประทานทุกสิ่งที่จำเป็นแก่พวกเขา ถูกแล้ว พระบิดาเจ้าข้า : ด้วยคำกล่าวนี้ต่อพระบิดา พระคริสตเจ้าทรงยืนยันถึงการน้อมรับพระประสงค์ของพระบิดาอย่างสมบูรณ์

ความเชื่อเป็นพระหรรษทานประการหนึ่ง

  CCC ข้อ 153 เมื่อนักบุญเปโตรประกาศว่าพระเยซูเจ้าทรงเป็นพระคริสตเจ้า พระบุตรของพระเจ้าผู้ทรงชีวิต พระเยซูเจ้าทรงบอกเขาว่าเขามีความรู้นี้ไม่ใช่จากมนุษย์ แต่จากพระบิดาของพระองค์ “ผู้สถิตในสวรรค์” (มธ 16:17) ความเชื่อเป็นของประทานจากพระเจ้า เป็นคุณธรรมเหนือธรรมชาติที่พระเจ้าประทานให้ “เราจะแสดงความเชื่อเช่นนี้ได้ก็จำเป็นต้องมีพระหรรษทานของพระเจ้านำหน้าคอยช่วยเหลือ และมีพระจิตเจ้าคอยอนุเคราะห์อยู่ภายใน พระจิตเจ้าทรงเร้าจิตใจและทรงโน้มน้าวให้หันกลับมาหาพระเจ้า ทรงเปิดนัยน์ตาของสติปัญญาและประทาน ‘ให้กับทุกคนซึ่งความยินดีที่จะยอมรับความจริงและเชื่อความจริงนั้น’” 

การแจ้งข่าวเรื่องพระอาณาจักรของพระเจ้า

  CCC ข้อ 544 พระอาณาจักรนี้เป็นอาณาจักรของคนยากจนและตํ่าต้อย นั่นคือเป็นของคนเหล่านั้นที่รับพระอาณาจักรด้วยจิตใจถ่อมตน พระเจ้าทรงส่งพระเยซูเจ้ามา “ประกาศข่าวดีแก่คนยากจน” (ลก 4:18) พระองค์ทรงประกาศว่าคนเหล่านี้ย่อมเป็นสุข “เพราะอาณาจักรสวรรค์เป็นของเขา” (มธ 5:3) พระบิดาทรงโปรดที่จะเปิดเผยเรื่องที่ถูกปิดบังไว้จากผู้มีปรีชาและรอบรู้ให้แก่ “บรรดาผู้ตํ่าต้อย” เหล่านี้ พระเยซูเจ้าทรงร่วมชีวิตของผู้ยากจนนับตั้งแต่ทรงสมภพในรางหญ้าจนถึงไม้กางเขน ทรงมีประสบการณ์ความหิวโหย ความกระหายและความขัดสน ยิ่งกว่านั้น พระองค์ยังทรงกระทำพระองค์เป็นหนึ่งเดียวกับคนยากจนทุกชนิดและทรงกำหนดให้ความรักต่อคนเหล่านี้เป็นเงื่อนไขที่ผู้หนึ่งจะเข้าในพระอาณาจักรของพระองค์ได้

พระเยซูเจ้าทรงอธิษฐานภาวนา

  CCC ข้อ 2603 ผู้นิพนธ์พระวรสารบันทึกเรื่องการอธิษฐานภาวนาที่ชัดเจนของพระคริสตเจ้าในช่วงเวลาที่ทรงประกาศสอนประชาชนไว้สองครั้ง การอธิษฐานภาวนาทั้งสองครั้งเริ่มด้วยการขอบพระคุณ ในเรื่องการอธิษฐานภาวนาเรื่องแรก พระเยซูเจ้าทรงสรรเสริญพระบิดา ยอมรับพระองค์และถวายพระพรแด่พระองค์ที่ทรงปิดบังพระธรรมล้ำลึกเรื่องพระอาณาจักรไว้จากผู้ทีคิดว่าตนเป็นผู้มีปรีชา และกลับทรงเปิด เผยพระธรรมล้ำลึกเหล่านี้ใหแก่ “ผู้ต่ำต้อย” (เรื่องความสุขแท้สำหรับผู้ยากจน) ความสะเทือนพระทัยของพระองค์ “พระบิดาเจ้าข้า พระองค์พอพระทัยเช่นนั้น” แสดงให้เห็นพระทัยส่วนลึกของพระองค์ การที่พระองค์ยึดสนิทกับ “ความพอพระทัย” ของพระบิดาเสมอ เป็นเสมือนเสียงสะท้อนของวลีว่า “ขอให้เป็นไปแก่ข้าพเจ้า” ของพระมารดาเมื่อพระนางทรงปฏิสนธิพระองค์ และเป็นประหนึ่งการกล่าวล่วงหน้าของพระวาจาที่จะตรัสแก่พระบิดาเมื่อทรงเป็นทุกข์อย่างสุดซึ้งในสวนเกทเสมนี คำอธิษฐานภาวนาทั้งหมดของพระเยซูเจ้าเต็มเปี่ยมด้วยความรักที่พร้อมเสมอจะให้พระหทัยมนุษย์ของพระองค์เป็นหนึ่งเดียวกับ “พระธรรมล้ำลึกแห่งพระประสงค์” ของพระบิดา

การอธิษฐานภาวนาโดยเปล่งเสียง

  CCC ข้อ 2701 การอธิษฐานภาวนาโดยเปล่งเสียงเป็นองค์ประกอบสำคัญยิ่งของชีวิตคริสตชน เมื่อบรรดาศิษย์มีความสนใจต่อการอธิษฐานภาวนาเงียบๆ ของพระอาจารย์ พระองค์ก็ทรงสอนบทภาวนาที่ต้องเปล่งเสียงบทหนึ่งให้เขา คือบทข้าแต่พระบิดา พระเยซูเจ้าไม่เพียงแต่ทรงอธิษฐานภาวนาด้วยบทภาวนาตามพิธีกรรมของศาลาธรรมเท่านั้น พระวรสารบอกเราว่าพระองค์ทรงเปล่งพระสุรเสียงแสดงบทภาวนาของพระองค์ออกมาด้วย ตั้งแต่เมื่อทรงตื้นตันพระทัยถวายพระพรแด่พระบิดา ไปจนถึงเมื่อทรงทนทุกข์ในสวนเกทเสมนี

“ข้าแต่พระบิดา”

  CCC ข้อ 2785 นอกจากนั้น เรายังต้องกลับใจทำตนให้มีใจถ่อมตนและวางใจในพระองค์ กลับเป็น “เหมือนเด็กเล็กๆ” (มธ 18:3) เพราะพระบิดาทรงเปิดเผยพระองค์ “แก่บรรดาผู้ตํ่าต้อย” (มธ 11:25) การอธิษฐานภาวนาเป็นสภาพ “ที่เกิดขึ้นจากการพิศเพ่งดูเพียงพระเจ้า และจากความรักกระตือรือร้นที่ทำให้จิตใจมุ่งหาความรักของพระเจ้า และสละตนให้มีความใกล้ชิด สนทนากับพระองค์ด้วยความศรัทธาเป็นพิเศษเหมือนสนทนากับบิดาของตน ‘ข้าแต่พระบิดาของข้าพเจ้าทั้งหลาย’ เมื่อออกพระนามนี้ ความรักย่อมปลุกตัวขึ้น – จะมีอะไรเป็นที่รักของบุตรมากกว่าบิดา – ความรักที่วอนขอก็ปลุกตัวขึ้นด้วย […] พร้อมกับความรู้สึกว่าเราจะได้รับตามที่เรากำลังจะวอนขอ […] มีอะไรเล่าที่พระองค์จะไม่ประทานให้บุตรที่วอนขอ ในเมื่อก่อนหน้านั้นพระองค์ได้ประทานให้เขาเป็นบุตรแล้ว”


มธ 11:27  ไม่มีใครรู้จัก... พระบุตรเปิดเผยให้รู้ : พระบิดาทรงอยู่เหนือความรู้และประสบการณ์ทั้งหมดของมนุษย์ ดังนั้นไม่ว่าความพยายามใดๆ ตามประสามนุษย์ที่จะเข้าใจพระเจ้าย่อมรับรู้ได้เพียงความจริงบางส่วนเท่านั้น ผู้มีความเชื่อที่ถ่อมตนด้วยใจบริสุทธิ์จะได้เห็นพระพักตร์พระเจ้าในพระเยซูคริสตเจ้า ผู้ทรงเป็นภาพลักษณ์ที่สมบูรณ์ของพระบิดาเจ้า

เชื่อในพระเยซูคริสตเจ้า พระบุตรของพระเจ้า

  CCC ข้อ 151 สำหรับคริสตชน การเชื่อในพระเจ้าแยกกันไม่ได้กับการเชื่อในผู้ที่พระเจ้าทรงส่งมา นั่นคือในพระบุตรสุดที่รักซึ่งเป็นที่โปรดปรานของพระองค์ พระเจ้าทรงบอกเราให้ฟังองค์พระบุตรองค์พระผู้เป็นเจ้าเองก็ตรัสกับบรรดาศิษย์ว่า “จงเชื่อในพระเจ้า และเชื่อในเราด้วย” (ยน 14:1) เราอาจเชื่อในพระเยซู คริสตเจ้าได้เพราะทรงเป็นพระเจ้าด้วย ทรงเป็นพระวจนาตถ์ผู้ทรงรับสภาพมนุษย์ “ไม่มีใครเคยเห็นพระเจ้าเลย แต่พระบุตรเพียงพระองค์เดียวผู้สถิตในพระอุระของพระบิดานั้นได้ทรงเปิดเผยให้เรารู้” (ยน 1:18) เพราะพระองค์ “ทรงเห็นพระบิดา” (ยน 6:46) ทรงเป็นพระองค์เดียวที่ทรงรู้จักพระบิดาและเปิดเผยพระบิดาได้”

พระบุตรทรงเปิดเผยพระบิดาให้เรารู้จัก

  CCC ข้อ 240 พระเยซูเจ้าทรงเปิดเผยว่าพระเจ้าทรงเป็น “พระบิดา” ในความหมายที่ไม่เคยมีใครได้ยินมาก่อน – พระเจ้าไม่ทรงเป็นพระบิดาเพียงในฐานะพระผู้เนรมิตสร้าง และทรงเป็นพระบิดาตั้งแต่นิรันดรโดยความสัมพันธ์ต่อพระบุตรเพียงพระองค์เดียว ซึ่งทรงเป็นพระบุตรตั้งแต่นิรันดร ก็โดยความสัมพันธ์ที่ทรงมีต่อพระบิดาด้วยเช่นเดียวกัน “ไม่มีใครรู้จักพระบุตร นอกจากพระบิดา และไม่มีใครรู้จักพระบิดา นอกจากพระบุตรและผู้ที่พระบุตรทรงเปิดเผยให้รู้” (มธ 11:27)

พระวิญญาณและความรู้เยี่ยงมนุษย์ของพระคริสตเจ้า

  CCC ข้อ 473 แต่ในเวลาเดียวกัน ความรู้แบบมนุษย์จริงๆ นี้ของพระบุตรพระเจ้าก็สะท้อนชีวิตพระเจ้าที่ทรงมีด้วย “พระบุตรพระเจ้าทรงทราบทุกสิ่ง และโดยทางพระองค์ผู้ทรงรับสภาพมนุษย์ ไม่ใช่โดยธรรมชาติ แต่ในฐานะที่ทรงร่วมเป็นหนึ่งเดียวกับพระวจนาตถ์ [...] สภาพมนุษย์ที่ทำให้พระองค์รวมเป็นหนึ่งเดียวกับพระวจนาตถ์นี้รู้ทุกสิ่งเกี่ยวกับพระเจ้าและแสดงทุกสิ่งเหล่านี้ให้เห็นในพระองค์ว่าทรงพระเดชานุภาพ” นี่เป็นกรณีโดยเฉพาะของความรู้ลึกซึ้งและโดยตรงที่พระบุตรของพระเจ้าผู้ทรงเป็นมนุษย์ทรงมีเกี่ยวกับพระบิดาของพระองค์ พระบุตร แม้ในความรู้แบบมนุษย์ที่ทรงมี ก็ยังแสดงให้เห็นว่าทรงทราบถึงความคิดลึกลับภายในใจมนุษย์ได้ด้วย

การอธิษฐานภาวนาในฐานะพันธสัญญา

  CCC ข้อ 2563 ใจเป็นที่ที่ฉันอยู่ เป็นที่อาศัยของฉัน (ตามสำนวนเซมีติคของพระคัมภีร์ – เป็นที่ที่ฉัน “หลบลงไป”) เป็นศูนย์กลางที่ซ่อนเร้นของเรา ที่เหตุผลของเราหรือของผู้อื่นไม่อาจเข้าใจได้  มีแต่พระจิตของพระเจ้าเท่านั้นที่เข้าไปสำรวจและหยั่งรู้ได้ เป็นสถานที่ของการตัดสินใจ ในส่วนลึกที่สุดของความโน้มเอียงทางจิตใจของเรา เป็นที่อยู่ของความจริง เป็นที่ที่เราเลือกชีวิตหรือความตายใจยังเป็นที่พบกันด้วย ดังนั้น ในเมื่อเราเป็นภาพลักษณ์ของพระเจ้า เราจึงมีชีวิตอยู่ในความสัมพันธ์กับพระองค์ ใจจึงเป็นสถานที่ของพันธสัญญากับพระองค์ด้วย 

“ข้าแต่พระบิดา”

  CCC ข้อ 2779 ก่อนที่จะทำให้การร้องเรียกคำแรกของบทข้าแต่พระบิดานี้เป็นของเรา เราควรจะถ่อมใจของเราชำระจิตใจให้พ้นจากภาพพจน์ที่ผิดๆ เกี่ยวกับ “โลกนี้” เสียก่อน ความสุภาพถ่อมตนทำให้เรายอมรับความจริงข้อนี้ว่า “ไม่มีใครรู้จักพระบุตร นอกจากพระบิดา และไม่มีใครรู้จักพระบิดานอกจากพระบุตรและผู้ที่พระบุตรเปิดเผยให้รู้” (มธ 11:27) นั่นคือ “ให้แก่บรรดาผู้ตํ่าต้อย” (มธ 11:25) การชำระจิตใจเรื่องภาพพจน์ที่เกี่ยวกับบิดามารดา ซึ่งเกิดจากประวัติความเป็นมาส่วนตัวหรือทางวัฒนธรรม ย่อมมีผลกระทบถึงความสัมพันธ์ของเรากับพระเจ้า ความคิดว่าพระเจ้าเป็นพระบิดาของเราอยู่เหนือมโนทัศน์ของโลกนี้ การนำแนวคิดของเรามาใช้กับพระองค์หรือต่อต้านพระองค์ในเรื่องนี้คงเป็นเหมือนกับการสร้างรูปเคารพขึ้นมาหรือทำลายรูปเคารพนั้นการที่เราอธิษฐานภาวนาต่อพระบิดาเป็นการเข้าไปในพระธรรมล้ำลึกของพระองค์ ตามที่พระองค์ทรงเป็นและตามที่พระบุตรทรงเปิดเผยให้เรารู้ “พระนามของพระเจ้าพระบิดาไม่เคยถูกเปดิ เผยให้แก่ผู้ใดเลย แม้แต่โมเสสที่ได้ทูลถามเรื่องนี้ เขากลับได้ยินนามอื่น พระบุตรทรงเปิดเผยพระนามนี้ให้แก่เรา ก่อนจะมีพระบุตรก็ไม่มีพระนามของพระบิดา”

(จากหนังสือ THE DIDACHE BIBLE with commentaries based on the Catechism of the Catholic Church, Ignatius Bible Edition)