แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

วันศุกร์ สมโภชพระหฤทัยศักดิ์สิทธิ์ของพระเยซูเจ้า

พระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญลูกา (ลก 15:3-7)                             

เวลานั้น พระเยซูเจ้าตรัสอุปมาเรื่องนี้ให้เขาฟัง “ท่านใดที่มีแกะหนึ่งร้อยตัว ตัวหนึ่งหายไป จะไม่ละแกะเก้าสิบเก้าตัวไว้ในถิ่นทุรกันดาร ออกไปตามหาแกะที่หายไปจนพบหรือ เมื่อพบแล้ว เขาจะยกมันใส่บ่าด้วยความยินดี กลับบ้าน เรียกมิตรสหายและเพื่อนบ้านมา พูดว่า ‘จงร่วมยินดีกับฉันเถิด ฉันพบแกะตัวที่หายไปนั้นแล้ว’ เราบอกท่านทั้งหลายว่าในสวรรค์จะมีความยินดีเช่นนี้เพราะคนบาปคนหนึ่งกลับใจมากกว่าความยินดีเพราะคนชอบธรรมเก้าสิบเก้าคนที่ไม่ต้องการกลับใจ”


ลก 15:1-32  พระวรสารบทนี้เข้าถึงหัวใจของพระวรสารเอง คือ พระเมตตาและการให้อภัยอย่างไม่มีขอบเขตของพระเจ้าได้ถูกเปิดเผยโดยทางพระคริสตเจ้า 

พระเมตตาและบาป

  CCC ข้อ 1846 พระวรสารเป็นการเปิดเผยพระเมตตาที่พระเจ้าทรงมีต่อคนบาปในพระเยซูคริสตเจ้าทูตสวรรค์แจ้งข่าวนี้แก่โยเซฟว่า “ท่านจงตั้งชื่อเขาว่าเยซู เพราะเขาจะช่วยประชากรของเขาให้รอดพ้นจากบาป” (มธ 1:21) ข้อความนี้ยังเป็นจริงอีกด้วยกับศีลมหาสนิท ศีลแก่การไถ่กู้ “นี่เป็นโลหิตของเรา โลหิตแห่งพันธสัญญาที่หลั่งออกมาเพื่ออภัยบาปมนุษย์ทั้งหลาย” (มธ 26:28)

  CCC ข้อ 1847 พระเจ้า “ผู้ทรงเนรมิตสร้างท่านมาโดยที่ท่านไม่ต้องทำอะไรนั้นทำให้ท่านเป็นผู้ชอบธรรมไม่ได้ถ้าท่านไม่ร่วมมือด้วย” การจะรับพระเมตตาของพระเจ้าได้นั้นเรียกร้องให้เราสารภาพว่าเราได้ทำผิด “ถ้าเราพูดว่าเราไม่มีบาป เรากำลังหลอกตนเอง และความจริงไม่อยู่ในเรา ถ้าเราสารภาพบาป พระองค์จะทรงอภัยบาปของเราและจะทรงชำระเราให้สะอาดจากความอธรรมทั้งปวง” (1 ยน 1:8-9)

  CCC ข้อ 1848 นักบุญเปาโลกล่าวไว้ว่าดังนี้ “ที่ใดบาปทวีขึ้น ที่นั่นพระหรรษทานก็ยิ่งทวีขึ้นมากกว่า” (รม 5:20) แต่เพื่อพระหรรษทานจะทำงานได้ก็จำเป็นต้องเปิดเผยบาปเพื่อเปลี่ยนใจของเราและเพื่อให้ “ความชอบธรรมนำเราไปสู่ชีวิตนิรันดรเดชะพระเยซูคริสต์องค์พระผู้เป็นเจ้าของเรา” (รม 5:21) พระเจ้าทรงเป็นเสมือนนายแพทย์ที่ตรวจดูบาดแผลก่อนที่จะรักษา ทรงใช้พระวาจาและพระจิตของพระองค์ ทรงส่องแสงสว่างให้เราแลเห็นบาปได้ชัดเจน

“การกลับใจเรียกร้องให้เรายอมรับว่าได้ทำบาป ยังรวมไปถึงการตัดสินของมโนธรรมภายใน การตัดสินนี้เป็นการพิสูจน์ของพระจิตเจ้าแห่งความจริงภายในส่วนลึกของมนุษย์ ในขณะเดียวกันยังกลายเป็นจุดเริ่มต้นของพระกรุณาที่ประทานพระหรรษทานและความรัก ‘จงรับพระจิตเจ้าเถิด’ ดังนั้น ในการ ‘แสดงให้เห็นความหมายของบาป’ ที่พระเยซูเจ้าตรัสถึงนั้น เราพบของประทานสองประการ คือพระพรแห่งความจริงจากมโนธรรมและพระพรแห่งความมั่นใจว่าเราจะได้รับการไถ่กู้ พระจิตเจ้า องค์ความจริงทรงเป็น ‘พระผู้บรรเทา’ อีกด้วย”


ลก 15:1-10  การแบ่งปันอาหารเป็นเครื่องหมายของมิตรภาพและการคืนดีกัน ดังนั้น พระคริสตเจ้าจึงทรงแสดงแก่ชาวฟาริสีว่า ทรงเป็นผู้ยอมรับคนบาป พระองค์ทรงใช้โอกาสนี้เพื่อแสดงว่าพันธกิจของพระองค์ คือการเรียกคนบาปให้กลับใจ เพราะเหตุนี้จึงมีเหตุผลที่จะชื่นชมยินดีมากกว่าการที่คนหนึ่งไม่เคยหลงจากทางความเชื่อเลย 

การคืนดีกับพระศาสนจักร

  CCC ข้อ 1443  ขณะที่ทรงเทศน์สอนประชาชน พระเยซูเจ้าไม่เพียงแต่ทรงอภัยบาปเท่านั้น แต่ยังทรงแสดงผลของการอภัยบาปนี้ด้วย พระองค์ทรงคืนคนบาปที่ทรงอภัยบาปให้แล้วกลับคืนให้แก่ชุมชนที่บาปได้ทำให้เขาห่างเหินหรือแม้กระทั่งแยกตัวออกไป เครื่องหมายของเรื่องนี้เห็นได้ชัดเจน พระเยซูเจ้าทรงต้อนรับคนบาปให้มาร่วมโต๊ะกับพระองค์ ยิ่งกว่านั้นยังเสด็จไปร่วมโต๊ะกับพวกเขาด้วย การที่ทรงปฏิบัติเช่นนี้แสดงด้วยวิธีการน่าประทับใจในเวลาเดียวกันให้เห็นการได้รับอภัยจากพระเจ้า และการกลับเข้ามาอยู่ในอ้อมอกของประชากรของพระเจ้าด้วย

พระเยซูเจ้าและความเชื่อของอิสราเอลในพระเจ้าและพระผู้ไถ่กู้หนึ่งเดียว

  CCC ข้อ 589 พระเยซูเจ้าทรงทำให้ชาวฟาริสีไม่พอใจโดยเฉพาะ เพราะทรงประกาศว่าการที่ทรงแสดงพระทัยเมตตากรุณาต่อคนบาปนั้นเป็นเหมือนกับที่พระเจ้าทรงปฏิบัติต่อพวกเขาด้วย พระองค์ยังตรัสเป็นนัยอีกว่าการที่ทรงร่วมโต๊ะกับพวกคนบาปนั้น เป็นการที่ทรงรับพวกเขาให้ร่วมโต๊ะในยุคพระเมสสิยาห์แต่โดยเฉพาะเมื่อทรงอภัยบาป พระเยซูเจ้าทรงทำให้ผู้นำทางศาสนาของอิสราเอลจนตรอก เขากล่าวถูกต้องแล้วด้วยความขัดเคืองมิใช่หรือว่า “ใครอภัยบาปได้นอกจากพระเจ้าเท่านั้น” (มก 2:7) ดังนั้น เมื่อพระเยซูเจ้าทรงอภัยบาป ก็หมายความว่าพระองค์กล่าวดูหมิ่นพระเจ้า เป็นมนุษย์ผู้ตั้งตนเสมอเท่าพระเจ้าหรือมิฉะนั้นก็ทรงกล่าวความจริง และพระองค์ก็ทรงเปิดเผยและทำให้พระนามของพระเจ้าเป็นที่รู้จักแก่ทุกคน

การแจ้งข่าวเรื่องพระอาณาจักรของพระเจ้า

  CCC ข้อ 545 พระเยซูเจ้าทรงเชิญคนบาปเข้ามาร่วมโต๊ะของพระอาณาจักร “เราไม่ได้มาเพื่อเรียกคนชอบธรรม แต่เรามาเพื่อเรียกคนบาป” (มก 2:17) พระองค์ทรงเชิญคนเหล่านี้ให้กลับใจ ถ้าไม่กลับใจก็จะเข้าพระอาณาจักรไม่ได้ แต่ก็ยังทรงแสดงทั้งด้วยพระวาจาและการกระทำให้เขาเหล่านั้นแลเห็นพระกรุณาหาขอบเขตมิได้ของพระบิดาต่อเขาทั้งหลายด้วย และยังตรัสด้วยว่า “จะมีความยินดียิ่งใหญ่ในสวรรค์เพราะคนบาปคนหนึ่งกลับใจ” (ลก 15:7) การพิสูจน์สูงสุดของความรักนี้ก็คือการถวายชีวิตของพระองค์เองเป็นบูชา “เพื่ออภัยบาปของมนุษย์ทั้งหลาย” (มธ 26:28)


ลก 15:3-10  ดังผู้เลี้ยงแกะรวบรวมฝูงแกะของเขาที่ได้กระจัดกระจายไป และออกตามหาแกะตัวที่พลัดหลง พระคริสตเจ้าผู้เลี้ยงที่ดีทรงปรารถนาจะเรียกประชากรทั้งปวงของพระองค์ให้รวมเป็นหนึ่งเดียวกัน และให้คนบาปที่ดื้อรั้นได้คืนดีกลับสู่พระศาสนจักรเสียใหม่ ในฐานะผู้สืบตำแหน่งจากบรรดาอัครสาวก ทั้งบิชอป พระสงฆ์และสังฆานุกรผู้ช่วยเหลือบิชอปต่างมีหน้าที่สำคัญในการเป็นผู้เลี้ยงที่ดี อย่างไรก็ตาม คริสตชนทุกคนถูกเรียกให้เป็นผู้เลี้ยงที่ดีต่อสมาชิกในครอบครัวและเพื่อนๆ ด้วย ด้วยการนำพวกเขาเข้าหาองค์พระคริสตเจ้าเสมอ  

  CCC ข้อ 545 อ่านได้จากด้านบนที่ ลก 15:1-10

(จากหนังสือ THE DIDACHE BIBLE with commentaries based on the Catechism of the Catholic Church, Ignatius Bible Edition)