วันพุธ สัปดาห์ที่ 12 เทศกาลธรรมดา
พระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญมัทธิว (มธ 7:15-20)
เวลานั้น พระเยซูเจ้าตรัสว่า “จงระวังประกาศกเทียมซึ่งมาพบท่าน นุ่งห่มเหมือนแกะ แต่ภายในคือสุนัขป่าดุร้าย ท่านจะรู้จักเขาได้จากผลงานของเขา มีใครบ้างเก็บผลองุ่นจากต้นหนาม หรือเก็บผลมะเดื่อเทศจากพงหนาม ในทำนองเดียวกัน ต้นไม้พันธุ์ดีย่อมเกิดผลดี ต้นไม้พันธุ์ไม่ดีย่อมเกิดผลไม่ดี ต้นไม้พันธุ์ดีจะเกิดผลไม่ดีมิได้ และต้นไม้พันธุ์ไม่ดีก็ไม่อาจเกิดผลดีได้ ต้นไม้ทุกต้นที่ไม่เกิดผลดีย่อมถูกโค่นทิ้งในกองไฟ ดังนั้น ท่านจะรู้จักประกาศกเทียมได้จากผลงานของเขา”
มธ 7:15-20 ประกาศกเทียม หมายถึง บรรดาคนที่สอนคำสอนแบบหน้าไหว้หลังหลอกและผิดๆ เป็นเหตุให้ผู้ฟังเกิดความสับสน รวมทั้งบรรดาคริสตชนผู้ทำตนเป็นที่สะดุดและสอนสิ่งที่ขัดแย้งกับความเชื่อก็ถือว่าเป็นประกาศกเทียมด้วยเช่นกัน
การให้ความเคารพนับถือวิญญาณของผู้อื่น – การชักนำให้ผู้อื่นทำบาป
CCC ข้อ 2284 การชักนำให้ผู้อื่นทำบาปเป็นท่าทีหรือวิธีปฏิบัติที่นำผู้อื่นให้ทำผิด ผู้ชักนำให้ผู้อื่นทำบาปก็เป็นผู้ผจญเพื่อนพี่น้องให้ทำผิด การนี้ทำให้คุณธรรมและความถูกต้องได้รับความเสียหาย อาจชักนำเพื่อนพี่น้องให้รับความตายด้านจิตใจได้ การชักนำให้ผู้อื่นทำบาปนับเป็นความผิดหนักถ้าโดยการกระทำหรือการละเว้นดังกล่าวจงใจนำผู้อื่นให้ทำผิดหนัก
CCC ข้อ 2285 การชักนำให้ผู้อื่นทำบาปมีความหนักเป็นพิเศษ ถ้าผู้เป็นเหตุทำให้ผู้อื่นทำบาปนั้นมีอำนาจปกครอง หรือผู้รับการชักนำนั้นไม่อาจทัดทานได้ การกระทำเช่นนี้ชวนให้องค์พระผู้เป็นเจ้าตรัสสาปแช่งว่า “ผู้ใดเป็นเหตุให้คนธรรมดาๆ เหล่านี้ […] ทำบาป ถ้าเขาจะถูกแขวนคอด้วยหินโม่ใหญ่ถ่วงลงใต้ทะเลก็ยังดีกว่าสำหรับเขา” (มธ 18:6) การชักนำให้ผู้อื่นทำบาปเป็นความผิดหนักถ้าเป็นการกระทำของผู้ที่โดยธรรมชาติหรือโดยหน้าที่ต้องเป็นผู้สอนหรือให้การอบรมผู้อื่น พระเยซูเจ้าทรงตำหนิบรรดาธรรมาจารย์และชาวฟาริสี ทรงเปรียบเทียบว่าพวกนี้เป็นเหมือนสุนัขป่าที่ปลอมตัวเป็นลูกแกะ
CCC ข้อ 2286 การชักนำให้ผู้อื่นทำบาปอาจเกิดจากกฎหมายหรือสถาบัน จากธรรมเนียมปฏิบัติหรือความเห็นก็ได้ ดังนี้ผู้ที่ตรากฎหมายหรือกำหนดโครงสร้างทางสังคมที่นำไปสู่ความเสื่อมทรามทางศีลธรรมหรือทำลายวิถีชีวิตด้านศาสนา หรือนำไปสู่ “สภาพสังคมที่ ไม่ว่าจะโดยจงใจหรือไม่ ทำให้วิธีดำเนินชีวิตแบบคริสตชนตามกฎเกณฑ์ของพระเจ้าผู้ประทานพระบัญญัติยากลำบากหรือแทบจะเป็นไปไม่ได้” หลักการเดียวกันนี้ยังใช้ได้กับผู้นำทางธุรกิจที่เปิดโอกาสส่งเสริมการทุจริต กับครูผู้สอนที่ทำให้เด็ก “ท้อแท้หมดกำลังใจ” หรือกับผู้ที่ใช้ความชาญฉลาดเปลี่ยนแปลงความเห็นของสาธารณะให้หันเหออกไปจากคุณค่าทางศีลธรรม
CCC ข้อ 2287 ผู้ที่ใช้อำนาจที่ตนมีโดยเงื่อนไขที่ชักนำให้ผู้อื่นทำผิด ก็มีความผิดฐานชักนำให้ผู้อื่นทำบาป และต้องรับผิดชอบในผลร้ายที่เขาช่วยทำให้เกิดขึ้นทั้งโดยตรงหรือโดยอ้อม “เหตุที่ชักนำให้ทำบาปจะเกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่วิบัติจงเกิดแก่ผู้ที่เป็นเหตุให้บาปเกิดขึ้น” (ลก 17:1)
มธ 7:20 รู้จักเขาได้จากผลงานของเขา : ความเชื่อและพระหรรษทานทำให้เกิดกิจการดี ซึ่งทำให้เกิดความชัดเจนว่าเราได้รับการอวยพรจากพระเจ้า คำพูดนั้นไม่เพียงพอจะเปิดเผยสภาวะแท้จริงของจิตใจมนุษย์ได้ ตรงกันข้าม ความเชื่อที่แสดงออกมาในกิจเมตตาต่างๆ สะท้อนให้เห็นถึงความดีภายในส่วนลึกของบุคคล ส่วนบรรดาผู้ประกาศว่าตนมีความเชื่อแต่ไม่ดำเนินชีวิตตามสารแห่งพระวรสาร คนเหล่านี้ไม่เคยแสดงถึงภาพลักษณ์แท้ของพระคริสตเจ้าเลย ในขณะที่ความรอดพ้นซึ่งมาจากพระหรรษทานของพระเจ้าและกิจการดีต่างๆ นั้นเป็นผลจากการร่วมมือกับพระพรแห่งความเชื่อที่ได้รับแบบได้เปล่าเท่านั้น
พระหรรษทาน
CCC ข้อ 2005 เนื่องจากว่าพระหรรษทานเป็นสิ่งเหนือธรรมชาติจึงไม่อยู่ใต้อำนาจของประสบการณ์ของเรา และเป็นที่รู้จักได้อาศัยความเชื่อเท่านั้น เราจึงไม่อาจใช้ประสาทสัมผัสหรือการทำงานของเรายืนยันหรือสรุปได้ว่าเราได้รับความชอบธรรมหรือรอดพ้นแล้ว ถึงกระนั้น ตามพระวาจาขององค์พระผู้เป็นเจ้าที่ตรัสว่า “ท่านจะรู้จักเขาได้จากผลงานของเขา” (มธ 7:20) การพิจารณาจึงพระพรต่างๆ ของพระเจ้าในชีวิตของเราและของบรรดาผู้ศักดิ์สิทธิ์ก็เป็นประกันให้เรารู้ว่าพระหรรษทานกำลังทำงานอยู่ในตัวเราและผลักดันเราให้มีความเชื่อและมีท่าทีแห่งความยากจนที่วางใจในพระเจ้ามากยิ่งๆ ขึ้นเสมอ ตัวอย่างงดงามของท่าทีเช่นนี้พบได้ในคำตอบของนักบุญโยนแห่งอาร์คต่อคำถามเพื่อจับผิดของผู้พิพากษาของพระศาสนจักรที่ถามว่าเธอรู้ไหมว่าตนอยู่ในสถานะพระหรรษทานของพระเจ้าหรือเปล่า เธอตอบว่า “ถ้าดิฉันไม่อยู่ (ในสถานะพระหรรษทาน) ก็ขอให้พระเจ้าทรงบันดาลให้ดิฉันอยู่ ถ้าดิฉันอยู่ (ในสถานะพระหรรษทาน) ก็ขอพระเจ้าทรงยึดดิฉันมั่นไว้ (ในสถานะนั้น)”
(จากหนังสือ THE DIDACHE BIBLE with commentaries based on the Catechism of the Catholic Church, Ignatius Bible Edition)