วันอังคารที่ 11 เทศกาลธรรมดา
พระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญมัทธิว (มธ 5:43-48)
เวลานั้น พระเยซูเจ้าตรัสว่า “ท่านทั้งหลายได้ยินคำกล่าวว่า จงรักเพื่อนบ้าน จงเกลียดศัตรู แต่เรากล่าวแก่ท่านว่า จงรักศัตรู จงอธิษฐานภาวนาให้ผู้ที่เบียดเบียนท่าน เพื่อท่านจะได้เป็นบุตรของพระบิดาเจ้าสวรรค์ พระองค์โปรดให้ดวงอาทิตย์ของพระองค์ขึ้นเหนือคนดีและคนชั่ว โปรดให้ฝนตกเหนือคนชอบธรรมและคนอธรรม ถ้าท่านรักแต่คนที่รักท่าน ท่านจะได้บำเหน็จรางวัลอะไรเล่า บรรดาคนเก็บภาษีมิได้ทำเช่นนี้ดอกหรือ ถ้าท่านทักทายแต่พี่น้องของท่านเท่านั้น ท่านทำอะไรพิเศษเล่า คนต่างศาสนามิได้ทำเช่นนี้ดอกหรือ ฉะนั้น ท่านจงเป็นคนดีอย่างสมบูรณ์ ดังที่พระบิดาเจ้าสวรรค์ของท่าน ทรงความดีอย่างสมบูรณ์เถิด”
มธ 5:43-45 การติดตามพระคริสตเจ้าเรียกร้องให้รักเหมือนที่พระองค์ทรงรัก ให้อภัยแก่ผู้ทำให้เราเจ็บปวดหรือทำผิดต่อเราไม่ว่าด้วยวิธีใดก็ตาม พระคริสตเจ้าสิ้นพระชนม์เพราะความรักต่อทุกคนแม้ในขณะที่พวกเรายังเป็นคนบาปและเป็นศัตรู (เทียบ รม 5:10) คริสตชนต้องให้อภัยแก่กันและกันตามเงื่อนไขของการคืนดีกับพระเจ้า การให้อภัยทำให้บุคคลผู้นั้นคล้ายคลึงกับภาพลักษณ์ของพระคริสตเจ้า ผู้ทรงรักเราอย่างไม่มีเงื่อนไขและทรงเป็นพยานยืนยันว่าความรักนั้นแข็งแกร่งกว่าบาป เราไม่สามารถทำประสบการณ์ถึงอิสรภาพแท้จริงที่ระบุไว้ในพระวรสารได้ตราบใดที่เรายังตกเป็นทาสของความขุ่นเคืองใจและความเกลียดชังผู้อื่น พระองค์โปรดให้ดวงอาทิตย์เหนือ... คนชั่ว : เราสามารถพึ่งพาพระญาณเอื้ออาทรของพระเจ้าพระบิดาของเราได้สำหรับทุกสิ่งที่เราต้องการ
ความรัก
CCC ข้อ 1825 พระคริสตเจ้าสิ้นพระชนม์เพราะความรักต่อเราขณะที่เรายังเป็น “ศัตรูอยู่” (รม 5:10) องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงขอร้องเราให้รักแม้กระทั่งศัตรูของเราเช่นเดียวกับที่พระองค์ได้ทรงกระทำ ให้เราทำให้ผู้อยู่ห่างไกลจากเราเข้ามาอยู่ใกล้ชิดกับเรา ให้เรารักเด็กเล็กๆ และคนยากจน เหมือนกับที่เรารักพระองค์ด้วย นักบุญเปาโลอัครสาวกบรรยายถึงความรักไว้อย่างไม่มีผู้ใดเทียบได้ “ความรักย่อมอดทน มีใจเอื้อเฟื้อ ไม่อิจฉา ไม่โอ้อวดตนเอง ไม่จองหอง ไม่หยาบคาย ไม่เห็นแก่ตัว ความรักไม่ฉุนเฉียว ไม่จดจำความผิดที่ได้รับ ไม่ยินดีในความชั่ว แต่ร่วมยินดีในความถูกต้อง ความรักให้อภัยทุกอย่าง เชื่อทุกอย่าง หวังทุกอย่าง อดทนทุกอย่าง” (1 คร 13:4-7)
การให้ความสำคัญแก่บุคคลมนุษย์
CCC ข้อ 1933 หน้าที่เดียวกันนี้ยังขยายออกไปถึงผู้ที่คิดหรือทำแตกต่างไปจากเราด้วย คำสอนของพระคริสตเจ้ายังเรียกร้องให้เราให้อภัยแก่ผู้ทำผิดต่อเราด้วย คำสอนนี้ขยายบัญญัติแห่งความรักซึ่งเป็นบัญญัติเฉพาะของกฎหมายใหม่ให้ครอบคลุมถึงบรรดาศัตรูด้วย การช่วยให้รอดพ้นตามเจตนารมณ์ของพระวรสารเข้ากันไม่ได้กับความเกลียดชังศัตรูในฐานะที่เขาเป็นบุคคลหนึ่ง ถึงกระนั้นนี่ก็ไม่ได้หมายถึงความเกลียดชังความชั่วที่เขาทำว่าเป็นศัตรู
พระเยซูเจ้าทรงสอนให้อธิษฐานภาวนา
CCC ข้อ 2608 นับตั้งแต่บทเทศน์บนภูเขา พระเยซูเจ้าทรงเน้นเรื่องการกลับใจ เรื่องการคืนดีกับพี่น้องก่อนจะถวายเครื่องบูชาบนพระแท่นบูชา เรื่องความรักศัตรูและการอธิษฐานภาวนาสำหรับผู้ที่เบียดเบียน เรื่องการอธิษฐานภาวนาต่อพระบิดา “ในห้องส่วนตัว” (มธ 6:6) เรื่องการไม่พูดมาก ไม่พูดซ้ำซาก เรื่องการให้อภัยจากใจจริงในการอธิษฐานภาวนา เรื่องการแสวงหา พระอาณาจักรด้วยใจจริง การกลับใจอย่างเต็มที่เยี่ยงบุตรเช่นนี้นำเราไปพบพระบิดา
“โปรดประทานอาหารประจำวันแก่ข้าพเจ้าทั้งหลายในวันนี้”
CCC ข้อ 2828 “โปรดประทานแก่ข้าพเจ้าทั้งหลาย” วลีที่ไพเราะนี้สะท้อนความไว้วางใจของบุตรที่หวังจะได้รับทุกสิ่งจากพระบิดา “ผู้โปรดให้ดวงอาทิตย์ของพระองค์ขึ้นเหนือคนดีและคนชั่ว โปรดให้ฝนตกเหนือคนชอบธรรมและคนอธรรม” (มธ 5:45) และประทาน “อาหารแก่สิ่งมีชีวิตทั้งหลายในยามต้องการ” (สดด 104:27) พระเยซูเจ้าทรงสอนเราให้วอนขอสิ่งนี้ คำวอนขอนี้ถวายพระเกียรติแด่พระบิดาของเราอย่างแท้จริง เพราะยอมรับว่าพระองค์ทรงความดีเพียงใดเหนือความดีทั้งปวง
CCC ข้อ 2829 “โปรดประทานแก่ข้าพเจ้าทั้งหลาย” ยังเป็นสำนวนของพันธสัญญาอีกด้วย – เราเป็นของพระองค์ และพระองค์ทรงเป็นของเรา เพื่อเรา แต่คำว่า “เรา” (หรือ “ข้าพเจ้าทั้งหลาย”) ยังรับว่าพระองค์ทรงเป็นพระบิดาของมวลมนุษย์ และเราวอนขอเพื่อเขาทุกคน โดยร่วมเป็นหนึ่งเดียวกับความต้องการและความทุกข์ของเขาทั้งหลายด้วย
“เหมือนข้าพเจ้าให้อภัยแก่ผู้อื่น”
CCC ข้อ 2844 การอธิษฐานแบบคริสตชนแผ่ขยายไปถึงการให้อภัยแก่ศัตรู เปลี่ยนรูปของศิษย์ ทำให้มีลักษณะเหมือนพระอาจารย์ การให้อภัยเป็นจุดยอดหนึ่งของการอธิษฐานแบบคริสตชน เรารับผลของการอธิษฐานภาวนาได้ก็เมื่อเรามีความเห็นอกเห็นใจเหมือนกับพระทัยของพระเจ้าเท่านั้น การให้อภัยยังแสดงให้เห็นอีกด้วยว่าในโลกของเรานั้นความรักทรงพลังมากกว่าบาป บรรดามรณสักขีทั้งในอดีตและปัจจุบันเป็นพยานถึงเรื่องนี้ต่อพระเยซูเจ้า การให้อภัยเป็นเงื่อนไขพื้นฐานของการคืนดี ของบุตรพระเจ้ากับพระบิดาของเขาและการคืนดีระหว่างกันของมนุษย์
มธ 5:46-48 พระคริสตเจ้าทรงเชื้อเชิญทุกคนสู่ความครบครันแห่งเมตตารัก “คริสตชนทุกคนไม่ว่าจะอยู่ในสถานะใดหรือทางเดินของชีวิต ก็ได้รับการเรียกให้มีชีวิตที่สมบูรณ์แบบของคริสตชนและเพื่อความสมบูรณ์ของกิจเมตตา” (LG 40) ความหมายของกิจเมตตาหรือความรักนี้คือ การดำเนินชีวิตตามพระบัญญัติของพระคริสตเจ้า รวมถึงการปฏิบัติตามพระวาจา คำแนะนำ และกิจการของพระองค์ด้วย
การดำเนินชีวิตในพระคริสตเจ้า
CCC ข้อ 1693 พระเยซูคริสตเจ้าทรงทำตามที่พระบิดาพอพระทัยเสมอ พระองค์ทรงดำเนินพระชนมชีพสนิทสัมพันธ์กับพระบิดาอย่างสมบูรณ์ที่สุด เช่นเดียวกัน พระองค์จึงทรงเชิญบรรดาศิษย์ของพระองค์ให้ดำเนินชีวิตเฉพาะพระพักตร์พระบิดาเจ้า “ผู้ทรงเห็นในที่เร้นลับ” (มธ 6:6) เพื่อจะได้เป็น “คนดีอย่างสมบูรณ์ ดังที่พระบิดาเจ้าสวรรค์ […] ทรงความดีอย่างสมบูรณ์เถิด” (มธ 5:48)
ธรรมบัญญัติใหม่ หรือกฎแห่งพระวรสาร
CCC ข้อ 1968 กฎแห่งพระวรสารทำให้ธรรมบัญญัติสมบูรณ์ คำเทศน์สอนขององค์พระผู้เป็นเจ้าไม่ได้ลบล้างข้อกำหนดเกี่ยวกับความประพฤติของธรรมบัญญัติดั้งเดิม และไม่ได้ทำให้ข้อกำหนดเหล่านี้ลดค่าลงเลย แต่ทำให้พลังที่ซ่อนเร้นอยู่ของข้อกำหนดเหล่านี้ปรากฏชัดเจนขึ้นและทำให้เกิดข้อเรียกร้องใหม่ๆ จากข้อกำหนดเหล่านี้ เปิดเผยความจริงทั้งหมดเกี่ยวกับพระเจ้าและมนุษย์ของข้อกำหนดเหล่านี้ กฎแห่งพระวรสารไม่เพิ่มข้อกำหนดใหม่ภายนอก และก้าวหน้าเข้าไปปรับปรุงจิตใจซึ่งเป็นรากของการกระทำต่างๆ เมื่อมนุษย์ไม่ยอมรับสิ่งที่มีมลทิน เลือกสิ่งบริสุทธิ์ ที่ก่อให้เกิดความเชื่อ ความหวังและความรัก และคุณธรรมประการอื่นๆ พร้อมกับคุณธรรมเหล่านี้ด้วย พระวรสารจึงนำธรรมบัญญัติให้บรรลุถึงความบริบูรณ์โดยเอาอย่างความดีบริบูรณ์ของพระบิดาเจ้าสวรรค์โดยยกโทษให้ศัตรูและอธิษฐานภาวนาให้ผู้ที่เบียดเบียน ตามแบบฉบับพระทัยกว้างของพระเจ้า
ความศักดิ์สิทธิ์ของคริสตชน
CCC ข้อ 2013 “คริสตชนผู้มีความเชื่อทุกคน ไม่ว่าจะอยู่ในฐานะหรืออาชีพใดๆ ต่างก็ได้รับเรียกให้มาดำเนิน ชีวิตคริสตชนอย่างครบครันและบรรลุถึงความรักที่สมบูรณ์” ทุกคนได้รับเรียกให้บรรลุถึงความศักดิ์สิทธิ์ “ฉะนั้น ท่านจงเป็นคนดีอย่างสมบูรณ์ ดังที่พระบิดาเจ้าสวรรค์ของท่านทรงความดีอย่างสมบูรณ์เถิด” (มธ 5:48) “เพื่อบรรลุถึงความดีอย่างสมบูรณ์นี้ บรรดาผู้มีความเชื่อต้องใช้พลังตามส่วนพระพรของพระคริสตเจ้าที่เขาได้รับ เพื่อว่า […] เมื่อเขาปฏิบัติตามพระประสงค์ของพระบิดาในทุกสิ่ง เขาจะได้สละตนอย่างสุดจิตใจรับใช้เพื่อนพี่น้องด้วย ดังนี้ ความศักดิ์สิทธิ์ของประชากรของพระเจ้าก็จะบังเกิดผลอย่างอุดมบริบูรณ์ ดังที่ได้ปรากฏชัดเจนในประวัติศาสตร์ของพระศาสนจักรผ่านทางการดำเนินชีวิตของบรรดาผู้ศักดิ์สิทธิ์จำนวนมาก”
“เหมือนข้าพเจ้าให้อภัยแก่ผู้อื่น”
CCC ข้อ 2842 คำว่า “เหมือน” นี้ไม่ได้มีเพียงครั้งเดียวในคำสอนของพระเยซูเจ้า “ฉะนั้น ท่านทั้งหลายจงเป็นคนดีอย่างสมบูรณ์ เหมือนกับที่พระบิดาเจ้าสวรรค์ของท่านทรงความดีอย่างสมบูรณ์เถิด” (มธ 5:48) “(ท่าน) จงเป็นผู้เมตตากรุณาดังที่พระบิดาของท่านทรงพระเมตตากรุณาเถิด” (ลก 6:36) “เราให้บทบัญญัติใหม่แก่ท่านทั้งหลาย ให้ท่านรักกัน เรารักท่านทั้งหลายอย่างไร ท่านก็จงรักกันอย่างนั้นเถิด” (ยน 13:34) การปฏิบัติตามพระบัญชาขององค์พระผู้เป็นเจ้าเป็นไปไม่ได้ ถ้าเป็นเพียงการปฏิบัติตามพระแบบฉบับของพระเจ้าเพียงภายนอก แต่นี่เป็นเรื่องการมีส่วนความศักดิ์สิทธิ์ ความเมตตากรุณา และความรักของพระเจ้าอย่างมีชีวิตชีวา “จากส่วนลึกของจิตใจ” มีเพียงพระจิตเจ้า “ที่เราดำเนินชีวิต” (กท 5:25) ตามพระองค์เท่านั้น อาจทำให้ความรู้สึกนึกคิด “ของเรา” เป็นเหมือนกันกับความรู้สึกนึกคิดที่อยู่ในพระคริสต์เยซู เมื่อนั้นแหละ การให้อภัยหนึ่งเดียวกันจึงเป็นไปได้ เมื่อเรา “ให้อภัยกันดังที่พระเจ้าทรงให้อภัยท่านในองค์พระคริสตเจ้า” (อฟ 4:32)
(จากหนังสือ THE DIDACHE BIBLE with commentaries based on the Catechism of the Catholic Church, Ignatius Bible Edition)