“ประตูสู่ความเชื่อ” (Doorway to Faith)
วันที่ 162
โครงสร้างของพิธีบูชาขอบพระคุณ (CCC ข้อ 1348-1355)
‘เราเรียกอาหารนี้ว่าศีลมหาสนิท ไม่มีใครสามารถร่วมในพิธีนี้ได้นอกจากเขาจะเชื่อว่าสิ่งที่เราสอนเป็นความจริง เขาได้รับศีลล้างบาปอาศัยการอภัยบาปและได้เกิดใหม่แล้ว มีการดำเนินชีวิตตามสิ่งที่พระคริสตเจ้าทรงสอน’ (นักบุญจัสติน มรณสักขี)
พิธีบูชาขอบพระคุณมีการประสานให้สอดคล้องกันและจัดลำดับภาคต่างๆ ไว้อย่างดีมาก พระคริสตเจ้าทรงเป็นผู้ตั้งศีลมหาสนิท ส่วนบิชอปและพระสงฆ์ปฏิบัติงานแทนพระคริสตเจ้าผู้ทรงเป็นศีรษะ (in persona Christi capitis) เมื่อทุกคนร่วมกันตอบรับ “อาแมน” แสดงให้เห็นถึงการมีส่วนร่วมพิธี
หัวใจและจุดสำคัญยิ่งของพิธีบูชาขอบพระคุณคือ Anaphora (บทภาวนาขอบพระคุณและเสกศีล) บท Epiclesis (บทอัญเชิญพระจิตเจ้า และภาวนาวอนขอพระอานุภาพการประทานพระพรของพระบิดาเหนือขนมปังและเหล้าองุ่นเพื่อให้กลับกลายเป็นพระกายและพระโลหิตของพระคริสตเจ้า) บท Anamnesis (การระลึกถึงพระทรมาน การกลับคืนพระชนมชีพและการเสด็จกลับมาอย่างรุ่งโรจน์ของพระคริสตเจ้า) และบทภาวนาวิงวอน (Youcat 214)
ข้าแต่องค์พระผู้เป็นเจ้า ข้าพเจ้ากราบขอบคุณและสรรเสริญพระคุณแห่งพระกายและพระโลหิตของพระคริสตเจ้า ผู้ทรงมอบพระองค์เพื่อให้โลกมีชีวิต
.
(Archbishop Bernard Longley, Doorway to Faith: Unlocking the Mystery of Faith. A Journey of Prayer Through the Catechism of the Catholic Church, London , Alive Publishing Ltd., 2014.)
.
โดยแผนกคริสตศาสนธรรมอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ