แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

วันอังคาร สัปดาห์ที่ 7 เทศกาลปัสกา ฉลองพระนางมารีย์เสด็จเยี่ยม 

พระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญลูกา (ลก 1:39-56)                                           

หลังจากนั้นไม่นาน พระนางมารีย์ทรงรีบออกเดินทางไปยังเมืองหนึ่งในแถบภูเขาแคว้นยูเดีย พระนางเสด็จเข้าไปในบ้านของเศคาริยาห์และทรงทักทายนางเอลีซาเบธ เมื่อนางเอลีซาเบธได้ยินคำทักทายของพระนางมารีย์ บุตรในครรภ์ก็ดิ้น นางเอลีซาเบธได้รับพระจิตเจ้าเต็มเปี่ยม ร้องเสียงดังว่า “เธอได้รับพระพรยิ่งกว่าหญิงใดๆ และลูกของเธอก็ได้รับพระพรด้วย ทำไมหนอพระมารดาขององค์พระผู้เป็นเจ้า จึงเสด็จมาเยี่ยมข้าพเจ้า เมื่อฉันได้ยินคำทักทายของเธอ ลูกในครรภ์ของฉันก็ดิ้นด้วยความยินดี เธอเป็นสุขที่เชื่อว่า พระวาจาที่องค์พระผู้เป็นเจ้าตรัสแก่เธอไว้จะเป็นจริง”

พระนางมารีย์ ตรัสว่า “วิญญาณข้าพเจ้าประกาศความยิ่งใหญ่ขององค์พระผู้เป็นเจ้า จิตใจของข้าพเจ้าชื่นชมยินดีในพระเจ้า พระผู้ทรงกอบกู้ข้าพเจ้า เพราะพระองค์ทอดพระเนตรผู้รับใช้ต่ำต้อยของพระองค์ ตั้งแต่นี้ไป ชนทุกสมัยจะกล่าวว่าข้าพเจ้าเป็นสุข พระผู้ทรงสรรพานุภาพทรงกระทำกิจการยิ่งใหญ่สำหรับข้าพเจ้า พระนามของพระองค์ศักดิ์สิทธิ์ พระกรุณาต่อผู้ยำเกรงพระองค์แผ่ไปตลอดทุกยุคทุกสมัย พระองค์ทรงยกพระกรแสดงพระอานุภาพ ทรงขับไล่ผู้มีใจมักใหญ่ใฝ่สูงให้กระจัดกระจายไป ทรงคว่ำผู้ทรงอำนาจจากบัลลังก์ และทรงยกย่องผู้ต่ำต้อยให้สูงขึ้น พระองค์ประทานสิ่งดีทั้งหลายแก่ผู้อดอยาก ทรงส่งเศรษฐีให้กลับไปมือเปล่า พระองค์ทรงช่วยเหลืออิสราเอล ผู้รับใช้พระองค์ โดยทรงระลึกถึงพระกรุณาดังที่ทรงสัญญาไว้แก่บรรพบุรุษของเรา แก่อับราฮัมและบุตรหลานตลอดไป” พระนางมารีย์ประทับอยู่กับนางเอลีซาเบธประมาณสามเดือนจึงเสด็จกลับ


ลก 1:39-56  การพบปะอย่างพิเศษระหว่างพระนางมารีย์กับนางเอลีซาเบธนี้สอนเราเกี่ยวกับพระบุคคลของพระคริสตเจ้าและบทบาทหน้าที่ประกาศกของยอห์น บัปติสต์ ผู้ซึ่งโลดเต้นอยู่ในครรภ์ของนางเอลีซาเบธ นางได้กล่าวกับพระนางมารีย์ว่า พระนางทรงเป็น “มารดาขององค์พระผู้เป็นเจ้า” และได้ยืนยันว่า พระกุมารเยซูคือผู้ทรงกระทำให้ทุกสิ่งที่พระเจ้าได้ทรงสัญญาไว้โดยทางบรรดาประกาศกสำเร็จไปอย่างสมบูรณ์ ด้วยพระบารมีของพระกุมารในครรภ์ของพระนาง ทำให้การพบปะกันของพระนางมารีย์และนางเอลีซาเบธญาติของพระนางเป็นดังจุดสูงสุดของการเสด็จเยี่ยมประชากรของพระเจ้า เราเรียกการทักทายกันของสตรีทั้งสองนี้ว่า การเสด็จเยี่ยม ซึ่งเป็นธรรมล้ำลึกแห่งความปีติยินดีข้อสองของการสวดสายประคำ

พระแม่มารีย์ – “ผู้เป็นสุขที่เชื่อ”

  CCC ข้อ 148 พระนางพรหมจารีมารีย์ทรงทำให้การยอมรับความเชื่อเป็นจริงอย่างสมบูรณ์ที่สุด พระนางมารีย์ทรงรับข่าวสารและพระสัญญาที่ทูตสวรรค์กาเบรียลนำมาแจ้งให้ทราบด้วยความเชื่อ เพราะทรงเชื่อว่า “ไม่มีสิ่งใดที่พระเจ้าจะทรงกระทำไม่ได้” (ลก 1:37) และทรงน้อมรับพระประสงค์ “ข้าพเจ้าเป็นผู้รับใช้ขององค์พระผู้เป็นเจ้า ขอให้เป็นไปกับข้าพเจ้าตามวาจาของท่านเถิด” (ลก 1:38) นางเอลีซาเบธก็ทักทายพระนางด้วยถ้อยคำว่า “เธอเป็นสุขที่เชื่อว่าพระวาจาที่องค์พระผู้เป็นเจ้าตรัสแก่เธอไว้จะเป็นจริง” (ลก 1:45) เพราะความเชื่อนี้เองชนทุกสมัยจะกล่าวว่าพระนางเป็นสุข

ข่าวดี – พระเจ้าทรงส่งพระบุตรของพระองค์

  CCC ข้อ 422 “แต่เมื่อถึงเวลาที่กำหนดไว้ พระเจ้าทรงส่งพระบุตรของพระองค์ให้มาบังเกิดจากหญิงผู้หนึ่งเกิดมาอยู่ใต้ธรรมบัญญัติ เพื่อทรงไถ่ผู้ที่อยู่ใต้ธรรมบัญญัติ และทำให้เราได้เป็นบุตรบุญธรรม” (กท 4:4-5) นี่เป็น “ข่าวดีเรื่องพระเยซูเจ้าเป็นพระคริสต์ พระบุตรของพระเจ้า” พระเจ้าเสด็จเยี่ยมประชากรของพระองค์ ทรงทำให้พระสัญญาที่ทรงทำไว้แก่อับราฮัมและบุตรหลานสำเร็จลง พระเจ้าทรงทำเช่นนี้เหนือความคาดหมายทั้งหลาย คือทรงส่งพระบุตรสุดที่รักของพระองค์

การจัดเตรียมจากพระเจ้า

  CCC ข้อ 523 พระเจ้าทรงส่งนักบุญยอห์นผู้ทำพิธีล้างเป็นผู้นำหน้าคนสุดท้ายขององค์พระผู้เป็นเจ้าเพื่อเตรียมทางให้พระองค์ท่าน ท่านยอห์นในฐานะ “ประกาศกของพระผู้สูงสุด” (ลก 1:76) ยิ่งใหญ่กว่าบรรดาประกาศกทั้งหลาย และเป็นประกาศกคนสุดท้าย เป็นผู้เริ่มประกาศข่าวดี (หรือพระวรสาร) ตั้งแต่จากครรภ์มารดาแล้วท่านต้อนรับการเสด็จมาของพระคริสตเจ้า และมีความยินดีที่ได้เป็นเสมือน “เพื่อนเจ้าบ่าว” (ยน 3:29) ซึ่งได้รับนามว่า “ลูกแกะของพระเจ้า ผู้ทรงลบล้างบาปของโลก” (ยน 1:29) ท่าน “มีจิตใจและพลังของประกาศกเอลียาห์” (ลก 1:17) นำหน้าพระเยซูเจ้า เป็นพยานยืนยันถึงพระองค์โดยการเทศน์สอน โดยประกอบพิธีล้างให้ประชาชนกลับใจ และในที่สุดโดยการเป็นมรณสักขีของท่านด้วย


ลก 1:42  เธอได้รับพระพรยิ่งกว่าหญิงใดๆ และลูกของเธอก็ได้รับพระพรด้วย : ถ้อยคำเหล่านี้ประกอบกันเป็นส่วนที่สองของบทวันทามารีย์ พระนางมารีย์ได้รับพระพรเพราะพระนางได้แสดงความเชื่อออกมาด้วยการมอบตนโดยสิ้นเชิงต่อการเรียกนี้ อาศัยคำตอบ “ตกลง” อันเต็มเปี่ยมด้วยความเชื่อของพระนางนี้เองทำให้พระบุตรของพระเจ้าเสด็จมายังโลกนี้ ในฐานะพระมารดาของพระคริสตเจ้า พระนางจึงทรงเป็นมารดาของผู้ได้รับการไถ่กู้จากพระบุตรของพระนางด้วย คือผู้เป็นสมาชิกของพระศาสนจักรหรือพระกายทิพย์ของพระองค์นั่นเอง พระนางมารีย์ยังทรงเป็นหีบแห่งพันธสัญญาใหม่อีกด้วย หีบแห่งพันธสัญญาเดิมเป็นที่ประทับของพระเจ้าท่ามกลางประชากรของพระองค์บนโลกนี้ฉันใด พระนางมารีย์ทรงรับเอาพระบุตรของพระเจ้าผู้ทรงรับเอากายเป็นมนุษย์ให้มาอยู่ในครรภ์ของพระนางฉันนั้น

  CCC ข้อ 523 อ่านเพิ่มเติมด้านบน (ลก 1:39-56)

  CCC ข้อ 717 “พระเจ้าทรงส่งชายผู้หนึ่งมา เขาชื่อยอห์น” (ยน 1:6) ยอห์น “ได้รับพระจิตเจ้า” เต็มเปี่ยม “ตั้งแต่ยังอยู่ในครรภ์ของมารดา” (ลก 1:15) จากพระคริสตเจ้าที่พระนางพรหมจารีมารีย์เพิ่งทรงปฏิสนธิเดชะพระจิตเจ้า ดังนี้ “การเยี่ยมเยียน” นางเอลีซาเบธของพระนางมารีย์จึงเป็นการที่พระเจ้าทรงเยี่ยมเยียนประชากรของพระองค์

ในความสัมพันธ์กับพระมารดาของพระเจ้า

  CCC ข้อ 2676 แนวความคิดทั้งสองแนวของการอธิษฐานภาวนาต่อพระนางมารีย์นี้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนในบท “วันทามารีย์” 

“วันทามารีย์” (แปลตามตัวอักษรว่า “จงยินดีเถิด มารีย์”) บท “วันทามารีย์” เริ่มด้วยคำทักทายของทูตสวรรค์กาเบรียล พระเจ้าเองทรงทักทายพระนางมารีย์ผ่านทางทูตสวรรค์ของพระองค์ คำภาวนาของเรากล้านำคำทักทายพระนางมารีย์นี้มาใช้อีกครั้งหนึ่งโดยคิดถึงการที่พระเจ้าทรงทอดพระเนตรผู้รับใช้ต่ำต้อยของพระองค์ และชื่นชมยินดีเหมือนกับที่ทรงยินดีในพระนาง 

“เปี่ยมด้วยพระหรรษทาน พระเจ้าสถิตกับท่าน” คำทักทายของทูตสวรรค์ทั้งสองประโยคนี้อธิบายความหมายของกันและกัน พระนางมารีย์ทรงเปี่ยมด้วยพระหรรษทาน เพราะพระเจ้าประทับอยู่กับพระนางพระหรรษทานที่พระนางได้รับอย่างเต็มเปี่ยมก็คือการที่พระองค์ผู้เป็นบ่อเกิดพระหรรษทานทั้งหมดประทับอยู่ด้วย “จงเปล่งเสียงยินดีเถิด […] ธิดาแห่งเยรูซาเล็มเอ๋ย […] องค์พระผู้เป็นเจ้า พระเจ้าของเจ้าทรงอยู่ในเจ้า” (ศฟย 3:14,17) พระนางมารีย์ที่องค์พระผู้เป็นเจ้าเสด็จมาประทับอยู่ด้วย ทรงเป็นธิดาแห่งศิโยน เป็นหีบพันธสัญญา เป็นสถานที่ที่พระสิริรุ่งโรจน์ขององค์พระผู้เป็นเจ้าประทับอยู่ด้วย พระนางทรงเป็น “ที่พำนักของพระเจ้าในหมู่มนุษย์” (วว 21:3) “เปี่ยมด้วยพระหรรษทาน” พระนางทั้งหมดเป็นของพระองค์ผู้เสด็จมาประทับอยู่ในพระนางซึ่งจะประทานพระองค์ให้แก่โลก 

“ผู้ได้รับพระพรกว่าสตรีใดๆ และพระเยซูโอรสของท่าน ทรงได้รับพระพรยิ่งนัก” หลังคำทักทายของทูตสวรรค์ เรานำคำทักทายของนางเอลีซาเบธมาเป็นคำทักทายของเราด้วย นางเอลีซาเบธ “ได้รับพระจิตเจ้าเต็มเปี่ยม” (ลก 1:41) นางเป็นคนแรกในลำดับมนุษย์ทุกยุคทุกสมัยที่จะประกาศว่าพระนางมารีย์ได้รับพระพรเป็นสุข “เธอเป็นสุขที่เชื่อ...” (ลก 1:45) พระนางมารีย์ “ได้รับพระพรกว่าสตรีใดๆ” เพราะได้เชื่อว่าพระวาจาของพระเจ้าจะสำเร็จเป็นจริง เพราะความเชื่อ อับราฮัมจึงเป็นผู้ที่ “บรรดาเผ่าพันธุ์ทั้งสิ้นทั่วแผ่นดินจะได้รับพระพรเพราะท่าน” (ปฐก 12:3) อาศัยความเชื่อ พระนางมารีย์ก็เป็นมารดาของผู้มีความเชื่อทั้งหลายเพราะโดยทางพระนางชนทุกชาติทั่วแผ่นดินได้รับพระองค์ผู้ทรงเป็น พระพรจากพระเจ้า “พระเยซูโอรสของท่านทรงได้รับพระพรยิ่งนัก”


ลก 1:43  พระมารดาขององค์พระผู้เป็นเจ้า : ถ้อยคำของนางเอลีซาเบธนี้บ่งบอกถึงอัตลักษณ์ความเป็นพระเจ้าของพระคริสตเจ้าและความเป็นพระมารดาพระเจ้าของพระนางมารีย์  พระนางทรงเป็นพระมารดาพระเจ้าและเป็นมารดาของเราด้วย เนื่องจากพระนางทรงร่วมงานอย่างใกล้ชิดกับองค์พระบุตร ทำให้ประเพณีที่ดีงามของการสวดสายประคำ ซึ่งประกอบด้วยการไตร่ตรองถึงธรรมล้ำลึกแห่งการบังเกิดของพระคริสตเจ้า พันธกิจสาธารณะ การสิ้นพระชนม์ และการกลับคืนพระชนม์ชีพของพระคริสตเจ้าได้ขยายผลออกไป ธรรมล้ำลึกบางประการเหล่านี้ได้รับการเฉลิมฉลองในพิธีกรรมสมโภชของพระนางมารีย์ รวมถึงสมโภชพระนางมารีย์ผู้ปฏิสนธินิรมล (8 ธันวาคม) สมโภชพระนางมารีย์พระชนนีพระเจ้า (1 มกราคม) สมโภชพระนางมารีย์รับเกียรติเข้าสู่สวรรค์ (15 สิงหาคม) ส่วนบทภาวนาอื่น รวมทั้งบทข้าแต่พระชนนีพระเจ้าและบทราชินีสวรรค์ ต่างเน้นถึงข้อความเชื่อที่ต่างกันเกี่ยวกับชีวิตของพระคริสตเจ้าในความสัมพันธ์กับพระนางมารีย์ 

องค์พระผู้เป็นเจ้า

  CCC ข้อ 448 หลายต่อหลายครั้งในพระวรสาร ประชาชนที่เข้ามาเฝ้าพระเยซูเจ้าทูลเรียกพระองค์ว่า“องค์พระผู้เป็นเจ้า” ตำแหน่งนี้เป็นพยานยืนยันถึงความเคารพและความเชื่อมั่นของผู้ที่เข้ามาเฝ้าพระเยซูเจ้าและขอให้พระองค์ทรงช่วยเหลือและรักษาโรค การทูลเรียกดังกล่าวโดยการดลใจของพระจิตเจ้าแสดงถึงการยอมรับพระธรรมล้ำลึกว่าพระเยซูเจ้าคือองค์พระผู้เป็นเจ้า เมื่อพบพระองค์หลังจากทรงกลับคืนพระชนมชีพแล้ว การทูลเรียกพระนามเช่นนี้เป็นการถวายนมัสการแด่พระองค์ด้วย “องค์พระผู้เป็นเจ้าของข้าพเจ้า และพระเจ้าของข้าพเจ้า” (ยน 20:28) ถ้อยคำเช่นนี้จึงรวมความหมายถึงความรักและความเลื่อมใสที่ปรากฏเป็นอัตลักษณ์ของธรรมประเพณีคริสตชนตลอดมา “เป็นองค์พระผู้เป็นเจ้านี่” (ยน 21:7)

พระนางมารีย์ทรงเป็นพระมารดาของพระเจ้า

  CCC ข้อ 495 พระนางมารีย์ ซึ่งในพระวรสารได้รับพระนามว่า “พระมารดาของพระเยซูเจ้า” (ยน 2:1; 19:25) แม้ก่อนจะประสูติพระบุตร นางเอลีซาเบธก็ได้รับการดลใจจากพระจิตเจ้าประกาศว่าพระนางทรงเป็น “พระมารดาขององค์พระผู้เป็นเจ้า” (ลก 1:43) แล้ว พระองค์ที่พระนางได้ปฏิสนธิเป็นมนุษย์เดชะพระจิตเจ้า และทรงรับสภาพมนุษย์มาเป็นพระบุตรของพระนางนี้ก็มิใช่ผู้ใดอื่นจากพระบุตรนิรันดรของพระบิดา พระบุคคลที่สองของพระตรีเอกภาพ พระศาสนจักรประกาศว่าพระนางมารีย์ทรงเป็นพระมารดาของพระเจ้า (Theotokos) โดยแท้จริง

พระนางทรงเป็นพระมารดาของเราในเรื่องพระหรรษทาน

  CCC ข้อ 967 จากความชิดสนิทกับพระประสงค์ของพระบิดา กับงานกอบกู้ของพระบุตรของพระนาง และกับการดลใจทุกประการของพระจิตเจ้า พระนางพรหมจารีมารีย์ทรงเป็นแบบอย่างของความเชื่อและความรักสำหรับพระศาสนจักร เพราะเหตุนี้ พระนางจึงทรงเป็น “ดังสมาชิกพิเศษที่โดดเด่นของพระศาสนจักร” และยังทรงเป็น “ตัวอย่างกำเนิดรูปแบบ” ของพระศาสนจักรอีกด้วย

  CCC ข้อ 968 แต่ทว่าบทบาทที่พระนางมีต่อพระศาสนจักรและมวลมนุษยชาติยังแผ่กว้างยิ่งขึ้นอีก พระนาง “ได้ทรงร่วมงานของพระผู้ไถ่อย่างพิเศษสุดนี้ด้วยความเชื่อฟังความเชื่อ ความหวังและความรักที่ลุกโชติช่วง เพื่อนำวิญญาณกลับมารับชีวิตนิรันดรอีกครั้งหนึ่ง เพราะเหตุนี้พระนางจึงทรงเป็นพระมารดาของเราในด้านพระหรรษทาน”

  CCC ข้อ 969 “การที่พระนางมารีย์ทรงเป็นพระมารดาของเราในแผนการพระหรรษทานนี้คงอยู่ตลอดไปไม่จบสิ้น นับตั้งแต่ที่พระนางทรงยอมรับแผนการของพระเจ้าด้วยความเชื่อเมื่อทูตสวรรค์มาแจ้งข่าวและยังคงยอมรับอย่างยึดมั่นต่อไปโดยไม่ลังเลพระทัยภายใต้ไม้กางเขน จวบจนถึงวาระที่ผู้รับเลือกสรรทุกคนจะได้รับชีวิตนิรันดร เมื่อพระนางทรงได้รับเกียรติยกสู่สวรรค์แล้วก็มิได้ทรงละบทบาทนี้ แต่ยังทรงวอนขอความต้องการพระหรรษทานต่างๆ สำหรับความรอดพ้นนิรันดรแทนเราต่อไป [...] เพราะเหตุนี้พระนางพรหมจารีจึงทรงได้รับเรียกขานให้ดำรงตำแหน่งต่างๆ ในพระศาสนจักร เช่น ทนายผู้แก้ต่าง ผู้อุปถัมภ์ ผู้ช่วยเหลือคนกลาง”

  CCC ข้อ 970 “บทบาทมารดาของพระนางมารีย์ต่อมนุษย์ไม่ทำให้การเป็นคนกลางเพียงคนเดียวของพระคริสตเจ้านี้เจือจางหรือลดน้อยลงเลย แต่ยิ่งแสดงให้เห็นว่ามีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เพราะอิทธิพลของพระนางพรหมจารีต่อมนุษย์เกี่ยวกับความรอดพ้นนี้ [...] สืบเนื่องมาจากพระทัยดีของพระเจ้าและจากบุญกุศลล้นเหลือของพระคริสตเจ้าอิงอยู่กับการที่พระองค์ทรงเป็นคนกลางของมนุษย์กับพระเจ้าขึ้นอยู่กับการนี้โดยสิ้นเชิง และได้รับประสิทธิผลทั้งหมดมาจากการนี้ด้วย” “ไม่มีสิ่งสร้างใดจะเทียบเท่าพระวจนาตถ์และพระผู้ไถ่กู้ได้ แต่ทว่า เช่นเดียวกับที่บรรดาศาสนบริกรและประชากรผู้มีความเชื่อมีส่วนในสมณภาพของพระคริสตเจ้าได้ด้วยวิธีการที่แตกต่างกัน และเช่นเดียวกับที่พระเจ้าทรงหลั่งความดีของพระองค์ในบรรดาสิ่งสร้างอย่างแท้จริงด้วยวิธีการต่างๆฉันใดความเป็นคนกลางแต่เพียงผู้เดียวของพระผู้ไถ่ก็ไม่ปฏิเสธ แต่กลับส่งเสริมให้บรรดาสิ่งสร้างได้ร่วมงานกันโดยมีส่วนร่วมด้วยวิธีการต่างๆ จากต้นธารหนึ่งเดียวกันนี้”

ความศรัทธาต่อพระนางพรหมจารี

  CCC ข้อ 971 “ชนทุกสมัยจะกล่าวว่าข้าพเจ้าเป็นสุข” (ลก 1:48) “ความเลื่อมใสศรัทธาของพระศาสนจักรต่อพระนางพรหมจารีมารีย์เกี่ยวข้องกับธรรมชาติเองของคารวกิจของคริสตชน” พระนางพรหมจารี “ได้รับความเคารพเป็นพิเศษจากพระศาสนจักร และนับตั้งแต่แรกเริ่มแล้วพระนางทรงได้รับความเคารพในตำแหน่ง ‘มารดาพระเจ้า’ และบรรดาผู้มีความเชื่อต่างพากันหลบมาขอความคุ้มครองของพระนางจากภยันตรายและในความต้องการต่างๆ [...] การแสดงคารวะเช่นนี้ [...] แม้จะเป็นการแสดงคารวะอย่างพิเศษ ก็ยังมีความแตกต่างในสาระสำคัญจากการแสดงคารวะต่อพระเจ้าที่พระศาสนจักรแสดงต่อพระวจนาตถ์ผู้ทรงรับสภาพมนุษย์ ต่อพระบิดา และต่อพระจิตเจ้า ที่การแสดงคารวะต่อพระนางมารีย์นี้ช่วยส่งเสริมอย่างมากด้วย” การแสดงคารวะเช่นนี้แสดงออกในการฉลองตามพิธีกรรมที่ถวายแด่พระมารดาของพระเจ้า และในบทภาวนาแด่พระนางมารีย์ เช่น การสวดสายประคำ ซึ่งเป็นเสมือน “การย่อความพระวรสารทั้งหมด”

พระนางมารีย์ – รูปภาพอันตกาลวิทยาของพระศาสนจักร

  CCC ข้อ 972 หลังจากที่ได้กล่าวถึงต้นกำเนิด พันธกิจ และจุดหมายของพระศาสนจักรแล้ว เราคงไม่อาจกล่าวสรุปอย่างไรได้ดีกว่าหันมาหาพระนางมารีย์เพื่อพิจารณาในพระนางให้เห็นว่า พระศาสนจักรจะเป็นอย่างไรในสวรรค์บ้านแท้เมื่อเดินทางมาถึงสุดปลายแล้ว ที่นั่น พระนางที่พระศาสนจักรให้ความเคารพเป็นพระมารดาขององค์พระผู้เป็นเจ้าและพระมารดาของตนกำลังรอคอยอยู่ “ในความสัมพันธ์ของผู้ศักดิ์สิทธิ์ทุกคน” “เพื่อพระสิริรุ่งโรจน์ของพระตรีเอกภาพศักดิ์สิทธิ์ยิ่งและแบ่งแยกไม่ได้” “ในระหว่างนั้น พระมารดาของพระเยซูเจ้าผู้ทรงรับพระสิริรุ่งโรจน์ในสวรรค์แล้วทั้งกายและวิญญาณทรงเป็นภาพลักษณ์และจุดเริ่มที่พระศาสนจักรจะบรรลุถึงความสมบูรณ์ในโลกหน้าแล้วฉันใด ในโลกนี้พระนางก็ทรงฉายแสงเจิดจ้าเป็นเสมือนเครื่องหมายถึงความหวังแน่นอนและความบรรเทาซึ่งประชากรของพระเจ้าที่กำลังเดินทางในโลกนี้มีอยู่จนกว่าวันขององค์พระผู้เป็นเจ้าจะมาถึงด้วยฉันนั้น”

พันธกิจของพระนางมารีย์

  CCC ข้อ 973 เมื่อพระนางมารีย์กล่าวตอบทูตสวรรค์ที่มาแจ้งข่าวแก่พระนางว่า “ขอให้เป็นไปเถิด” และเห็นด้วยกับพระธรรมล้ำลึกการรับสภาพมนุษย์ของพระวจนาตถ์นั้น พระนางก็ร่วมงานทั้งหมดกับพันธกิจที่พระบุตรจะต้องปฏิบัติให้สำเร็จ พระนางทรงเป็นพระมารดาในทุกแห่งที่องค์พระผู้ไถ่และศีรษะของพระกายทิพย์ประทับอยู่

  CCC ข้อ 974 เมื่อพระนางพรหมจารีมารีย์ทรงผ่านช่วงเวลาพระชนมชีพในโลกนี้แล้วทรงได้รับพระเกียรติยกขึ้นสู่สวรรค์ทั้งกายและวิญญาณ ที่นั่นพระนางทรงร่วมพระสิริรุ่งโรจน์ของการกลับคืนพระชนมชีพของพระบุตรของพระนาง และเป็นประกันล่วงหน้าถึงการกลับคืนชีพของเราทุกคนที่เป็นส่วนประกอบพระกายทิพย์ของพระองค์

  CCC ข้อ 975 “ข้าพเจ้าทั้งหลายเชื่อว่าพระมารดาผู้ศักดิ์สิทธิ์ยิ่งของพระเจ้า นางเอวาคนใหม่ มารดาของพระศาสนจักร บัดนี้ยังคงปฏิบัติภารกิจเยี่ยงมารดาเพื่อส่วนต่างๆ ของพระวรกายของพระคริสตเจ้าต่อไปในสวรรค์”


ลก 1:46-56  ชื่อบทเพลงสรรเสริญของพระนางมารีย์ว่า บทมักญีฟีกัต มาจากคำแรกในภาษาละติน เป็นบทภาวนาทางการของพระศาสนจักรที่บรรจุอยู่ในบทสวดทำวัตรเย็น บทมักญีฟีกัตนี้เป็นทั้งบทเพลงสรรเสริญของพระนางมารีย์พระมารดาพระเจ้าและของประชากรทั้งปวงของพระเจ้าด้วย สำหรับพระหรรษทานและชัยชนะแห่งการไถ่กู้ที่เราได้รับโดยผ่านทางพระคริสตเจ้า โดยสะท้อนมาจากบทเพลงสรรเสริญของนางฮันนาห์ (เทียบ 1 ซมอ 2:1-10) บทมักญีฟีกัตนี้แสดงถึงความชื่นชมยินดี เตือนให้ระลึกถึงความซื่อสัตย์ของพระเจ้าต่อประชากรของพระองค์ อีกทั้งย้ำถึงความสำคัญของคุณธรรมแห่งความสุภาพถ่อมตนและความเมตตา บทภาวนานี้ “สรรเสริญ” พระเจ้าสำหรับสิ่งที่ทรงกระทำต่อพระนางมารีย์ ผู้รับใช้ของพระองค์ที่สุภาพและเปี่ยมด้วยความเชื่อ บทมักญีฟีกัตคือข้อพิสูจน์อันน่ามหัศจรรย์ของพระนางมารีย์ ผู้ทรงเป็นความหวังและผู้เสนอวิงวอนแทนเรา ความศักดิ์สิทธิ์อันยิ่งใหญ่และบทบาทพิเศษของพระนางในพันธกิจการไถ่กู้นำไปสู่การทำนายที่ว่า “ชนทุกสมัยจะกล่าวว่าข้าพเจ้าเป็นสุข” คำทำนายของบทมักญีฟีกัตจะถูกเติมเต็มให้สมบูรณ์ในแต่ละครั้งที่บรรดาคริสตชนถวายเกียรติแด่พระนางด้วยถ้อยคำว่า “ผู้ได้รับพระพรกว่าสตรีใดๆ” ในบทวันทามารีย์ 

การนมัสการพระเจ้า

  CCC ข้อ 2097 นมัสการพระเจ้าหมายถึงการยอมรับด้วยความเคารพและยอมอยู่ใต้อำนาจอย่างที่สุดว่า“สิ่งสร้างเป็นความเปล่า” ที่มีความเป็นอยู่ได้จากพระเจ้าเท่านั้น นมัสการพระเจ้าคือการสรรเสริญพระองค์เช่นเดียวกับที่พระนางมารีย์ทรงกระทำในบท “Magnificat” (“วิญญาณข้าพเจ้าประกาศความยิ่งใหญ่” ) ยกย่องพระองค์และถ่อมตน ประกาศด้วยความกตัญญูรู้คุณว่า พระองค์ทรงกระทำกิจการยิ่งใหญ่ และพระนามของพระองค์ศักดิ์สิทธิ์ การนมัสการพระเจ้าหนึ่งเดียวช่วยมนุษย์ให้เป็นอิสระจากการให้ความสำคัญแก่ตนเท่านั้น จากการเป็นทาสของบาป และจากการนับถือโลกนี้เป็นเทพเจ้า

ดำเนินชีวิตในความจริง

  CCC ข้อ 2465 พันธสัญญาเดิมยืนยันว่า พระเจ้าทรงเป็นบ่อเกิดความจริงทุกประการ พระวาจาของพระองค์เป็นความจริง ธรรมบัญญัติของพระองค์ก็เป็นความจริง “ความซื่อสัตย์ของพระองค์ดำรงอยู่ทุกยุคทุกสมัย” (สดด 119:90) เพราะพระเจ้า “ทรงสัตย์จริง” (รม 3:4) สมาชิกประชากรของพระองค์จึงได้รับเรียกมาให้ดำเนินชีวิตในความจริง

การอธิษฐานภาวนาของพระนางพรหมจารีมารีย์

  CCC ข้อ 2619 เพราะเหตุนี้ บทเพลงของพระนางมารีย์ ที่เรียกว่าบท “Magnificat” ในภาษาละติน บท “Megalynarion” ของจารีตไบแซนไทน์ เป็นบทเพลงขับร้องของพระมารดาของพระเจ้าและของพระศาสนจักรในเวลาเดียวกัน เป็นบทเพลงขับร้องของธิดาแห่งศิโยนและของประชากรใหม่ของพระเจ้า เป็นบทเพลงขับร้องขอบพระคุณสำหรับความสมบูรณ์ของพระหรรษทานที่พระเจ้าประทานในแผนการความรอดพ้น เป็นบทเพลงขับร้อง “ของผู้ยากจน” ผู้มีความหวังเต็มเปี่ยมว่าพระสัญญาที่พระเจ้าทรงทำไว้ “แก่อับราฮัมและบุตรหลานตลอดไป” จะสำเร็จเป็นจริงอย่างสมบูรณ์

เครื่องหมายของการถวายตัวโดยสิ้นเชิง

  CCC ข้อ 2622 การอธิษฐานภาวนาของพระนางพรหมจารีมารีย์ ในการตอบรับต่อทูตสวรรค์ “ขอให้เป็นไปกับข้าพเจ้า” และในบท Magnificat ของพระนาง เป็นเครื่องหมายแสดงถึงการถวายตนโดยสิ้นเชิงด้วยความเชื่อ

ในความสัมพันธ์กับพระมารดาของพระเจ้า

  CCC ข้อ 2675 นับตั้งแต่การร่วมมือเป็นพิเศษเช่นนี้ของพระนางมารีย์กับพระราชกิจของพระจิตเจ้าพระศาสนจักร (ทั้งตะวันออกและตะวันตก) จึงพัฒนาการอธิษฐานภาวนาต่อพระมารดาผู้ศักดิ์สิทธิ์ของพระเจ้า โดยมุ่งการอธิษฐานภาวนาไปยังพระบุคคลของพระคริสตเจ้าตามที่ปรากฏให้เห็นในพระธรรมล้ำลึกของพระองค์เป็นจุดศูนย์กลาง ในบทเพลงสรรเสริญและบทลำนำจำนวนมากที่เราใช้แสดงการอธิษฐานภาวนาออกมานี้ ส่วนใหญ่แล้วจะแสดงความรู้สึกออกมาเป็นสองแนวทางสลับกัน ความรู้สึกทางหนึ่ง “ประกาศความยิ่งใหญ่” ขององค์พระผู้เป็นเจ้าเพราะ “เหตุการณ์ยิ่งใหญ่” ที่ทรงกระทำต่อผู้รับใช้ตํ่าต้อยของพระองค์ และที่ทรงกระทำต่อมวลมนุษย์ผ่านทางพระนาง ส่วนความรู้สึกอีกทางหนึ่งนั้นฝากคำวอนขอและคำสรรเสริญของบรรดาบุตรของพระเจ้าไว้ให้พระมารดาของพระเยซูเจ้า ทรงวอนขอแทน เพราะพระนางทรงรู้จักธรรมชาติมนุษย์ที่พระบุตรของพระเจ้าทรงรวมไว้กับพระองค์ประหนึ่งเป็นเจ้าสาวของพระองค์ในพระนางเป็นอย่างดี

  CCC ข้อ 2676 อ่านเพิ่มเติมด้านบน (ลก 1:42)

  CCC ข้อ 2677 อ่านเพิ่มเติมด้านบน (ลก 1:43)

  CCC ข้อ 2678 ความศรัทธาของคริสตชน พระศาสนจักรตะวันตกในสมัยกลางได้พัฒนาการสวดสายประคำขึ้นเป็นการทดแทนพิธีทำวัตรแบบชาวบ้าน ส่วนในพระศาสนจักรตะวันออก การภาวนาที่มีรูปแบบการตอบรับซํ้าๆ กัน เช่น Akathistos และ Parklesis ยังคงเป็นรูปแบบการอธิษฐานภาวนาคล้ายกับการขับร้องทำวัตรในพระศาสนจักรต่างๆ ของจารีตไบแซนไทน์ ขณะที่ธรรมประเพณีของพระศาสนจักรอาร์เมเนีย ค็อปต์ และซีเรียคชอบบทเพลงสรรเสริญแบบชาวบ้านต่อพระมารดาพระเจ้ามากกว่า แต่บท “วันทามารีย์” บท Theotokia เพลงสรรเสริญของนักบุญเอเฟรมหรือเกรโกรีแห่งนาเร็ก ต่างยังรักษาธรรมประเพณีการอธิษฐานภาวนาที่มีรากฐานเดียวกัน

  CCC ข้อ 2679 พระนางมารีย์เป็นผู้อธิษฐานภาวนาที่สมบูรณ์ เป็นรูปแบบของพระศาสนจักร เมื่อเราอธิษฐานภาวนาต่อพระนาง เราก็ใกล้ชิดกับแผนการของพระบิดาผู้ทรงส่งพระบุตรมาเพื่อช่วยมนุษย์ทุกคนให้รอดพ้น เรารับพระนางมาเป็นมารดาของเรา พระมารดาของพระเยซูเจ้ากลับมาเป็นพระมารดาของทุกคนผู้มีชีวิต เราอาจอธิษฐานภาวนากับพระนางและอธิษฐานภาวนาต่อ พระนางได้ การอธิษฐานภาวนาของพระศาสนจักรคล้ายกับว่าได้รับการอุดหนุนจากการอธิษฐานภาวนาของพระนางมารีย์ การอธิษฐานภาวนาเช่นนี้เป็นความสัมพันธ์กับพระองค์ในความหวัง

คำอธิษฐานภาวนา

  CCC ข้อ 2680 คำอธิษฐานภาวนาย่อมมุ่งหาพระบิดาโดยเฉพาะ บางครั้งอาจมุ่งหาพระเยซูเจ้าได้ด้วย โดยเฉพาะเมื่อมีการเรียกพระนามของพระองค์ “ข้าแต่พระเยซูคริสตเจ้า พระบุตรพระเจ้า ข้าแต่องค์พระผู้เป็นเจ้า โปรดทรงพระกรุณาต่อข้าพเจ้าทั้งหลายผู้เป็นคนบาปเถิด”

  CCC ข้อ 2681 “หากพระจิตเจ้ามิได้ทรงดลใจก็ไม่มีผู้ใดพูดได้ว่า ‘พระเยซูคือองค์พระผู้เป็นเจ้า’” (1 คร 12:3) พระศาสนจักรจึงเชิญชวนเราให้เรียกหาพระจิตเจ้าให้เป็นประหนึ่งพระอาจารย์ภายในผู้สอนการอธิษฐานภาวนาแบบคริสตชน

  CCC ข้อ 2682 พระศาสนจักรยินดีอธิษฐานภาวนาร่วมกับพระนางพรหมจารีเพราะพระนางทรงร่วมงานเป็นพิเศษกับพระจิตเจ้าเพื่อประกาศกิจการยิ่งใหญ่ที่พระเจ้าทรงกระทำในพระนาง และเพื่อฝากคำวอนขอและคำสรรเสริญให้พระนางช่วยทูลถวายแด่พระเจ้าแทนเราด้วย

(จากหนังสือ THE DIDACHE BIBLE with commentaries based on the Catechism of the Catholic Church, Ignatius Bible Edition)