วันพฤหัสบดี สัปดาห์ที่ 4 เทศกาลปัสกา
พระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญยอห์น (ยน 13:16-20)
เวลานั้น เมื่อพระเยซูเจ้าทรงล้างเท้าบรรดาอัครสาวกแล้ว พระองค์ตรัสกับพวกเขาว่า “เราบอกความจริงแก่ท่านทั้งหลายว่า ผู้รับใช้ย่อมไม่เป็นใหญ่กว่านายของตน ผู้ถูกส่งไปย่อมไม่เป็นใหญ่กว่าผู้ที่ส่งเขาไป บัดนี้ ท่านรู้เรื่องนี้แล้ว ถ้าท่านปฏิบัติตาม ท่านย่อมเป็นสุข เราไม่พูดเช่นนี้เพื่อท่านทุกคน เรารู้จักผู้ที่เราเลือกไว้แล้ว แต่พระคัมภีร์จะต้องเป็นความจริง ที่ว่า ‘ผู้ที่กินปังของเรา ได้ยกส้นเท้าใส่เรา’ เราบอกท่านทั้งหลายตั้งแต่บัดนี้ ก่อนที่เรื่องนี้จะเกิดขึ้น เพื่อว่าเมื่อเรื่องนี้เกิดขึ้นแล้ว ท่านจะได้เชื่อว่าเราเป็น เราบอกความจริงกับท่านทั้งหลายว่า ใครรับผู้ที่เราส่งไป ก็รับเรา ใครรับเรา ก็รับพระองค์ผู้ทรงส่งเรามา”
ยน 13:1-20 ตามปกติการล้างเท้าผู้มาเยือนเป็นหน้าที่ของทาสในบ้าน พระคริสตเจ้าทรงต้องการถ่ายทอดบทเรียนนี้แก่บรรดาอัครสาวกของพระองค์คือ การกระทำที่ได้ผลมากที่สุดย่อมมาจากจิตตารมณ์อันลึกซึ้งแห่งการรับใช้อย่างไม่มีขอบเขตจำกัด พระคริสตเจ้าทรงเป็นแบบอย่างของเรา แม้พระองค์ทรงเป็นพระเจ้า แต่ทรงยอมถ่อมพระองค์มารับสภาพมนุษย์เช่นเดียวกับเราเพื่อรับใช้และช่วยเราให้รอดพ้นจากบาป พิธีล้างเท้าเป็นส่วนหนึ่งของพิธีกรรมในวันพฤหัสศักดิ์สิทธิ์
ข่าวดี – พระเจ้าทรงส่งพระบุตรของพระองค์
CCC ข้อ 423 เราเชื่อและประกาศว่าพระเยซูเจ้าจากเมืองนาซาเร็ธ ซึ่งทรงถือกำเนิดเป็นชาวยิวจากธิดาแห่งอิสราเอลที่เมืองเบธเลเฮม ในรัชสมัยของกษัตริย์เฮโรดมหาราชและพระจักรพรรดิซีซาร์ออกัสตัสที่ 1 มีอาชีพเป็นช่างไม้ ได้สิ้นพระชนม์โดยทรงถูกตรึงบนไม้กางเขนที่กรุงเยรูซาเล็ม ขณะที่ปอนติอัสปีลาตเป็นข้าหลวงปกครองในรัชสมัยพระจักรพรรดิทีเบริอัส ทรงเป็นพระบุตรนิรันดรของพระเจ้าผู้ทรงรับธรรมชาติมนุษย์ “พระองค์ทรงมาจากพระเจ้า” (ยน 13:3) “เสด็จลงมาจากสวรรค์” (ยน 3:13; 6:33) มารับสภาพมนุษย์ เพราะ “พระวจนาตถ์ทรงรับสภาพมนุษย์และเสด็จมาประทับอยู่ท่ามกลางเรา เราได้เห็นพระสิริรุ่งโรจน์ของพระองค์ เป็นพระสิริรุ่งโรจน์ที่ทรงรับจากพระบิดาในฐานะพระบุตรเพียงพระองค์เดียว เปี่ยมด้วยพระหรรษทานและความจริง [...] และจากความไพบูลย์ของพระองค์ เราทุกคนได้รับพระหรรษทานต่อเนื่องกัน” (ยน 1:14,16)
อำนาจปกครองของบ้านเมือง
CCC ข้อ 2235 ผู้มีอำนาจปกครองต้องใช้อำนาจนั้นเพื่อรับใช้สังคม “ในหมู่ท่านทั้งหลาย ผู้ที่ปรารถนาจะเป็นใหญ่จะต้องทำตนเป็นผู้รับใช้” (มธ 20:26) การใช้อำนาจปกครองในฐานะที่สืบเนื่องมาจากพระเจ้า ต้องได้รับการควบคุมด้านศีลธรรมโดยธรรมชาติตามเหตุผลและจุดประสงค์เจาะจงของอำนาจนั้นไม่มีใครอาจสั่งหรือกำหนดให้ทำสิ่งที่ขัดกับศักดิ์ศรีของบุคคลและกฎธรรมชาติได้
ยน 13:19-20 พระคริสตเจ้าทรงส่งบรรดาอัครสาวกของพระองค์ออกไปเพื่อกระทำภารกิจในพระนามของพระองค์ โดยการระบุว่าพระองค์ทรงเป็นหนึ่งเดียวกับบรรดาอัครสาวกและสารที่พวกเขาจะเทศน์สอน จะได้เชื่อว่าเราเป็น : เป็นอีกครั้งหนึ่งที่คำว่า “เราเป็น” ทำให้นึกถึงว่าพระคริสตเจ้าทรงยืนยันความเป็นพระเจ้าของพระองค์ในฐานะพระยาห์เวห์ เป็นพระนามที่พระเจ้าทรงเปิดเผยแก่โมเสส (เทียบ อพย 3:14)
“เราเป็นผู้ซึ่งเป็น”
CCC ข้อ 206 เมื่อพระเจ้าทรงเปิดเผยพระนามลึกลับของพระองค์ว่า YHWH ซึ่งแปลว่า “เราเป็นผู้ซึ่งเป็น” หรือ “เราเป็นผู้ซึ่งเราเป็น” หรือยังแปลได้อีกว่า “เราคือเราเป็น” พระองค์ทรงบอกว่าทรงเป็นใครและจะต้องใช้พระนามใดเรียกพระองค์ พระนามนี้ของพระเจ้ามีความลึกลับเหมือนกับที่พระเจ้าทรงเป็นความลึกลับ ยิ่งกว่านั้นพระนามที่ทรงเปิดเผยยังเป็นเหมือนการปฏิเสธไม่ยอมเปิดเผยพระนามอีกด้วย ดังนั้นพระนามนี้จึงแสดงอย่างดีที่สุดว่าทรงเป็นอะไร – คือทรงเป็นอะไรที่อยู่เหนือทุกสิ่งที่เราอาจเข้าใจหรือกล่าวถึงได้ พระองค์ทรงเป็น “พระเจ้าผู้ทรงซ่อนเร้น” (อสย 45:15) พระนามของพระองค์จึงลึกล้ำเกินกว่าที่มนุษย์จะเข้าใจได้ และทรงเป็นพระเจ้าที่ทรงมาอยู่ใกล้ชิดกับมนุษย์
พระเยซูเจ้าและพระวิหาร
CCC ข้อ 858 พระเยซูเจ้าทรงเป็นผู้ที่พระบิดาเจ้าทรงส่งมา นับตั้งแต่เริ่มออกเทศน์สอนประชาชน “พระองค์ทรงเรียกผู้ที่พระองค์ทรงต้องการให้มาพบ [...] พระองค์จึงทรงแต่ตั้งอัครสาวกสิบสองคนให้อยู่กับพระองค์ และเพื่อจะทรงส่งเขาออกไปเทศน์สอน” (มก 3:13-14) ดังนั้น เขาเหล่านี้จึงเป็น “ผู้ที่ถูกส่งไป” ของพระองค์ (คำภาษากรีก “apostoloi” มีความหมายเช่นนี้) พระองค์ทรงปฏิบัติพันธกิจของพระองค์ต่อไปในเขาเหล่านี้ “พระบิดาทรงส่งเรามาฉันใด เราก็ส่งท่านทั้งหลายไปฉันนั้น” (ยน 20:21) ศาสนบริการของเขาเหล่านี้จึงเป็นการสืบต่อพันธกิจของพระองค์ พระองค์ตรัสแก่เขาทั้งสิบสองคนว่า “ผู้ที่ต้อนรับท่านทั้งหลายก็ต้อนรับเรา” (มธ 10:40)
(จากหนังสือ THE DIDACHE BIBLE with commentaries based on the Catechism of the Catholic Church, Ignatius Bible Edition)