“ประตูสู่ความเชื่อ” (Doorway to Faith)
วันที่ 119
การขับร้องและดนตรี (CCC ข้อ 1156-1158)
‘ข้าพเจ้าได้ร่ำไห้อย่างมากเพราะความสะเทือนใจอย่างรุนแรงเมื่อได้ยินเสียงเพลงสรรเสริญและบทขับร้องที่พระศาสนจักรของพระองค์บรรเลงอย่างไพเราะ เสียงเหล่านั้นเข้าไปในหูและความจริงค่อยๆ ซึมซาบเข้าไปในใจข้าพเจ้า แล้วความรู้สึกศรัทธาก็ค่อยๆ อุ่นขึ้น น้ำตาเริ่มไหลออกมาและทำให้ข้าพเจ้ารู้สึกสบายใจขึ้น’ (นักบุญออกัสตินแห่งฮิปโป)
การขับร้องและดนตรีในพิธีกรรมนั้นมีที่มาจากการประกอบพิธีกรรมของชาวอิสราเอลในพันธสัญญาเดิม เรื่องเล่าครั้งแรกที่กล่าวถึงการขับร้องมาจากการตอบรับโดยธรรมชาติของโมเสสและบรรดาทาสที่ได้รับการปลดปล่อยให้เป็นอิสระจากอียิปต์โดยความช่วยเหลือจากพระเจ้าในการข้ามทะเลแดง
พระศาสนจักรได้นำคุณค่าด้านดนตรีนี้มาพัฒนาใช้อย่างต่อเนื่อง การขับร้องและดนตรีทำหน้าที่เป็นเครื่องหมาย และมีความหมายมากยิ่งขึ้นตามบทบาทของดนตรีศาสนาที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับการประกอบพิธีกรรมตามมาตรการสำคัญสามประการ คือ ความงดงามในการแสดงออกซึ่งคำอธิษฐานภาวนา การมีส่วนร่วมในพิธีกรรมอย่างเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของชุมชนภายในเวลาที่กำหนด และความสง่างามของการประกอบพิธีกรรม (YOUCAT 183)
ข้าแต่พระบิดาเจ้า ข้าพเจ้ารู้สึกประทับใจอย่างยิ่งในช่วงเวลานั้นที่ความงดงามของพิธีกรรมได้เข้ามาสัมผัสอารมณ์ของข้าพเจ้า ได้แก่ ท่วงทำนอง บทกวีจากบทเพลงสดุดี ละครพระคริสตสมภพ หรือแม้กระทั่งวัดที่ว่างเปล่าในวันเสาร์ศักดิ์สิทธิ์
.
(Archbishop Bernard Longley, Doorway to Faith: Unlocking the Mystery of Faith. A Journey of Prayer Through the Catechism of the Catholic Church, London , Alive Publishing Ltd., 2014.)
.
โดยแผนกคริสตศาสนธรรมอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ