แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

วันเสาร์ สัปดาห์ที่ 4 เทศกาลมหาพรต

พระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญยอห์น (ยน 7:40-53)                                                                   

เวลานั้น เมื่อประชาชนบางคนได้ยินพระเยซูเจ้าตรัส จึงพูดว่า “คนนี้เป็นประกาศกจริงๆ” บางคนพูดว่า “คนนี้เป็นพระคริสตเจ้า” บางคนพูดว่า “พระคริสตเจ้าจะมาจากแคว้นกาลิลีได้หรือ พระคัมภีร์มิได้กล่าวหรือว่าพระคริสตเจ้าจะต้องมาจากราชวงศ์ของกษัตริย์ดาวิดและจากเมืองเบธเลเฮม เมืองที่กษัตริย์ดาวิดเคยอยู่” ประชาชนจึงมีความคิดเห็นแตกต่างกันเกี่ยวกับพระองค์ บางคนต้องการจับกุมพระองค์ แต่ไม่มีใครลงมือจับกุม

ทหารยามรักษาพระวิหารกลับมาหาบรรดาหัวหน้าสมณะและชาวฟาริสี ซึ่งถามเขาว่า “ทำไมท่านทั้งหลายไม่นำเขามาด้วยเล่า” ทหารยามตอบว่า “ไม่มีคนใดพูดจาเหมือนกับชายผู้นี้เลย” ชาวฟาริสีถามว่า “ท่านทั้งหลายถูกเขาหลอกลวงไปแล้วหรือ มีหัวหน้าหรือชาวฟาริสีคนใดบ้างที่เชื่อเขา แต่ประชาชนเหล่านี้ที่ไม่รู้เรื่องธรรมบัญญัติ ก็ถูกสาปแช่งอยู่แล้ว” ชาวฟาริสีคนหนึ่งชื่อนิโคเดมัส ที่เคยไปหาพระเยซูเจ้าก่อนหน้านั้นกล่าวกับเขาว่า “ธรรมบัญญัติของพวกเราไม่ตัดสินลงโทษผู้ใดโดยที่มิได้ฟังคำให้การของผู้นั้นและไม่รู้ก่อนว่าเขาทำอะไรเสียก่อน” เขาเหล่านั้นจึงตอบว่า “ท่านก็มาจากแคว้นกาลิลีด้วยหรือ จงค้นดูจากพระคัมภีร์เถิด แล้วจะเห็นว่าไม่มีประกาศกคนใดมาจากแคว้นกาลิลีเลย” แล้วทุกคนก็กลับบ้าน


ยน 7:44-53 บรรดาเจ้าหน้าที่ที่ผู้นำชาวยิวส่งไปจับกุมพระคริสตเจ้าต่างกลับมาด้วยความรู้สึกประหลาดใจในคำสอนของพระองค์ นิโคเดมัสซึ่งเป็นชาวฟาริสีและสมาชิกสภาซันเฮดรินเคยเป็นผู้ติดตามพระคริสตเจ้าอย่างลับๆ เขาแสดงถึงความกล้าหาญและความแข็งแกร่งอย่างยิ่ง เมื่อเขาเข้าแทรกแซงพวกฟาริสีและแย้งว่าพระคริสต์สมควรได้รับการพิจารณาคดีอย่างยุติธรรม

พระเยซูเจ้าและอิสราเอล

  CCC ข้อ 574 นับตั้งแต่แรกที่พระเยซูเจ้าทรงเริ่มเทศน์สอนประชาชน ชาวฟาริสีและพรรคพวกของกษัตริย์เฮโรด รวมทั้งบรรดาสมณะและธรรมาจารย์ได้ประชุมปรึกษากันว่าจะกำจัดพระองค์ได้อย่างไร เพราะกิจการบางอย่างที่ทรงกระทำ เช่น การขับไล่ปีศาจ การอภัยบาป การรักษาคนเจ็บป่วยในวันสับบาโต การที่ทรงตีความตามแบบของพระองค์เกี่ยวกับกฎเรื่องการมีมลทินหรือไม่มี การที่ทรงคบค้ากับคนเก็บภาษีเพื่อรัฐบาลโรมและคนบาป บางคนที่มีเจตนาร้ายได้ตั้งข้อสงสัยว่าพระองค์ทรงถูกปีศาจสิง พระองค์ยังทรงถูกกล่าวหาว่าหมิ่นประมาทพระเจ้า และเป็นประกาศกเทียม ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นความผิดทางศาสนาที่ธรรมบัญญัติกำหนดโทษให้ประหารชีวิตโดยใช้ก้อนหินทุ่มให้ตาย

  CCC ข้อ 575  การกระทำและพระวาจาในหลายกรณีจึงเป็น “เครื่องหมายแห่งการต่อต้าน” สำหรับผู้นำทางศาสนาที่กรุงเยรูซาเล็ม ซึ่งพระวรสารของยอห์นเรียกบ่อยๆ ว่า “ชาวยิว” มากกว่าสำหรับสามัญชนประชากรของพระเจ้าโดยทั่วไป โดยแท้จริงแล้ว ความสัมพันธ์ของพระองค์กับชาวฟาริสีมิได้มีแต่ความขัดแย้งกันเสมอไปเท่านั้น ชาวฟาริสีบางคนทูลเตือนพระองค์ถึงอันตรายที่พระองค์กำลังจะต้องเผชิญ พระองค์ทรงกล่าวชมพวกเขาบางคน เช่นธรรมาจารย์ที่ มก 12:34 กล่าวถึง และหลายครั้งทรงรับเชิญไปเสวยพระกระยาหารที่บ้านของชาวฟาริสี พระองค์ทรงยืนยันคำสอนที่กลุ่มศาสนาพิเศษในประชากรของพระเจ้ากลุ่มนี้ยอมรับเป็นคำสอนของตน เช่นคำสอนเรื่องการกลับคืนชีพของผู้ตาย  รูปแบบต่างๆ เพื่อแสดงความเลื่อมใสศรัทธา (การให้ทานการอธิษฐานภาวนาและการจำศีลอดอาหาร) และธรรมเนียมเรียกพระเจ้าเป็นพระบิดาและกำหนดว่าความรักต่อพระเจ้าและเพื่อนมนุษย์เป็นบทบัญญัติสำคัญที่สุด

(จากหนังสือ THE DIDACHE BIBLE with commentaries based on the Catechism of the Catholic Church, Ignatius Bible Edition)