แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

วันอังคาร สัปดาห์ที่ 4 เทศกาลมหาพรต

พระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญยอห์น(ยน 5:1-3ก, 5-16)                                                                                         

เวลานั้น เมื่อถึงวันฉลองวันหนึ่งของชาวยิว พระเยซูเจ้าเสด็จขึ้นไปยังกรุงเยรูซาเล็ม ที่กรุงเยรูซาเล็ม ใกล้กับประตูแกะ มีสระชื่อเป็นภาษาฮีบรูว่าเบเธสดา มีระเบียงล้อมรอบอยู่ห้าด้าน ตามระเบียงเหล่านี้ มีผู้เจ็บป่วยนอนอยู่เป็นจำนวนมาก เช่น คนตาบอด คนง่อย และคนเป็นอัมพาต

ที่นั่น มีชายคนหนึ่งป่วยมาสามสิบแปดปีแล้ว พระเยซูเจ้าทอดพระเนตรเห็นเขานอนอยู่ และทรงทราบว่าเขาป่วยมานาน จึงตรัสกับเขาว่า “ท่านอยากจะหายป่วยไหม” ผู้ป่วยนั้นตอบว่า “ท่านขอรับ ไม่มีใครช่วยจุ่มข้าพเจ้าลงในสระเมื่อน้ำกระเพื่อม พอข้าพเจ้ามาถึง คนอื่นก็ลงไปก่อนแล้ว” พระเยซูเจ้าจึงตรัสกับเขาว่า “จงลุกขึ้น ยกแคร่ที่นอนและเดินไปเถิด” ชายผู้นั้นก็หายเป็นปกติทันที เขายกแคร่ที่นอนและเริ่มเดินไป

วันนั้นเป็นวันสับบาโต ชาวยิวจึงพูดกับชายที่หายป่วยนั้นว่า “วันนี้เป็นวันสับบาโต ท่านแบกแคร่ที่นอนไม่ได้” เขาจึงตอบว่า “คนที่รักษาข้าพเจ้าให้หายป่วยบอกข้าพเจ้าว่า ‘จงยกแคร่ที่นอนและเดินไปเถิด’” เขาเหล่านั้นถามว่า “คนนั้นเป็นใคร คนที่บอกท่านให้ยกแคร่ที่นอนและเดินไป” แต่ชายที่หายป่วยไม่รู้ว่าเป็นใคร เพราะพระเยซูเจ้าเสด็จเข้าไปในหมู่ประชาชนที่อยู่ที่นั่นแล้ว ต่อมา พระเยซูเจ้าทรงพบชายผู้นั้นอีกในพระวิหาร จึงตรัสกับเขาว่า “ท่านหายเป็นปกติแล้ว อย่าทำบาปอีก มิฉะนั้น เหตุร้ายกว่านี้จะเกิดขึ้นแก่ท่าน” ชายผู้นั้นจากไปแล้วบอกชาวยิวว่าพระเยซูเจ้าทรงเป็นผู้รักษาเขาให้หายป่วย ด้วยเหตุนี้ ชาวยิวจึงเริ่มเบียดเบียนพระเยซูเจ้าเพราะพระองค์ทรงกระทำการนี้ในวันสับบาโต


ยน 5:1-18 การรักษาคนเป็นอัมพาตแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าพระคริสตเจ้าทรงมีอำนาจอย่างสมบูรณ์เหนือวันสับบาโตและเหนือความเจ็บป่วยและบาป โดยการรักษาชายคนนั้น พระเยซูเจ้าทรงแสดงให้เห็นว่าพระองค์ทรงกระทำด้วยอำนาจจากพระเจ้า ด้วยเหตุนี้พระองค์จึงทรงใช้อำนาจเดียวกันในการให้อภัยบาปด้วย

พระเยซูเจ้าและพระวิหาร

  CCC ข้อ 583 เช่นเดียวกับบรรดาประกาศกที่มาก่อนหน้าพระองค์ พระเยซูเจ้าทรงแสดงความเคารพอย่างลึกซึ้งต่อพระวิหารที่กรุงเยรูซาเล็ม ที่นั่น โยเซฟและพระนางมารีย์นำพระองค์ไปถวายหลังจากทรงสมภพได้สี่สิบวัน เมื่อทรงพระชนมายุสิบสองพรรษาพระองค์ทรงตัดสินพระทัยค้างอยู่ในพระวิหารเพื่อทรงเตือนบิดามารดาให้ระลึกว่าพระองค์จำเป็นต้องทำธุรกิจของ พระบิดา ทุกปีในช่วงเวลาที่ทรงพระชนมชีพซ่อนเร้น พระองค์เสด็จขึ้นไปที่นั่นอย่างน้อยในเทศกาลปัสกา ช่วงเวลาที่ทรงเทศน์สอนประชาชนดูเหมือนจะถูกกำหนดโดยช่วงเวลาที่เสด็จขึ้นไปกรุงเยรูซาเล็มในโอกาสฉลองสำคัญของชาวยิว

พระเยซูเจ้าและความเชื่อของอิสราเอลในพระเจ้าและพระผู้ไถ่กู้หนึ่งเดียว

  CCC ข้อ 589 พระเยซูเจ้าทรงทำให้ชาวฟาริสีไม่พอใจโดยเฉพาะ เพราะทรงประกาศว่าการที่ทรงแสดงพระทัยเมตตากรุณาต่อคนบาปนั้นเป็นเหมือนกับที่พระเจ้าทรงปฏิบัติต่อพวกเขาด้วย พระองค์ยังตรัสเป็นนัยอีกว่าการที่ทรงร่วมโต๊ะกับพวกคนบาปนั้น เป็นการที่ทรงรับพวกเขาให้ร่วมโต๊ะในยุคพระเมสสิยาห์ แต่โดยเฉพาะเมื่อทรงอภัยบาป พระเยซูเจ้าทรงทำให้ผู้นำทางศาสนาของอิสราเอลจนตรอก เขากล่าวถูกต้องแล้วด้วยความขัดเคืองมิใช่หรือว่า “ใครอภัยบาปได้นอกจากพระเจ้าเท่านั้น” (มก 2:7) ดังนั้น เมื่อพระเยซูเจ้าทรงอภัยบาป ก็หมายความว่าพระองค์กล่าวดูหมิ่นพระเจ้า เป็นมนุษย์ผู้ตั้งตนเสมอเท่าพระเจ้า หรือมิฉะนั้นก็ทรงกล่าวความจริง และพระองค์ก็ทรงเปิดเผยและทำให้พระนามของพระเจ้าเป็นที่รู้จักแก่ทุกคน

พระองค์ทรงเป็นพระเจ้าผู้ทรงช่วยให้รอดพ้น

  CCC ข้อ 594 พระเยซูเจ้าทรงประกอบกิจการหลายอย่างที่แสดงว่าพระองค์ทรงเป็นพระเจ้าผู้ทรงช่วยให้รอดพ้น เช่นการอภัยบาป ชาวยิวบางคนซึ่งไม่ยอมรับว่าพระเจ้าทรงรับสภาพมนุษย์ในพระองค์ จึงคิดว่าพระองค์ทรงเป็นมนุษย์คนหนึ่งที่อ้างว่าตนเป็นพระเจ้า และตัดสินว่าพระองค์ทรงดูหมิ่นพระเจ้า


ยน 5:3 ผู้นิพนธ์พระวรสารท่านอื่นเพิ่มเติมว่า “คอยน้ำกระเพื่อม เพราะว่าบางครั้ง ทูตสวรรค์ขององค์พระผู้เป็นเจ้าลงมาในสระและทำให้น้ำกระเพื่อม ผู้ที่ลงไปในสระเป็นคนแรกหลังจากการกระเพื่อมนี้ ก็จะหายจากโรคทุกชนิดที่เขากำลังเป็นอยู่”


ยน 5:10-13 ชาวฟาริสีเป็นชาวยิวที่ตีความธรรมบัญญัติอย่างเคร่งครัด เหนือสิ่งอื่นใดพวกเขาสอนว่าชาวยิวไม่ได้รับอนุญาตให้ทำงานใด ๆ เลยในวันสับบาโต รวมทั้งการแบกแคร่ด้วยดังที่คนเป็นอัมพาตนี้ได้รับการรักษาตามคำสั่งของพระคริสตเจ้าหรือแม้แต่การรักษาพยาบาลด้วย ยกเว้นเฉพาะคนที่ตกอยู่ในอันตรายถึงแก่ความตายเท่านั้น

พระเยซูเจ้าและอิสราเอล

  CCC ข้อ 575 การกระทำและพระวาจาในหลายกรณีจึงเป็น “เครื่องหมายแห่งการต่อต้าน” สำหรับผู้นำทางศาสนาที่กรุงเยรูซาเล็ม ซึ่งพระวรสารของยอห์นเรียกบ่อยๆ ว่า “ชาวยิว” มากกว่าสำหรับสามัญชนประชากรของพระเจ้าโดยทั่วไป โดยแท้จริงแล้ว ความสัมพันธ์ของพระองค์กับชาวฟาริสีมิได้มีแต่ความขัดแย้งกันเสมอไปเท่านั้น ชาวฟาริสีบางคนทูลเตือนพระองค์ถึงอันตรายที่พระองค์กำลังจะต้องเผชิญ พระองค์ทรงกล่าวชมพวกเขาบางคน เช่นธรรมาจารย์ที่ มก 12:34 กล่าวถึง และหลายครั้งทรงรับเชิญไปเสวยพระกระยาหารที่บ้านของชาวฟาริสี พระองค์ทรงยืนยันคำสอนที่กลุ่มศาสนาพิเศษในประชากรของพระเจ้ากลุ่มนี้ยอมรับเป็นคำสอนของตน เช่นคำสอนเรื่องการกลับคืนชีพของผู้ตาย  รูปแบบต่างๆ เพื่อแสดงความเลื่อมใสศรัทธา (การให้ทานการอธิษฐานภาวนาและการจำศีลอดอาหาร และธรรมเนียมเรียกพระเจ้าเป็นพระบิดาและกำหนดว่าความรักต่อพระเจ้าและเพื่อนมนุษย์เป็นบทบัญญัติสำคัญที่สุด)


ยน 5:14 แม้บาปบางอย่างอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของคน แต่ก็ไม่ได้เป็นสาเหตุที่จำเป็นหรือเป็นสาเหตุเพียงอย่างเดียวของสุขภาพที่ไม่ดีหรือการบาดเจ็บ อันที่จริง พระคริสตเจ้าทรงสอนด้วยวาจาและแบบอย่างว่าการมอบถวายความทุกข์ทรมานของเราร่วมเป็นหนึ่งเดียวกับกางเขนนั่นแหละคือความหมายของความศักดิ์สิทธิ์

ไม่มีภยันตรายใดที่ร้ายแรงกว่าบาป

  CCC ข้อ 1488 จากมุมมองของความเชื่อ ไม่มีภยันตรายใดที่ร้ายแรงกว่าบาป และไม่มีสิ่งใดที่มีผลร้ายมากกว่าสำหรับคนบาป สำหรับพระศาสนจักรและสำหรับทั่วโลก

ผู้ป่วยเฉพาะพระพักตร์พระเจ้า

  CCC ข้อ 1502 ในพันธสัญญาเดิม มนุษย์เมื่อเจ็บป่วยมีชีวิตเฉพาะพระพักตร์พระเจ้า  เขารำพันถึงความเจ็บป่วยของเขาเฉพาะพระพักตร์พระองค์ และวอนขอให้พระองค์ผู้ทรงเป็นนายของชีวิตและความตายช่วยบำบัดรักษาตน ความเจ็บป่วยเป็นหนทางการกลับใจ และพระกรุณาของพระเจ้าก็เริ่มบำบัดรักษา ชาวอิสราเอลรู้สึกว่าความเจ็บป่วยมีความสัมพันธ์กับบาปและความชั่วอย่างลึกลับ และความซื่อสัตย์ต่อพระเจ้าตามธรรมบัญญัตินำชีวิตกลับคืนมา “เราคือพระยาห์เวห์ ผู้รักษาท่านให้หาย” (อพย 15:26) ประกาศกยังเห็นด้วยว่าความทุกข์มีความหมายอาจช่วยผู้อื่นให้พ้นจากบาปได้ด้วย ในที่สุด ประกาศกอิสยาห์ยังประกาศว่าพระเจ้าจะทรงนำช่วงเวลามาให้ศิโยน ซึ่งในเวลานั้นพระองค์จะทรงอภัยความผิดทั้งหมดและจะทรงบำบัดรักษาความเจ็บป่วยทั้งหมดด้วย

พระคริสตเจ้าทรงเป็นเสมือนนายแพทย์

  CCC ข้อ 1505  พระคริสตเจ้าทรงสะเทือนพระทัยเพราะความเจ็บปวดมากมายเช่นนี้ไม่เพียงแต่ทรงอนุญาตให้คนเจ็บป่วยสัมผัสพระองค์ได้ แต่ยังทรงทำให้ความน่าสงสารของเราเป็นของพระองค์ด้วย “พระองค์ทรงรับเอาความอ่อนแอของเราไว้ และทรงแบกความเจ็บป่วยของเรา” (มธ 8:17) พระองค์มิได้ทรงบำบัดรักษาความเจ็บป่วยทั้งหมด การที่ทรงบำบัดรักษาเป็นเครื่องหมายว่าพระอาณาจักรของพระเจ้ามาถึงแล้ว เป็นการแจ้งถึงการบำบัดรักษาที่ลึกซึ้งกว่านั้น คือแจ้งถึงชัยชนะต่อบาปและความตายโดยปัสกาของพระองค์ บนไม้กางเขน พระคริสตเจ้าทรงรับน้ำหนักทั้งหมดของความชั่วมาไว้กับพระองค์ และทรงแบก “บาปของโลก” ไว้ (ยน 1:29) ความเจ็บป่วยเป็นเพียงผลของบาปนี้เท่านั้น อาศัยพระทรมานและการสิ้นพระชนม์บนไม้กางเขน พระคริสตเจ้าประทานความหมายใหม่ให้แก่ความทุกข์ ตั้งแต่นี้ไป ความทุกข์อาจทำให้เราเป็นเหมือนพระองค์และอาจมีส่วนร่วมกับพระทรมานเพื่อไถ่กู้ของพระองค์ด้วย

(จากหนังสือ THE DIDACHE BIBLE with commentaries based on the Catechism of the Catholic Church, Ignatius Bible Edition)