แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

ความหวังของคริสตชนคืออะไร

ความหวังเป็นคุณธรรมเกี่ยวกับพระเจ้าที่ช่วยเราให้ใฝ่หาอาณาจักรสวรรค์และชีวิตนิรันดรเป็นความสุขของเราคือ พระเจ้านั่นเอง (เทียบ คำสอนพระศาสนจักรคาทอลิก ข้อ 1817) ดังนั้น ความหวังแท้จริงจึงไม่เป็นสิ่งของแต่เป็นพระบุคคล ไม่มีพื้นฐานในสิ่งที่อันตรธานซึ่งอาจถูกลิบไปก็ได้ แต่มีพื้นฐานในพระเจ้าผู้ประทานพระองค์เองแก่เราอยู่เสมอ 

ในปี 2007 สมเด็จพระสันตะปาปา เบเนดิกต์ ที่ 16 ทรงเขียนพระสมณสาส์นว่าด้วยเรื่องความหวังของคริสตชน ที่มีชื่อว่า “รอดพ้นด้วยความหวัง” (Spe Salvi) พระองค์ทรงสรุปว่า “ความหวังอันยิ่งใหญ่ซึ่งต้องเป็นความหวังที่อยู่เหนือทุกสิ่งทุกอย่างคือ พระเจ้าผู้เดียวเท่านั้น ผู้ทรงรวมความเป็นจริงทั้งหมดไว้ และทรงเป็นผู้สามารถประทานสิ่งที่ลำพังตัวเราเองไม่อาจบรรลุถึงได้... พระเจ้าทรงเป็นรากฐานของความหวัง มิใช่เทพเจ้าองค์ใดองค์หนึ่ง แต่เป็นพระเจ้าผู้ทรงมีพระพักตร์แบบมนุษย์และทรงรักเราจนถึงที่สุด ทรงรักเราแต่ละคนและทรงรักมนุษยชาติทั้งมวลด้วย” (Spe Salvi , ข้อ 31)

พระสมณสาส์นฉบับนี้เป็นผลงานยอดเยี่ยมที่ซึมซาบธรรมประเพเณีของพระศาสนจักรอย่างลึกซึ้ง มาจากหัวใจของผู้อภิบาลสัตบุรุษและรู้ถึงแรงบันดาลใจรวมทั้งความวิตกกังวลของเขา ขอสรุปความคิดหลักของพระสมณสาส์นฉบับนี้ โดยตอบคำถามง่ายๆ ดังต่อไปนี้

 

ความหวังตอบคำถามอะไรบ้างที่อยู่ในใจของมนุษย์

คำถามพื้นฐานเกี่ยวกับชีวิตที่เกิดขึ้นในใจมนุษย์ทุกคนคือ เราจะดำเนินชีวิตอย่างไร เราสามารถ “เผชิญหน้ากับชีวิตปัจจุบัน” (Spe Salvi, ข้อ 1) ที่หลายครั้งยากลำบากและทุกข์ทรมานได้อย่างไร มีสิ่งใดบ้างที่ยังคงอยู่ในขณะที่ทุกสิ่งทุกอย่างอันตรธานไป อย่างไรก็ตาม มนุษย์ย่อมทะนุถนอมความหวังมากมายตลอดชีวิต เมื่อความหวังบางประการหรือความหวังทั้งหมดสำเร็จลุล่วงไปเขาสังเกตว่าตนยังปรารถนาสิ่งอื่น ๆ อีกเพราะยังไม่พอใจอย่างเต็มเปี่ยม เขาจึง “เห็นชัดเจนว่า สิ่งที่ไม่มีขอบเขตจำกัดเท่านั้นสามารถทำให้เขารู้สึกพึงพอใจ นั่นคือสิ่งที่เป็นมากกว่าสิ่งที่เขาบรรลุถึงได้” (Spe Salvi , ข้อ 30)

 

ความหวังมีลักษณะอย่างไร

ก) ความหวังเป็นเครื่องหมายเด่นชัดของคริสตชน เพราะเห็นแก่ความหวัง “เขามีอนาคต มิใช่เพราะเขารู้รายละเอียดถึงสิ่งที่รอคอยเขาอยู่ แต่รู้โดยรวมๆ ว่า ชีวิตของเขาจะไม่จบสิ้นลงแบบว่างเปล่าแน่ ๆ” (Spe Salvi , ข้อ 2)

ข) ความหวังของคริสตชนมีการรอคอยของพระเจ้านำหน้า “ถูกแล้ว พระองค์ทรงรักเรา และเพราะเหตุนี้ จึงทรงรอคอยให้เรากลับไปหาพระองค์ เปิดใจรับความรัก ยอมให้พระองค์ทรงจับมือ และระลึกว่าเราเป็นบุตรบุญธรรมของพระองค์ การรอคอยนี้ของพระเจ้านำหน้าความหวังของเราอยู่เสมอ เช่นเดียวกับความรักของพระองค์มาถึงเราเป็นอันดับแรกเสมอ” (บทเทศน์ของสมเด็จพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ที่ 16 วันที่ 1 ธันวาคม 2007)

ค) ความหวังของคริสตชนได้ชื่อว่าเป็นคุณธรรมทางเทววิทยา เพราะพระเจ้าทรงเป็นแหล่งที่มา ผู้ค้ำจุนและจุดมุ่งหมายของความหวัง

ง) ความหวังของคริตชนไม่เป็นเพียงการให้ข้อมูลเท่านั้น แต่เรียกร้องการกระทำคือ “ไม่เป็นเพียงการสื่อสารถึงสิ่งที่เราสามารถรู้จักเท่านั้น แต่ยังเป็นการสื่อสารที่ทำให้เกิดสิ่งต่าง ๆ ขึ้น และทำให้ชีวิตเปลี่ยนแปลง” (Spe Salvi , ข้อ 2)

จ) ความหวังแข็งแกร่งยิ่งกว่าความทุกข์ทรมานและเป็นทาส ดังนั้น ความหวังจึงสามารถเปลี่ยนแปลงชีวิตและโลกจากภายในได้” (Spe Salvi , ข้อ 4)

ฉ) ความหวังของคริสตชนโดยสาระสำคัญเป็นความหวังเพื่อผู้อื่นเสมอ เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว จึงจะเป็นความหวังสำหรับข้าพเจ้าด้วยจริงๆ...ในฐานะคริสตชนเราไม่ควรถามตนเองเพียงว่า “ข้าพเจ้าจะเอาตัวรอดได้อย่างไร” แต่เราควรถามด้วยว่า “ข้าพเจ้าสามารถทำอะไรด้บ้างเพื่อคนอื่นได้รับความรอดพ้น” (Spe Salvi , ข้อ 48) ความรอดพ้น “ได้รับการพิจารณาว่าเป็นความจริงส่วนรวม” (Spe Salvi , ข้อ 14) “การมีชีวิตเพื่อพระคริสตเจ้าหมายถึงการยอมเป็นบุคคลเพื่อผู้อื่น” (Spe Salvi , ข้อ 28)

 

อะไรเป็นแหล่งที่มาของความหวัง

ก) ความหวังมาจากการพบปะกับพระเยซูเจ้าผู้ทรงทำให้เรารู้จักพระเจ้า “การรู้จักพระเจ้าเที่ยงแท้หมายถึงการได้รับความหวัง” (Spe Salvi , ข้อ 3) คือค้นพบพระเจ้าในฐานะทรงเป็นพระบิดาผู้พระทัยดีและเมตตากรุณา ทรงเป็นพระเจ้าองค์ความรักที่พระเยซูเจ้าทรงเปิดเผยด้วยการรับธรรมชาติมนุษย์ พระชนมชีพบนแผ่นดิน การเทศน์สอน และโดยเฉพาะอย่างยิ่งการสิ้นพระชนม์และการกลับคืนพระชนมชีพ ความหวังแท้จริงและมั่นคงมีพื้นฐานบนความเชื่อนพระเจ้าผู้ทรงรักและทรงเป็นพระบิดาผู้ทรงพระเมตตากรุณาผู้ “ทรงรักโลกอย่างมากจึงประทานพระบุตรเพียงพระองค์เดียวของพระองค์” (ยน 3:16) ดังนั้น ความหวังของคริสตชนจึงมีความหมายเท่าเทียบกับความเชื่อ เพราะเหตุผล 2 ประการคือ

* “ความเชื่อคือความมั่นใจในสิ่งที่เราหวังไว้ เป็นข้อพิสูจน์ถึงสิ่งที่มองไม่เห็น” (ฮบ 11:1) “ความเชื่อเป็นสารัตถะของความหวัง” (Spe Salvi , ข้อ 10)

* “วิกฤตการณ์ของความเชื่อในยุคปัจจุบัน เหนือสิ่งอื่นใด เป็นวิกฤตการณ์ความหวังของคริตชน” (Spe Salvi , ข้อ 17)

ข) ความหวังมาจากการพบปะกับพระเยซูเจ้าผู้ทรงทำให้เราเป็นคนอิสระอย่างแท้จริง พระคริสตเจ้า “ตรัสกับเราว่า จริงๆแล้ว มนุษย์เป็นผู้ใดและต้องทำอะไรเพื่อเป็นมนุษย์แท้จริง...พระองค์ยังทรงชี้หนทางหลังความจายให้เรารู้” (Spe Salvi , ข้อ 6)

ค) ความหวังมาจากการพบปะกับพระเยซูเจ้าผู้ทรง “ถ่ายทอดสารัตถะของสิ่งที่เป็นในอนาคตแก่เรา ดังนั้น การรอคอยพระเจ้ามีความแน่ใจใหม่ เป็นการรอคอยสิ่งที่จะเป็นไปในอนาคตจากมุมมองของปัจจุบันที่ถูกมอบไว้ให้แล้ว เป็นการรอคอยเฉพาะพระพักตร์พระคริสตเจ้าและพร้อมกับพระคริสตเจ้าผู้ประทับอยู่ ให้พระวรกายของพระองค์สมบูรณ์ เพราะเห็นแก่เราเสด็จมาอย่างรุ่งโรจน์ของพระองค์ครั้งสุดท้าย” (Spe Salvi , ข้อ 9)

ง) ความหวังมาจากการพบปะกับพระเยซูเจ้าผู้มอบชีวิตนิรันดรแก่เรา

 

ชีวิตนิรันดรคืออะไร

“ชีวิตนิรันดรคือการรู้จักพระองค์พระเจ้าแท้จริงแต่พระองค์เดียวและรู้จักผู้ที่พระองค์ทรงส่งมา คือพระเยซูคริสตเจ้า”(ยน 17: 3) “ถ้าเรามีความสัมพันธ์กับพระองค์ผู้ทรงเป็นอมตะ ผู้ทรงเป็นองค์ชีวิตและองค์ความรักแล้ว เราก็อยู่ในชีวิต ดังนั้นเราจึงมีชีวิต” (Spe Salvi , ข้อ 27) และจะมีชีวิตตลอดไป

 

ความหวังของคริสตชนต่อต้านสิ่งใด

ก) ความหวังของคริสตชนต่อต้านอเทวนิยมของศตวรรษที่ 19 – 20 ซึ่งทำให้ “การประท้วงต่อต้านความยุติธรรมต่างๆในโลก” กลับเป็น “การประท้วงต่อต้านพระเจ้า อย่างไรก็ตาม “ถ้าต่อหน้าความทุกข์ทรมานของโลกนี้ การประท้วงต่อต้านพระเจ้าเป็นสิ่งที่เข้าใจได้ คำกล่าวอ้างสิทธิที่ว่ามนุษยชาติสามารถทำและต้องทำสิ่งที่พระเจ้าไม่ทรงสามารถทำและไม่ทรงมีอำนาจในตัวมันเอง มิใช่เป็นเรื่องบังเอิญที่ความคิดแบบนี้ได้นำไปสู่ความโหดร้ายและการละเมิดความยุติธรรมยิ่งใหญ่ที่สุดเพราะความคิดนี้พื้นฐานบนความไม่เป็นจริงในตัวมันเองของการอ้างสิทธินี้” (Spe Salvi , ข้อ 42)

ข) ความหวังของคริสตชนต่อต้านลัทธิมาร์กซิสต์ ซึ่งสอนเรื่องการปกครองแบบเผด็จการของชนชั้นกรรมมาชีพ ลัทธินี้ได้ “ทิ้งร่องรอยความพินาศน่าตระหนกยิ่งไว้เบื้องหลัง” เพราะ “ลืมมนุษย์และลืมอิสรภาพของมนุษย์...มาร์กซ์คิดว่าเมื่อจัดการให้เศรษฐกิจลงตัวแล้ว ทุกสิ่งทุกอย่างก็จะเข้าที่เข้าทางของมันได้เองโดยอัตโนมัติ ความผิดพลาดแท้จริงของเขาคือ เรื่องลัทธิวัตถุนิยมนั่นเอง ที่จริงแล้วมนุษย์ไม่ใช่เป็นเพียงผลผลิตจากเงื่อนไขของเศรษฐกิจและเป็นไปไม่ได้ที่จะช่วยมนุษย์ให้รอดพ้นเพียงจากสิ่งภายนอกเท่านั้น โดยวิธีสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยทางเศรษฐกิจ” (Spe Salvi , ข้อ 20,21)

ค) ความหวังของคริสตชนต่อต้าน “ความเชื่อในความก้าวหน้าเป็นความหวังใหม่ของมนุษย์” (Spe Salvi , ข้อ 20) ซึ่งจินตนาการขึ้นมาเป็นการควบคุมธรรมชาติยิ่งที่ยิ่งมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้มนุษย์หลงเชื่อว่าตนจะได้รับความรอดพ้นจากทางวิทยาศาสตร์ และได้จำกัดความเชื่อแล้วความหวังในขอบเขตส่วนตัวของแต่ละบุคคลมากยิ่งขึ้นเสมอ คริสตชนต้องกำจัด “ความกำกวมของความก้าวหน้า” คือความกำกวมที่มาจากสาเหตุที่ความก้าวหน้า “อาจเปิดโอกาสใหม่ๆ เพื่อทำความดี แต่ในเวลาเดียวกัน ยังเปิดโอกาสให้ทำความชั่วร้ายอย่างน่ากลัวอีกด้วย” (Spe Salvi , ข้อ 22) เขาจำเป็นต้องทำเช่นนี้โดย

มีการเจริญเติบโตของชีวิตภายในเพื่อมนุษย์จะได้ก้าวหน้าในด้านศีลธรรมคือ “ถ้าความก้าวหน้าทางวิทยาการไม่สอดคล้องกับความก้าวหน้าในการอบรมมนุษย์ให้มีศีลธรรม ในการเจริญเติบโตภายในของมนุษย์แล้ว (เทียบ อฟ 3:16 ; 2 คร 4:16) ความก้าวหน้านั้นไม่เป็นความก้าวหน้าเลย แต่กลับเป็นการคุกคามมนุษย์และโลก” (Spe Salvi , ข้อ 22)

มีเหตุผล “ซึ่งเป็นของประทานยิ่งใหญ่ที่พระเจ้าทรงมอบแก่มนุษย์” ต้องเปิดใจรับความเชื่อ เพราะมนุษย์ลืมไม่ได้ว่า “ชัยชนะของเหตุผลเหนือสิ่งที่ไร้เหตุผลก็เป็นจุดมุ่งหมายของความเชื่อคริสตชนอีกด้วย” (Spe Salvi , ข้อ 23)

“วิทยาศาสตร์อาจช่วยได้มากในการทำให้โลกและมนุษย์มีความเป็นมนุษย์ยิ่งขึ้น ถึงกระนั้น วิทยาศาสตร์ก็อาจทำลายมนุษย์และโลกได้ด้วย ถ้าไม่ถูกบังคับทิศทางโดยพลังอำนาจจากภายนอก...ไม่ใช่วิทยาศาสตร์ที่ไถ่กู้มนุษย์ มนุษย์ได้รับการกอบกู้จากความรัก...มนุษย์ต้องการความรักแบบไม่มีเงื่อนไข เขาต้องการความคายหรือชีวิตไม่ว่าทูตศวรรค์หรือผู้มีอำนาจปกครอง ไม่ว่าปัจจุบันหรืออนาคต ไม่ว่าฤทธิ์อำนาจใดหรือความสูง ความลึก ไม่มีสรรพสิ่งใดๆจะพรากเราได้จากความรักของพระเจ้า ซึ่งปรากฏในพระคริสตเยซู องค์พระผู้เป็นเจ้าของเรา” (รม 8:38 – 39) ถ้าความรักสมบูรณ์นี้มีอยู่จริงอย่างแน่นอนแล้ว เวลานั้นเท่านั้นที่มนุษย์จะได้การกอบกู้ ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับเขาในกรณีเฉพาะเจาะจงของตน นี่คือความหมายเมื่อเราพูดว่า พระคริสตเจ้าทรงกอบกู้เรา” (Spe Salvi , ข้อ 24 – 26)

ง) ความหวังของคริสตชนต่อต้านวัตุนิยม “ไม่ใช่องค์ประกอบของจักรวาล ไม่ใช่กฎของสสารที่ปกครองโลกและมนุษย์ไว้เด็ดขาด แต่เป็นพระบุคคลพระเจ้าผู้ทรงปกครองดวงดาวทั้งหลายคือจักรวาลมิใช่กฎของสสารและกฎของวิวัฒนาการมีอำนาจสูงสุด แต่เป็นเหตุผล เจตจำนง และความรักคือพระบุคคล...ชีวิตไม่เป็นเพียงผลของกฎต่างๆ และปัจจัยของสสารเท่านั้น” (Spe Salvi , ข้อ 5)

จ) ความหวังของคริสตชนต่อต้าน “สุญนิยมร่วมสมัยซึ่งบั่นทอนความหวังในใจของมนุษย์ ชวนให้คิดว่า ทั้งในตัวเขาและรอบตัวเขามีแต่ความว่างเปล่า คือไม่มีสิ่งใดเลยก่อนมนุษย์เกิดมาและไม่มีสิ่งใดเลยหลังความตาย จริงอยู่ถ้าไม่มีพระเจ้าความหวังก็จะล้มเหลว ทุกอย่างสูญเสียรูปทรงเหมือนกับว่าเมื่อทุกสิ่งสูญความลึกทุกอย่างก็จะแนบราบ ไม่มีความหมายอีกเลย คงเหลือเพียงความเป็นสสารเท่านั้น” (บทเทศน์ของสมเด็จพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ที่ 16 โอกาสทำวัตรเย็นวันเสาร์ก่อนวันอาทิตย์ที่ 1 เทศกาลเตรียมรับเสด็จพระคริสตเจ้า 1 ธันวาคม 2007)

ฉ) ความหวังของคริสตชนต่อต้านความสิ้นหวังและความวิตกกังวลในปัจจุบันซึ่งสรุปได้ในถ้อยคำที่จารึกไว้บนหินฝังศพโบราณ ในศตวรรษแรกๆ ของคริสต์ศาสนาว่า “ในความว่างเปล่า เราตกไปอยู่ในความว่างเปล่า อย่างรวดเร็วเหลือเกิน” (In nihil ab nihilo quam cito recidimus) (Spe Salvi , ข้อ 2)

ช) ความหวังของคริสตชนต่อต้านรูปแบบหนึ่งของคริสตศาสนาสมัยใหม่ ซึ่ง “จำกัดความสนใจส่วนใหญ่ไว้กับปัจเจกบุคคลและความรอดพ้นของตน” (Spe Salvi , ข้อ 25) ทำให้ “ความหวังทางพระคัมภีร์เกี่ยวกับพระอาณาจักรของพระเจ้าถูกแทนที่โดยความหวังเกี่ยวกับอาณาจักรของมนุษย์ และโดยความหวังเกี่ยวกับโลกที่ดีกว่า ซึ่งจะเป็น “พระอาณาจักรของพระเจ้า” ที่แท้จริงในเรื่องนี้ แม้เราต้องยอมรับว่ารูปแบบนี้ของคริสตศาสนาคงให้การอบรมมนุษย์และดูแลเอาใจใส่ผู้อ่อนแอและผู้ทนทุกข์ทั้งหลายอย่างมาก ก็ยังต้องตั้งคำถามที่ว่า “แล้วเมื่อไหร่จึงจะมีโลกที่ดีกว่านี้เล่า อะไรทำให้โลกนี้ดี มีมาตรการอะไรที่เราใช้ตัดสินว่าโลกนี้ดีอะไรเป็นทางนำไปสู่โลกที่ดี (Spe Salvi , ข้อ 30)

 

ที่มา หนังสือแสงธรรม ปริทัศน์ วรสารราย 4 เดือน ปีที่ 11 ฉบับที่ 1 โดยบาทหลวง ผศ.ดร. ฟรังซิส ไก้ส์, SDB.