แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

0cde7a315d44c0590c506c29d5a4c3c8หลักใหญ่ของศีลธรรม
     1. ทุกคนต้องทำความดีที่พระเจ้าทรงต้องการ ให้ทำอย่างถูกต้องด้วย ปัญหามีอยู่ว่าความดีที่ต้องทำนั้นคืออะไร? เราสามารถรู้ได้อย่างไร? วิธีกระทำอย่างถูกต้องนั้นจะรู้จากไหน? หากว่าเรามีความผิดจะเป็นอย่างไร? ปัญหานี้เรียกว่าปัญหามโนธรรม คือคนหนึ่งต้องรับผิดชอบเกี่ยวกับกิจการของตนที่สามารถรู้ได้ว่าเขาทำผิดหรือบาป และสมควรที่จะรับโทษเฉพาะ ในเมื่อเขารู้อย่างแน่ชัดว่าต้องทำอย่างไรแต่ก็ไม่ยอมทำ หรือทำไม่ถูกต้องหากว่าทำสิ่งผิดพลาดแต่เขาคิดว่าถูก ก็ไม่มีโทษ ในการพิจารณาข้อนี้อย่าคิดว่าไม่รู้เรื่องก็ได้เปรียบกว่า เพราะทำผิดโดยไม่รู้ตัวก็ไม่บาป ความคิดอย่างนี้ก็ไม่ถูก เพราะทุกคนต้องยอมรับว่าเป็นหน้าที่ของตนเองที่จะแสวงหาให้ความรู้จริงตามความสามารถของตน มีกฎธรรมชาติบังคับให้พยายามรู้ว่าสิ่งใดถูก สิ่งใดผิด ดังนั้นมนุษย์ทุกคนต้องหาความรู้ที่เพียงพอเพื่อสามารถทำสิ่งที่ถูก การไม่ต้องการ ไม่ยอมรู้ หรือไม่สนใจจะรู้ เป็นความผิด หากว่าคนหนึ่งทำผิดเพราะไม่รู้ แต่เขาไม่รู้เพราะไม่ได้พยายามตามความสามารถ บาปของเขาคือละเลยหน้าที่ในการที่จะศึกษาเกี่ยวกับสิ่งที่ต้องรู้เพื่อจะประพฤติอย่างถูกต้อง

2. มโนธรรมต้องแนะนำกิจการของมนุษย์ คือ ทุกคนต้องทำตามที่รู้ว่าสิ่งใดถูกสิ่งใดผิด
     3. ทุกคนต้องพยายามมีมโนธรรมที่ถูกต้อง โดยหาความรู้พอสมควรเกี่ยวกับหน้าที่และวิธีกระทำที่เกี่ยวข้องกับตนเอง
     4. ทุกคนจะยอมรับว่าในกรณีที่ไม่สามารถจะรู้ได้อย่างแน่นอนว่าต้องการทำอะไร หรือทำอย่างไรนั้น ควรจะต้องพยายามรู้เพื่อความแน่ใจ ดังนั้นจะสามารถทำสิ่งที่ถูกต้องและทำโดยวิธีที่ถูกต้อง แต่บางครั้งศึกษาหาความรู้แล้วก็ยังสงสัยอยู่ ในกรณีเช่นนี้เลือกได้ระหว่าง 2 อย่างซึ่งอาจจะผิดหรือถูก หากว่าผิดก็ถือว่าผิดโดยไม่รู้ตัวและไม่มีโทษถ้าต้องทำ หากว่าตุลาการหรือผู้พิพากษาเป็นมนุษย์คนหนึ่งพิพากษาและตัดสินให้ถูกต้องเกี่ยวกับคนที่ทำผิดโดยไม่รู้ตัว ยากทีเดียว แต่เราทราบว่าผู้ซึ่งพิพากษามนุษย์นั้นคือพระเจ้าผู้ทรงรู้จักความคิดมนุษย์และเหตุผลทุกอย่าง ดังนั้น พระองค์จึงตัดสินอย่างถูกต้องและยุติธรรมเสมอ
     ทั้ง 4 ข้อที่ได้อธิบายนี้เป็นลักษณะประจำตัวในการปฏิบัติศีลธรรม ต่อไปจะศึกษาเกี่ยวกับกฎที่ต้องแนะนำมโนธรรมของมนุษย์ทุกคน และจะอธิบายว่ากฎนั้นมาจากไหน ใครเป็นผู้พิพากษา
     พระเยซูเจ้าได้สอนว่าทุกสิ่งที่เราทำนั้นต้องทำโดยใจรัก จึงต้องทำเพื่อสนับสนุนสิ่งที่ดีสำหรับตัวของผู้กระทำเองคือการรักตนเอง สำหรับเพื่อนมนุษย์ที่อยู่รอบ ๆ ตัวเขาคือรักเพื่อนมนุษย์และรักสิ่งแวดล้อม ซึ่งจำเป็นสำหรับความดีและความสุขของตัวเองและของผู้อื่น และรักพระเจ้าผู้ประทานชีวิตและสิ่งที่ดีแก่ตัวเองและพี่น้อง โดยความรักต่อพระเจ้านั้นเป็นแหล่งกำเนิดแห่งความรักทุกประการ ดังนั้น พระเยซูเจ้าให้เราเข้าใจว่าหลักใหญ่ของศีลธรรมนั้นก็คือความรักนั้นเอง “ชีวิตมนุษย์เป็นการเดินทาง ทุกคนต้องเลือกทางที่ถูกเพื่อจะไปหาพระเจ้า”

ที่มา: หนังสือความสว่างที่แท้จริง ซึ่งนำไปสู่ความรอด เล่ม 3