ศีลศักดิ์สิทธิ์สำหรับการเริ่มชีวิตคริสตชน
ศีลศักดิ์สิทธิ์สำหรับการเริ่มชีวิตคริสตชนรวบรวมประชากรของพระเจ้าเข้าไว้ในพระกายของพระคริสตเจ้า ให้เป็นชุมชนของผู้ที่มีความเชื่อ ซึ่งก็คือพระศาสนจักร หน้าที่ของศีลศักดิ์สิทธิ์ประการนี้ก็เหมือนศีลศักดิ์สิทธิ์อื่นๆ คือทำให้ผู้ที่พระเป็นเจ้าทรงเลือกสรรไว้เป็นเหมือนพระคริสตเจ้าอย่างแน่นอน ศีลศักดิ์สิทธิ์เหล่านี้ให้ชีวิตของพระเยซูเจ้าและมอบพระพรของพระจิตเจ้าแก่ประชากรของพระเจ้า เพื่อให้พวกเขาสามารถดำเนินภารกิจของพระคริสตเจ้าด้วยถ้อยคำและการกระทำ เพื่อมนุษยชาติที่กำลังโหยหาความหมายและความรัก
ศีลศักดิ์สิทธิ์สำหรับการเริ่มชีวิตคริสตชนคืออะไร?(CCC 1214-1216; 1277)
ศีลล้างบาป ศีลกำลังและศีลมหาสนิท เป็นที่รู้จักในฐานะศีลศักดิ์สิทธิ์สำหรับการเริ่มชีวิตคริสตชน คาทอลิกชาวอเมริกันส่วนใหญ่รับศีลล้างบาปตั้งแต่ยังเป็นเด็กทารก รับศีลมหาสนิทครั้งแรกเมื่อพวกเขาเรียนอยู่ในระดับประถมศึกษา(เกรด 2 หรือ 3) และรับศีลกำลังเมื่อพวกเขาเรียนอยู่ระดับมัธยมศึกษาตอนต้นหรือมัธยมศึกษาตอนปลาย ในยุคแรกของศาสนาคริสต์ผู้กลับใจส่วนใหญ่เป็นผู้ใหญ่ซึ่งจะได้รับศีลศักดิ์สิทธิ์ทั้ง 3 ประการในคราวเดียวกัน หลังจากที่พวกเขาเข้ามามีส่วนในการอบรมเป็นระยะเวลานาน บ่อยครั้งอาจถึง 3 ปี เราเรียกระยะเวลานี้ว่า ช่วงของการเป็นคริสตชนสำรอง(catechumenate) ผู้สมัครเป็นคริสตชนเหล่านี้จะได้เรียนรู้เกี่ยวกับความเชื่อของคริสตชน และได้ฝึกฝนในแนวทางชีวิตของคริสตชนด้วยวิธีการภาวนา การอดอาหาร และการปฏิเสธความต้องการของตนเอง โดยความช่วยเหลือและความเป็นเพื่อนของบรรดาพี่เลี้ยง(sponsors) วิธีการนำผู้ใหญ่เข้าสู่ชุมชนคริสตชนแบบเก่านี้ได้กลับมีชีวิตชีวาในช่วงเวลา 25 ปีสุดท้าย โดยอาศัยพิธีรับผู้ใหญ่เข้าเป็นคริสตชน (Rite of Christian Initiation of Adults – RCIA)
RCIA คืออะไร? (CCC 1247-1249)
RCIA คือกระบวนการหนึ่งที่ช่วยให้ผู้สมัครเรียนคำสอนแต่ละคนได้รับศีลล้างบาปเข้าเป็นสมาชิกของพระศาสนจักรคาทอลิก ประกอบด้วย 4 ช่วงเวลาสำหรับเตรียมผู้สมัครเรียนคำสอนให้พร้อมสำหรับการเริ่มชีวิตคริสตชน โดยมีการเรียนรู้เกี่ยวกับความเชื่อและอาศัยการภาวนาพร้อมกับการแนะนำด้านจิตวิญญาณ ความก้าวหน้าจากช่วงเวลาหนึ่งไปยังช่วงเวลาถัดไปถูกกำหนดโดยพิธีกรรมที่เฉพาะ ซึ่งมีพิธีกรรมพื้นฐาน 3 พิธี และพิธีกรรมเล็กน้อยอีกหลายพิธี
• ระยะที่ 1 : ช่วงเวลาก่อนการเป็นคริสตชนสำรอง(Pre-catechumenate)
กระบวนการพัฒนาสู่การเริ่มต้นชีวิตคริสตชนเริ่มด้วยช่วงเวลาสำหรับการสอบถาม เรียกว่าเป็นช่วงก่อนการเป็นคริสตชนสำรอง ผู้สอบถามแบ่งปันประสบการณ์ชีวิตกับคริสตชนคาทอลิก, ไตร่ตรองเรื่องราวในพระคัมภีร์, ค้นหาความรู้เกี่ยวกับความเชื่อในศาสนาแบบคาทอลิกและความสัมพันธ์ระหว่างความเชื่อในศาสนาแบบคาทอลิกกับคริสตชนนิกายอื่น, และเรียนรู้เกี่ยวกับพระเยซูเจ้า
การผ่านจากช่วงเวลานี้ไปสู่ช่วงเวลาถัดไป ถูกแสดงให้เห็นโดยพิธีต้อนรับผู้สมัครเรียนคำสอน (The Rite of Acceptance) ในพิธีกรรมนี้ ผู้สอบถาม(ผู้สมัครเรียนคำสอน)จะขอให้ชุมชนที่มีความเชื่อคาทอลิกรับเขาเข้าร่วมด้วย แล้วเขาจะได้รับการต้อนรับเข้าสู่พระศาสนจักรด้วยความยินดีในฐานะผู้สมัครเข้าเป็นคริสตชน พวกเขาจะได้ชื่อว่า คริสตชนสำรอง(Catechumen)
• ระยะที่ 2: ช่วงเวลาแห่งการเป็นคริสตชนสำรอง (Catechumenate)
หลังผ่านพิธีต้อนรับผู้สมัครเรียนคำสอนแล้ว คริสตชนสำรองจะเรียนรู้ความเชื่อคริสตชนอย่างลึกซึ้งมากขึ้น (บางครั้งอยู่ภายใต้การแนะนำของพี่เลี้ยง ผู้เป็นแบบอย่างการมีบทบาทดูแลผู้อื่น) คริสตชนสำรองค่อยๆคุ้นเคยกับวิถีชีวิตแบบคริสตชน, ศึกษาพระคัมภีร์, เข้าร่วมวจนพิธีกรรมภาคบทอ่านจากพระคัมภีร์ในมิสซาวันอาทิตย์อย่างครบถ้วน และเริ่มมีบทบาทอย่างกระตือรือร้นในชีวิตของชุมชนวัด
พิธีเลือกสรร(The Rite of Election) เปลี่ยนคริสตชนสำรอง จากช่วงการเป็นคริสตชนสำรองไปสู่ช่วงการเตรียมตัวรับศีลล้างบาป พิธีนี้เริ่มด้วยการส่งออกไปจากพิธีมิสซาในวัดและต่อเนื่องไปยังพิธีในระดับสังฆมณฑลซึ่งตามปกติจัดในอาสนวิหาร พิธีเลือกสรรประกอบด้วยการนำเสนอตัวผู้สมัครเข้าเป็นคริสตชนต่อพระสังฆราชท้องถิ่น และลงทะเบียนชื่อของผู้สมัครลงในสมุดพิเศษเล่มหนึ่ง ขณะนี้พวกเขาจะได้ชื่อว่าเป็น ผู้รับเลือกสรร(The Elect) เพราะพวกเขาได้รับการเลือกจากพระเจ้าและถูกเรียกจากชุมชนคาทอลิกในท้องถิ่นของพวกเขา ให้กลายเป็นสมาชิกของพระศาสนจักรอย่างสมบูรณ์
• ระยะที่ 3 : ช่วงเวลาแห่งการชำระจิตใจให้บริสุทธิ์ (Purification and Enlightenment)
ในช่วงเวลานี้ ผู้รับเลือกสรรถูกเรียกร้องให้เตรียมตัวเองสำหรับพิธีล้างบาป และการรับเข้าสู่ชุมชนคาทอลิกอย่างสมบูรณ์ สิ่งสำคัญที่พวกเขาต้องทำขณะนี้คือการสวดภาวนา การอดอาหารและการฝึกฝนจิตวิญญาณแบบอื่นๆอีก ในช่วงเทศกาลมหาพรต
ในวันอาทิตย์เทศกาลมหาพรต ยังมีพิธีพิเศษเล็กๆ และการภาวนาให้กับผู้รับเลือกสรร การไตร่ตรองบทอ่านประจำวันอาทิตย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากพระวรสารโดยนักบุญยอห์น ช่วยพวกเขาในตัดสินใจเลือกพระเยซูเจ้าและพระอาณาจักรของพระองค์แทนที่จะเลือกหนทางของปีศาจและความมืด ผู้รับเลือกสรรต้องเรียนเกี่ยวกับหลักความเชื่อคริสตชนและบทภาวนาขององค์พระผู้เป็นเจ้า อาทิ บทสรุปพื้นฐานเกี่ยวกับความเชื่อคริสตชนและบทภาวนาต่างๆ ของผู้ที่ติดตามพระคริสต์ ในขณะที่ผู้รับเลือกสรรเตรียมตัวสำหรับการเริ่มต้นชีวิตคริสตชน ชุมชนทั้งหมดก็มุ่งภาวนาและให้ความช่วยเหลือพวกเขา
ศีลศักดิ์สิทธิ์แห่งการเริ่มชีวิตคริสตชนถูกจัดขึ้นระหว่างเทศกาลปัสกา ในคืนวันเสาร์ศักดิ์สิทธิ์ก่อนวันอาทิตย์ปัสกา ผู้รับเลือกสรรจะได้รับศีลล้างบาป ศีลกำลัง และรับศีลมหาสนิทครั้งแรกในฐานะสมาชิกสมบูรณ์แห่งพระกายของพระคริสตเจ้า ศีลล้างบาป(Baptism)ประกอบด้วยบทร่ำวิงวอนนักบุญทั้งหลาย, บทภาวนาเสกน้ำล้างบาป, พิธีล้างบาป, การสวมเสื้อขาว, และการมอบเทียนที่จุดต่อจากเทียนปัสกา ศีลกำลัง(Confirmation)ประกอบด้วยบทอัญเชิญพระจิต, การปกมือเหนือศีรษะ, และการเจิมน้ำมันคริสมาที่หน้าผาก
• ระยะที่ 4 : ช่วงเวลาแห่งการเป็นคริสตชนใหม่
ช่วงเวลาหลายสัปดาห์หรืออาจจะหลายเดือนหลังวันอาทิตย์ปัสกา คริสตชนคาทอลิกใหม่ต้องมาพบปะพูดคุยกันเพื่อไตร่ตรองถึงความหมายของเหตุการณ์สำคัญๆของชีวิตที่ผ่านไปไม่นานนี้ พวกเขาได้รับความช่วยเหลือจากชุมชนผ่านทางการเรียนรู้ที่ลึกซึ้งขึ้นในเรื่องธรรมล้ำลึกแห่งความเชื่อ, เครื่องหมายต่างๆที่แสดงถึงความรักของพระเจ้าภายในชีวิตของพระศาสนจักรและในชีวิตของคริสตชนทุกคน
ศีลล้างบาปคืออะไร? (CCC 1214-1228; 1277)
พระศาสนจักรทำพิธีล้างบาปเพราะพระคริสตเจ้าเองทรงสั่งให้ทำ:“ท่านทั้งหลายจงไปสั่งสอนนานาชาติให้มาเป็นศิษย์ของเรา ทำพิธีล้างบาปให้เขาเดชะพระนามพระบิดา พระบุตรและพระจิต” (มธ28:19)
ศีลล้างบาป(Baptism)คือ เครื่องหมายแสดงความรักของพระเจ้าสำหรับเรา เราเข้าร่วมในพระธรรมล้ำลึกที่ประกอบด้วยการสิ้นพระชนม์และการกลับคืนพระชนมชีพของพระคริสตเจ้าโดยทางศีลล้างบาป พระศาสนจักรเรียกร้องให้เราหยุดทำบาปและยอมรับชีวิตใหม่จากการไถ่ของพระเยซูเจ้า ศีลล้างบาปนำเราเข้าสู่พระกายของพระคริสต์ ศีลล้างบาปอภัยบาปทั้งหมดของเราและเสนอความช่วยเหลือจากชุมชนคริสตชนแก่เรา ขณะที่เราเติบโตเป็นเหมือนพระคริสต์มากขึ้นเรื่อยๆ ด้วยเหตุว่าศีลล้างบาปประทับตราฝ่ายจิตที่คงอยู่ถาวร เราจึงไม่สามารถรับศีลนี้ซ้ำได้
พิธีศีลล้างบาปสำหรับเด็กมีขั้นตอนอย่างไร? (CCC 1229-1231; 1234-1243;1250-1252)
เมื่อบิดามารดานำบุตรของพวกเขามาเพื่อรับศีลล้างบาป พวกเขาสัญญาว่าจะตั้งใจอบรมสั่งสอนบุตรให้ดำเนินชีวิตตามคุณค่าในพระวรสาร พ่อแม่ทูนหัวและบุคคลที่อยู่ในชุมชนวัดสัญญาว่าจะให้การสนับสนุนบิดามารดาให้สามารถทำตามคำสัญญาของพวกเขา พิธีล้างบาปควรจัดอย่างเหมาะสมในพิธีกรรมวันอาทิตย์ และควรจัดในที่ประชุมของคริสตชนเสมอ
พิธีกรรมเริ่มต้นด้วยการทักทายจากพระสงฆ์ประธานในพิธี จากนั้นก็จะต้อนรับเด็กด้วยการทำเครื่องหมายกางเขนที่หน้าผากของเด็ก แล้วเชิญบิดามารดาและพ่อแม่ทูนหัวให้ทำเช่นเดียวกัน หลังจบวจนพิธีกรรม(liturgy of the Word) พระสงฆ์ก็จะเสกน้ำล้างบาปในกรณีที่ยังไม่ได้เสก แล้วกล่าวเชิญให้บิดามารดา พ่อแม่ทูนหัว และคริสตชนทุกท่านที่ร่วมอยู่ในพิธีร่วมใจกันประกาศยืนยันความเชื่อ ด้วยการรื้อฟื้นคำปฏิญาณแห่งศีลล้างบาป
พระสงฆ์เทน้ำลงบนศีรษะของเด็ก (หรือจุ่มเด็กลงในน้ำ) พร้อมกับกล่าวถ้อยคำต่อไปนี้
“ข้าพเจ้าล้างท่าน เดชะพระนามพระบิดา และพระบุตร และพระจิต”
หลังการล้างบาป พระสงฆ์ก็เจิมน้ำมันลงบนหน้าผากของเด็ก สวมเสื้อขาวให้เด็ก และมอบเทียนที่จุดต่อจากเทียนปัสกาให้กับเด็กโดยพ่อแม่หรือพ่อแม่ทูนหัวเป็นผู้รับแทน ทุกคนที่มาชุมนุมร่วมกันสวดบทข้าแต่พระบิดา หลังจากนั้นประธานปิดพิธีด้วยการอวยพรพ่อแม่ของเด็ก แล้วจึงอวยพรทุกคนที่อยู่ ณ ที่นั้น
เครื่องหมายต่างๆ ที่ใช้ในพิธีล้างบาปหมายถึงอะไรบ้าง? (CCC 1231-1243)
• น้ำ การล้างบาป หมายถึง “การตกลงในน้ำหรือการจุ่มลงไปในน้ำ” น้ำเป็นสัญลักษณ์แทนชีวิต, การทำให้บริสุทธิ์และความตาย น้ำล้างบาปหมายความถึงการสิ้นสุดลงของวิถีทางชีวิตอย่างเก่าในโลกนี้ และเริ่มชีวิตใหม่ในวิถีทางใหม่กับพระเยซูคริสต์ผู้เป็นหลักยึดเหนี่ยวและความช่วยเหลือถาวรของคนคนหนึ่ง บาปกำเนิดถูกชำระออกไปและเราก็ได้ชีวิตนิรันดรเป็นมรดกในฐานะบุตรบุญธรรมของพระเจ้า
• น้ำมัน การเจิมด้วยน้ำมันศักดิ์สิทธิ์หรือน้ำมันคริสมาเตือนเราว่าพระคริสตเจ้าได้ไถ่บาปเราและส่งพระจิตเจ้ามาคุ้มครองเราและทำให้เราเข้มแข็ง ความหมายดั้งเดิมของคำว่า คริสต์(Christ) คือ “ผู้รับการเจิม” น้ำมันแห่งศีลล้างบาปเป็นสัญลักษณ์แสดงว่าเรา “ได้รับพิธีล้างบาป”(Christened) เรากลายเป็นผู้ได้รับการเจิมจากผู้รับการเจิมที่สามารถเยียวยาและทำให้แข็งแกร่งได้ เหมือนดังเช่นยาน้ำมันที่ช่วยรักษาบาดแผล
• เสื้อขาว ในพระศาสนจักรสมัยแรกเริ่ม คริสตชนจะใส่เสื้อคลุมสีขาวขณะที่เขาออกจากสระล้างบาป ในปัจจุบัน ผู้ที่จะรับศีลล้างบาปแสดงความตั้งใจที่จะดำเนินชีวิตใหม่เป็นหนึ่งเดียวกับพระเจ้า โดยการสวมใส่เสื้อขาวอันเป็นสัญลักษณ์แสดงความบริสุทธิ์, ความรื่นเริงยินดีและเอกลักษณ์ใหม่
• แสงสว่าง ขั้นตอนที่มีความงดงามในพิธีศีลล้างบาปก็คือ การมอบแสงสว่างของพระคริสตเจ้าแก่ผู้ที่เพิ่งรับศีลล้างบาป ผู้ประกอบพิธีจุดเทียนจากเทียนปัสกาแล้วมอบให้เด็ก โดยปกติพ่อแม่ทูนหัวจะเป็นผู้รับเทียนแทนเด็ก การประกอบพิธีกรรมแบบเรียบง่ายนี้เรียกร้องให้ทุกคนที่อยู่ ณ ที่นั้นเป็นแสงสว่างของพระคริสตเจ้า โดยการดำเนินชีวิตด้วยความรักผู้อื่น จนทำให้คนอื่นสามารถเห็นว่าพระคริสตเจ้าทรงกำลังทำงานอยู่ในโลก
• บทสูตรพระตรีเอกภาพ พระศาสนจักรล้างบาปเราในพระนามของพระตรีเอกภาพผู้ศักดิ์สิทธิ์, พระบิดา, พระบุตร, และพระจิต อันเป็นการแสดงถึงการรับเข้าสู่ครอบครัวของพระเจ้า ในพิธีล้างบาป ผู้ประกอบพิธีถามถึงชื่อของผู้สมัครรับศีลล้างบาป โดยปกติคริสตชนจะเลือกใช้ชื่อของนักบุญองค์ใดองค์หนึ่ง การพึ่งพานักบุญด้วยหวังแรงบันดาลใจและการช่วยเหลือแสดงถึงความเชื่อของเราในเรื่องสหพันธ์นักบุญ(the Communion of Saint)
จะเกิดอะไรขึ้นกับผู้ที่ไม่ได้รับศีลล้างบาป? (CCC 1257- 1261; 1281; 1283)
พระศาสนจักรสอนว่า มีรูปแบบบางอย่างของศีลล้างบาปในพระนามของพระเยซูคริสต์จำเป็นสำหรับการไถ่บาป พระศาสนจักรสอนต่อกันมาว่าศีลล้างบาปมี 3 รูปแบบ ได้แก่ การล้างบาปด้วยน้ำ (โดยทางพิธีกรรม), การล้างบาปด้วยเลือด (ความตายของมรณสักขี) และการล้างบาปด้วยความปรารถนา การล้างบาปด้วยความปรารถนาเกิดขึ้นได้กับบุคคลใดก็ตามที่ยังไม่ได้รับอนุญาตให้รับศีลล้างบาป แต่การดำเนินชีวิตของเขาแสดงให้เห็นว่าเขายอมรับพระเยซูเจ้าทุกครั้งถ้าเขามีโอกาส
บรรดาผู้ที่ตายเพราะความเชื่อ, บรรดาผู้เตรียมเป็นคริสตชนและมนุษย์ทุกคนที่แสวงหาพระเจ้าด้วยความจริงใจภายใต้พระหรรษทานที่ให้แรงบันดาลใจ โดยไม่รู้จักพระศาสนจักร และมีความพยายามที่จะทำตามน้ำพระทัยของพระเจ้า ก็ได้รับความรอดพ้นแม้พวกเขายังไม่ได้รับศีลล้างบาป
-หนังสือคำสอนพระศาสนจักรคาทอลิก, ข้อ 1281
ศีลกำลังคืออะไร? (CCC 1285-1292; 1302-1305; 1316-1318)
ศีลกำลัง(Confirmation)เป็นหนึ่งในศีลศักดิ์สิทธิ์แห่งการเริ่มชีวิตคริสตชน นำไปสู่การเป็นคริสตชนอย่างสมบูรณ์ โดยการรื้อฟื้นคำสัญญาของศีลล้างบาป, การปกมือเหนือศีรษะ, และการเจิมด้วยน้ำมันคริสมา ศีลกำลังมอบพระพรของพระจิตเจ้าให้มาบังเกิดผลในชีวิตของผู้ที่รับศีลศักดิ์สิทธิ์นี้ อีกทั้งยังทำให้ความรับผิดชอบต่อความเชื่อและความเป็นศิษย์พระเยซูคริสต์ของพวกเขามั่นคงและเข้มแข็ง เมื่อผู้ใหญ่หรือเด็กที่มีอายุเหมาะสม (ประมาณ 7 ปี) ได้เข้าเป็นสมาชิกของพระศาสนจักรโดยอาศัยศีลล้างบาป เขาหรือเธอจะได้รับศีลกำลังต่อทันที ดังที่มีกล่าวไว้แล้วในเรื่อง RCIA โดยปกติพิธีศีลล้างบาปและพิธีศีลกำลังจะจัดขึ้นช่วงปัสกา คือในคืนวันเสาร์ศักดิ์สิทธิ์ และอีกวันที่เหมาะสำหรับจัดพิธีศีลกำลังให้กับผู้ใหญ่หรือเด็กโต ได้แก่วันพระจิตเจ้าเสด็จลงมา(Pentecost) แม้วันอื่นๆ ก็สามารถทำได้เช่นกัน ส่วนเด็กเล็กที่รับศีลล้างบาปตั้งแต่ยังเป็นทารก ตามปกติจะรับศีลกำลังหลังจากนั้นหลายปี
พิธีรับศีลกำลังมีขั้นตอนอย่างไร? (CCC 1298-1301; 1320-1321)
เมื่อพิธีศีลกำลังถูกจัดแยกจากพิธีศีลล้างบาปนั้น ปกติจะเป็นช่วงระหว่างพิธีมิสซาที่ถูกจัดขึ้นเป็นพิเศษ เพื่อแสดงให้เห็นว่าพิธีกรรมศีลศักดิ์สิทธิ์แห่งการเริ่มต้นชีวิตคริสตชนต้องมีการจัดลำดับคือ ศีลล้างบาป ศีลกำลัง และศีลมหาสนิท หลังจบภาควจนพิธีกรรมก็จะเป็นการแสดงตัวของผู้สมัครเป็นคริสตชนและการเทศน์หรือการกล่าวนำแบบสั้นๆ แล้วพระสังฆราชผู้เป็นศาสนบริกรปกติของศีลศักดิ์สิทธิ์นี้กับพระสงฆ์ที่เป็นประธานร่วมในพิธี ยื่นมือออกไปเหนือผู้สมัครเข้าเป็นคริสตชนในขณะที่พระสังฆราชอ้อนวอนขอพระพรของพระจิต ในบางสังฆมณฑล พระสังฆราชจะมอบให้พระสงฆ์ทำหน้าที่โปรดศีลกำลังแทนในเขตวัดของตน โดยเฉพาะอย่างยิ่งระหว่างเทศกาลปัสกา
ผู้สมัครแต่ละคนออกมายืนต่อหน้าพระสังฆราช (หรือพระสงฆ์ผู้เป็นประธานในพิธี)ผู้เจิมน้ำมันคริสมาเป็นรูปกางเขนที่หน้าผากของพวกเขา พระสังฆราชจะเอ่ยนามของแต่ละคน โดยกล่าวว่า “...ชื่อนักบุญ/ชื่อ... จงรับเครื่องหมายพระจิตเจ้า ซึ่งพระบิดาประทานให้” จากนั้นมีการอวยพรให้พบสันติสุข และปิดท้ายด้วยบทภาวนาเพื่อมวลชนก่อนเข้าสู่ขั้นตอนปกติของพิธีมิสซา
การเจิมด้วยน้ำมันคริสมา ที่ได้จากการผสมน้ำมันมะกอกกับน้ำหอมซึ่งพระสังฆราชทำพิธีเสกในวันพฤหัสบดีศักดิ์สิทธิ์ เป็นสัญลักษณ์บ่งบอกว่าคุณความดีของผู้รับศีลกำลังใหม่ต้องปรากฏเป็นประจักษ์พยานในโลก น้ำมันอันเป็นสัญลักษณ์ของความเข้มแข็ง ก็เป็นสัญลักษณ์ที่แสดงความศักดิ์สิทธิ์ของผู้ที่พระเจ้าทรงเลือกสรร การเจิมน้ำมันเป็นรูปกางเขนบนหน้าผากเน้นว่าเขาควรมีความคล้ายคลึงกับพระคริสตเจ้า และเป็นพยานยืนยันถึงพระองค์อย่างกล้าหาญเพียงใด
ผลจากศีลกำลังที่สำคัญคืออะไร? (CCC 1302-1305)
1. ศีลกำลังมอบและประทับตราความสมบูรณ์จากพระจิตเจ้า
การถูกประทับตราหรือการถูกเจิมหมายถึง การถูกทำให้มีความแตกต่างอย่างพิเศษออกไป กลายเป็นสิ่งของของบางคนหรือเข้าไปมีบทบาทหน้าที่พิเศษบางอย่าง ในพิธีศีลกำลัง เรากลายเป็นตัวแทนอย่างเป็นทางการของพระคริสตเจ้า, ได้รับมอบอำนาจจากพระจิตเจ้า, และปฏิบัติตามคำสั่งสอนของพระคริสตเจ้าอย่างครบถ้วนยิ่งขึ้น ศีลกำลังประทับตราฝ่ายจิตที่คงอยู่ถาวร ด้วยเหตุนี้เราจึงรับศีลศักดิ์สิทธิ์นี้ได้เพียงครั้งเดียว
2. ศีลกำลังทำให้เราเข้มแข็งในการดำเนินชีวิตคริสตชน
การทำให้มั่นคง(confirm) หมายถึง “การยืนยัน”(ratify) และ “การทำให้เข้มแข็ง”(strengthen) ศีลกำลัง(confermation)ทำให้เรามีทักษะในการดำเนินชีวิตแบบคริสตชนอันเกิดจากศีลล้างบาปสมบูรณ์ และสอนเราให้เข้าใจเอกลักษณ์ของเราในฐานะบุตรของพระเจ้าลึกซึ้งยิ่งขึ้น บ่อยครั้งที่ศีลกำลังถูกจัดขึ้นสำหรับวัยรุ่นที่กำลังจะเป็นผู้ใหญ่ เพราะเหตุนี้จึงสามารถเรียกได้ว่าเป็นศีลศักดิ์สิทธิ์ที่แสดงถึงการเจริญเติบโตเต็มที่ พระเป็นเจ้าทรงเรียกเราทุกคนให้มาเป็นพยานยืนยันถึงพระคริสตเจ้าอย่างกล้าหาญ และศีลกำลังได้ยืนยันการเรียกนี้ พร้อมกับทำให้เราเข้มแข็งในการดำเนินชีวิตแบบพระคริสต์
3. ศีลกำลังทำให้พลังแห่งพระพรทั้งหลายที่ได้รับในศีลล้างบาปเพิ่มมากขึ้น
พระจิตเจ้ามอบพระพรที่ทำให้เราเข้มแข็ง และช่วยเราให้สามารถปฏิบัติภารกิจของพระคริสตเจ้าได้