แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

พระศาสนจักร : ภารกิจและธรรมชาติของพระศาสนจักร
177200705 IFheroประชาคม, การบริการ, และคารวะกิจ บรรยายภารกิจของเราจากพระคริสต์ได้อย่างรวบรัด  นี่คือเหตุผลซึ่งองค์พระผู้เป็นเจ้าทรงประสงค์ให้สมาชิกแห่งพระกายของพระองค์ทุกคนเป็นผู้สื่อสารข่าวดีด้วยการสร้างประชาคมคริสตชน, การบริการคนอื่น, การกระทำด้วยความยุติธรรม, และการถวายบูชาพระเจ้า  อีกวิธีการหนึ่งที่จะมองดูภาระหน้าที่ของเราคือ การมองผ่านบทบาทของพระสงฆ์, ประกาศก และกษัตริย์  พระศาสนจักรในฐานะหมู่มวลประชากรหนึ่งมีหน้าที่ที่จะดำเนินบทบาทของพระสงฆ์, ประกาศก และกษัตริย์  ที่สันนิษฐานกันว่าเกิดขึ้นโดยพระเยซูเอง   คริสตชนแต่ละคนมีส่วนร่วมในบทบาทเหล่านี้ด้วยสถานการณ์ชีวิตที่พิเศษของเขาหรือเธอ

พระศาสนจักรทำหน้าที่ในฐานะประกาศกได้อย่างไร? CCC 904-906; 942
    ประกาศกคนหนึ่งคือ บุคคลที่พูดพระวาจาของพระเจ้า  สมาชิกทั้งมวลของพระศาสนจักรร่วมในพันธกิจประกาศกของพระเยซู เพราะเราได้รับศีลล้างบาป  พระเยซูทรงขอร้องเราให้เป็นพยานถึงความจริงของพระองค์ด้วยวาจาและการกระทำต่างๆ  “ฆราวาสทั้งหลายยังปฏิบัติภารกิจในการเป็นประกาศกของเขาโดยการประกาศข่าวดี”  กล่าวคือเป็นประกาศกถึงพระคริสต์ด้วยวาจาและการเป็นพยานด้วยชีวิต” (CCC, 905)
บทบาทของพระฐานานุกรมของพระศาสนจักรเป็นอย่างไร? CCC 874-882; 936-939
    ความเป็นผู้นำของพระศาสนจักรยังได้รับอำนาจพร้อมด้วยพระพรเพื่อการประกาศพระวาจา  พระเยซูทรงมอบภาระการประกาศพระวาจาที่แท้จริงอย่างซื่อสัตย์ตามที่ปรากฏในพระคัมภีร์และในกระบวนการสืบทอดความเชื่อ
    พระศาสนจักรได้รับการนำทางตลอดหลายศตวรรษจากพระจิต  พระจิตทรงช่วยพระศาสนจักรให้ยอมรับสิ่งที่จำเป็นสำหรับชีวิตคริสตชนอย่างแท้จริงและสืบทอดสิ่งเหล่านั้นต่อไป  พระสันตะปาปา, พระสังฆราชและพระสงฆ์ทั้งหลาย ทำงานศาสนบริการของเปโตรกับบรรดาอัครสาวกผู้ได้รับเลือกจากองค์พระผู้เป็นเจ้าในช่วงที่พระองค์ทรงพระชนม์ เพื่อให้ดำเนินงานของพระองค์บนโลกต่อไปอย่างต่อเนื่อง  ความเป็นผู้นำของพระศาสนจักรช่วยรักษาการสืบทอดความเชื่ออย่างถูกต้องและประกาศพระวรสารที่แท้จริง
    ชาวคาทอลิกเชื่อว่าพระสันตะปาปาทรงเป็นผู้สืบตำแหน่งจากนักบุญเปโตร ในฐานะผู้นำของบรรดาพระสังฆราชซึ่งเป็นผู้สืบตำแหน่งอัครสาวก  พระสันตะปาปาจึงมีความสำคัญเป็นอันดับแรกเหนือพระศาสนจักรทั้งมวล  พระสันตะปาปาและบรรดาพระสังฆราชก่อเกิดเป็นหมู่กลุ่มที่มีเอกลักษณ์หนึ่งเดียว ซึ่งเราเรียกว่าคณะพระสังฆราช(college of bishops)  บรรดาพระสังฆราชเมื่ออยู่รวมกันพรัอมกับพระสันตะปาปาต้องสอนพระวาจาของพระเจ้าอย่างซื่อสัตย์  บทบาทพิเศษของพระสันตะปาปาคือ การเป็นเครื่องหมายหนึ่งที่แสดงถึงเอกภาพเมื่อบรรดาพระสังฆราชพูดในฐานะบุคคลหนึ่ง  พระสันตะปาปาทรงพูดพร้อมกับบรรดาพระสังฆราชในฐานะเสียงของพระคริสต์ผู้มีชีวิตอยู่ในพระศาสนจักร
พระศาสนจักรสอนอย่างไร? CCC 892; 935
    ปกติพระสันตะปาปาและบรรดาพระสังฆราชสอนโดยอาศัยอำนาจสั่งสอนปกติ(ordinary magisterium) ของพระศาสนจักร  อำนาจสั่งสอนในพระศาสนจักร(magisterium)สัมพันธ์กับภาระหน้าที่ด้านการสอนในพระศาสนจักรซึ่งองค์พระผู้เป็นเจ้าประทานแก่บรรดาอัครสาวกและผู้สืบตำแหน่งของพวกท่าน  ชาวคาทอลิกสำนึกถึงความสำคัญเป็นอันดับแรกของพระสันตะปาปา, พระสังฆราช, ผู้อภิบาล และพระสงฆ์ในพันธกิจการสอนของพระศาสนจักร
    ภารกิจแห่งอำนาจสั่งสอนของพระศาสนจักรผูกพันอยู่กับลักษณะอันเด็ดขาดของพันธสัญญาซึ่งพระเจ้าทรงวางรากฐานไว้บนประชากรของพระองค์ในพระคริสต์  งานที่สำคัญโดยอำนาจสั่งสอนนี้คือ การปกปักรักษาประชากรของพระเจ้าให้สามารถรักษาคำสอนไว้อย่างเที่ยงตรงและไม่บกพร่อง  อีกทั้งรับรองว่าประชากรของพระเจ้าสามารถประกาศความเชื่อที่ถูกต้องปราศจากความผิดพลาดได้จริงๆ
    -หนังสือคำสอนพระศาสนจักรคาทอลิก, 890
ความไม่รู้พลั้งคืออะไร? CCC 888-890
    การยึดคำสัญญาขององค์พระผู้เป็นเจ้าของเราที่ว่า พระศาสนจักรจะไม่หลงทางเพราะพระองค์ประทับอยู่ในพระศาสนจักรอย่างต่อเนื่อง  คาทอลิกจึงเชื่อว่าพระศาสนจักรจะไม่ผิดพลาดในเรื่องสาระความเชื่อและศีลธรรมทั้งหลายที่สำคัญ  นี่เป็นความเชื่อว่าคำสอนหนึ่งที่พระศาสนจักรมั่นใจจะปราศจากความผิดพลาด  แต่พระศาสนจักรไม่ค่อยมีคำสอนประเภทนี้และไม่มีรายชื่ออันเป็นการสรุปรวมเอกสารทั้งหมดของพระศาสนจักรซึ่งได้รับการพิจารณาแล้วว่าถูกต้องอย่างสมบูรณ์
ความไม่รู้พลั้งของพระสันตะปาปาคืออะไร? CCC 891
พระสันตะปาปาทรงกล่าวอย่างไม่ผิดพลาด เมื่อพระองค์ทรงสอนภายใต้สถานการณ์ต่อไปนี้
○ในฐานะผู้นำพระศาสนจักรทั้งมวลที่มนุษย์สามารถเห็นได้
○เมื่อตรัสกับคาทอลิกทั้งหมด
○เมื่อเกี่ยวกับเรื่องความเชื่อหรือศีลธรรม
○กำลังตั้งใจใช้อำนาจเต็มของพระองค์ในการตัดสินใจที่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้
    ความไม่รู้พลั้งอ้างถึงเพียงอำนาจของพระสันตะปาปาหรือพระพรในฐานะผู้สืบตำแหน่งจากนักบุญเปโตรเท่านั้น ซึ่งจะมีความสามารถสอนการเปิดเผยของพระคริสต์ได้อย่างถูกต้องโดยเฉพาะเมื่อคำสอนนั้นถูกโจมตีหรือปฏิเสธ และนำไปสู่การปฏิเสธในหมู่ประชากรของพระเจ้า  ความคิดเห็นและความเชื่อส่วนตัวทั้งหลายของพระสันตะปาปาก็เหมือนคนทั่วไปที่อาจผิดพลาดได้ นั่นเป็นเพราะพระสันตะปาปาก็เป็นมนุษย์  พระองค์สามารถทำบาปและสิ่งผิดพลาดแม้ในวิธีการที่พระองค์ปกครองพระศาสนจักร  ความไม่รู้พลั้งก็เหมือนพระพรทั้งหลายของพระจิตซึ่งมีอยู่เพื่อสร้างพระกายของพระคริสต์และให้เราเข้าใจความจริงของพระศาสนจักร
บทบาทของพระศาสนจักรในฐานะสงฆ์เป็นอย่างไร? CCC 893; 901-903; 941
    พระศาสนจักรนำผู้อื่นที่ไม่รู้จักพระเจ้า มาสู่ความศักดิ์สิทธิ์โดยบทบาทของพระศาสนจักรในฐานะสงฆ์   คริสตชนทุกคนมีส่วนในความเป็นสงฆ์ธรรมดาของพระคริสต์ด้วยวิถีทางต่างๆกัน  บางคนถูกเรียกมาให้กระทำตัวเป็นครูที่เป็นทางการ, ส่วนบางคนได้มาเป็นผู้รับผิดชอบที่พระแท่นและเป็นผู้อภัยบาปในนามขององค์พระผู้เป็นเจ้า  แม้จะมีเพียงบางคนถูกเรียกมารับความเป็นพระสงฆ์ผู้ให้บริการศีลศักดิ์สิทธิ์โดยอาศัยศีลศักดิ์สิทธิ์แห่งการบวช  แต่ทุกคนในพระศาสนจักรไม่ว่าจะเป็นพระสงฆ์หรือฆราวาสก็มีส่วนในกระแสเรียกโดยศีลล้างบาปสู่ความศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งเรียกกันทั่วไปว่า “ความเป็นสงฆ์ของผู้ได้รับการล้างบาป”  การได้เป็นสมาชิกคนหนึ่งในพระศาสนจักรที่มีความเป็นสงฆ์ของผู้ได้รับการล้างบาปเป็นพระพรที่ยิ่งใหญ่  แต่เราควรจำไว้เสมอว่า ในสายพระเนตรของพระเจ้าความยิ่งใหญ่ของแต่ละคนไม่ได้อยู่กับพระพรทั้งหลายที่เราได้รับ แต่ค่อนข้างขึ้นอยู่กับความเอาจริงเอาจังของเราที่จะใช้พระพรเหล่านั้นด้วยความรักของเราต่อพระเจ้าและผู้อื่นมากเพียงใด
ในฐานะพระศาสนจักรเป็นดั่ง “กษัตริย์” เราต้องมีความตั้งใจอย่างไร? CCC 894-896: 908-913; 943
    เมื่อเราคิดถึงกษัตริย์  เราคิดถึงผู้ปกครองที่เป็นแบบผู้มีอำนาจ  พระเยซูทรงเตือนเราว่าอำนาจทั้งปวงเป็นของพระองค์  องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงเลือกที่จะแบ่งอำนาจของพระองค์ให้กับบรรดาผู้เลี้ยงแกะในพระศาสนจักร  พระองค์ทรงแบ่งอำนาจการสอนของพระองค์ด้วยวิธีพิเศษให้กับพระสันตะปาปา, บรรดาพระสังฆราช และผู้อภิบาลทั้งหลาย(pastor)   พระองค์ยังทรงแบ่งอำนาจการปกครองของพระองค์ด้วย  สิ่งที่เกิดขึ้นด้วยการใช้อำนาจในพระศาสนจักรประกอบด้วย การเติบโตของความเชื่อและความศักดิ์สิทธิ์ท่ามกลางผู้ที่มีความเชื่อทั้งปวง แต่มีเพียงจุดประสงค์เดียว
    การปกครองของพระศาสนจักร(The Church’s governance) ต้องเป็นไปด้วยความถ่อมตน(humility), ความรัก(love) และความเมตตากรุณา(compassion)  มาตรฐานของพระศาสนจักรต้องเป็นไปตามที่พระคริสต์ทรงกำหนด ไม่ใช่มาตรฐานของผู้ปกครองแบบโลก  รูปแบบของพระศาสนจักรที่เป็นดั่งกษัตริย์ต้องเป็นแบบกษัตริย์ผู้มีใจช่วยเหลือ(serving king) และเพื่อให้มีการเตือนถึงความจริงนี้อย่างต่อเนื่อง  พระสันตะปาปายอห์น ปอล ที่ 2 จึงใช้คำขวัญประจำพระองค์ว่า “ผู้รับใช้แห่งผู้รับใช้ทั้งหลายของพระเจ้า”
ลักษณะของพระศาสนจักรเป็นอย่างไร? CCC 811
    ข้อเท็จจริงหรือลักษณะพิเศษสี่อย่างที่ช่วยบ่งบอกลักษณะแท้จริงของพระศาสนจักรมาแต่เดิมคือ หนึ่งเดียว, ศักดิ์สิทธิ์, สากล และสืบจากอัครสาวก  ลักษณะพิเศษเหล่านี้ช่วยทำให้ความเชื่อของชาวคาทอลิกเข้าใจง่ายและเข้มแข็ง  แต่ข้อเท็จจริงทั้งหลายดูเหมือนถูกขัดแย้งด้วยสภาพที่ปรากฏของพระศาสนจักรเอง  เนื่องจากสิ่งเหล่านี้อ้างถึงการประทับอยู่ของพระเจ้าคือพระคริสต์ และการทำงานของพระจิตในพระศาสนจักร   แต่ในความเป็นจริงพระศาสนจักรยังถูกสร้างด้วยมนุษย์ ผู้ซึ่งบางทีก็ไม่ยอมเป็นสิ่งที่จะแสดงนัยถึงองค์พระผู้เป็นเจ้า
พระศาสนจักรเป็นหนึ่งเดียวได้อย่างไร? CCC 812-818; 820-866
    ความเป็นหนึ่งเดียวของพระศาสนจักรเกิดขึ้นได้จากความเป็นหนึ่งของพระตรีเอกภาพ  และพระศาสนจักรโรมันคาทอลิกมีเอกภาพในสามเรื่องด้วยกันคือ
    ความเป็นหนึ่งเดียวของข้อความเชื่อ     ข้อความเชื่อหนึ่งเป็นองค์รวมหนึ่งของความเชื่อทั้งหลาย  ข้อความเชื่อหนึ่งถูกสอนอย่างเป็นทางการโดยผู้มีอำนาจสั่งสอนของพระศาสนจักร และคาทอลิกทั้งมวลถูกรวมเป็นหนึ่งเดียวด้วยความเชื่อของพวกเขา
    ความเป็นหนึ่งเดียวของคำสอนด้านศีลธรรม  ประมวลกฏหมายของพระศาสนจักรอ้างถึงคำสอนด้านศีลธรรมของพระศาสนจักร และการนำเอาคำสอนเหล่านี้ไปสู่การปฎิบัติได้อย่างเหมาะสมกับประเด็นต่างๆในปัจจุบัน  คาทอลิกถูกรวมเป็นหนึ่งด้วยการสืบค้นอย่างต่อเนื่องของพระศาสนจักรเพื่อจะเข้าใจถึงสิ่งที่พระเจ้าทรงประสงค์ให้กระทำสำหรับปัญหาทางศีลธรรมทั้งหลาย
    ความเป็นหนึ่งเดียวของคารวกิจ  พิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ –มิสซา, พิธีศีลศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย, การทำวัตรและพิธีอื่นๆ ที่ถูกจัดขึ้นเป็นครั้งคราว อย่างเช่น การแต่งตั้งพระสังฆราช หรือการเสกอาคารใหม่ของพระศาสนจักร- เป็นแหล่งกำเนิดความเป็นหนึ่งเดียวในเรื่องคารวกิจคาทอลิกที่มีมาหลายศตวรรษ
    ความเป็นหนึ่งเดียว(unity) ไม่จำเป็นต้องหมายถึง การรวมเป็นหนึ่งเดียว(uniformity)  แม้ว่าคาทอลิกทั่วโลกประกอบพิธีกรรมเดียวกัน  ก็ยังเปิดโอกาสให้มีการปรับเข้ากับวัฒนธรรมอยู่ภายในแบบแผนทั้งหลายที่ถูกกำหนดไว้แล้ว
พระศาสนจักรศักดิ์สิทธิ์ได้อย่างไร? CCC 823-829; 867
    พระเจ้าคือแหล่งกำเนิดความศักดิ์สิทธิ์ที่สำคัญกว่าสิ่งใดๆในพระศาสนจักร  และพระเยซูคริสต์ผู้ก่อตั้งพระศาสนจักรเป็นแบบอย่างของเราในเรื่องความศักดิ์สิทธิ์   ตามหลักแล้วพระเจ้าเท่านั้นที่ศักดิ์สิทธิ์  แต่เพราะว่าพระจิตประทับอยู่ในพระศาสนจักร  เราจึงสามารถเรียกพระศาสนจักรว่าศักดิ์สิทธิ์ได้  เรายังพูดได้ว่าพระศาสนจักรศักดิ์สิทธิ์ เพราะเราสามารถพบ “ความสมบูรณ์แห่งแนวทางของการช่วยให้รอดพ้น”  หรือกล่าวอีกอย่างได้ว่า ภายในพระศาสนจักร เราสามารถค้นพบทุกสิ่งที่จำเป็นสำหรับเราเพื่อให้สามารถกลายเป็นบุคคลตามที่พระเจ้าทรงสร้างให้เป็นคือ ศักดิ์สิทธิ์และยุติธรรม รวมทั้งเป็นหนึ่งเดียวกับพระองค์
    พระศาสนจักรถือครองวิธีการที่จำเป็นสำหรับการช่วยเราให้บรรลุถึงสภาพบุคคลที่สมบูรณ์ในแนวทางหนึ่งที่พิเศษได้แก่ ในพระวาจาซึ่งเราพบได้ในพระคัมภีร์ไบเบิล;ในการสืบทอดความเชื่อจากอัครสาวก, ข้อเขียนของบรรดาปิตาจารย์ผู้ยิ่งใหญ่ของพระศาสนจักร, นักบุญ และนักเทววิทยา; ในหน้าที่การสอนของพระศาสนจักร; ในชีวิตพิธีกรรมของพระศาสนจักร; และในชีวิตที่อุทิศตนของพระศาสนจักร
พระศาสนจักรเป็นสากลได้อย่างไร? CCC 830-835, 868
    คำว่า “สากล(catholic)”  หมายถึง “มีผลกับคนทั่วโลก”(universal)พระศาสนจักรมีผลกับคนทั้งโลก  เพราะพระคริสต์ผู้เสด็จกลับมาช่วยมวลมนุษยชาติทรงประทับอยู่ในพระศาสนจักร  ดังที่นักบุญอิกญาซีโอแห่งอันทิโอกให้ความเห็นว่า “ที่ใดพระเยซูคริสต์ประทับอยู่ ที่นั่นคือพระศาสนจักรคาทอลิก”  การมีผลกับคนทั้งโลกของพระศาสนจักรปรากฏให้เห็นในสามทาง  แนวทางที่หนึ่งพระศาสนจักรปฏิบัติตามคำสั่งขององค์พระผู้เป็นเจ้าที่ให้ไปสั่งสอนทุกชนชาติ  พระศาสนจักรพยายามชักจูงทุกคนตลอดเวลาในทุกๆที่  แนวทางที่สองพระศาสนจักรเป็นสากลในลักษณะที่พระศาสนจักรยังคงสอนทุกสิ่งตามที่พระคริสต์ทรงสอนอย่างต่อเนื่อง   ในแนวทางสุดท้าย สากลยังหมายถึง ความสมบูรณ์  คือคนคาทอลิกคนหนึ่งได้รับสิทธิ์ที่จะมีความสัมพันธ์ด้วยความเชื่อกับพระเยซูคริสต์อย่างสมบูรณ์
พระศาสนจักรสืบทอดจากอัครสาวกอย่างไร? CCC 857-865; 869
    ความเป็นผู้นำในปัจจุบันของพระศาสนจักรคาทอลิกสามารถย้อนกลับไปถึงผู้นำทั้งหลายของคริสตชนยุคแรก คือบรรดาอัครสาวกได้   พระสังฆราชผู้สืบทอดงานต่อจากอัครสาวก โดยร่วมมือกับพระสันตะปาปา ยังคงสอน, ทำให้ศักดิ์สิทธิ์และชี้นำพระศาสนจักรจนถึงเวลาที่พระคริสต์เสด็จกลับมาอีกครั้งหนึ่ง  พระศาสนจักรยังสืบต่อจากอัครสาวกโดยการประกาศยืนยันข้อคำสอนและแนวทางการดำเนินชีวิตคริสตชนอันเดียวกับที่บรรดาอัครสาวกสอน  พระศาสนจักรได้รักษาข่าวดีของพระเยซูและการไถ่กู้ของพระองค์  รวมถึงไม่เปลี่ยนแปลงสิ่งใดที่เป็นเนื้อแท้ในคำเทศน์สอนของพระคริสต์ หรือคำสอนของบรรดาอัครสาวกที่ใกล้ชิดกับพระคริสต์
ผู้ที่ไม่ใช่คริสตชนจะได้รับการช่วยให้รอดพ้นไหม? CCC 846-848
    ชาวคาทอลิกได้ถูกสอนต่อๆกันมาว่าพระศาสนจักรจำเป็นสำหรับความรอดพ้น  พระเยซูเองทรงสอนถึงความจำเป็นที่จะต้องมีความเชื่อและการล้างบาป  ดังนั้นพระศาสนจักรจึงสอนว่า บุคคลใดที่ได้รู้ว่า “พระศาสนจักรคาทอลิกถูกสร้างขึ้นให้เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับความรอดพ้นโดยพระเจ้าอาศัยพระเยซูคริสต์และผู้นั้นยังปฏิเสธที่จะเข้าร่วมหรือคงอยู่ในพระศาสนจักร  เขาจะไม่ได้รับการช่วยให้รอดพ้น” (ธรรมนูญเรื่อง พระศาสนจักร, ข้อ 14)
    แล้วบุคคลที่ไม่เคยรู้เรื่องของพระเยซูคริสต์เลยจะเป็นอย่างไร?  พวกเขาจะได้รับการช่วยให้รอดพ้นไหม?  พระศาสนจักรตอบว่าได้  พระอาณาจักรของพระเจ้ารวมเอาบุคคลเหล่านี้ไว้ด้วยอย่างลึกลับโดยอาศัยการทำงานของพระจิตในชีวิตของพวกเขา  กระแสเรียกของพวกเขาคือการแสวงหาพระอาณาจักรของพระเจ้าตามวิธีการที่พวกเขารู้และดำเนินชีวิตด้วยความรักเท่าที่พวกเขาสามารถทำได้