ประชาคมที่กรุงโรม
ไม่เป็นที่ทราบแน่ชัดว่าสาวกเริ่มเผยแพร่ศาสนาที่กรุงโรมตั้งแต่เมื่อใด ปรากฏหลักฐานว่าในรัชสมัยของจักรพรรดิเคลาดิอุส (41-45) นั้น มีชาวยิวที่เป็นคริสต์อยู่ที่กรุงโรมแล้ว คนเหล่านี้ถูกให้ออกจากเมืองพร้อมกับชาวยิวอื่นๆ โดยคำสั่งของจักรพรรดิ จดหมายของปอลถึงชาวโรมประมาณปี 57 นั้น แสดงให้เห็นว่าประชาคมชาวคริสต์ที่นั่นเป็นประชาคมใหญ่และเข้มแข็ง
ไม่เป็นที่สงสัยว่าปอลได้ไปที่กรุงโรม ตามที่มีบันทึกไว้ในหนังสือกิจการอัครสาวก แต่หลายคนก็สงสัยว่าเซนต์ปิเตอร์ได้ไปที่กรุงโรมจริงหรือไม่ ทั้งนี้เพราะการที่กรุงโรมได้กลายเป็นศูนย์กลางของพระศาสนจักร เหตุผลหนึ่งก็เพราะว่า สาวกปิเตอร์ได้ไปที่นั่นและผู้สืบทอดตำแหน่งประมุขของพระศาสนจักรต่อมาก็ได้ถือเอาที่นั่นเป็นศูนย์กลาง อย่างไรก็ดี คงไม่เป็นเรื่องที่สำคัญมากไปกว่าความเชื่อที่ว่า พระเยซูได้ทรงก่อตั้งพระศาสนจักรและทรงโปรดให้ปิเตอร์เป็นผู้แทนของพระองค์เป็นประมุของค์แรก เรื่องสถานที่คงไม่ใช่สิ่งสำคัญ พระเยซูไม่เคยสอนสั่งเรื่องนี้ไว้
เรื่องเกี่ยวกับประชาคมที่กรุงโรมที่รู้จักกันดีเพราะมีนักเขียนโรมันได้บันทึกเอาไว้ คือการยืนหยัดในความเชื่อของชาวคริสต์ที่นั่น แม้จะถูกเบียดเบียนถูกทรมาน ถูกประหารด้วยวิธีต่างๆ นับวันสมาชิกของประชาคมนี้ก็นับจะเพิ่มขึ้นและแพร่หลายออกไปสู่ที่อื่นๆ ในอาณาจักรโรมันด้วย เซนต์อิเรเนอุสซึ่งมีชีวิตอยู่ในปลายศตวรรษที่สองบันทึกไว้ว่า ศูนย์กลางของศาสนาคริสต์เวลานั้นมีอยู่สองแห่งคือ ที่กรุงโรมและทางเหนือของแอฟริกา ทางเหนือขึ้นไปมีชาวคริสต์อยู่บริเวณฝั่งซ้ายแม่น้ำไรน์ (ตะวันตกของสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีในปัจจุบัน) และที่เมืองลีออง นอกนั้นอยู่ที่เวียนนาและที่อื่นๆ จากนั้นก็ค่อยๆ แพร่หลายออกไปจนทั่วอาณาจักรโรมัน
เดิมทีนั้นไม่มีความขัดแย้งระหว่างรัฐกับประชาคมคริสต์ เพราะชาวโรมันมีการผ่อนปรนเรื่องศาสนาอยู่แล้ว จะเห็นได้ว่า ที่กรุงโรมมีวิหารอยู่แห่งหนึ่งชื่อว่า Pantheon ซึ่งเป็นที่รวมของ “พระ” ซึ่งชาวโรมันนำมาจากที่ที่ตนไปรบชนะมา และเชื่อว่าพระเหล่านั้นจะช่วยเหลือพวกตนด้วย แม้ว่าจะมีเทพเจ้าประจำชาติของตนอยู่แล้ว นอกนั้น ชาวโรมันเข้าใจว่า ศาสนาคริสต์เป็นเพียงนิกายหนึ่งของศาสนายูดายเท่านั้น ชาวโรมันไม่เห็นว่าการที่ชาวยิวนับถือพระเจ้าแต่องค์เดียวแตกต่างไปจากตนและคนอื่นๆ ที่นับถือพระเจ้าหลายองค์จะเป็นปัญหาหรืออุปสรรค แต่ในที่สุดก็มีปัญหาความขัดแย้งและนำไปสู่การเบียดเบียนเพราะ “ศาสนาใหม่ของคนต่างชาติ” นี้มีลักษณะที่ไม่เหมือนศาสนาอื่นๆ
เริ่มจากการที่ชาวคริสต์ซึ่งถือว่าตนเองนับถือศาสนาที่เที่ยงแท้และพระเจ้าที่เที่ยงแท้ก็มีแต่พระเจ้าเดียวของตนเองเท่านั้น จึงถือว่าเป็นการไม่ถูกต้องที่ตนจะต้องไปกราบไหว้รูปเคารพต่างๆ เข้าร่วมพิธีกรรมและพิธีบูชาจักรพรรดิ จึงเกิดความเข้าใจในหมู่คนทั่วไปว่า ชาวคริสต์เป็นพวก “กาลี” ที่ทำให้เทพเจ้าทั้งหลายพิโรธ เมื่อเกิดเหตุเพทภัยขึ้นมาเมื่อใด ก็ยกให้เป็นความผิดของชาวคริสต์ซึ่งถูกถือว่าเป็น “พวกไม่มีพระเจ้า” นอกนั้น พฤติกรรมของชาวคริสต์เองก็เป็นที่น่าสงสัย พวกเขาชุมนุมกันในบ้านของชาวคริสต์ผู้มีฐานะดีบางคนเพื่อทำพิธีกรรมทางศาสนา ไม่ได้กระทำในที่สาธารณะเช่นคนอื่นๆ ทำให้เป็นที่ระแวงสงสัยว่ากำลังร่วมวางแผนก่อการอะไรบางอย่าง ที่เป็นภัยต่อความมั่นคงของอาณาจักรและต่อศาสนาของชาวโรมัน เพราะจะทำให้ผู้คนกระด้างกระเดื่องต่ออุดมการณ์ศาสนาของรัฐซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่ช่วยให้การปกครองดำเนินไปด้วยความสงบเรียบร้อย ด้วยเหตุนี้ เมื่อกระแสข่าวลือแพร่สะพัดไปทั่วและผู้คนเริ่มเกลียดชังชาวคริสต์ การเบียดเบียนก็เริ่มขึ้น การจำจอง การทรมานและการประหารในสนามกีฬาด้วยวิธีการที่โหดร้ายก็ตามมา นับแต่ผู้นำทุกระดับจนถึงฆราวาสไม่ยกเว้น
การเบียดเบียนนี้เกิดขึ้นในอาณาจักรตะวันตก โดยเฉพาะที่กรุงโรมเท่านั้น เพราะไม่ปรากฏว่ามีรายงานเกี่ยวกับเรื่องนี้จากพระศาสนจักรทางตะวันออก รายงานเกี่ยวกับการเบียดเบียนมีมากที่สุดในยุคของมาร์คุส เอาเรลีอุส (161-180 ) ต่อมาในปลายศตวรรษที่ 2 จักรพรรดิเซปติมุส เซเวรุสพยายามกำจัดศาสนาคริสต์ด้วยการห้าม “การเข้ารีต” การเบียดเบียนในยุคนี้ได้แผ่ขยายไปสู่แอฟริกาตอนเหนือ ซึ่งขึ้นต่ออาณาจักรโรมันด้วยและเป็นศูนย์กลางสำคัญอีกแห่งหนึ่งของชาวคริสต์โดยเฉพาะที่เมืองคาร์ทัส
ระหว่างปี 222-235 อเล็กซานเดอร์ เซเวรุสได้ผ่อนปรนการเบียดเบียนเนื่องจากสมาชิกในครอบครัวของตนเป็นคริสต์ด้วย ชาวคริสต์จึงได้รับอนุญาตให้มีกรรมสิทธิ์ในการถือครองที่ดินและทรัพย์สินได้ จึงได้มีการก่อสร้างสถานที่เพื่อการสวดมนต์และพิธีกรรมทางศาสนาขึ้นอย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรก แต่ก็ยังมีกิจกรรมอื่นๆ ตามบ้านส่วนตัวและในกาตากอมบ์หรืออุโมงค์ใต้ดินตามที่เคยปฏิบัติกันมา
อาณาจักรโรมันเริ่มเข้าสู่วิกฤติทางการเมืองและเศรษฐกิจในศตวรรษที่ 3 ขณะที่ศาสนาคริสต์เริ่มก่อตัวเป็นสถาบันทางสังคมที่เข้มแข็ง ทำให้ฝ่ายปกครองของโรมันเห็นว่าศาสนาคริสต์เป็นภัยต่อเสถียรภาพของรัฐอย่างแท้จริง จึงเริ่มการเบียดเบียนครั้งใหญ่ทั่วอาณาจักรภายใต้การนำของจักรพรรดิเดซิอุส (249-251) โดยมีเป้าหมายที่จะกำจัดศาสนาคริสต์อย่างถอนรากถอนโคน นอกนั้นยังมีเหตุผลที่ว่า ได้เกิดโรคระบาดครั้งใหญ่ ฝ่ายปกครองได้จัดให้มีพิธีกรรมบวงสรวงเทพเจ้าเพื่อให้พ้นภัย ชาวคริสต์ปฏิเสธที่จะร่วมพิธีกรรมดังกล่าวจึงยังให้เกิดความเกลียดชังมากยิ่งขึ้น การเบียด-เบียนดำเนินต่อไปจนถึงปลายศตวรรษ แต่ก็เป็นที่น่าสังเกตว่า การเบียดเบียนในช่วงสุดท้ายนี้เป็นเรื่องของรัฐโดยที่ประชาชนทั่วไปไม่ได้มีส่วนร่วมด้วย ทั้งนี้เพราะเริ่มเข้าใจ เห็นใจและยอมรับ การเบียดเบียนไม่สามารถสะกัดกั้นการเติบโตของศาสนาคริสต์ได้ นอกนั้นอาณาจักรโรมันเองก็ประสบปัญหาต่างๆ ได้แยกออกเป็นสองอาณาจักรคือตะวันตกและตะวันออก ในสมัยของดิโอเกลเซียน (284-305) ซึ่งมอบหมายให้มีผู้สืบตำแหน่งสองคนเป็นผู้ครองอาณาจักรทั้งสองจักรพรรดิเองได้ย้ายไปพำนักอยู่ทางตะวันออกที่เมืองนิโคเดเมีย แต่ก็ไม่ได้ลดละการเบียดเบียน
จนกระทั่งในปี 312 การเบียดเบียนได้สิ้นสุดลงเนื่องจากคอนสแตนตินแห่งอาณาจักรตะวันออกมีชัยชนะเหนือมาซีอุสแห่งอาณาจักรตะวันตกจากการสู้รบกันที่กรุงโรม ในปีต่อมาจักรพรรดิคอนสแตนตินได้ออกกฤษฎีกาที่มิลานให้เสรีภาพแก่ชาวคริสต์ การเบียดเบียนสิ้นสุดลงอย่างแท้จริงในปี 324 หลังจากที่จักรพรรดิคอนสแตนตินได้ยอมรับนับถือศาสนาคริสต์ ระหว่างนั้นพระองค์ได้ย้ายศูนย์กลางอาณาจักรไปยังเมืองบิซานท์ (Byzant) และเปลี่ยนชื่อใหม่ว่าคอนสตันติโนเปิล ศาสนาคริสต์จึงได้รับการประกาศให้เป็นศาสนาประจำอาณาจักรนับแต่บัดนั้นจนถึงการแตกสลายของอาณาจักรโรมันในเวลาต่อมา แต่ถึงตอนนั้น ศาสนจักรได้พัฒนาองค์กรขึ้นมาเข้มแข็งแล้ว โดยมีศูนย์กลางอยู่ที่กรุงโรม