แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

ยุคแรกเริ่มพระศาสนจักร (Church)

19. ประชาคมแรกที่กรุงเยรูซาเล็ม
หลังจากที่พระเยซูได้สิ้นพระชนม์ กลับคืนพระชนมชีพและเสด็จสู่สวรรค์แล้ว สาวกของพระองค์ “ทุกคนร่วมอธิษฐานภาวนาสม่ำเสมอเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน พร้อมกับบรรดาสตรี รวมทั้งมารีย์พระมารดาของพระเยซูเจ้าและพี่น้องของพระองค์” (กจ 1:14) พวกเขาอยู่ด้วยกันทั้งหมด  120 คน  (กจ 1:15)  ห้าสิบวันหลังจากพระเยซูได้กลับคืนพระชนมชีพ    พระจิตของพระเจ้า  ได้เสด็จมาเหนือพวกเขา (กจ 2:1)  ทำให้พวกเขามีกำลังใจเข้มแข็งและเริ่มออกไปเผยแพร่ “ข่าวดี” ของพระเยซูคริสต์
รายละเอียดต่างๆ  เกี่ยวกับชาวคริสต์กลุ่มแรก  และการเผยแพร่ศาสนาในยุคเริ่มต้นนี้มีบันทึกไว้ในหนังสือกิจการของอัครทูต ซึ่งเซนต์ลูกาเป็นผู้บันทึกไว้   (เป็นบุคคลคนเดียวกับผู้นิพนธ์พระวรสารฉบับที่สาม) โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับงานเผยแพร่ศาสนาของเซนต์ปอลและเซนต์ปีเตอร์ ทั้งนี้เพราะท่านเป็นศิษย์และผู้ร่วมงานที่ใกล้ชิดของเซนต์ปอลเองด้วย
ประชาคมแรกเป็นชาวยิว  ทั้งผู้ที่ได้ติดตามพระเยซูเองและผู้ที่ได้เข้าร่วมประชาคมนี้หลังจากได้ฟังการเทศนาของเซนต์ปิเตอร์หลังจากได้รับพระจิตของพระเจ้า ซึ่งมีจำนวนสามพันคน และไม่นานหลังจากนั้นก็มีเพิ่มขึ้นอีกสองพันคน (กจ 2:5,22-29; 4:4) คนเหล่านี้เริ่มรวมกันเป็นประชาคมเดียวกับบรรดาสาวก (กจ 2:44) แต่พวกเขาก็ยังใช้โรงสวดของชาวยิวเป็นที่สวดและรับการเทศน์สอนจากบรรดาสาวก  ทั้งนี้โดยไม่ขึ้นต่ออำนาจผู้นำศาสนายูดายอีกต่อไป (กจ 21:24) พวกเขาเชื่อว่าพระเยซูได้เสด็จมาทำให้ประเพณีดั้งเดิมและความเชื่อในศาสนายูดายนั้นสมบูรณ์ พระองค์ทรงเป็นพระเมสสิยาห์ที่พวกเขาได้รอคอย อย่างไรก็ดี  พวกเขายังเข้าร่วมพิธีกรรมตามประเพณีของชาวยิวในวิหารและโรงสวด ส่วนพิธีกรรม  “การหักปัง” เพื่อระลึกถึงงานเลี้ยงครั้งสุดท้ายตามที่พระเยซูทรงสั่งไว้นั้นกระทำกันในบ้านส่วนตัวของ “ชาวคริสต์” บางคน  ทั้งนี้คงเป็นเพราะไม่ได้รับอนุญาตให้กระทำในวิหาร แต่กระนั้นบรรดาสาวกก็กล้าที่จะเทศน์สอนเรื่องพระเยซู  ณ ที่นั้น  ซึ่งก็ได้รับการห้ามและถูกลงโทษ (กจ 4:1-22; 5:17-40)     นี่คือการเริ่มต้นของการเบียดเบียน แต่ก็ไม่มีผู้ใดท้อถอย “เขาทั้งหลายสั่งสอนและประกาศข่าวดีอย่างต่อเนื่องทั้งในพระวิหารและตามบ้าน    ว่าพระเยซูทรงเป็นพระคริสตเจ้า” (กจ 5:42)    จนกระทั่งการเบียดเบียนรุนแรงถึงขั้นประหารชีวิตด้วยการทุ่มหิน สเทเฟนคือคนแรกที่ถูกประหารเพราะความเชื่อในพระเยซู  (กจ 6-7)
ประชาคมแรกนี้มีลักษณะพิเศษอยู่สองประการคือ ประการแรก
“ผู้มีความเชื่อทุกคนดำเนินชีวิตร่วมกันและมีทุกสิ่งเป็นของกลาง เขาขายที่ดินและทรัพย์สินอื่นๆ เอาเงินมาแบ่งให้แก่ทุกคนตามความต้องการ ทุกๆ วัน เขาพร้อมใจกันไปที่พระวิหารและไปตามบ้านเพื่อทำพิธีบิขนมปัง ร่วมรับประทานอาหารด้วยความชื่นชมยินดี และเข้าใจกัน” (กจ 2:44-46)
รากฐานของประชาคมนี้อยู่ที่ความเชื่อในองค์พระเยซู ซึ่งบรรดาสาวกได้ถ่ายทอดมาและที่บรรดาประกาศกได้ประกาศไว้ เป็นการเชื่อมโยงระหว่างประเพณีดั้งเดิมกับประเพณีใหม่ เซนต์ปอลเขียนถึงชาวคริสต์ที่เอเฟซัสว่า “ท่านถูกสร้างขึ้นเป็นอาคารโดยมีบรรดาอัครสาวกและประกาศกเป็นรากฐาน มีพระคริสตเยซูทรงเป็นศิลาหัวมุม” (อฟ 2:20)
ประการที่สอง ปฏิบัติตามคำสั่งของพระเยซูซึ่งได้สอนว่า “เราให้บทบัญญัติใหม่แก่ท่านทั้งหลาย ให้ท่านรักกัน... ทุกคนจะรู้ว่า ท่านเป็นศิษย์ของเรา” (ยน 13:34-35) ในเวลาเดียวกันพวกเขาก็ถือเอาบรรดาสาวกเป็นผู้นำ  ซึ่งก็เป็นประเพณีปฏิบัติของชาวยิวทั่วไป
“กลุ่มผู้มีความเชื่อดำเนินชีวิตเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ไม่คิดว่าสิ่งที่ตนมีเป็นกรรมสิทธิ์ของตน แต่ทุกอย่างเป็นของกลาง  บรรดาอัครสาวกยังคงเป็นพยานยืนยันถึงการกลับคืนพระชนมชีพของพระเยซู องค์พระผู้เป็นเจ้าด้วยเครื่องหมายอัศจรรย์อันยิ่งใหญ่และทุกคนได้รับความเคารพนับถืออย่างสูง” (กจ 4:32-33)
อย่างไรก็ดี   ปัญหาในการอยู่ร่วมกันก็ค่อยๆ  ตามมา  ทั้งนี้เพราะว่านอกจากชาวยิวที่อยู่ในปาเลสไตน์แล้วยังมีชาวยิวซึ่งกระจัดกระจายอยู่ในที่ต่างๆ รวมทั้งชาวกรีกและชนชาติอื่นๆ  ความขัดแย้งทางวัฒนธรรมได้เริ่มขึ้นเมื่อมีการเลือกผู้ช่วยสาวกเพื่อดูแลความทุกข์สุขและแจกจ่ายสิ่งของ   ทั้งนี้เพราะบรรดาสาวกเห็นว่าหากเอาธุระแต่การแจกจ่ายสิ่งของก็คงไม่มีเวลาเทศนาสั่งสอน นอกนั้นก็มีเสียงบ่นจากชาวกรีก และคนที่ไม่ใช่ชาวยิววาไม่มีใครดูแล เอาใจใส่  ไม่ได้รับสิ่งของที่จ่ายแจกเหมือนคนอื่นๆ จึงได้มีการเลือกผู้ช่วยขึ้นมา 7 คน ปรากฏว่ามีชาวกรีกสองคนได้รับเลือกด้วย คือ สเทเฟนและฟิลิป ซึ่งเป็นผู้คงแก่เรียนและเป็นผู้ที่พยายามชี้ให้ทุกคนเห็นว่า  พระเยซูได้เสด็จมาเพื่อมนุษย์ทุกคน  ไม่ใช่แต่สำหรับชาวยิว คำพูดและการกระทำของคนทั้งสองโดยเฉพาะสเทเฟนได้สร้างความไม่พอใจแก่ชาวยิวเป็นอันมาก  นี่คือเหตุผลหนึ่งที่ชาวยิวที่ไม่เป็นคริสต์เริ่มเห็นอันตรายคุกคามจาก “คนนอก”  วัฒนธรรมของตนเอง  และเริ่มทำการเบียดเบียน สเทเฟน คือ “มาร์ตีร์” (Martyr) คนแรก
สาเหตุของความขัดแย้งภายในประชาคมแรก ซึ่งมาจากความแตกต่างทางวัฒนธรรม เป็นผลที่มาจากความเชื่อของชาวยิวที่เป็นคริสต์ว่า พระเยซูเสด็จมาเพื่อสถาปนาอาณาจักรใหม่ให้กับอิสรา-เอล  หลังจากพระเยซูได้ทรงกลับคืนพระชนม์นั้น “ผู้ที่มาชุมนุมกับพระเยซูเจ้า ได้ทูลถามพระองค์ว่า “พระเจ้าข้า พระองค์จะทรงสถาปนาอาณาจักรอิสราเอลอีกครั้งหนึ่งในเวลานี้หรือ?” (กจ 1:6) ซึ่งพระเยซูได้ทรงปฏิเสธ แต่บรรดาสาวกก็ยังไม่สามารถปรับความรู้สึกของตนได้  ด้วยเหตุนี้จึงรับผู้ที่ไม่ใช่ยิวเข้าสู่ประชาคมด้วยความยากลำบาก เพราะตามประเพณียิว เขาเหล่านั้น “ไม่บริสุทธิ์”  แต่ในท้ายที่สุดเรื่องนี้ก็ได้ข้อสรุปที่ทุกคนยอมรับว่า คนต่างชาติก็มีสิทธิรับ “ข่าวดี” อย่างเท่าเทียมกับชาวยิว  ปิเตอร์เป็นผู้เห็นนิมิตและประกาศเรื่องนี้ให้คนอื่นๆ ปฏิบัติตาม (ดู กจ 11:1-8)  อย่างไรก็ดี  บุคคลที่ได้ต่อสู้เพื่อเรื่องนี้  คือ เซนต์ปอล