กิจการของพระเยซู
พระวรสารเล่าถึงฝูงชนจำนวนมากได้ติดตามฟังการเทศนาของพระเยซู ไม่ว่าพระองค์จะเสด็จไปที่ใด ในยุคเดียวกันนั้น คงไม่มีแต่พระเยซูผู้เดียวที่ออกไปเทศน์สอนและมีสาวกติดตาม พระวรสารเองก็กล่าวถึงยอห์น บับติสต์ ที่สั่งสอนและโปรดศีลล้างแก่ประชาชน การที่ฝูงชนจำนวนมากติดตามพระเยซูคงด้วยลักษณะเฉพาะหลายอย่าง นอกจากการเทศน์สอนที่แตกต่างไปจาก “อาจารย์” คนอื่นๆ แล้ว พระองค์ยังกระทำสิ่งมหัศจรรย์มากมาย
เมื่อยอห์น บับติสต์ ซึ่งถูกจับและขังคุก ส่งศิษย์ของตนให้ไปถามพระเยซูว่า พระองค์เป็นพระเมสสิยาห์จริงหรือไม่ พระเยซูทรงตอบว่า “จงไปบอกยอห์นถึงสิ่งที่ท่านได้เห็นและได้ยิน คนตาบอดกลับแลเห็น คนง่อยเดินได้ คนโรคเรื้อนหายจากโรค คนหูหนวกได้ยิน คนตายกลับคืนพระชนมชีพ คนจนได้ฟังข่าวดี” (ลก 7:22) กิจกรรมต่างๆ เหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของภารกิจของพระเยซูในการเปิดเผยสัจธรรมเกี่ยวกับ “อาณาจักรของพระเจ้า” การอัศจรรย์เป็นเครื่องหมายสำคัญถึงอำนาจของพระเจ้าเหนือธรรมชาติและสิ่งสร้างของพระองค์เอง “ถ้าเราขับไล่ปิศาจด้วยอำนาจ ของพระเจ้า ก็หมายความว่าพระอาณาจักรของพระเจ้ามาถึงท่านแล้ว” (ลก 11:20) เรื่องต่างๆ เหล่านี้ได้รับประกาศโดยบรรดาประกาศกในพันธสัญญาเดิมแล้ว (ดู อสย 35:4-6)
พระวรสารทั้งสี่ได้เล่าเรื่องการอัศจรรย์ต่าง ๆ ที่พระเยซูทรงกระทำซึ่งก็มีจำนวนไม่มากนัก มีการอัศจรรย์ที่เกี่ยวกับธรรมชาติ เช่น การบังคับลมพายุ การจับปลา การทวีขนมปัง การเปลี่ยนน้ำเป็นเหล้าองุ่น การอัศจรรย์เหล่านี้ ล้วนมีจุดมุ่งหมายเพื่อการสั่งสอนหลักธรรมบางประการที่เกี่ยวกับพระเจ้าสำหรับผู้ที่เปิดหัวใจรับฟัง พระองค์ไม่ทรงกระทำการอัศจรรย์โดยไม่มีการเทศน์สอนหรือในกรณีที่เพื่อตอบรับการท้าทายของผู้ที่ไม่เชื่อ เช่น ชาวนาซาเร็ทเอง ฟาริสีและกษัตริย์เฮโรด นอกจากนั้นพระองค์ก็มิได้ทรงวางพระทัยกับคนที่เชื่อเพราะว่าได้เห็นสิ่งอัศจรรย์ (ดู ยน 2:23-24) พระองค์ทรงกระทำอัศจรรย์สำหรับผู้ที่เชื่อ ความเชื่อเป็นเงื่อนไขที่สำคัญ บางคนวิงวอนว่า “ข้าพเจ้าเชื่อ โปรดช่วยความเชื่ออันเล็กน้อยของข้าพเจ้าด้วยเถิด” (มก 9:24) แต่ทั้งนี้ก็มิได้หมายความว่า หากเชื่อแล้วทุกอย่างก็เป็นไปตามประสงค์ ความเชื่อเป็นเงื่อนไข แต่พระเจ้าทรงเป็นผู้กระทำการอัศจรรย์ ผู้ที่เชื่อคือผู้ที่ยอมรับอาณาจักรของพระเจ้า การอัศจรรย์ทั้งหลายจึงเป็น “เครื่องหมาย” ว่า อาณาจักรพระเจ้าได้มาถึงแล้วสำหรับบุคคลผู้นั้น
การอัศจรรย์ที่มีการกล่าวถึงมากที่สุดในพระวรสารเป็นเรื่องการรักษาคนเจ็บป่วยด้วยโรคภัยต่างๆ ตลอดจนการปลุกคนตายให้ฟื้นคืนชีพซึ่งมีอยู่สามกรณี (ดู มก 5:21; ลก 7:11; ยน 11) การอัศจรรย์เหล่านี้มีความหมายที่มากไปกว่าการรักษาทางร่างกาย เป็นการ “รักษา” มนุษย์ให้หลุด-พ้นจากบาปซึ่งทำให้มนุษย์ต้องทุกข์ทรมานและ “ตาย” นี่คือเครื่องหมายของการเอาชนะบาป อย่างไรก็ดี ไม่ได้หมายความว่าพระเยซูไม่ทรงสนพระทัยชีวิตความเป็นอยู่ในสภาพแห่งความจริง พระองค์ทรงเอาพระทัยใส่คนยากคนจน คนเจ็บป่วย คนที่สังคมรังเกียจและคนบาป พระองค์ทรงคบหาสมาคมกับคนเหล่านี้แม้จะขัดกับความคิดของ “ผู้ดี” และบรรดาผู้เคร่งประเพณีทั้งหลายที่เห็นว่าเป็นการแปดเปื้อนมลทิน คนพวกนี้มีใจ “แข็งกระด้าง” เกินกว่าที่จะรับฟัง “ข่าวดี” ของพระ-องค์ เครื่องหมายหรือการอัศจรรย์ใดๆ ก็จะไม่มีประโยชน์สำหรับพวกเขา ในนิทานเปรียบเทียบเรื่องเศรษฐีกับลาซารัส เศรษฐีผู้โลภมากและตระหนี่ได้ไปอยู่ในนรกหลังจากเสียชีวิตไปแล้ว ส่วนลาซารัสผู้ยากจนไปสวรรค์ เศรษฐีขอร้องให้มีผู้ไปบอกญาติพี่น้องที่ยังมีชีวิตอยู่อย่าได้เอาอย่างตน อับราฮัมซึ่งรับเอาลาซารัสไปอยู่ด้วยตอบเศรษฐีว่า พวกเขามีโมเสสและประกาศกอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องมีใครไปบอกอีก เศรษฐีรบเร้าว่า หากมีคนในหมู่ผู้ตายไปบอกพวกเขาคงจะเชื่อ อับราฮัมตอบว่า “ถ้าเขาไม่เชื่อฟังโมเสสและบรรดาประกาศก แม้ใครคนหนึ่งที่กลับคืนชีวิตจากบรรดาผู้ตายเตือนเขา เขาก็จะไม่เชื่อ” (ลก 16:19-31)
การอัศจรรย์ในคัมภีร์ไบเบิลทั้งพันธสัญญาเดิมและพันธสัญญาใหม่คือสิ่งที่แสดงถึงกิจการของพระเจ้า ด้วยเหตุนี้ คำว่า “อัศจรรย์” จึงมีปรากฏใช้อยู่น้อยครั้ง ส่วนใหญ่จะใช้คำว่า “เครื่องหมาย” “กิจการ” “อานุภาพ” มากกว่า ซึ่งแสดงให้เห็นถึงทัศนะและความเชื่อของผู้นิพนธ์พระคัมภีร์และผู้ที่เชื่ออื่น ๆ ซึ่งเชื่อมโยงสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตเข้าด้วยกัน นอกจากนั้นก็ไม่มีใครคิดว่า พระเจ้าทรงฝืนกฎธรรมชาติที่พระองค์ทรงสร้างขึ้น เพราะไม่มีผู้ใดทราบว่าโลกใหม่และชีวิตใหม่มีกฎเกณฑ์เช่นใด การอัศจรรย์คือเครื่องหมายถึง “กฎเกณฑ์ใหม่” นั้น