ศีลมหาสนิท
เราชาวคาทอลิกถือว่า “ศีลมหาสนิท” เป็นศีลศักดิ์สิทธิ์ที่มีความสำคัญเป็นพิเศษ และเป็นศีลที่ทุกคนต้องรับ เพราะเป็นองค์พระเยซูคริสตเจ้าเอง คือ เป็นทั้งพระกายและพระโลหิตของพระองค์
ถ้าจะถามว่าทำไมพระเยซูคริสตเจ้าทรงตั้งศีลมหาสนิท คำตอบก็เป็นเพราะความรักอันหาที่สุดมิได้ของพระองค์จริงๆ กล่าวคือ ก่อนที่พระองค์จะทรงถูกจับ ถูกทรมาน และถูกตรึงสิ้นพระชนม์บนกางเขน พระองค์ทรงปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะอยู่กับมนุษย์ที่พระองค์ทรงรัก เพราะทรงเป็นห่วงจริงๆ
การตั้งศีลมหาสนิท จึงเป็นวิธีที่พระองค์ทรงเลือกที่จะอยู่กับมนุษย์ด้วยการเป็นหนึ่งเดียวกับมนุษย์ ทรงมอบพระวรกายและพระโลหิตของพระองค์เป็นอาหารสำหรับเลี้ยงชีวิตวิญญาณของเราภายใต้รูปปรากฏของแผ่นปังและเหล้าองุ่น... ดังพระวาจาของพระองค์ทรงตรัสไว้ในอาหารค่ำครั้งสุดท้าย
“พระองค์ทรงหยิบปัง ทรงขอบพระคุณ ทรงบิขนมปังประทานให้บรรดาศิษย์ ตรัสว่า “นี่เป็นกายของเราที่ถูกมอบเพื่อท่านทั้งหลาย จงทำดังนี้เพื่อเป็นที่ระลึกถึงเราเถิด” ในทำนองเดียวกัน เมื่อกินอาหารเสร็จแล้ว พระองค์ทรงหยิบถ้วย ตรัสว่า “ถ้วยนี้เป็นพันธสัญญาใหม่ ในโลหิตของเราที่หลั่งเพื่อท่านทั้งหลาย” (ลก 22 : 19-20)
ดังนั้น ทุกครั้งเมื่อเรารับศีลมหาสนิทจึงเป็นการรับองค์พระเยซูเจ้าเข้ามาในชีวิตของเรา ทำให้เรามีชีวิตพระ คือ การได้เป็นหนึ่งเดียวกับพระองค์
เมื่อพูดถึง “ศีลมหาสนิท” เราจะต้องกล่าวถึง “พิธีมิสซาบูชาขอบพระคุณ” หรือ ที่เราเรียกสั้นๆ ว่า “มิสซา” เพราะในมิสซานี้เองเป็นพิธีอัญเชิญให้องค์พระเยซูคริสตเจ้าเสด็จลงมาประทับอยู่ในรูปปรากฏของแผ่นปัง คือ พระวรกาย และในรูปปรากฏของเหล้าองุ่น คือ พระโลหิตของพระองค์ โดยเราเชื่อว่าทุกครั้งที่พระสงฆ์เสกศีล แผ่นปังและเหล้าองุ่นนี้จะเปลี่ยนเป็นพระกายและพระโลหิตของพระองค์ ทั้งๆ ที่รูปปรากฏภายนอกยังคงเห็นเป็นปังและเหล้าองุ่นอยู่
เหตุการณ์ข้างต้นนี้ถือเป็นข้อความเชื่อ ซึ่งไม่อาจะพิสูจน์ได้ตามเหตุผลประสามนุษย์ แต่พอจะเทียบเคียงได้กับแบงก์ หรือ ธนบัตรที่เรามีอยู่ กล่าวคือ ก่อนที่เขาจะทำเป็นธนบัตรออกมา เขาต้องมีกระดาษขาวๆ เสียก่อนและความเป็นกระดาษขาวนั้น คือ กระดาษธรรมดาไม่มีค่าอะไรมากมาย แต่หลังจากกระดาษขาวแผ่นนั้นถูกนำไปพิมพ์เป็นธนบัตร ความเป็นกระดาษนั้นสูญสิ้นไป แต่กลับหลายเป็นความเป็นธนบัตรแทน มีคุณค่าในฐานะเงินที่นำไปซื้อข้าวของได้ เราไม่เรียกว่า กระดาษอีกต่อไป... หมายความว่า เมื่อแผ่นปังและเหล้าองุ่นได้รับการเสกจากพระสงฆ์ในพิธีมิสซาแล้ว “แก่น” หรือ “สาระสำคัญ” ของปังและเหล้าองุ่นก็หมดไป และกลับกลายเป็นพระกายและพระโลหิตของพระองค์ เราจะไม่เรียกว่าปังและเหล้าองุ่นแต่เรียกว่าพระกายและพระโลหิตของพระเยซูคริสตเจ้า
ในเวลาเดียวกัน เมื่อพระเยซูเจ้าตรัสว่า “ท่านจงกระทำการนี้ เพื่อเป็นที่ระลึกถึงเรา” ย่อมหมายถึงทรงมอบอำนาจแห่งการเสกศีลนี้ แก่บรรดาอัครสาวกและสืบทอดมายังบรรดาพระสงฆ์ทุกองค์ในปัจจุบันนี้ด้วย
ดังที่ได้เกริ่นไปแล้วว่า เราต้องกล่าวถึงพิธีบูชามิสซาเสมอเมื่อพูดถึงศีลมหาสนิท บูชามิสซา คือ การบูชาที่พระสงฆ์กระทำในนามขององค์พระเยซูคริสตเจ้า พร้อมกับบรรดาคริสตชนคาทอลิก คือ ทั้งพระสงฆ์และคริสตชนผู้ร่วมพิธีได้ร่วมกันกับองค์พระเยซูคริสตเจ้า ถวายพระกายและพระโลหิตของพระองค์แด่พระบิดาจ้า เพื่อกอบกู้เราทั้งหลาย เราจึงบอกว่าบูชามิสซาที่เราถวายทุกๆ วันนี้เป็นบูชาเดียวกับบูชาขององค์พระเยซูคริสตเจ้าบนกางเขน เมื่อเกือบสองพันปีที่ผ่านมาด้วย
เราถือว่า บูชามิสซาเป็นการภาวนาที่ยิ่งใหญ่ที่สุด เพราะเป็นบูชาขององค์พระเยซูคริสตเจ้า โดยมีพวกเราเข้าไปมีส่วนร่วมในบูชานี้ และเป็นการแสดงออกอย่างเด่นชัดถึงลักษณะและจุดประสงค์ที่ครบสมบูรณ์แห่งการภาวนา คือ การนมัสการพระเป็นเจ้า การโมทนาขอบพระคุณพระเป็นเจ้า การกราบขอโทษพระองค์ และการวิงวอนขอพระหรรษทานต่างๆ จากพระองค์
ในพิธีมิสซาบูชาขอบพระคุณ จะแบ่งเป็น 2 ภาคที่สำคัญ คือ “ภาควจนพิธีกรรม” และ “ภาคบูชาขอบพระคุณ” โดยก่อนที่จะเข้าสู่ภาควจนพิธีกรรมเป็นการเริ่มพิธีด้วยการแห่เข้ามายังพระแท่นบูชา มีการขับร้องบทเพลงและพิธีสำนึกผิดกราบขอขมาโทษพระเป็นเจ้า แล้วจึงเข้าสู่ภาควจนพิธีกรรมด้วยการอ่านบทอ่านจากพระคัมภีร์และบทเทศน์ให้ข้อคิดต่างๆ จากพระสงฆ์ผู้เป็นประธานในพิธี... ซึ่งถือเป็นส่วนสำคัญในการนำพระวาจานั้นไปเป็นหลักปฏิบัติในชีวิตประจำวัน ภาควจนพิธีกรรมนี้จบลงที่บทภาวนาเพื่อมวลชน
จากนั้น จะเริ่มภาคที่ 2 คือ ภาคบูชาขอบพระคุณ โดยเริ่มจากการเตรียมเครื่องบูชา อาจมีการแห่เครื่องบูชาไปถวายบนพระแท่นก็ได้ จากนั้นพระสงฆ์ผู้เป็นประธานในพิธีจะทำการถวายบูชาตามขั้นตอนต่อไป ในขณะที่บรรดาสัตบุรุษก็จะร่วมจิตใจตอบรับ หรือ ขับร้องบทเพลงร่วมไปด้วย จากนั้นเป็นบทขอบพระคุณและเสกศีล ซึ่งถือเป็นส่วนสำคัญที่สุดของบูชามิสซาก็ว่าได้ เพราะเป็นการอัญเชิญองค์พระเยซูคริสตเจ้าเสด็จมาประทับอยู่กับเราภายใต้รูปปรากฏของปังและเหล้าองุ่น ต่อจากนั้นจึงถึงการรับศีลมหาสนิท ซึ่งเริ่มด้วยบทข้าแต่พระบิดา...จนถึงการออกไปรับองค์พระคริสตเจ้าในศีลมหาสนิท (คือรับปังซึ่งที่แท้คือพระกายของพระเยซูนั่นเอง) และจบส่วนสำคัญนี้ที่ บทภาวนาหลังรับศีล ของประธาน
ในส่วนของพิธีปิดมิสซาบุชาขอบพระคุณจบลงด้วยการอวยพรให้บรรดาผู้ร่วมมิสซาของประธานในพิธีและขบวนแห่ออกจากบริเวณพิธี
การรับศีลมหาสนิท ก็เช่นเดียวกับการรับศีลศักดิ์สิทธิ์อื่นๆ คือ ต้องเตรียมกายเตรียมใจให้เหมาะสม หมายถึง ต้องแต่งกายเรียบร้อย สุภาพและแต่งจิตใจ (วิญญาณ) ของตนให้สวยสดงดงามปราศจากบาปมลทินต่างๆ โดยปกติแล้วถ้าเราเข้าใจว่ากำลังต้อนรับพระเป็นเจ้า คงไม่มีใครกระทำตัวไม่เหมาะสม ทุกคนคงจะพยายามเตรียมตัวอย่างดีที่สุด
การรับศีลมหาสนิทบ่อยๆ เป็นการเสริมสร้างชีวิตแห่งการเป็นหนึ่งเดียวกับพระเป็นเจ้าในตัวของเราอย่างดียิ่ง โดยปกติพระศาสนจักรนั้นให้เรารับศีลมหาสนิททุกครั้งเมื่อร่วมถวายมิสซาและไม่มีข้อขัดขวางใดๆ ให้เราตระหนักเสมอว่า ใครก็ตามที่มีชีวิตพระ คือ การเป็นหนึ่งเดียวกับพระเป็นเจ้า ย่อมเป็นหลักประกันอย่างแน่นอนว่า เขาจะได้รับความสุขนิรันดร (ไปสวรรค์)