แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

ศีลบวช
    ศีลบวช คือ ศีลศักดิ์สิทธิ์ที่บันดาลให้บุคคลเป็นพระสงฆ์ พร้อมทั้งรับมอบอำนาจและพระหรรษทานที่จะกระทำหน้าที่ขององค์พระเยซูคริสตเจ้าบนโลกนี้ หน้าที่อภิบาล หน้าที่เทศน์ สอนคำสอน และเป็นต้นหน้าที่ในการโปรดศีลศักดิ์สิทธิ์
    พระเยซูคริสตเจ้าทรงเลือกอัครสาวก ทรงอบรมสั่งสอนประทานพระพรแก่พวกเขา    ที่สำคัญทรงมอบอำนาจในการถวายบูชา (การเสกศีลมหาสนิท) และอำนาจแห่งการยกบาป    ดังที่กล่าวไปแล้วในเรื่องศีลมหาสนิทและศีลอภัยบาป    และอำนาจดังกล่าวนี้ก็ถูกสืบทอดกันต่อๆ มาโดยพระสังฆราชผู้สืบตำแหน่งจากอัครสาวก มายังพระสงฆ์อีกทีหนึ่ง
    ในความเชื่อของเรา เราเชื่อว่า “พระสงฆ์” คือ องค์พระคริสตเจ้า จึงมีคำกล่าวว่า “พระสงฆ์ คือ พระคริสตเจ้าอีกองค์หนึ่ง” (Alter Christus)    พระสงฆ์เป็นผู้ที่ได้รับการเรียกจากพระเป็นเจ้า (มีกระแสเรียก) ให้เตรียมตัวที่จะเป็นพระสงฆ์        และหลังจากการเตรียมตัวพอสมควร พระองค์จะทรงเลือกบางคนให้ได้รับศีลบวชเป็นพระสงฆ์    ดังนั้น การเป็นพระสงฆ์จึงถือว่าเป็นน้ำพระทัยของพระเป็นเจ้าที่จะทรงเรียกและเลือกบางคนเท่านั้น    ดังพระวาจาที่ทรงบอกว่า “มิใช้เจ้าที่เลือกเรา แต่เป็นเราที่เลือกเจ้า และตั้งเจ้าให้เป็นพระสงฆ์”
    ระหว่างที่ได้รับการเรียก และฝึกหัดเรียนรู้ที่จะก้าวไปสู่ความเป็นสงฆ์นี้ เราเรียกว่า “สามเณร” โดยปรกติจะไปอยู่รวมกันใน “บ้านเณร” คือ หอพักที่มีกฎระเบียบมีการอบรมแนะนำให้ค่อยๆ เรียนรู้และเข้าใจถึงกระแสเรียก อันหมายถึงน้ำพระทัยของพระเป็นเจ้าที่ทรงมีต่อตนเอง    ในบ้านเณรจะต้องเรียนรู้ทั้งวิชาทางโลกและทางธรรม คือ วิชาสามัญ และวิชาคำสอน เป็นต้น พระคัมภีร์และหน้าที่ของสามเณรที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนกว่าการเรียนรู้ คือ การฝึกหัดตนเองให้เป็นผู้เจริญเติบโตในความเชื่อ ความศรัทธา ต่อพระเป็นเจ้า รู้จักการทำงานร่วมกับผู้อื่น มีบุคลิกการเป็นผู้นำ มีความสุภาพ ความมัธยัสถ์ และพร้อมที่จะมีชีวิตเป็นโสดไม่แต่งงานตลอดชีวิต    หลักสูตรที่สำคัญ คือ ต้องมีความรู้เรื่องปรัชญาและเทวศาสตร์อย่างดีพอสมควร
    ในเวลาเดียวกัน เงื่อนไขสำคัญอีกประการหนึ่ง คือ ต้องตัดสินใจที่จะบวชเป็นพระสงฆ์ด้วยเสรีภาพของตนเอง ปราศจากแรงกดดันหรือ การบังคับใดๆ ทั้งสิ้น
    ดังนั้น จึงไม่แปลกที่มีผู้ที่เป็นเณร คือ ได้รับการเรียกเข้าไปฝึกหัดตนเพื่อเป็นพระสงฆ์    แต่ภายหลังต้องออกไปเพราะพระเป็นเจ้าทรงเลือกบางคนเท่านั้น... แต่ทั้งนี้และทั้งนั้น ผู้ที่ได้รับการเรียกจากพระเป็นเจ้าให้เป็นเณรก็พึงที่จะกระทำหน้าที่ของตนให้ดีที่สุด    ส่วนพระเป็นเจ้าจะทรงให้บวชเป็นพระสงฆ์หรือไม่นั้น คือ “น้ำพระทัย” ของพระองค์
    มีคำถามว่า เรารู้ได้อย่างไรว่าพระเป็นเจ้าทรงเรียกเรา    แน่นอน “กระแสเรียก” นี้เกิดขึ้นกับบางคนเท่านั้น และเกิดขึ้นในรูปแบบที่แตกต่างกันออกไป    บางครั้งเมื่อแรกเข้าไปบ้านเณรแทบไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเป็นพระสงฆ์คืออะไร เช่น บางคนอยากเข้าบ้านเณรเพราะเห็นว่าเณรเรียบร้อยดี หรือ บางคนเห็นบ้านเณรมีเล่นฟุตบอลกันสนุกดี ฯลฯ     แต่ภายหลังค่อยๆ เรียนรู้ฝึกหัดรับการอบรมไป จึงเข้าใจแจ้งชัดขึ้น และตัดสินใจเลือกชีวิตสงฆ์    แต่อย่างไรก็ตามก็ยังต้องได้รับการอนุมัติจากพระสังฆราชของตนเองเสียก่อนจึงจะรับศีลบวชได้
    เรียนนานไหม กว่าจะได้บวช    โดยปรกติเมื่อเข้าเรียน ม.1 จะใช้เวลาประมาณ 15 ปี    ดังนั้น ถ้านับอายุก็น่าจะประมาณ 28-30 ปี ซึ่งถือว่าเป็นผู้ใหญ่แล้ว และถ้าจะถามว่า เมื่อเข้าบ้านเณรตั้งแต่ ม.1 จะบวชได้สักกี่เปอร์เซนต์    ตามสถิติจะอยู่ที่ประมาณ 15 เปอร์เซ็นต์ คือ ร้อยคนจะได้เป็นพระสงฆ์ประมาณ 15 คน
    ผู้ที่จะรับศีลบวชเป็นพระสงฆ์ได้ในปัจจุบันนี้ พระศาสนจักรกำหนดให้เพียงผู้ชายเท่านั้น    ดังนั้น สตรีจะบวชเป็นพระสงฆ์ยังไม่ได้    ส่วนครึ่งหญิงครึ่งชาย ถ้ารู้มาก่อนบวชก็จะไม่ได้รับการอนุญาตให้บวชเหมือนกัน คราวนี้ถ้าหากบวชแล้วมีอาการดังกล่าวภายหลัง ก็จะได้รับการพิจารณาจากพระสังฆราช  และมีการหาหนทางแก้ไข    ถ้าแก้ไม่ได้ก็คงต้องพ้นจากหน้าที่สงฆ์ไปตามระเบียบ
    พระสงฆ์มีความสำคัญมากในพระศาสนจักร    เพราะเป็นผู้กระทำหน้าที่สำคัญที่องค์พระเยซูทรงมอบหมายให้โดยตรง เป็นต้น เรื่องการโปรดศีลศักดิ์สิทธิ์ เช่น ศีลมหาสนิท (ถวายมิสซา) และศีลอภัยบาป    จนมีคำกล่าวว่า “ถ้าไม่มีพระสงฆ์ก็ไม่มีมิสซา เมื่อไม่มีมิสซาก็ไม่มีศีลมหาสนิท”
ดังนั้น เราจะต้องเอาใจใส่สนับสนุนช่วยเหลือให้มีกระแสเรียกการเป็นพระสงฆ์มากยิ่งๆ ขึ้น และต้องเอาใจช่วย สวดภาวนาให้พระสงฆ์ที่มีอยู่แล้วของเราดำรงชีวิตที่ซื่อสัตย์ต่อพระกระแสเรียก    สามารถทำงานในนามของพระเป็นเจ้า คือ การอภิบาลดูแลประชาสัตบุรุษ เทศน์  และสอนคำสอนอย่างดีมีประสิทธิภาพมากขึ้น