แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

ปีของพระศาสนจักร
    ปีของพระศาสนจักร    พระศาสนจักรกำหนดให้ในรอบปีหนึ่งๆ มีช่วงเวลาหรือที่เรียกว่า “เทศกาล” เพื่อให้ความสำคัญกับพระภารกิจแห่งการไถ่กู้ขององค์พระเยซูคริสตเจ้า    โดยจัดให้เป็นระยะเวลาของการเตรียมจิตใจและมีส่วนรับการไถ่กู้ของพระองค์นั่นเอง โดยแบ่งออกเป็น 4 เทศกาล ดังนี้...

1. เทศกาลเตรียมรับเสด็จพระคริสตเจ้าและพระคริสตสมภพ
•    เทศกาลเตรียมรับเสด็จพระคริสตเจ้า คือ ช่วงเวลา 4 สัปดาห์ก่อนสมโภชพระคริสตสมภพ    โดยเริ่มตั้งแต่วันอาทิตย์หลังจากวันอาทิตย์สมโภชพระคริสตเจ้าเป็นกษัตริย์    ตลอดเวลา 4 สัปดาห์นี้ พระศาสนจักรเชื้อเชิญให้บรรดาคริสตชนทำการเตรียมตัวเตรียมใจด้วยการบำเพ็ญภาวนา ลด ละ เลิก อบายมุขและมีจิตเมตตาต่อเพื่อนมนุษย์ คือ เน้นให้รู้จักรักพระและรักมนุษย์ด้วยกิจการต่างๆ ในชีวิตประจำวันของตน
สิ่งที่น่าสังเกตก็คือ เราจะเห็นอาภรณ์ที่พระสงฆ์ใช้ในพิธีมิสซาเป็นสีม่วง ซึ่งหมายถึง สีแห่งการเพียรพยายาม อดทน และตายจากตัวเองในกิเลสตัณหา สมัยก่อนเราเรียกช่วงเวลานี้ว่า “อนุพรต”
•    พระคริสตสมภพ    ถือเป็นวันสำคัญที่สุดในเทศกาลนี้ คือ วันที่ 25 ธันวาคม เป็นวันสมโภชการบังเกิดมาขององค์พระเยซูคริสตเจ้า ถือเป็นวันฉลองบังคับ ที่จะไม่มีการเปลี่ยนไปฉลองในวันอื่นทั้งสิ้น    คริสตชนทุกคนจะต้องไปร่วมพิธีมิสซาบูชาขอบพระคุณ เช่นเดียวกับวันอาทิตย์
o    อัฐมวารพระคริสตสมภพ    คือ ระยะ 8 วันหลังจากการสมโภชพระคริสตสมภพ    มีความสำคัญอยู่ที่การเฉลิมฉลองวันที่พระคริสตเจ้าแสดงองค์ คือ การแลองฉลองการเดินทางไปนมัสการพระกุมารเยซูของพญาสามองค์ เตือนให้เราระลึกถึงการเปิดเผยพระองค์เองแก่มนุษยชาติทั้งหลาย ตรงกับวันที่ 6 มกราคม ตามปกติจะเลื่อนไปฉลองในวันอาทิตย์    หลังจากวันอาทิตย์สมโภชพระวิสุทธิวงศ์ หรือ ครอบครัวศักดิ์สิทธิ์     สีของอาภรณ์ที่พระสงฆ์ใช้ในพิธีระหว่างพระคริสตสมภพจะเป็นสีขาว
•    วันอาทิตย์ต่อจากวันพระคริสตเจ้าแสดงองค์ เป็นวันอาทิตย์ที่พระเยซูคริสตเจ้าทรงรับพิธีล้างและเป็นช่วงเวลาเทศกาลธรรมดาอีกประมาณ 7-8 สัปดาห์    สีของอาภรณ์พระสงฆ์จะใช้สีเขียว  นอกจากนั้นจะเข้าสู่มหาพรต

2. เทศกาลมหาพรต
    คือช่วงเวลา 40 วันนับตั้งแต่วันพุธรับเถ้าจนถึงวันสมโภชปัสกา    เป็นเวลาของการถือศีลอดอาหาร เช่นเดียวกับที่พระเยซูคริสตเจ้าทรงอยู่ในที่เปลี่ยว ทรงจำศีล อดอาหาร สวดภาวนา และถูกประจญจากปีศาจ
    ตลอดระยะเวลา ในเทศกาลมหาพรตนี้ พระศาสนจักรเชื้อเชิญให้เรากระทำกิจการสำคัญสองอย่าง คือ รู้จักบังคับตัวเองมีชีวิตเรียบง่าย พยายามเอาชนะความอ่อนแอตามประสามนุษย์ที่มีอยู่ในตัวเรา คือ โลภ โกรธ หลง และในเวลาเดียวกัน ก็ให้รู้จักการอยู่กับเพื่อนมนุษย์ด้วยความรัก ความเมตตา ช่วยเหลือผู้อื่น โดยเฉพาะผู้ที่ตกทุกข์ได้ยาก และ ผู้ด้อยโอกาสในสังคม พูดง่ายๆ ก็คือให้รู้จักแบ่งปันนั่นเอง
    พิธีรับเถ้า    เป็นพิธีที่เตือนให้เราตระหนักว่า วันหนึ่งเราต้องตาย และเมื่อตายไปแล้วร่างกายของเราก็สลายเน่าเปื่อยกลายเป็นดิน     ดังนั้น ให้รู้จักกลับใจ สะสมคุณธรรมความดีเอาไว้ให้มากๆ
    สัปดาห์ศักดิ์สิทธิ์    คือ ระยะเวลา 7 วันนับตั้งแต่วันอาทิตย์ใบลานจนถึงวันอาทิตย์สมโภชปัสกา    เริ่มต้นด้วยวันอาทิตย์ใบลาน เตือนให้เราคิดถึงการเสด็จเข้าสู่กรุงเยรูซาเล็มอย่างสง่าประหนึ่งแม่ทัพที่กลับจากการทำศึกสงครามพร้อมกับชัยชนะ    ประชาชนทุกคนชื่นชมยินดีต้อนรับด้วยการนำใบปาล์มมาโบกต้อนรับ... แต่ที่แท้แล้วการเสด็จเข้ากรุงเยรูซาเล็ม คือ การเดินเข้าสู่มหาทรมานความตายและบรรลุถึงชัยชนะที่แท้จริงด้วยการเสด็จกลับคืนพระชนม์ชีพนั่นเอง
    ที่เรียกว่าสัปดาห์ศักดิ์สิทธิ์ เพราะว่าระหว่างสัปดาห์นี้มีการระลึกถึงเหตุการณ์ที่สำคัญของพระเยซูคริสตเจ้า คือ
    - วันพฤหัสศักดิ์สิทธิ์    เป็นวันที่บ่งบอกถึงพระเมตตาและความรักของพระองค์ที่มีต่อมนุษย์ด้วยการตั้งศีลมหาสนิทและศีลบวชเป็นพระสงฆ์พิธีกรรมพิเศษในวันนี้ คือ การล้างเท้าบรรดาอัครสาวก ของพระเยซูเจ้า นั่นหมายถึงการถ่อมพระองค์ลงเป็นผู้รับใช้ของพระองค์ที่มอบให้เราทุกคนกระทำตามด้วย    และหลังจากพิธีมิสซาในวันนี้ยังมีการเฝ้าศีลมหาสนิท เพราะเป็นวันที่พระเยซูเจ้าทรงตั้งศีลมหาสนิทอันเป็นศีลแห่งความรักอันยิ่งใหญ่ที่พระองค์ทรงประทับในเราเป็นเลือนเป็นเนื้อของเราเพื่ออยู่กับเราเสมอไป
    - วันศุกร์ศักดิ์สิทธิ์    วันนี้ถือเป็นวันที่พระองค์ทรงรับมหาทรมานถูกจับเฆี่ยนตี ถูกสวมมงกุฎหนาม ต้องแบกกางเขนไปตามเขากัลป์วาริโอ และที่สุดทรงสิ้นพระชนม์บนไม้กางเขน    เพื่อไถ่บาปของเรา    วันนี้จะไม่มีพิธีบูชามิสซา    แต่มีการระลึกถึงพระมหาทรมานของพระองค์และการนมัสการกางเขนร่วมพระทรมานพร้อมกับพระองค์
    - วันเสาร์ศักดิ์สิทธิ์    เป็นวันแห่งการระลึกถึงพระศพของพระองค์ที่ถูกฝังอยู่ในพระคูหา และในภาคค้ำจะมีพิธีตื่นเฝ้ารอคอยการเสด็จกลับเป็นขึ้นมาของพระองค์ มีพิธีเสกไฟ เสกน้ำ  มีการจุดเทียนปัสกา ซึ่งหมายถึงการเสด็จกลับเป็นขึ้นมาของพระองค์ และตามธรรมเนียมทั่วไปก็จะมีพิธีบูชามิสซาเฉลิมฉลองการกลับเป็นขึ้นมาของพระองค์ เพราะตังแต่เวลาค่ำของวันเสาร์เป็นต้นไป ถือเป็นวันอาทิตย์แล้ว นั่นคือ เป็นการฉลองปัสกาแล้ว
    3. เทศกาลปัสกา    ปัสกาถือเป็นวันสมโภชที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในรอบปี ทั้งนี้เพราะเป็นการฉลองการเสด็จกลับคือนพระชนม์ชีพขององค์พระเยซูคริสตเจ้า อันหมายถึง การชนะต่อความตายต่อบาป     คำว่า “ปัสกา” หมายถึง การข้ามหรือ การผ่านไป จึงมีความหมายถึงการผ่านหรือข้ามจาแความตายไปสู่ชีวิต จากบาปไปสู่บุญ    ดังนั้น ประชากรของพระเจ้า คือ พวกเราจะได้รับผลแห่งการเสด็จกลับคืนพระชนม์ชีพของพระองค์ เราทุกคนจะรอดพ้นจากบาปแล้ความตายด้วยเช่นเดียวกัน    ถ้าหากเราดำเนินชีวิตเป็นหนึ่งเดียวกับพระองค์ด้วยการปฏิบัติตามจิตตารมณ์ของพระองค์ สีประจำเทศกาลคือสีขาว
    ต่อจากนั้นอีก 40 วันเราจะมีการเฉลิมฉลองการเสด็จสู่สวรรค์อย่างผู้มีชัยชนะขององค์พระเยซูคริสตเจ้า กล่าวคือ พระองค์ทรงกระทำพระภารกิจของพระองค์ที่ทรงได้รับมอบหมายจากพระบิดานั้นได้สำเร็จสมบูรณ์แล้ว ที่เหลือใครจะได้รับความรอดหรือไม่ จึงเป็นหน้าที่ของแต่ละคนที่จะต้องมีส่วนร่วมในแผนการแห่งความรอดนี้ ด้วยการปฏิบัติตามจิตตารมณ์ของพระองค์
    ต่อจากนั้นอีก 1 สัปดาห์เราเฉลิมฉลองการเสด็จลงมาขององค์พระจิตเจ้า อันหมายถึงการประทับอยู่ของพระเป็นเจ้าเพื่อประทานพระพรแห่งความช่วยเหลือเราในการมีชีวิตประจำวัน ซึ่งเราเรียกว่าพระคุณของพระจิต 7 ประการ ดังที่ได้กล่าวไปแล้วในเนื้อหาเรื่องศีลกำลัง
    4. เทศกาลหลังสมโภชพระจิตเจ้า    (เทศกาลธรรมดา) เป็นระยะเวลาประมาณ 27 สัปดาห์ ซึ่งถือเป็นช่วงที่ยาวที่สุด เราเรียกว่าเทศกาลธรรมดา เหมือนกับระยะเวลา 7-8 สัปดาห์หลังจากฉลองพระเยซูเจ้าทรงรับพิธีล้าง    ซึ่งถือเป็นเทศกาลธรรมดาอีกช่วงหนึ่ง สีประจำเทศกาลนี้ใช้สีเขียว
    ในช่วงเทศกาลธรรมดานี้ หลังสมโภชพระจิตเจ้ามีวันแลองสำคัญอยู่หลายวัน คือ
    ก. วันฉลองพระตรีเอกภาพ คือ วันฉลององค์พระผู้เป็นเจ้าที่ทรงเป็นพระเจ้าองค์เดียวที่ประกอบด้วยสามพระบุคคลเป็นหนึ่งเดียวกัน ดังข้อความเชื่อที่เราได้ทราบแล้วในภาคที่ 1
    ข. วันฉลองพระกายและพระโลหิตของพระเยซูเจ้า คือ การฉลองความรักอันยิ่งใหญ่ที่พระเยซูเจ้าทรงมอบพระกายและพระโลหิตของพระองค์ เป็นอาหารเลี้ยงวิญญาณของเราทางศีลมหาสนิท    ดังที่เราได้ทราบแล้วในภาคที่ 3 เรื่องศีลมหาสนิท และจะมีพิธีแห่ศีลมหาสนิทอย่างสง่าร่วมด้วยเสมอ
    ค. วันแลองพระหฤทัยของพระเยซูเจ้า        เพื่อให้มนุษย์ได้แสดงความกตัญญูรู้คุณต่อความรักอันยิ่งใหญ่หาที่สุดมิได้ที่ทรงมีต่อมนุษย์และเพื่อชดเชยบาปมากมายที่เราได้ทำเคือพระหฤทัยของพระองค์
    ง. วันฉลองนักบุญเปโตรและนักบุญเปาโล (10 มิถุนายน)    ซึ่งพระศาสนจักรให้ความสำคัญในฐานะที่ท่านทั่งสองเป็นรากฐานของพระศาสนจักรตั้งแต่แรกเริ่ม