ภารกิจของฆราวาสในโลก
พระสันตะปาปา ยอห์น ปอล ที่ 2 ทรงพอพระทัยที่จะนำความคิดจากสังคายนาวาติกันครั้งที่ 2 มากล่าวซ้ำตามข้อความที่ว่า ชีวิตของสังคมโลก ก็คือ ชีวิตของครอบครัวนั่นเอง ครอบครัวนี้เองที่เป็นองค์ประกอบทางกายภาพของสังคม และที่ให้การประกันว่าสังคมจะมีสมาชิกสืบทอดต่อไปเรื่อยๆ
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ครอบครัวนั้นเป็นหัวใจของสังคม กล่าวคือ ถ้าครอบครัวดี คนดี สังคมก็จะดีด้วย (ข้อ 5) มีการบรรยายความคิดอันยอดเยี่ยมของพระสันตะปาปาเปาโล ที่ 6 เกี่ยวกับงานเผยแพร่พระวรสารที่ครอบครัวได้รับการถ่ายทอดให้แก่ผู้อื่น โดยการรับฟังพระวรสารและดำเนินชีวิตตามพระวรสารในความจริงแท้ของความรักและในความสัมพันธ์ของครอบครัว พระสันตะปาปา ยอห์น ปอล ที่ 2 ก็ทรงเน้นถึงงานแพร่ธรรมของครอบครัว
ซึ่งมิได้เพียงกล่าวถึงบทบาทนี้ว่าสำคัญเป็นอันดับแรกเท่านั้น แต่เป็นสิ่งที่มีอยู่แล้วตามธรรมชาติและตามวิธีการที่หาอะไรทดแทนมิได้เลย งานแพร่ธรรมนี้ต้องดำเนินไปตามสภาพความเป็นไปต่างๆ ของครอบครัว (ข้อ 50) อันได้แก่งานในด้านการรับใช้ความรักและชีวิตรวมถึงการสนับสนุนความสัมพันธ์ในสังคม งานในด้านการอบรมบุตร งานในด้านความสัมพันธ์กับพระเจ้า เรามิควรละเว้นที่จะอ่านข้อความสองข้อที่เต็มไปด้วยความอบอุ่นใจและความเรียบง่ายของเนื้อหาที่เกี่ยวกับการสวดภาวนาในครอบครัว อันได้แก่ ข้อ 59 ย่อหน้าสุดท้าย และข้อ 60 ย่อหน้าที่สอง ซึ่งมีการอ้างถึงคำกล่าวของพระสันตะปาปาเปาโล ที่ 6
ชีวิตครอบครัวคริสตชนเป็นศาสนบริการ
สิ่งที่เป็นหัวข้อสำคัญในสมัชชาพระสังฆราช ปี 1980 และในสมณสารนี้ก็คือ ความคิดที่มีการเน้นหลายครั้งว่า ภารกิจของครอบครัวเป็น “ศาสนบริการ” อย่างหนึ่ง อาจพูดอีกนัยหนึ่งได้ว่าชีวิตแห่งความรักของคู่สมรสและบทบาททุกประการของครอบครัวนั้น เป็นภารกิจที่อยู่ในความรับผิดชอบของคู่สมรสและครอบครัว ซึ่งเป็น “ศาสนบริการ” ที่อยู่ในความรับผิดชอบของคู่สมรสและครอบครัวเท่านั้น เป็นงานที่ประกอบด้วยลักษณะต่างๆ (ลักษณะของประกาศก สงฆ์ และกษัตริย์) และประกอบด้วยประสิทธิผลแห่งการไถ่กู้ของภารกิจแพร่ธรรม ซึ่งพระคริสตเจ้ามอบให้อยู่ในความรับผิดชอบของพระศาสนจักร อันได้แก่ภารกิจการพิทักษ์รักษา การประกาศและการเผยแพร่ความรัก (ข้อที่ 17) ภารกิจในการแสดงความซื่อสัตย์ (ข้อ 20) ภารกิจแห่งความสัมพันธ์ (ข้อ 21) ภารกิจการอุทิศตัวรับใช้ชีวิต “การเผยแพร่ภาพลักษณ์ของพระเจ้าจากคนหนึ่งให้แก่อีกคนหนึ่ง” (ข้อ 28) ภารกิจการอบรมดูแลบุตร (ข้อ 36, 38, 53) ภารกิจที่ “เป็นเครื่องเตือนใจพระศาสนจักรให้ระลึกถึงเหตุกาณ์ซึ่งเกิดขึ้นที่ไม้กางเขนอยู่เสมอ” (ข้อ 13) “ศาสนบริการ” นี้ มีความเป็นจริงมากจนกระทั่งพระสันตะปาปา ยอห์น ปอล ที่ 2 ได้ยกคำพูดของนักบุญโทมัส อไควนัส ซึ่งมักจะถูกลืมบ่อยๆ ในเรื่องการเปรียบเทียบศาสนบริการของคู่สมรสกับศาสนบริการของสงฆ์ที่ว่า “งานเผยแพร่และอนุรักษ์ชีวิตจิตวิญญาณนั้น บางคนก็ทำสำเร็จโดยศาสนบริการทางวิญญาณ ซึ่งเป็นงานเฉพาะของผู้ที่รับศีลบวชเป็นสงฆ์ บางคนก็ทำโดยทางศาสนบริการทางร่างกายและวิญญาณพร้อมกันไป ซึ่งเป็นผลของศีลสมรส” (Summa Contra Gentiles ภาค 4 บทที่ 58 : อ้างอิงในข้อ 32)
พระศาสนจักรระดับครอบครัว
การที่มีการกล่าวถึง “พระศาสนจักรระดับครอบครัว” หลายต่อหลายครั้ง ก็เป็นการแสดงให้เห็นความสำคัญอยู่ในตัวแล้ว แต่คำนี้ยังมีความสำคัญเด่นชัดเป็นพิเศษ ถ้าเราได้มาคิดถึงประวัติความเป็นมาของคำนี้ ในสังคายนาวาติกันครั้งที่ 2 ได้เริ่มพูดในนัยนี้เป็นครั้งแรก (“ในครอบครัวอันเป็นหน่วยที่คล้ายกับพระศาสนจักร”, Lumen Gentium) แต่คำนี้กลับถูกลบล้างไปในเวลาต่อมาว่า เป็นคำที่ไม่เหมาะสม ที่สุด สมัชชาพระสังฆราช ปี 1980 และพระสันตะปาปา ยอห์น ปอล ที่ 2 ได้ให้ความสำคัญแก่คำนี้ใหม่ และไม่ได้ใช้เพื่อเป็นการเปรียบเทียบอีกต่อไป แต่ใช้เป็นคำไวพจน์ “ครอบครัวคริสตชน” เลยทีเดียว ดังนั้นจึงเป็นการรับรองอย่างเป็นทางการว่า งานแพร่ธรรมของครอบครัวซึ่งเป็นงานของฆราวาสโดยเฉพาะนั้น ก็เป็นงานของพระศาสนจักรโดยตรง
การรับใช้ครอบครัว
ก่อนที่จะจบหัวข้อนี้ ขอให้เราสังเกตคำว่า “งานของพระศาสนจักร” ซึ่งเป็นคำที่พระสันตะปาปา ยอห์น ปอล ที่ 2 ได้ให้แก่งานของบรรดานายแพทย์ นักการศึกษา นักกฎหมาย หรือคู่สมรสที่อุทิศตนเพื่อความผาสุกของครอบครัว และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ให้แก่ความพยายามของทุกๆ คนที่มีความตั้งใจที่จะแนะนำคู่สมรสให้ใช้วิธีคุมกำเนิดแบบสังเกตจังหวะตามธรรมชาติ (ข้อ 35, 43, 47, 71, 75)
จึงไม่น่าแปลกใจเลยที่จะพบการใช้สำนวน 3 สำนวน ขนานกันไป เพื่อเน้นความสำคัญของศาสนบริการนี้ อันได้แก่ “อนาคตของการเผยแพร่พระวรสารขึ้นอยู่กับพระศาสนจักรระดับครอบครัวเป็นส่วนใหญ่” (ข้อ 52) “อนาคตของสังคมโลก และของพระศาสนจักรขึ้นอยู่กับครอบครัว” (ข้อ 75) และ “อนาคตของมนุษยชาติขึ้นอยู่กับครอบครัว” (ข้อ 86)
ที่มา : ครอบครัวคริสตชนในโลกปัจจุบัน (Familiaris Consortio)