ความสัมพันธ์ระหว่างพันธสัญญาเดิมกับพันธสัญญาใหม่
40. ในเรื่องเอกภาพของพระคัมภีร์ในพระคริสตเจ้า นักเทววิทยาและผู้อภิบาลทั้งหลายจำต้องสำนึกถึงความสัมพันธ์ของพันธสัญญาเดิมกับพันธสัญญาใหม่ ก่อนอื่นหมด เห็นได้ชัดว่าพันธสัญญาใหม่เองยอมรับว่าพันธสัญญาเดิมคือพระวาจาของพระเจ้า เพราะฉะนั้นจึงยอมรับว่าพระคัมภีร์ของประชากรฮีบรูยังมีผลบังคับใช้อยู่อีก พันธสัญญาใหม่ยอมรับโดยนัยว่าพันธสัญญาเดิมใช้วิธีพูดแบบเดียวกัน และบ่อยๆก็กล่าวพาดพิงถึงข้อความของพันธสัญญาเดิมนี้ พันธสัญญาใหม่ยังยอมรับพันธสัญญาเดิมอย่างชัดเจนด้วย เพราะกล่าวอ้างถึงข้อความหลายตอนของพระคัมภีร์ภาคนี้เป็นเหตุผลพิสูจน์อยู่บ่อยๆ การพิสูจน์โดยอิงอยู่กับข้อความของพันธสัญญาเดิมในพันธสัญญาใหม่จึงมีน้ำหนักเด็ดขาดมากยิ่งกว่าการใช้เหตุผลตามปรกติ ในพระวรสารฉบับที่สี่ พระเยซูเจ้าตรัสถึงเรื่องนี้ว่า “พระคัมภีร์จะลบล้างไม่ได้” (ยน 10:35) และนักบุญเปาโลก็อธิบายอย่างชัดเจนว่า การเปิดเผยในพันธสัญญาเดิมยังคงมีผลบังคับใช้ได้สำหรับเราชาวคริสต์ด้วย (เทียบ รม 15:4; 1 คร 10:11) เรายังกล่าวยืนยันอีกว่า “พระเยซูชาวนาซาเร็ธเป็นชาวฮีบรู และพระศาสนจักรก็เกิดจากแผ่นดินศักดิ์สิทธิ์ซึ่งเป็นประดุจมารดา” ดังนั้นคริสตศาสนาจึงมีรากอยู่ในพันธสัญญาเดิมและได้รับน้ำเลี้ยงจากรากนี้อยู่ตลอดเวลา ดังนั้น คำสอนที่ถูกต้องของคริสตศาสนาจึงปฏิเสธไม่ยอมรับคำสอนลัทธิของมาร์ชอน (Marcionism) อยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าในรูปแบบใหม่ใดๆที่พยายามสอนว่าพันธสัญญาเดิมขัดแย้งกับพันธสัญญาใหม่
นอกจากนั้น พันธสัญญาใหม่เองยังอ้างว่าตนสอดคล้องกับพันธสัญญาเดิมและประกาศว่าในธรรมล้ำลึกเรื่องพระชนมชีพ การสิ้นพระชนม์และการกลับคืนพระชนมชีพของพระคริสตเจ้านี้ พระคัมภีร์ของประชากรฮีบรูได้บรรลุถึงความสมบูรณ์ ถึงกระนั้นยังต้องสังเกตด้วยว่าความคิดเรื่องพระคัมภีร์สำเร็จลงนั้นก็มีความซับซ้อนเพราะเรื่องนี้มีสามมิติด้วยกัน คือมิติความต่อเนื่องพื้นฐานกับการเปิดเผยในพันธสัญญาเดิม มิติการขาดตอน และมิติการทำให้สมบูรณ์และก้าวหน้าต่อไปอีก พระธรรมล้ำลึกของพระคริสตเจ้ามีเจตนาต่อเนื่องกับคารวกิจการถวายบูชาในพันธสัญญาเดิม แต่ก็สำเร็จลงด้วยวิธีการที่แตกต่างกันอย่างมาก สอดคล้องกับคำพยากรณ์จำนวนมากของบรรดาประกาศก และดังนี้จึงสำเร็จลงอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นเลย พันธสัญญาเดิมเองก็มีมุมมองที่แตกต่างกันหลายแบบเกี่ยวกับสถาบันและประกาศก ธรรมล้ำลึกปัสกาของพระคริสตเจ้าสอดคล้องกับคำพยากรณ์และรูปแบบล่วงหน้าของพระคัมภีร์ – แม้ไม่อาจเห็นเหตุผลได้ก่อนหน้านั้นก็ตาม – ถึงกระนั้นธรรมล้ำลึกนี้ก็ยังแสดงให้เห็นความไม่ต่อเนื่องกันด้วย ถ้าคิดถึงสถาบันต่างๆของพันธสัญญาเดิม
41. การพิจารณาเหล่านี้จึงแสดงให้เห็นว่า จำเป็นอย่างยิ่งที่คริสตชนจะต้องยอมรับพันธสัญญาเดิม แต่ในเวลาเดียวกันพันธสัญญาเดิมก็จำเป็นต้องอธิบายความหมายแท้จริงเกี่ยวกับพระคริสตเจ้าด้วย นับตั้งแต่สมัยอัครสาวกและต่อมาในธรรมประเพณีที่เป็นปัจจุบัน พระศาสนจักรย้ำอยู่เสมอถึงแผนการหนึ่งเดียวของพระเจ้าในพันธสัญญาทั้งสอง โดยอธิบายด้วยการใช้ความหมายรูปแบบ (Typology) แต่วิธีการเช่นนี้ก็มิได้เกิดขึ้นตามอำเภอใจ แต่มีอยู่แล้วในเหตุการณ์ที่พระคัมภีร์เล่าและครอบคลุมพระคัมภีร์ทั้งหมด คำอธิบายโดยใช้รูปแบบ “มองเห็นในกิจกรรมของพระเจ้าในพันธสัญญาเดิมว่าเป็นการกล่าวล่วงหน้าถึงกิจกรรม ที่พระเจ้าทรงทำให้สำเร็จไปในองค์พระบุตรผู้ทรงรับสภาพมนุษย์ เมื่อเวลามาถึง” คริสตชนจึงอ่านพันธสัญญาเดิมโดยคำนึงถึงพระคริสตเจ้าผู้สิ้นพระชนม์และกลับคืนพระชนมชีพ ถึงแม้ว่าการอ่านในความหมายรูปแบบเปิดเผยให้เราเห็นอย่างไม่รู้จักจบสิ้น ว่าเรื่องราวในพันธสัญญาเดิมเกี่ยวข้องกับพันธสัญญาใหม่ เราก็ต้องไม่ลืมว่าพันธสัญญาเดิมยังคงรักษาคุณค่าการเปิดเผยเฉพาะของตนไว้ ดังที่องค์พระผู้เป็นเจ้าเองทรงยืนยันอยู่เสมอ (เทียบ มก 12:29-31) ดังนั้น “พันธสัญญาใหม่จึงเรียกร้องให้เราอ่านโดยคำนึงถึงพันธสัญญาเดิมด้วย การอธิบายคำสอนคริสตศาสนาในสมัยแรกจึงใช้พันธสัญญาเดิมอยู่ตลอดเวลา (เทียบ 1 คร 5:6-8; 10:1-11)” เพราะเหตุนี้ บรรดาพระสังฆราชแห่งสมัชชาจึงกล่าวย้ำว่า “การเข้าใจพระคัมภีร์ของชาวฮีบรูจึงอาจช่วยคริสตชนในการศึกษาและเข้าใจพระคัมภีร์ได้”
ในเรื่องนี้ นักบุญออกัสตินเคยกล่าวไว้อย่างชาญฉลาดว่า “พันธสัญญาใหม่ซ่อนอยู่ในพันธสัญญาเดิม และพันธสัญญาเดิมปรากฏชัดในพันธสัญญาใหม่” ดังนั้น ทั้งในงานอภิบาลและในการศึกษาทางวิชาการ จึงจำเป็นที่จะต้องชี้ให้เห็นความสัมพันธ์แน่นแฟ้นระหว่างพันธสัญญาทั้งสอง โดยระลึกถึงคำกล่าวของนักบุญเกรโกรีผู้ยิ่งใหญ่ที่ว่า “สิ่งที่พันธสัญญาเดิมสัญญาไว้ พันธสัญญาใหม่แสดงให้เห็น และสิ่งที่พันธสัญญาเดิมบอกไว้อย่างคลุมเครือ พันธสัญญาใหม่ก็ประกาศอย่างเปิดเผย พันธสัญญาเดิมจึงเป็นคำพยากรณ์ถึงพันธสัญญาใหม่ และพันธสัญญาใหม่เป็นการอธิบายความหมายของพันธสัญญาเดิม”