แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

พระวาจาและความเงียบ


66.    พระสังฆราชหลายท่านในที่ประชุมสมัชชาได้กล่าวย้ำถึงความสำคัญของความเงียบ ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับพระวาจาของพระเจ้าและการรับพระวาจาในชีวิตของผู้มีความเชื่อ  จริงแล้วคำพูดกล่าวออกมาและฟังได้เมื่อมีความเงียบทั้งภายนอกและภายใน สมัยของเราไม่เอื้ออำนวยให้มีการคิดรำพึง และบางครั้งดูเหมือนจะมีความกลัวที่จะปลีกตนออกมาให้พ้นจากสื่อสาธารณะ แม้ในช่วงเวลาสั้นๆด้วย เพราะเหตุนี้จึงจำเป็นที่ทุกวันนี้ประชากรของพระเจ้าต้องได้รับการอบรมให้รู้จักคุณค่าของความเงียบ การค้นพบว่าพระวาจาของพระเจ้าเป็นจุดศูนย์กลางของชีวิตพระศาสนจักรยังหมายความอีกด้วย ถึงการค้นพบความหมายของการรำพึงภาวนาและความเงียบทางจิตใจอีกครั้งหนึ่ง ธรรมประเพณียาวนานของบรรดาปิตาจารย์สอนเราว่าพระธรรมล้ำลึกของพระคริสตเจ้ามีความหมายรวมถึงความเงียบด้วย  เราจะพบว่าพระวาจาของพระเจ้าประทับอยู่กับเราได้ก็เมื่อเราอยู่ในความเงียบเท่านั้น เช่นเดียวกับที่พระแม่มารีย์ซึ่งเป็นสตรีที่ฟังพระวาจาและรู้จักเงียบ (หรือตามตัวอักษร “สตรีแห่งพระวาจาและสตรีแห่งความเงียบ”) พิธีกรรมของเราจึงต้องช่วยให้มีท่าทีเช่นนี้เพื่อจะฟังพระวาจาได้อย่างแท้จริงด้วย (ตามวาทะของนักบุญออกัสตินที่ว่า) Verbo crescente, verba deficient (= ยิ่งพระวาจาเพิ่มขึ้น คำพูด[ของเรา]ยิ่งน้อยลง)
    คุณค่านี้ควรปรากฏชัดให้มากที่สุดในวจนพิธีกรรมซึ่ง “ต้องมีขึ้นเพื่อส่งเสริมการรำพึงภาวนา”  ความเงียบที่กำหนดไว้นี้ต้องนับว่าเป็น “ส่วนหนึ่งของการประกอบพิธี” ด้วย  ข้าพเจ้าจึงขอเตือนบรรดาผู้อภิบาลได้ส่งเสริมให้มีช่วงเวลาเงียบ ที่ทำให้พระวาจาของพระเจ้าซึมซาบเข้าไปในใจโดยมีพระจิตเจ้าทรงช่วยเหลือ