แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

มิติพระคัมภีร์ในการสอนคำสอน


74.    องค์ประกอบสำคัญประการหนึ่งเพื่อส่งเสริมงานอภิบาลของพระศาสนจักร ซึ่งถ้าใช้อย่างชาญฉลาดก็อาจช่วยให้พระคัมภีร์เป็นศูนย์กลางของชีวิตคริสตชนได้ คือการสอนคำสอนที่ต้องติดตามการดำเนินชีวิตของประชากรของพระเจ้าอยู่ตลอดเวลา ในรูปแบบและระดับต่างๆ.การสนทนาของพระเยซูเจ้ากับศิษย์ซึ่งกำลังเดินทางไปยังหมู่บ้านเอมมาอุส ตามที่ลูกาเล่าไว้ในพระวรสาร (ลก 24:13-35) เป็นตัวอย่างการสอนคำสอนที่มี “การอธิบายพระคัมภีร์” เป็นองค์ประกอบสำคัญซึ่งพระคริสตเจ้าเท่านั้นทรงมอบให้ได้ (เทียบ ลก 24:27-28) เมื่อทรงแสดงให้เห็นว่าพระคัมภีร์ได้เป็นจริงแล้วในพระองค์  จึงก่อให้เกิดความหวังขึ้นอีกครั้งหนึ่งซึ่งมีพลังมากกว่าความล้มเหลวทั้งหลาย และทำให้ศิษย์ทั้งสองคนกลายเป็นพยานที่มีความมั่นใจและน่าเชื่อถือของพระคริสตเจ้าผู้ทรงกลับคืนพระชนมชีพแล้ว
    คำแนะนำทั่วไปเรื่องคำสอนมีข้อคิดสำคัญสำหรับการสอนคำสอนที่มีพระคัมภีร์เป็นพลังบันดาลใจ ข้าพเจ้าจึงยินดีเชิญชวนให้ใช้คำแนะนำนี้  ในโอกาสเดียวกันข้าพเจ้าใคร่จะเน้นว่าการสอนคำสอน “ก่อนอื่นหมดต้องซึมซาบด้วยกรอบความคิด จิตวิญญาณและมุมมองของพระคัมภีร์และพระวรสารโดยใช้ตัวบทของพระคัมภีร์อย่างสม่ำเสมอ ยังจะต้องระลึกอีกด้วยว่าการสอนคำสอนจะมีเนื้อหาสาระและมีประสิทธิผลยิ่งขึ้น ถ้าเราอ่านพระวาจาด้วยความคิดและใจรักเช่นเดียวกับพระศาสนจักร  ได้รับการนำทั้งในความคิดคำนึงและดำเนินชีวิตเช่นเดียวกับที่พระศาสนจักรเคยปฏิบัติมาตลอดเวลาสองพันปี”  จำเป็นต้องพยายามส่งเสริมความรู้เกี่ยวกับบุคคล  เหตุการณ์ และข้อความสำคัญในพระคัมภีร์ให้มีมากขึ้น จะเป็นประโยชน์ไม่น้อยถ้าจะส่งเสริมให้มีการท่องจำข้อความบางตอนจากพระคัมภีร์ ที่กล่าวเป็นพิเศษถึงพระธรรมล้ำลึกเรื่องพระคริสตเจ้า งานสอนคำสอนจะต้องเข้าถึงพระคัมภีร์ตามความเชื่อและธรรมประเพณีของพระศาสนจักร นั่นคือเข้าใจว่าถ้อยคำเหล่านั้นยังเป็นปัจจุบัน ประหนึ่งว่าพระคริสตเจ้ายังทรงพระชนม์อยู่กับเราทุกวันนี้ทุกแห่งที่สองหรือสามคนรวมกันอยู่ในพระนามของพระองค์ (เทียบ มธ 18:20) การสอนคำสอนต้องสื่ออย่างมีชีวิตชีวาให้เรารู้จักประวัติศาสตร์ความรอดพ้นและเนื้อหาความเชื่อของพระศาสนจักร เพื่อผู้มีความเชื่อแต่ละคนจะได้รู้สึกว่าประวัติศาสตร์นี้เป็นชีวิตส่วนหนึ่งของตนด้วย
    ดังนั้น จึงจำเป็นต้องเน้นความสัมพันธ์ระหว่างพระคัมภีร์กับคำสอนของพระศาสนจักรคาทอลิกดังที่ “คำแนะนำทั่วไปเรื่องคำสอน” กล่าวไว้ว่า “พระคัมภีร์คือ ‘พระวาจาของพระเจ้าที่พระจิตเจ้าทรงดลใจให้บันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษร’ และคำสอนของพระศาสนจักรคาทอลิกเป็นเอกสารสำคัญในปัจจุบันนี้ที่กล่าวถึงธรรมประเพณีของพระศาสนจักร และเป็นหลักมั่นคงเพื่อสอนความเชื่อ เอกสารทั้งสองนี้จึงได้รับเรียกมาช่วยหล่อเลี้ยงตามบทบาทและอำนาจของตน ให้การสอนคำสอนบังเกิดผลในพระศาสนจักรสมัยของเรา”