พระวาจาของพระเจ้า การแต่งงานและครอบครัว
85. สมัชชายังสังเกตเห็นความจำเป็นที่จะเน้นความสัมพันธ์ระหว่างพระวาจา การแต่งงาน และครอบครัวคริสตชน จริงอยู่ “เมื่อประกาศพระวาจาของพระเจ้า พระศาสนจักรแสดงให้ครอบครัวคริสตชนเห็นอัตลักษณ์แท้จริงของตน นั่นคือเขาเป็นอะไรและต้องเป็นอย่างไรตามแผนการขององค์พระผู้เป็นเจ้า” ดังนั้น เราต้องไม่ลืมเลยว่า “พระวาจาของพระเจ้าอยู่ที่จุดเริ่มต้นของการแต่งงาน” (เทียบ ปฐก 2:24) และพระเยซูเจ้าเองก็ทรงประสงค์ให้รวมการแต่งงานไว้ในสถาบันของพระอาณาจักรของพระองค์ (เทียบ มธ 19:4-8)” โดยทรงยกฐานะขึ้นให้เป็นศีลศักดิ์สิทธิ์ที่มีจารึกไว้ตั้งแต่แรกเริ่มในธรรมชาติมนุษย์ “ในการประกอบพิธีศีลศักดิ์สิทธิ์นี้ชายและหญิงกล่าววาจาพยากรณ์ว่าจะมอบชีวิตให้แก่กันจริงๆ เพื่อทั้งสองคนจะได้เป็น ‘เนื้อเดียวกัน’ เป็นเครื่องหมายความสัมพันธ์ของพระคริสตเจ้ากับพระศาสนจักร (เทียบ อฟ 5:31-32)” ความซื่อสัตย์ต่อพระวาจาของพระเจ้ายังชวนให้เราสังเกตว่าในปัจจุบันสถาบันนี้ถูกโจมตีจากหลายด้านในความรู้สึกนึกคิดของสมัยนี้ เมื่อต้องเผชิญหน้ากับความสับสนในเรื่องความรักและวิธีคิดใหม่ๆที่ลดคุณค่าของร่างกายมนุษย์และความแตกต่างทางเพศ พระวาจาของพระเจ้าจึงกล่าวย้ำถึงความดีตั้งแต่แรกเริ่มของมนุษย์ ซึ่งพระเจ้าทรงเนรมิตสร้างมาให้เป็นชายและหญิง อีกทั้งยังทรงเรียกมาให้มีความรักที่ซื่อสัตย์ต่อกันและบังเกิดผล
จากธรรมล้ำลึกยิ่งใหญ่เรื่องการแต่งงานนี้เอง บิดามารดาจึงต้องมีความรับผิดชอบต่อบุตร อย่างที่ไม่อาจจะละเลยได้ การเป็นบิดามารดาที่แท้จริงจึงหมายถึงการถ่ายทอดและเป็นพยานถึงความหมายของชีวิตในพระคริสตเจ้า อาศัยความซื่อสัตย์และเอกภาพในชีวิตครอบครัว สามีภรรยาจึงเป็นคนแรกที่จะต้องประกาศพระวาจาของพระเจ้าแก่บุตรของตน ชุมชนของพระศาสนจักรต้องค้ำจุนและช่วยเหลือให้มีการภาวนา การฟังพระวาจา และความรู้จักพระคัมภีร์มากยิ่งขึ้นในครอบครัว เพราะเหตุนี้ สมัชชาจึงปรารถนาให้ทุกบ้านมีพระคัมภีร์ และเก็บรักษาไว้ในที่เหมาะสม เพื่อจะอ่านและใช้พระคัมภีร์ได้ในการภาวนา บรรดาพระสงฆ์ สังฆานุกร และฆราวาสที่ได้รับการเตรียมตัวอย่างดีจะต้องให้ความช่วยเหลือที่จำเป็นได้ในเรื่องนี้ สมัชชายังเตือนให้จัดตั้งกลุ่มเล็กๆในครอบครัวเหล่านี้ เพื่อภาวนาและรำพึงข้อความจากพระคัมภีร์ร่วมกัน สามีภรรยายังต้องระลึกไว้ด้วยว่า “พระวาจาของพระเจ้าให้ความช่วยเหลือที่มีคุณค่ายิ่งได้เมื่อเกิดมีความยากลำบากขึ้นในชีวิตคู่และครอบครัว”
ในเรื่องนี้ ข้าพเจ้ายังปรารถนาจะเน้นคำแนะนำที่สมัชชาให้ไว้เกี่ยวกับบทบาทของสตรีในความสัมพันธ์กับพระวาจาของพระเจ้า ทุกวันนี้ “ความรอบรู้ของสตรี” - ตามสำนวนภาษาที่สมเด็จพระสันตะปาปายอห์นปอลที่ 2 มักจะทรงใช้ – มีส่วนอย่างมากในการให้ความรู้เรื่องพระคัมภีร์แก่ชีวิตส่วนรวมของพระศาสนจักรมากกว่าแต่ก่อน และยังรวมถึงการศึกษาค้นคว้าด้านพระคัมภีร์อีกด้วย สมัชชายังพิจารณาเป็นพิเศษถึงบทบาทพิเศษของสตรีในครอบครัว ในการศึกษา ในการสอนคำสอน และในการสื่อสารคุณค่าต่างๆด้วย เธอเหล่านี้มีความสามารถที่จะ “ปลุกการฟังพระวาจา ชวนให้มีความสัมพันธ์เป็นส่วนตัวกับพระเจ้า สื่อความหมายของการให้อภัยและการแบ่งปันพระวรสาร” เช่นเดียวกับที่เธอยังรู้จักเป็นผู้สื่อความรัก เป็นครูสอนความเมตตากรุณา และเป็นผู้สร้างสันติ สื่อความอบอุ่นและความเห็นอกเห็นใจกันในโลกที่บ่อยๆตัดสินผู้อื่นโดยใช้มาตรการเลวทรามที่คิดแต่จะเอาเปรียบและได้ผลกำไร