พระวาจาของพระเจ้าและแผ่นดินศักดิ์สิทธิ์
89. เมื่อระลึกถึงพระวจนาตถ์ของพระเจ้า พระวจนาตถ์ซึ่งทรงรับธรรมชาติมนุษย์ในพระครรภ์ของพระนางมารีย์แห่งนาซาเร็ธ ใจของเราบัดนี้หันไปคิดถึงแผ่นดินที่พระธรรมล้ำลึกการไถ่กู้ชาวเราได้สำเร็จไป และเป็นจุดเริ่มให้พระวาจาของพระเจ้าแผ่ไปจนสุดปลายแผ่นดิน โดยพระอานุภาพของพระจิตเจ้า พระวจนาตถ์ (หรือพระวาจา) ได้รับธรรมชาติมนุษย์ในช่วงเวลาและสถานที่ที่กำหนดไว้ คือที่มุมหนึ่งของแผ่นดินภายในอาณาเขตของจักรวรรดิโรมัน เพราะเหตุนี้ ยิ่งเราคิดถึงสากลภาพและความโดดเด่นของพระบุคคลของพระคริสตเจ้า เราก็ยิ่งมีความรู้คุณมากยิ่งขึ้น เมื่อมองแผ่นดินที่พระเยซูเจ้าทรงบังเกิด ทรงดำเนินพระชนมชีพ และมอบพระองค์เพื่อเราทุกคน ก้อนหินที่พระผู้ไถ่ของเราเคยทรงเหยียบย่ำยังคงรักษาความทรงจำและยัง “ประกาศ” ข่าวดีแก่เราตลอดมา เพราะเหตุนี้ บรรดาพระสังฆราชแห่งสมัชชาจึงเห็นพ้องต้องกันระลึกถึงวลีน่าฟังที่เรียกแผ่นดินศักดิ์สิทธิ์ว่า “พระวรสารฉบับที่ห้า” นับว่ามีความสำคัญยิ่งที่ยังมีกลุ่มคริสตชนอยู่ในสถานที่เหล่านี้ แม้จะมีความยากลำบากไม่น้อย สมัชชาพระสังฆราชแสดงความใกล้ชิดอย่างลึกซึ้งต่อคริสตชนทุกคนที่อาศัยในแผ่นดินของพระเยซูเจ้า และเป็นพยานยืนยันความเชื่อต่อพระผู้กลับคืนพระชนมชีพ บรรดาคริสตชนที่นั่นได้รับเรียกให้ทำหน้าที่เป็นประหนึ่ง “ประภาคารแห่งความเชื่อแทนพระศาสนจักรสากล รวมทั้งเป็นประหนึ่งเชื้อแป้งแห่งความสามัคคีปรองดอง ความมีปรีชา และความเสมอภาคในชีวิตของสังคมที่มีธรรมเนียมเคยเป็น และยังคงเป็นสังคมที่มีความหลากหลาย ทั้งด้านเชื้อชาติและด้านศาสนา”
ทุกวันนี้แผ่นดินศักดิ์สิทธิ์ยังคงเป็นจุดหมายของการแสวงบุญของประชากรคริสตชน คือเป็นเครื่องหมายแห่งการภาวนาและการชดเชยใช้โทษบาป เหมือนกับที่บรรดานักเขียนตั้งแต่สมัยโบราณ เช่นนักบุญเยโรม เคยเป็นพยานยืนยันมาแล้ว ยิ่งเรามองและคิดถึงกรุงเยรูซาเล็มในโลกนี้มากขึ้นเท่าใด ความปรารถนาของเราถึงกรุงเยรูซาเล็มในสวรรค์ ซึ่งเป็นจุดหมายการเดินทางของเราแต่ละคน ก็ยิ่งต้องลุกร้อนขึ้นพร้อมกับความปรารถนาที่จะให้พระนามของพระเยซูเจ้าเป็นพระนามเพียงหนึ่งเดียว ที่ทุกคนต้องยอมรับว่าเป็นนามที่นำความรอดพ้นมาให้มนุษย์ทุกคน (เทียบ กจ 4:12)