แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

พระวาจาของพระเจ้าและวัฒนธรรม

คุณค่าของวัฒนธรรมสำหรับชีวิตมนุษย์


109.    ข่าวดีที่ยอห์นประกาศเรื่องพระวจนาตถ์ทรงรับสภาพมนุษย์ทำให้เราเห็นความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดระหว่างพระวาจาของพระเจ้า (คือพระวจนาตถ์) กับถ้อยคำของมนุษย์ซึ่งเป็นเครื่องมือที่สื่อข่าวดีนี้แก่เรา เมื่อพิจารณาเรื่องนี้ สมัชชาบรรดาพระสังฆราชได้ถกเถียงกันมากถึงความสัมพันธ์ระหว่างพระวาจาของพระเจ้ากับวัฒนธรรม พระเจ้าไม่ทรงเปิดเผยพระองค์แก่มนุษย์ที่อยู่ต่างหากเป็นเอกเทศ แต่ทรงใช้ภาษา ภาพพจน์ และเครื่องหมายที่ใช้กันอยู่ในวัฒนธรรมต่างๆ ความสัมพันธ์นี้บังเกิดผลมากมาย ดังที่ประวัติศาสตร์ของพระศาสนจักรเป็นพยานได้อย่างมาก ในปัจจุบัน ปัญหานี้มีรูปแบบใหม่ที่แตกต่างกันเนื่องจากการประกาศพระวรสารแผ่ขยายและตั้งมั่นในวัฒนธรรมหลากหลาย และในระยะหลังนี้อารยธรรมตะวันตกได้พัฒนาขึ้นอย่างมาก สภาพการณ์เช่นนี้ก่อนอื่นหมดจึงหมายความว่าวัฒนธรรมมีความสำคัญสำหรับชีวิตของมนุษย์แต่ละคน ปรากฏการณ์เกี่ยวกับวัฒนธรรมในหลายรูปแบบเป็นองค์ประกอบสำคัญของประสบการณ์ของมนุษย์ “มนุษย์เราดำเนินชีวิตอยู่ตลอดเวลาตามวัฒนธรรมของตน ซึ่งในขณะเดียวกันก็เป็นสายสัมพันธ์เฉพาะที่ผูกมัดผู้คนไว้ด้วยกัน และกำหนดเอกลักษณ์ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ และเอกลักษณ์ทางสังคมของความเป็นอยู่อย่างมนุษย์” 
    ตลอดเวลาหลายศตวรรษพระวาจาของพระเจ้าได้ก่อให้เกิดวัฒนธรรมหลากหลาย ได้สร้างคุณค่าพื้นฐานทางศีลธรรม งานยิ่งใหญ่ทางศิลป และวิถีชีวิตที่ดีเลิศ  ดังนั้น เมื่อพิจารณาถึงการที่พระคัมภีร์และวัฒนธรรมต้องเข้ามาพบกันอีกครั้งหนึ่ง ข้าพเจ้าปรารถนาจะบอกทุกคนที่เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมว่าเขาไม่ต้องกลัวอะไรเมื่อเข้ามาพบพระวาจาของพระเจ้า เพราะพระวาจาไม่เคยทำลายวัฒนธรรมที่แท้จริง แต่คอยปลุกให้แสวงหารูปแบบใหม่ที่ดีกว่า เหมาะสมกว่า และมีความหมายมากกว่าอยู่เสมอ วัฒนธรรมใดๆที่แท้จริงและมีประโยชน์ต่อมนุษย์อย่างแท้จริงนั้นต้องเปิดหาอุตรภาพ และเปิดหาพระเจ้าในที่สุด