พระคัมภีร์และการเข้าสู่วัฒนธรรม
114. ธรรมล้ำลึกเรื่องการรับธรรมชาติมนุษย์บอกเราว่า ในด้านหนึ่ง พระเจ้าทรงสื่อกับเราเสมอในสถานการณ์ทางประวัติศาสตร์ โดยทรงรับขนบประเพณีที่ฝังตัวอยู่ในวัฒนธรรมนั้นด้วย แต่ในอีกด้านหนึ่ง พระวาจานั้นยังอาจ และต้องเผยแผ่เข้าไปในวัฒนธรรมต่างๆโดยเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมเหล่านั้นจากภายในด้วย โดยวิธีการที่สมเด็จพระสันตะปาปาเปาโลที่ 6 ทรงเรียกว่าการประกาศข่าวดีแก่วัฒนธรรม พระวาจาของพระเจ้า เช่นเดียวกับความเชื่อในพระคริสตเจ้า มีลักษณะเข้าได้กับวัฒนธรรมต่างๆ สามารถพบกับวัฒนธรรมต่างๆและช่วยให้วัฒนธรรมเหล่านี้พบปะกันได้อีกด้วย
ในบริบทนี้เราจึงเข้าใจว่าพระวรสารต้องเข้าถึงวัฒนธรรมต่างๆด้วย พระศาสนจักรเชื่อมั่นว่า พระวาจาของพระเจ้ามีพลังภายในที่จะเข้าถึงมนุษย์ทุกคนในบริบททางวัฒนธรรมที่เขาดำเนินชีวิตอยู่ “ความเชื่อมั่นเช่นนี้มาจากพระคัมภีร์ ซึ่งเริ่มตั้งแต่หนังสือปฐมกาล มีจุดยืนเป็นสากล (เทียบ ปฐก 1:27-28) และยังรักษาจุดยืนนี้ไว้ในคำอวยพรที่ทรงสัญญาสำหรับประชากรทุกชาติเพราะเห็นแก่อับราฮัมและเชื่อสายของเขา (เทียบ ปฐก 12:3; 18:18) และยืนยันเป็นการถาวรเมื่อขยายการประกาศข่าวดี ‘ไปสู่ชนทุกชาติ’” เพราะเหตุนี้การเข้าสู่วัฒนธรรมต้องไม่เข้าไปปนกับขบวนการการปรับตัวแบบผิวเผิน หรือเข้าไปปนกับการรวมความคิดทางศาสนาอย่างสับสน ซึ่งลดความเด่นชัดของพระวรสารลงเพื่อทำให้พระวรสารเป็นที่ยอมรับได้ง่ายขึ้น รูปแบบแท้จริงของการเข้าถึงวัฒนธรรมคือการรับธรรมชาติมนุษย์ของพระวจนาตถ์ “‘การเข้าถึงวัฒนธรรม’ หรือ ‘การเข้าสู่วัฒนธรรม’ โดยแท้จริงแล้วจะต้องเป็นรูปแบบของการรับธรรมชาติมนุษย์ของพระวจนาตถ์ เมื่อวัฒนธรรมหนึ่งได้รับการเปลี่ยนแปลงและเกิดใหม่โดยพระวรสาร ทำให้ธรรมประเพณีแบบดั้งเดิมเป็นวิธีการแสดงออกของชีวิต การฉลอง ตามแนวความคิดแบบคริสตชน” โดยบ่มเพาะวัฒนธรรมท้องถิ่นจากภายใน โดยคำนึงว่าทุกสิ่งมีเมล็ดพันธุ์พระวาจา (semina Verbi) อยู่ภายใน และทุกสิ่งที่มีค่าทางบวกที่พบในวัฒนธรรมนั้นเป็นการเปิดประตูให้เข้าถึงคุณค่าตามพระวรสาร