แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

3. ความรู้เกี่ยวกับหนังสือ พงศาวดาร, เอสรา และเนหะมีย์
1) พันธสัญญาเดิมยังมีหนังสือ “ประวัติศาสตร์” อีกชุดหนึ่ง ซึ่งเนื้อหาส่วนใหญ่กล่าวซ้ำ และขยายความของหนังสือประวัติศาสตร์ “ตามแนวหนังสือเฉลยธรรมบัญญัติ” (Deuteronomic History) ซึ่งเริ่มตั้งแต่หนังสือโยชูวาจนถึงพงศ์กษัตริย์ หนังสือประวัติศาสตร์ชุดนี้ได้แก่หนังสือพงศาวดารฉบับที่ 1 และ 2 ตามมาด้วยหนังสือเอสราและเนหะมีย์ ดังที่นักวิชาการทั่วไปยอมรับ

แต่เดิมนั้นหนังสือพงศาวดาร 1-2 เป็นหนังสือเล่มเดียว ส่วนหนังสือเอสราและเนหะมีย์ก็เป็นเพียง 2 ภาคของผลงานของผู้เขียนคนเดียวกัน เราพบลีลาการเขียนและความคิดพื้นฐานแบบเดียวกันได้ทั่วไปในหนังสือเหล่านี้ นอกจากนั้น ข้อสุดท้ายของ 2 พศด 36 ยังถูกนำมาเขียนไว้ตอนเริ่มต้นของหนังสือเอสรา (บทที่หนึ่ง) ด้วย    ข้อมูลเหล่านี้จึงแสดงว่าหนังสือพงศาวดาร เอสราและเนหะมีย์นับรวมกันได้เป็นผลงานชุดเดียวกัน

2) หนังสือพงศาวดาร ฉบับที่ 1 และ 2.
หนังสือพงศาวดาร [ตามความหมายของชื่อในภาษาฮีบรู ซึ่งแปลตามตัวอักษรได้ว่า “ถ้อยคำบรรยายถึงวันเวลา(ในอดีต)” – พระคัมภีร์ฉบับภาษากรีก LXX และฉบับ Vulgata ภาษาละติน เรียกชื่อหนังสือนี้ว่า “Paralipomenon” ซึ่งหมายความว่า “เกี่ยวกับเรื่องราวที่ถูก(หนังสือประวัติศาสตร์ฉบับอื่นๆ ตั้งแต่ ยชว ถึง พกษ) ละไว้” หนังสือพงศาวดารจึงถูกคิดว่าเป็นหนังสือ “เพิ่มเติม” ข้อมูลที่หนังสืออื่นเหล่านั้นไม่ได้กล่าวถึงมาก่อน] เป็นผลงานของชนชาติยิวสมัยหลังกลับจากการเนรเทศที่กรุงบาบิโลนแล้ว ในช่วงเวลาที่กล่าวถึงนี้ แม้ว่าชนชาติยิวจะไม่มีอิสรภาพทางการเมืองต้องเป็นประเทศราชของชาวเปอร์เซีย แต่ชาวเปอร์เซียก็ยังปล่อยให้ชาวยิวมีอิสระปกครองตนเองได้ในระดับหนึ่ง บรรดาสมณะเป็นผู้นำของชาติและมีธรรมบัญญัติเป็นธรรมนูญในการปกครอง พระวิหารและพิธีกรรมต่างๆ เป็นศูนย์กลางชีวิตของประชาชนทั้งชาติ แต่ธรรมบัญญัติและพิธีกรรมดังกล่าวซึ่งเป็นเสมือนกรอบนี้ ยังได้รับพลังชีวิตจากความศรัทธาส่วนตัวของประชาชน จากคำสอนเกี่ยวกับปรีชาญาณ จากความทรงจำถึงความรุ่งเรืองและความล้มเหลวในอดีต รวมทั้งจากความเชื่อต่อคำสัญญาของบรรดาประกาศกอีกด้วย
    ผู้เรียบเรียงหนังสือพงศาวดาร (The Chronicler[s]) ซึ่งเป็นชนเลวีคนหนึ่ง (หรือกลุ่มหนึ่ง) จากกรุงเยรูซาเล็ม นับได้ว่าอยู่ในสภาพแวดล้อมดังกล่าวจริงๆ เขาเรียบเรียงผลงานนี้นานใช้ได้หลังจากสมัยของเอสราและเนหะมีย์  เขาจึงมีโอกาสดีมากที่จะนำข้อมูลต่างๆ  เกี่ยวกับบุคคลทั้งสองนี้มาสังเคราะห์เรียบเรียงขึ้นใหม่ตามแนวความคิดของตน ช่วงเวลาที่เขาเขียนผลงานนี้น่าจะอยู่ในสมัยแรกๆ ที่ชาวกรีกเข้ามาปกครองดินแดนแถบนี้ นั่นคือก่อนปี 300 ก.ค.ศ. ต่อมาผลงานนี้ก็มีผู้อื่นมากกว่าหนึ่งคนมาขยายความเพิ่มเติมขึ้นอีก   เช่น ลำดับวงศ์ตระกูลใน 1 พศด บทที่ 2 ถึง 9 – รายนามเพิ่มเติม       ซึ่งส่วนใหญ่อาจเป็นผู้สนับสนุนกษัตริย์ดาวิด ใน 1 พศด บทที่ 12 – รายนามของสมณะและชนเผ่าเลวีใน 1 พศด บทที่ 15 – และข้อความยืดยาวที่เพิ่มเข้ามาใน 23:3 – 27:34 ซึ่งเป็นรายนามของข้าราชบริพารของกษัตริย์ดาวิดที่เกี่ยวข้องกับงานเรื่องคารวกิจ
    ข้อความที่เพิ่มเติมเข้ามาเช่นนี้ มีความสอดคล้องดีมากกับความสนใจหลักของผู้เรียบเรียงหนังสือพงศาวดาร เขาแสดงความสนใจต่อพระวิหารเป็นอย่างมาก เรื่องราวในตอนต่างๆ ของงานเขียนของเขากล่าวอยู่ตลอดเวลาว่าบรรพชิต (the Clergy) มีบทบาทเป็นผู้นำ ไม่เพียงแต่สมณะและชนเลวีเท่านั้น (ดังที่มีกล่าวไว้ในหนังสือเฉลยธรรมบัญญัติและในตำนานสงฆ์ของหนังสือปัญจบรรพ) แต่ยังรวมไปถึงบรรพชิตในระดับต่ำกว่านั้นด้วย เช่น ผู้เฝ้าประตูและนักขับร้องซึ่งนับแต่นี้ไปจะถูกนับรวมเข้ากับชนเลวีด้วย คุณสมบัติศักดิ์สิทธิ์ของบรรพชิตขยายตัวเข้าไปถึงกลุ่มฆราวาสด้วยโดยการมีบทบาทร่วมในการถวายศานติบูชา หนังสือพงศาวดารได้คืนบทบาทที่เคยให้ความสำคัญแก่ฆราวาสเหมือนดังแต่ก่อน ชุมชนผู้มีความเชื่อมิได้จำกัดอยู่เฉพาะกับชนเผ่ายูดาห์เท่านั้น แม้ว่าผู้เรียบเรียงหนังสือพงศาวดารกล่าวน้อยมากถึงอาณาจักรเหนือที่เขาถือว่าได้ละทิ้งศาสนาไปแล้ว แต่เขาก็ยังคาดหวังว่าประชาชนทั้ง 12 เผ่าจะกลับมารวมกันอีกภายใต้การปกครองของกษัตริย์ดาวิด เขาไม่หมดหวังต่อสถานการณ์ของช่วงเวลาที่เขามีชีวิตอยู่ แต่ยังมีความเชื่อมั่นรอคอยเวลาที่ชาวอิสราเอลทั้งหมดจะกลับมารวมเข้าด้วยกันอีกครั้งหนึ่ง แม้แต่ชนต่างชาติก็ถูกกีดกันมิให้อธิษฐานภาวนาภายในพระวิหาร สำหรับเขา “อิสราเอล” หมายถึงชุมชนของผู้มีความเชื่อที่พระเจ้าทรงกระทำพันธสัญญาด้วยตั้งแต่นานมาแล้ว และพระองค์ทรงรื้อฟื้นพันธสัญญาศักดิ์สิทธิ์นี้กับกษัตริย์ดาวิด พระอาณาจักรของพระเจ้าในโลกนี้สำเร็จบรรลุความสมบูรณ์ในเทวาธิปไตย (Theocracy) แบบที่กษัตริย์ดาวิดทรงปฏิบัติ ประชากรของพระเจ้าจะต้องดำเนินชีวิตในเจตนารมณ์ของกษัตริย์ดาวิด เตรียมพร้อมอยู่ตลอดเวลาที่จะปฏิรูปตนเอง นั่นคือพร้อมที่จะกลับไปปฏิบัติตามธรรมประเพณี ถ้าต้องการจะให้พระเจ้าทรงโปรดปรานและปฏิบัติต่อไปตามพระสัญญาที่ทรงให้ไว้
    พระวิหารที่กรุงเยรูซาเล็ม และคารวกิจที่ประชาชนถวายแด่พระเจ้าที่นั่น นับเป็นศูนย์กลางของจุดสนใจ และปรากฏให้เห็นอยู่ตลอดประวัติศาสตร์อันยาวนานนี้  - นับตั้งแต่เรื่องการที่กษัตริย์ดาวิดทรงเตรียมวัสดุเพื่อก่อสร้างพระวิหาร ไปจนถึงการที่ชุมชนชาวยิวซึ่งกลับมาจากการเนรเทศที่กรุงบาบิโลนได้สร้างพระวิหารขึ้นใหม่จนสำเร็จ
    ความคิดสำคัญเหล่านี้เป็นเหตุผลทำให้เราเข้าใจว่า ทำไมผู้เรียบเรียงหนังสือพงศาวดารจึงเขียนผลงานของตนตามรูปแบบที่เราเห็น บทแรกๆ คือ 1 พศด บทที่ 1-8 ใช้รูปแบบการเขียนเป็น “ลำดับวงศ์ตระกูล” (Genealogies) ที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะกับตระกูลยูดาห์และเชื้อวงศ์ของกษัตริย์ดาวิด ส่วนบทที่ 9 ตั้งแต่ข้อ 2 ถึง 34 เป็นรายนามของประชากรพวกแรกที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานที่กรุงเยรูซาเล็มอีกหลังกลับจากการเนรเทศ ผู้เรียบเรียงใช้วิธีการเช่นนี้เป็นอารัมภบทของเรื่องราวเกี่ยวกับกษัตริย์ดาวิดที่จะดำเนินต่อไปในส่วนที่เหลือของ 1 พศด ตั้งแต่บทที่ 9 ข้อ 35 จนจบบทที่ 29 – ผู้เรียบเรียงละเว้นไม่กล่าวถึงการที่    ดาวิดเป็นอริกับกษัตริย์ซาอูล         ไม่กล่าวถึงบาปที่ทรงทำกับนางบัทเชบาและปัญหาขัดแย้งภายในพระราชวงศ์ แต่ให้ความสำคัญแก่คำพยากรณ์ของประกาศกนาธันในบทที่ 17 และกิจกรรมอื่นๆ เกี่ยวกับศาสนา  เช่น  การเคลื่อนย้ายหีบพันธสัญญามาประดิษฐานในกรุงเยรูซาเล็ม การจัดการเรื่องคารวกิจที่กรุงเยรูซาเล็มในบทที่ 13, 15 และ 16 รวมทั้งการตระเตรียมสำหรับการก่อสร้างพระวิหารในบทที่ 21 ถึง 29 ซึ่งเล่าว่ากษัตริย์ดาวิดทรงเป็นผู้รับผิดชอบเรื่องแบบแปลน การสะสมวัสดุก่อสร้าง การกำหนดหน้าที่โดยละเอียดสำหรับผู้ที่เกี่ยวข้อง ปล่อยให้ซาโลมอนพระราชโอรสทรงกระทำเพียงนำแผนต่างๆ นี้มาปฏิบัติให้สำเร็จเท่านั้น        ส่วนเรื่องราวเกี่ยวกับกษัตริย์ซาโลมอนใน 2 พศด บทที่ 1 ถึง 9 เขาใช้เนื้อที่ส่วนใหญ่กล่าวถึงการก่อสร้างพระวิหาร คำอธิษฐานภาวนาของกษัตริย์เมื่อทรงถวายพระวิหาร และพระสัญญาที่พระเจ้าประทานให้เป็นการตอบคำอธิษฐานภาวนานั้น ส่วนเรื่องราวหลังจากอาณาจักรแตกแยกแล้ว ผู้เรียบเรียงกล่าวถึงเพียงอาณาจักรยูดาห์และพระราชวงศ์ของกษัตริย์ดาวิดเท่านั้น บรรดากษัตริย์ทรงได้รับการประเมินตามมาตรฐานที่ว่า ทรงซื่อสัตย์หรือไม่ต่อหลักการของพันธสัญญา และตามแบบฉบับที่กษัตริย์ดาวิดทรงวางไว้หรือไม่ (2 พศด บทที่ 10 ถึง 36) เมื่อมีการละทิ้งศาสนาเกิดขึ้น การปฏิรูปทางศาสนาก็จะตามมา การปฏิรูปทางศาสนาในสมัยกษัตริย์เฮเซคียาห์และโยสิยาห์นับว่าเป็นการปฏิรูปชนิดถึงรากถึงโคน แต่กษัตริย์ที่ขึ้นครองราชย์หลังกษัตริย์โยสิยาห์แล้วล้วนแต่ทรงปฏิบัติการเลวร้ายจนทำให้ชาติต้องประสบหายนะ หนังสือพงศาวดารจบลงโดยกล่าวถึงพระราชกฤษฎีกาของพระเจ้าไซรัสที่ทรงอนุญาตให้ชาวยิวกลับมาสร้างพระวิหารขึ้นใหม่ หนังสือเอสราและเนหะมีย์จะเล่าเรื่องราวเหตุการณ์หลังจากนั้นต่อไป
    แหล่งข้อมูลอันดับแรกของหนังสือพงศาวดารก็คือหนังสือในพระคัมภีร์ หนังสือปฐมกาล และกันดารวิถีให้ข้อมูลลำดับวงศ์ตระกูลตอนเริ่มต้นของหนังสือ ส่วนหนังสือซามูเอลและพงศ์กษัตริย์ให้ข้อมูลส่วนใหญ่ของตอนที่เหลือ ผู้เรียบเรียงใช้ข้อมูลเหล่านี้อย่างอิสระ โดยเพิ่มเติมหรือตัดทอนรายละเอียด คัดเลือกข้อมูลให้ตรงกับจุดประสงค์ในการเขียน แม้ว่าเราพอจะบอกได้ว่าข้อมูลเหล่านี้มาจากแหล่งใดบ้าง แต่ผู้เรียบเรียงไม่เคยกล่าวถึงข้อมูลเหล่านี้โดยตรงเลย ตรงกันข้าม เขามักจะอ้างถึงผลงานบางชิ้นเช่น “หนังสือ” เรื่องกษัตริย์แห่งอิสราเอล หรือเรื่องกษัตริย์ของอิสราเอลและยูดาห์  “มีดราช” (midrash = คำอธิบาย) ของหนังสือพงศ์กษัตริย์ หรือกล่าวถึง “ถ้อยคำ” หรือ “นิมิต” ของประกาศกองค์นี้องค์นั้น ในปัจจุบันนี้เราไม่มีข้อเขียนดังกล่าวเหล่านั้นอีกแล้ว และนักวิชาการก็ยังถกเถียงกันไม่ยุติว่าข้อเขียนเหล่านี้มีเนื้อหาและมีความเกี่ยวข้องกันอย่างไรบ้าง เป็นไปได้ว่าข้อเขียนเหล่านี้เป็นเรื่องราวของกษัตริย์ในรัชกาลต่างๆ ที่เขียนขึ้นจากมุมมองที่ว่าบรรดาประกาศกเข้ามามีบทบาทอย่างไรบ้าง ดูเหมือนว่าผู้เรียบเรียงหนังสือพงศาวดารไม่น่าจะใช้ธรรมประเพณีที่เล่าสืบต่อกันมาเพียงด้วยปากเปล่า (oral traditions) เท่านั้น
    จากเพียงเหตุผลที่ว่าผู้เรียบเรียงหนังสือพงศาวดารใช้แหล่งข้อมูลที่เราไม่รู้จัก แต่อาจเป็นข้อมูลน่าเชื่อถือได้ เราไม่ควรด่วนสรุปล่วงหน้าไปว่าเรื่องราวซึ่งไม่มีกล่าวถึงในพระคัมภีร์ แต่ได้เสริมเข้ามานั้นเชื่อถือไม่ได้ เราต้องประเมินแต่ละเรื่องตามความน่าเชื่อถือของแหล่งข้อมูลที่ผู้เรียบเรียงนำมาใช้อ้างอิง  การศึกษาค้นคว้าเมื่อไม่นานมานี้ยังสนับสนุนว่าในหลายตอนหนังสือพงศาวดารเล่าเรื่องราวน่าเชื่อถือได้ ขัดแย้งกับความเห็นของผู้อธิบายพระคัมภีร์หลายคนในอดีตที่มักจะไม่สู้เชื่อเรื่องราวในหนังสือพงศาวดารนัก  ถึงกระนั้น  หลายครั้งหนังสือพงศาวดารก็เล่าถึงเหตุการณ์ แตกต่างไปจากวิธีเล่าที่พบได้ในหนังสือซามูเอลและพงศ์กษัตริย์ และบางครั้งได้จงใจเปลี่ยนแปลงรายละเอียดของเหตุการณ์ที่เล่าด้วย นักประวัติศาสตร์ในปัจจุบันมักจะยอมรับวิธีการเช่นนี้ไม่ได้ เพราะงานของนักประวัติศาสตร์ก็คือเล่าและอธิบายเหตุการณ์ตามลำดับก่อนหลังที่เกิดขึ้น แต่ทว่าผู้เรียบเรียงหนังสือพงศาวดารมิได้มีเจตนาเช่นนั้น เขาไม่ใช่นักประวัติศาสตร์ แต่เป็นนักเทววิทยา เขาศึกษาพิจารณาประวัติศาสตร์ที่ยาวนานของอิสราเอล และโดยเฉพาะเรื่องราวของกษัตริย์ดาวิด เขาจึงเขียนประวัติศาสตร์ของอิสราเอลให้เป็นภาพของอาณาจักรในอุดมการณ์ เหตุการณ์ในอดีต ปัจจุบัน และอนาคตถูกนำมารวมเข้าไว้ด้วยกันเป็นเรื่องเดียว เขาคิดขึ้นมาเองถึงการจัดระเบียบพิธีกรรมต่างๆ และนำไปใส่ไว้ในสมัยของกษัตริย์ดาวิด โดยละเว้นไม่กล่าวถึงทุกเรื่องที่อาจทำให้ดาวิดซึ่งเป็น “พระเอก” ของเขาต้องด้อยค่าลง นอกจากข้อมูลใหม่ๆ บางข้อที่เราต้องแยกประเมินคุณค่าแล้ว งานเขียนชิ้นนี้จึงไม่ใช่การบันทึกเรื่องราวในอดีต มากเท่ากับเป็นภาพของสถานการณ์ในสมัยของผู้เรียบเรียงที่เขามีความสนใจเป็นพิเศษโดยเฉพาะ
    จากเหตุผลที่ว่าผู้เรียบเรียงเขียนหนังสือนี้สำหรับประชากรร่วมสมัยกับเขา เขาจึงเชิญชวนผู้อ่านให้ระลึกว่า ประเทศชาติจะมีชีวิตรอดอยู่ได้ก็เมื่อประชากรยังมีความซื่อสัตย์ต่อพระเจ้าเท่านั้น นั่นคือยังคงเชื่อฟังธรรมบัญญัติและถวายคารวกิจต่อพระองค์ด้วยความศรัทธาจากใจจริง เขาต้องการให้เพื่อนร่วมชาติของเขาเป็นชุมชนที่มีศรัทธาต่อพระเจ้า เพื่อให้พระสัญญาที่พระเจ้าประทานให้แก่กษัตริย์ดาวิดนั้นเป็นจริงขึ้นมาได้

3)  หนังสือเอสราและเนหะมีย์
หนังสือเอสราและเนหะมีย์แต่เดิมเป็นหนังสือฉบับเดียว คือ “หนังสือเอสดราส” ในพระคัมภีร์ภาษาฮีบรูและภาษากรีกฉบับ LXX  แต่เนื่องจากว่าพระคัมภีร์ภาษากรีกฉบับ LXX ยังรักษาหนังสือนอกสารบบภาษากรีกอีกเล่มหนึ่งซึ่งมีชื่อว่า “เอสดราส” (Esdras) และจัดให้อยู่ในอันดับแรก (โดยเรียกว่า “เอสดราสฉบับที่ 1” หรือ Esdras I) พระคัมภีร์ภาษากรีกฉบับ LXX จึงเรียกหนังสือเอสรา-เนหะมีย์ว่า “เอสดราสฉบับที่ 2” หรือ Esdras II) ต่อมา บรรดาคริสตชนได้แยกหนังสือนี้ออกเป็นสองฉบับ และพระคัมภีร์ภาษาละตินฉบับ Vulgata ก็แบ่งหนังสือฉบับนี้ตามไปด้วย แต่เรียกหนังสือ “เอสดราสฉบับที่ 1” หรือ Esdras I ว่า “หนังสือเอสรา” และเรียกหนังสือ “เอสดราสฉบับที่ 2” หรือ Esdras II ว่า “หนังสือเนหะมีย์”        แล้วเรียกหนังสือนอกสารบบ “เอสดราสฉบับที่ 1” หรือ Esdras I ว่า “หนังสือเอสดราสฉบับที่ 3” (Esdras III) พระคัมภีร์ฉบับนี้ของเรา “หนังสือเอสรา” และ “หนังสือเนหะมีย์” เรียกชื่อตามบุคคลเอกที่เกี่ยวข้อง ส่วนหนังสือ “เอสดราส” นอกสารบบนั้น ถ้าเราจะกล่าวถึงในเชิงอรรถ เราจะเรียกว่า “1 Esd.” ส่วนเรื่องความสำคัญที่ 1 Esd. มีต่อพระคัมภีร์ฉบับอื่นนั้น ให้ดูที่ อสร 1:6 เชิงอรรถ g.
    เราได้กล่าวไว้แล้วว่าหนังสือเอสราและเนหะมีย์เป็นผลงานต่อจากหนังสือพงศาวดาร ผู้เรียบเรียงหนังสือพงศาวดารไม่เล่าอะไรเลยถึงช่วงเวลาราว 50 ปีของการเนรเทศที่กรุงบาบิโลน แต่จะเล่าเรื่องราวต่อไปโดยเริ่มตั้งแต่พระราชกฤษฎีกาของพระเจ้าไซรัสในปี 538 ก.ค.ศ. ที่ทรงอนุญาตให้ชาวยิวกลับมาก่อสร้างพระวิหารขึ้นใหม่ที่กรุงเยรูซาเล็ม การกลับจากเนรเทศเริ่มขึ้นทันที แต่งานก่อสร้างพระวิหารหลังใหม่ต้องหยุดชะงักไปเพราะความเป็นอริของชาวสะมาเรีย และการก่อสร้างจะดำเนินต่อไปได้อีกในรัชสมัยของพระเจ้าดาริอัสที่ 1 พระวิหารหลังที่สองนี้สร้างเสร็จในปี 515 ก.ค.ศ. ส่วนความพยายามที่จะสร้างกำแพงกรุงเยรูซาเล็มขึ้นใหม่ต้องถูกชาวสะมาเรียขัดขวางอีกเป็นเวลาถึง 50 ปี (อสร บทที่ 1-6) ใน       รัชสมัยของพระเจ้าอาร์ตัสเซอร์ซิส ธรรมาจารย์ที่ชื่อเอสรา ซึ่งเป็นผู้แทนของชาวยิวในราชสำนักเปอร์เซีย ก็มาถึงกรุงเยรูซาเล็มพร้อมกับผู้กลับจากเนรเทศอีกกลุ่มหนึ่ง โดยได้รับมอบหมายเป็นทางการให้นำ “ธรรมบัญญัติของโมเสส” ซึ่งกษัตริย์เปอร์เซียทรงรับรองแล้ว มาใช้เป็นกฎหมายปกครองชาวยิว เอสรายังต้องใช้มาตรการเคร่งครัดกับชาวยิวที่ไปแต่งงานกับชาวต่างชาติ (อสร บทที่ 7-10) ต่อจากนั้น เนหะมีย์ พนักงานเชิญถ้วยเสวยของพระเจ้าอาร์ตัสเซอร์ซิส ก็ได้รับพระราชานุญาตให้มาที่กรุงเยรูซาเล็มเพื่อจัดการก่อสร้างกำแพงเมือง แม้จะถูกชาวสะมาเรียคอยขัดขวาง งานก่อสร้างก็สำเร็จลงในไม่ช้าและประชากรก็เข้ามาพำนักในกรุงเยรูซาเล็มอีกครั้งหนึ่ง (นหม 1:1 – 7:72ก) ในช่วงเวลานั้น เนหะมีย์ยังได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้ว่าราชการแคว้นยูดาห์อีกด้วย เอสราได้จัดให้มีการอ่านหนังสือ “ธรรมบัญญัติ” อย่างสง่าให้ประชาชนฟัง มีการฉลองเทศกาลอยู่เพิง ประชาชนสารภาพบาปของตนและสัญญาจะปฏิบัติตามธรรมบัญญัติ (นหม 7:72ข – 10:40) ต่อจากนั้นจะกล่าวถึงรายชื่อต่างๆ มาตรการเพิ่มเติมบางประการ และพิธีถวายกำแพงเมืองแด่พระเจ้า (11:1 – 13:3) หลังจากที่กลับไปยังประเทศเปอร์เซียแล้ว เนหะมีย์ก็กลับมาที่กรุงเยรูซาเล็มอีกครั้งหนึ่ง และพบว่า จำเป็นต้องจัดระเบียบกับความไม่ถูกต้องบางประการ ที่แทรกซึมเข้ามาให้สังคมชาวยิวในช่วงที่เขาไม่อยู่ (นหม 13:4-31)
    เหตุการณ์ที่กล่าวมาโดยย่อนี้ชี้ให้เห็นว่า หนังสือเอสราและเนหะมีย์มีความสำคัญไม่น้อยสำหรับประวัติศาสตร์ของชาวยิว ที่กลับมาสร้างประเทศขึ้นใหม่หลังกลับมาจากถิ่นเนรเทศแล้ว ข้อความในบทแรกๆ ของหนังสือเอสราเสริมข้อมูลที่ประกาศกฮักกัย เศคาริยาห์และมาลาคี บอกให้เรารู้แล้ว หนังสือทั้งสองฉบับนี้เป็นแหล่งข้อมูลเดียวที่เรามีเกี่ยวกับผลงานของเอสราและเนหะมีย์ หนังสือทั้งสองฉบับนี้เขียนขึ้นก่อนหนังสือพงศาวดาร และที่สำคัญที่สุดก็คือหนังสือทั้งสองฉบับนี้ยกเอาเอกสารร่วมสมัยกับเหตุการณ์ที่เล่าถึง   มาบันทึกไว้คำต่อคำทีเดียว    เช่นรายชื่อของผู้เดินทางกลับมาจากการเนรเทศที่กรุงบาบิโลน รายชื่อของผู้อาศัยที่กรุงเยรูซาเล็ม พงศาวดารของกษัตริย์เปอร์เซีย เอกสารโต้ตอบทางการ และโดยเฉพาะรายงานของเอสราเกี่ยวกับภารกิจของตน รวมทั้งบันทึกความจำของเนหะมีย์ซึ่งอธิบายให้เหตุผลการกระทำของตน
    ถึงกระนั้น แม้จะมีข้อมูลมากมายเช่นนี้ ก็ยังยากมากที่จะให้อรรถาธิบายเรื่องผลงานของเอสราและเนหะมีย์ เพราะผู้เรียบเรียงจัดลำดับเอกสารเหล่านี้ไว้สับสน รายชื่อของผู้กลับจากการเนรเทศก็ให้ไว้ 2 ครั้ง ใน อสร บทที่ 2 และ นหม บทที่ 7  ข้อความใน อสร 4:6 – 6:18 ซึ่งเขียนเป็นภาษาอาราเมอิกและกล่าวถึงเหตุการณ์ในรัชสมัยของพระเจ้าดาริอัสที่  1  (511-486  ก.ค.ศ.)   ถูกจัดให้อยู่หลังเหตุการณ์ในรัชสมัยของพระเจ้าเซอร์ซิส ที่ 1 (486-465 ก.ค.ศ.) และอาร์ตัสเซอร์ซิส ที่ 1 (464-423 ก.ค.ศ.) อันที่จริงแล้วเหตุการณ์ในรัชสมัยของพระเจ้าดาริอัสเกิดขึ้นก่อนราวครึ่งศตวรรษ       แม้แต่เรื่องราวที่เอสราและเนหะมีย์บันทึกไว้ด้วยตนเอง ก็ยังถูกแบ่งแยกแล้วนำมารวมกันใหม่ วันเดือนปีต่างๆ ที่เอสราและเนหะมีย์กล่าวถึงไว้ในเอกสารช่วยเราให้เรียงลำดับวันเดือนปีของเหตุการณ์ต่างๆ ได้ใหม่ดังนี้คือ เริ่มด้วยเหตุการณ์ที่มีบันทึกไว้ใน อสร 7:1 – 8:36 แล้วจึงต่อด้วยเรื่องราวใน นหม 7:72ข – 8:18; อสร 9:1 – 10:44 แล้วปิดท้ายด้วยเรื่องราวใน นหม 9:1-37       
    อย่างไรก็ดี รายงานของเอสราที่ผู้เรียบเรียงพงศาวดารเคยเขียนข้อความบางตอนไว้ในบุรุษที่ 3 แล้วนั้น ผู้เรียบเรียงก็นำมาเรียบเรียงขึ้นใหม่ และยังได้เพิ่มเติมข้อความอีกบางเรื่องเข้าไปด้วย  เช่น รายชื่อของผู้กระทำผิดใน อสร 10:18,20-44 บทภาวนาใน อสร 9:6-15 และ นหม 9:6-37.  บันทึกส่วนตัวของเนหะมีย์ประกอบด้วยข้อความต่อไปนี้คือ นหม บทที่ 1-2; 3:33 – 7:5; 12:27 – 13:31 บันทึกส่วนตัวเหล่านี้ผู้เรียบเรียงพงศาวดารได้แทรกเอกสารเกี่ยวกับการก่อสร้างกำแพงกรุงเยรูซาเล็มใน 3:1-32 เข้าไปอีก ส่วนรายชื่อของชาวยิวกลุ่มแรกที่กลับมาจากการเนรเทศใน นหม 7:6-72ก ก็คัดมาจาก อสร บทที่ 2 และ นหม บทที่ 10 ก็เป็นเอกสารอีกฉบับหนึ่งจากหอเก็บเอกสารทางราชการ เอกสารนี้บันทึกคำสัญญาของชุมชนชาวยิวต่อพระเจ้าเมื่อเนหะมีย์กลับมาปฏิบัติภารกิจที่กรุงเยรูซาเล็มครั้งที่ 2 (นหม บทที่ 13)  ส่วน นหม บทที่ 11-12 เป็นรายชื่อบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการจัดให้ประชาชนเข้ามาพำนักในกรุงเยรูซาเล็ม การจัดให้ประชาชนพำนักอยู่ในชนบท รวมทั้งรายชื่อของครอบครัวสมณะและชนเผ่าเลวีหลังกลับจากการเนรเทศด้วย
    เป็นที่เห็นได้ชัดว่า ผู้เรียบเรียงพงศาวดารตั้งใจจะมองเหตุการณ์ที่มีความเกี่ยวข้องกันอย่างกว้างๆ แล้วรวบรวมเรื่องราวเหล่านี้ไว้ด้วยกันเป็นชุดๆ ความคิดหลักของ อสร บทที่ 1-6 คือเรื่องการก่อสร้างพระวิหารขึ้นใหม่ในรัชสมัยของพระเจ้าดาริอัสที่  1  เรื่องราวการกลับจากเนรเทศที่เกิดขึ้นหลายๆ ครั้งได้รับการกล่าวถึงพร้อมๆ กัน เชชบัสซาร์ซึ่งเป็นผู้นำในการเดินทางกลับครั้งแรกถูกกันให้ออกไปเพื่อเน้นความสำคัญของเศรุบบาเบลให้เด่นชัดขึ้น ในตอนต่อมาจึงเล่าถึงการที่ชาวสะมาเรียพยายามทุกวิธีเพื่อขัดขวางการก่อสร้างนี้ หนังสือเอสราและเนหะมีย์ในบทต่อๆ มาเล่าถึงกิจกรรมที่บุคคลทั้งสองร่วมกันปฏิบัติเพื่อจุดประสงค์ยิ่งใหญ่เดียวกัน
    วิธีการเรียบเรียงเช่นนี้ก่อปัญหายิ่งใหญ่ให้แก่นักประวัติศาสตร์ ปัญหาหนักใจและยากที่สุดก็คือลำดับเหตุการณ์ต่างๆ รวมถึงการกำหนดว่าเหตุการณ์ที่เล่าอยู่ในหนังสือทั้งสองฉบับนี้เหตุการณ์ใดเกิดขึ้นเมื่อไร ถ้าเรายอมรับลำดับเหตุการณ์ตามที่มีอยู่ในหนังสือ เราต้องบอกว่าเอสรามาถึงกรุงเยรูซาเล็มในปี 458 ก.ค.ศ. ซึ่งเป็นปีที่ 7 ในรัชกาลกษัตริย์อาร์ตัสเซอร์ซิสที่ 1 (อสร 7:8) ส่วนเนหะมีย์นั้นมาร่วมงานกับเขาในปี 445 ก.ค.ศ. ซึ่งเป็นปีที่ 20 ในรัชกาลเดียวกัน (นหม 2:1) เขาอยู่ที่กรุงเยรูซาเล็ม 12 ปี (นหม 13:6) แล้วจึงกลับไปเปอร์เซียในปี 433 ก.ค.ศ. ไม่มีใครรู้ว่าเขาอยู่ที่นั่นนานเท่าไร แต่ก็ได้กลับมาที่กรุงเยรูซาเล็มอีกครั้งหนึ่งก่อนที่พระเจ้าอาร์ตัสเซอร์ซิสที่ 1 จะสวรรคตในปี 423 ก.ค.ศ. ผู้เชี่ยวชาญในการอธิบายพระคัมภีร์เห็นด้วยกับลำดับเหตุการณ์ดังที่เคยเชื่อถือกันมาเช่นนี้ แต่กระนั้นก็มักจำกัดเวลาไว้ว่าเอสราประกอบภารกิจของตนเพียงปีเดียวเท่านั้นเพื่อรักษาตัวเลขที่พระคัมภีร์บันทึกไว้ และกล่าวว่าเอสรากลับไปเปอร์เซียก่อนที่เนหะมีย์จะมาถึงกรุงเยรูซาเล็ม ผู้อธิบายพระคัมภีร์อีกกลุ่มหนึ่งสับลำดับการมาถึงของบุคคลทั้งสอง เพราะเห็นว่าผลงานยิ่งใหญ่ของเอสราต้องเกิดขึ้นหลังจากเนหะมีย์ได้ปฏิบัติภารกิจของตนแล้วเท่านั้น ตามสมมติฐานนี้ วันเวลาที่ผู้เรียบเรียงกล่าวถึงเอสราอยู่ในรัชสมัยของพระเจ้าอาร์ตัสเซอร์ซิสที่ 2 (404-358 ก.ค.ศ.) ไม่ใช่ในรัชสมัยของพระเจ้าอาร์ตัสเซอร์ซิสที่ 1 (464-423 ก.ค.ศ.) ที่เนหะมีย์มาที่กรุงเยรูซาเล็ม ดังนั้นเอสราจึงไม่ได้มาถึงปาเลสไตน์ก่อนปี 398 ก.ค.ศ. ส่วนความเห็นของนักวิชาการกลุ่มที่ 3 เห็นด้วยกับทฤษฎีที่ว่าเอสรามาในปาเลสไตน์ภายหลังเนหะมีย์ แต่ไม่เห็นด้วยกับความเห็นที่ว่าทั้งสองมิได้ปฏิบัติงานในรัชกาลเดียวกัน เพราะพระคัมภีร์มิได้กล่าวถึง 2 รัชกาล ทฤษฎีนี้จึงเสนอความเห็นว่าเอสรามาที่กรุงเยรูซาเล็มระหว่างสองช่วงเวลาที่เนหะมีย์ประกอบภารกิจที่นั่น นักวิชาการกลุ่มที่ 3 นี้จึงจำเป็นต้องแก้ตัวเลขใน อสร 7:8 ให้เอสรามาที่กรุงเยรูซาเล็มไม่ใช่ในปีที่ 7 แต่ในปีที่ 27 (แก้เลข 7 เป็น 27) ของรัชสมัยพระเจ้าอาร์ตัสเซอร์ซิสที่ 1 นั่นคือในปี 428 ก.ค.ศ.
    สมมติฐานแต่ละแบบนี้ต่างก็มีเหตุผลสนับสนุน แต่ก็มีปัญหาอยู่ด้วยเช่นกัน ดังนั้นปัญหาเรื่องนี้จึงยังไม่มีข้อยุติ อย่างไรก็ตาม ความจริงที่ทุกคนยอมรับก็คือ เนหะมีย์มาปฏิบัติภารกิจของตนที่กรุงเยรูซาเล็มในช่วงเวลาตั้งแต่ปี 445 ถึง 433 ก.ค.ศ.
    อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาถึงความสำคัญด้านศาสนาของหนังสือเอสราและเนหะมีย์แล้ว ปัญหาเรื่องวันเดือนปีที่บุคคลทั้งสองมาที่กรุงเยรูซาเล็มนับว่ามีความสำคัญน้อยมาก ผู้เรียบเรียงพงศาวดารต้องการเสนอภาพรวมของการฟื้นฟูประชากรและศาสนายิว แต่อาจสับสนอยู่บ้างในเรื่องลำดับเวลา และเพื่อจะประเมินความหมายของเหตุการณ์นี้ สิ่งที่มีความสำคัญก็คือความคิดที่เป็นพลังบันดาลใจเบื้องหลังการฟื้นฟู มากกว่าลำดับเหตุการณ์ในขั้นตอนต่างๆ เนื่องจากว่า กษัตริย์เปอร์เซียทรงมีพระราชกุโศลบายเปิดกว้างในเรื่องศาสนาสำหรับชนชาติต่างๆ ทั่วจักรวรรดิ ชนชาติยิวจึงกลับจากถิ่นเนรเทศมายังแผ่นดินแห่งพระสัญญา จัดการรื้อฟื้นคารวกิจดั้งเดิมของตนและสร้างพระวิหารรวมทั้งกำแพงกรุงเยรูซาเล็มขึ้นใหม่ มาอยู่รวมกันเป็นชุมชนที่มีผู้ปกครองเป็นชนชาติเดียวกันและมีธรรมบัญญัติของโมเสสเป็นกฎหมายปกครอง สิ่งเดียวที่ราชสำนักเปอร์เซียต้องการคือความสวามิภักดิ์อย่างซื่อสัตย์ ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องยากเย็นอะไรสำหรับชาวยิวเลย ในเมื่อราชสำนักเปอร์เซียให้ความเคารพต่อขนบประเพณีของชาวยิวอยู่แล้ว สภาพการณ์เช่นนี้มีความสำคัญมาก นับได้ว่าเป็นการถือกำเนิดของศาสนายูดายทีเดียว โดยที่ชาวยิวได้ครุ่นคิดไว้นานแล้วตั้งแต่อยู่ในถิ่นเนรเทศที่กรุงบาบิโลน และกิจกรรมของบรรดาผู้นำที่พระเจ้าทรงปลุกขึ้นมานั้นก็ช่วยได้อย่างมากทีเดียว
    หลังจากที่เศรุบบาเบลได้ก่อสร้างพระวิหารขึ้นใหม่แล้ว (แม้ว่าผู้เรียบเรียงพงศาวดารมิได้ให้ตำแหน่ง “พระเมสสิยาห์” แก่เขาเหมือนกับที่ประกาศกฮักกัยและเศคาริยาห์เคยตั้งให้ – ดู ฮกก 2:23; ศคย 6:12ฯ) เอสราและเนหะมีย์ก็มาเป็นผู้บุกเบิกในการฟื้นฟูชุมชนชาวยิวในแผ่นดินปาเลสไตน์ นับได้ว่าเอสราเป็นผู้ให้กำเนิดศาสนายูดายโดยแท้จริง เขามีความคิดหลักอยู่สามประการคือ – (1) ชนชาติยิวเป็นชนชาติที่พระเจ้าทรงเลือกสรร (2) พระวิหาร และ (3) ธรรมบัญญัติ ถ้าเรารู้สึกว่ามาตรการที่เขาใช้ในการปฏิรูปนั้นเคร่งครัด และเขามีแนวคิดแคบๆ ให้ชาวยิวแยกตนจากชนต่างชาตินั้น เหตุผลก็คือเขามีความกระตือรือร้นอย่างมาก และความจำเป็นที่จะต้องปกป้องชุมชนที่ตั้งขึ้นใหม่นี้เป็นสิ่งที่ต้องกระทำอย่างเร่งด่วน เขาเป็นแบบอย่างสำหรับ “ธรรมาจารย์” ทุกคน เป็นวีรบุรุษที่ได้รับความเคารพนับถือมากขึ้นอย่างต่อเนื่องในธรรมประเพณีของชาวยิว ส่วนเนหะมีย์ซึ่งแม้จะมีอุดมการณ์เหมือนกัน แต่ก็ปฏิบัติงานในข่ายงานต่างกัน คือในเรื่องการฟื้นฟูและจัดให้ประชาชนเข้าไปพำนักอยู่ในกรุงเยรูซาเล็ม ทำให้กรุงนี้มีผู้มาพำนักอยู่ได้และน่าอยู่เพื่อให้ชาวยิวดำรงความเป็นชาติของตนต่อไปได้ด้วยดี บันทึกที่เขาทิ้งไว้ถ่ายทอดความในใจของเขาให้เรารู้ได้ลึกซึ้งกว่าบันทึกของเอสรา  บันทึกนี้ทำให้เรารู้ว่าเขามีบุคลิกกระฉับกระเฉงและน่าคบ ไม่กลัวที่จะใช้ความพยายาม แต่ก็ใช้ความคิดอย่างรอบคอบ วางใจในพระเจ้าและอธิษฐานภาวนาขอความช่วยเหลือจากพระองค์บ่อยๆ เขาทิ้งความทรงจำน่ายกย่องไว้แก่ชนรุ่นหลัง บุตรสิราถึงกับกล่าวชมเชยเขาว่าเป็นผู้ “ที่สร้างกำแพงเมืองที่ปรักหักพังของพวกเราขึ้นมาใหม่” (บสร 49:13)
    เราจึงไม่ต้องประหลาดใจ   ที่ผู้เรียบเรียงพงศาวดารเห็นว่าสังคมชาวยิวที่สถาปนาขึ้นใหม่รอบพระวิหารและปฏิบัติตามธรรมบัญญัตินี้ ทำให้สังคมในอุดมการณ์ที่พระเจ้าทรงปกครองซึ่งเขากล่าวขอร้องในหนังสือพงศาวดารอยู่ตลอดเวลาให้เกิดขึ้นนั้น เป็นความจริงขึ้นมาได้ เขารู้ดีว่าความเป็นจริงเช่นนี้ยังไม่สมบูรณ์ ยังจะมีบางสิ่งที่ดีกว่ารออยู่ในอนาคต แต่ในหนังสือเอสราและเนหะมีย์เขายังต้องใช้เอกสารต่างๆอยู่อีก มากกว่าที่เคยใช้ในหนังสือพงศาวดาร และเขายังคัดลอกเอกสารเหล่านี้ให้เราเห็นด้วย เขาแสดงให้เห็นว่ายังคงต้องยึดมั่นให้สังคมของชาวยิวแยกตัวจากชนต่างชาติอยู่ตามที่สภาพแวดล้อมเรียกร้อง และยังเคารพการที่ชาวยิวเหล่านี้ไม่กล่าวถึงความหวังในพระเมสสิยาห์     –      การงดเว้นไม่กล่าวถึงเรื่องพระเมสสิยาห์เช่นนี้คงมีเหตุผลมาจากความรอบคอบด้านการเมืองแน่ๆ – เขาเขียนผลงานของเขากลางช่วงเวลาระหว่างศตวรรษที่ 4 และที่ 3 ก.ค.ศ. ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เขารู้จักน้อยมาก ในช่วงเวลานี้ชุมชนชาวยิวที่กรุงเยรูซาเล็มปลีกตัวออกไปอยู่ต่างหากจากชนต่างชาติ แต่ก็เติบโตขึ้นอย่างเงียบๆ จนเข้าใจตนเองและมีชีวิตจิตลึกซึ้งยิ่งขึ้นตามความเชื่อทางศาสนาของตน