แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

1. การเลือกเชิญแขก
(ลก 14:12-14)

  คำอธิบาย
    แม้ว่าผู้นิพนธ์พระวรสารจะไม่เรียกอย่างแจ่มแจ้งว่า เรื่องที่พระเยซูเจ้าได้ทรงตรัสสอนนั้นเป็นอุปมา ถึงกระนั้นก็ดี ท่านก็ได้ใส่เรื่องนี้ไว้ในชุดเรื่องอุปมา และเรื่องนี้ก็มีลักษณะคล้ายอุปมาด้วย พระเยซูเจ้าได้ทรงเล่าเรื่องนี้ให้ฟาริสีฟังในโอกาสที่เขาเชิญพระองค์ไปรับประทานอาหาร
    เมื่อท่านจัดเลี้ยงอาหาร การเชื้อเชิญแขกให้มาทานเลี้ยง เป็นเครื่องหมายถึงการมีน้ำใจดีและมิตรภาพ และเป็นสิ่งที่ทำกันนับแต่เริ่มมีมนุษย์ แต่น่าเสียดายที่บางครั้งกิจการอันน่าเลื่อมใสและที่เป็นเครื่องหมายของเมตตาจิตนี้ต้องเปื้อนหมองไป เพราะการเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัว หรือเพื่อให้แขกเชิญเราเป็นการตอบแทน เพราะฉะนั้น พระอาจารย์เจ้าจึงได้ตรัสกับชาวฟาริสีว่า

    อย่าเชิญมิตรสหาย พี่น้องหรือเพื่อนบ้านที่มั่งมี แขกที่พระเยซูเจ้าได้พบเห็นในวันนั้นเป็นเพื่อน ญาติพี่น้องของเจ้าภาพทั้งนั้น ที่เขาเลือกเชิญเฉพาะคนรวยๆ ก็เพื่อจะให้พวกนั้นเชื้อเชิญเขาเป็นการตอบแทนบ้างในโอกาสต่อไป เพราะฉะนั้น การจัดงานเลี้ยงจึงไม่ใช่มาจากเมตตาจิตอย่างแท้จริง แต่เพื่อผลประโยชน์มากกว่า
    จงเชิญคนยากจน คนพิการ คนง่อย คนตาบอด คนที่ต้องการความช่วยเหลือ และคนที่ไม่มีทางจะเชิญเขาเป็นการตอบแทน และนี่แหละคือเมตตาจิตอย่างแท้จริง เพราะเขาทำไปโดยไม่หวังผลประโยชน์ตอบแทน
    แล้วท่านจะเป็นสุข กิจการเช่นนี้เป็นความรักอย่างแท้จริง และสมจะได้รับพระพรและบำเหน็จจากพระเจ้า
    เพราะคนเหล่านั้นไม่มีสิ่งใดตอบแทนท่านได้ เนื่องจากพวกเขายากจน จนไม่มีทางจะตอบแทนผู้มีพระคุณได้เลย
    เมื่อผู้ชอบธรรมกลับคืนชีวิต เราทุกคนจะถูกตัดสินและจะได้รับรางวัลหรือต้องโทษในวันที่เราสิ้นใจ แต่ในวันสิ้นพิภพนั้น บาปบุญคุณโทษของเราจะปรากฏแก่คนทั่วไปสำหรับผู้ชอบธรรม เป็นวันที่เขาจะได้รับเกียรติอย่างสูงส่ง แต่สำหรับคนบาป จะเป็นวันที่น่าอัปยศอดสูเป็นที่สุด

  คำสอน
    แม้ว่าพระเยซูเจ้าจะพูดถึงการต้อนรับแขกที่แสดงถึงความรักในเรื่องเปรียบเทียบ ที่พระองค์ถือโอกาสพูดในบรรยากาศเช่นนั้น ถึงกระนั้นก็ดี พระองค์ก็มีพระประสงค์ที่จะสอนถึงความรักฉันพี่น้องทั่วๆ ไปด้วย ฟาริสีที่เชื้อเชิญพระเยซูเจ้า หวังจะได้รับผลตอบแทนจากแขก และหวังให้ผู้อื่นชมเชยว่าเขาได้แสดงความรักต่อเพื่อนมนุษย์ โดยการแบ่งปันอาหารที่เขามีแก่พี่น้องเพื่อนมนุษย์ แต่ว่าความเห็นแก่ตัวที่จะได้รับผลตอบแทนได้เปลี่ยนกิจการแห่งเมตตาจิตนั้นให้กลายเป็นกิจการประสาโลก เป็นการลงทุนที่หวังผล เพราะฉะนั้น กิจการนั้นจึงไม่ใช่เมตตาจิตอีกต่อไป และไม่มีผลเฉพาะพระพักตร์พระเป็นเจ้า ความเห็นแก่ตัวมีอยู่ทุกยุคทุกสมัย เพราะมนุษย์ส่วนใหญ่มักจะเห็นแก่ตัว เพราะฉะนั้นพระองค์จึงเตือนเราที่มีชีวิตอยู่ในสมัยนี้ด้วย ธรรมชาติของมนุษย์มักจะเห็นแก่ตัว และความเห็นแก่ตัวนี้ฝังรากลึกอยู่ในหัวใจ มันจะโผล่ออกให้เห็นเมื่อเราจะต้องเสียเวลาของเราหรือต้องให้บางสิ่งบางอย่างแก่เพื่อนมนุษย์ด้วยกัน
    ความรักที่พระคริสตเจ้าต้องการปลูกฝังลงในจิตใจของเรานั้นจะตัดรากความเห็นแก่ตัวของเรา พระเป็นเจ้าทรงเรียกร้องให้เรารักเพื่อนมนุษย์ โดยใจกว้างและไม่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัว มิใช่แต่เพียงไม่ปรารถนาสิ่งของของผู้อื่นอย่างอยุติธรรมเท่านั้น แต่จะต้องหยิบยื่นของเราเองให้แก่เพื่อนมนุษย์ที่ขัดสน ทั้งนี้เพราะทั้งเราและเขาต่างก็เป็นบุตรของพระเป็นเจ้าด้วยกัน พระบัญญัติของพระองค์ไม่ใช่เป็นสิ่งที่ปฏิบัติได้ง่ายนัก ถ้าหากเราต้องเสียสละเงินทำทาน แต่ในเวลาเดียวกันเราก็ต้องให้เขาประกาศชื่อของเราตามหน้าหนังสือพิมพ์ เพื่อชื่อเสียงของเรา เราทำได้ง่ายเช่นเดียวกันถ้าหากเราช่วยเหลือผู้ที่วันหนึ่งคงจะช่วยเหลือเราได้ เพราะนั่นก็เท่ากับเป็นการลงทุนอย่างฉลาดนั่นเอง แต่ถ้าหากเราจะต้องทำทานเงียบๆ โดยไม่มีใครรู้ หรือเราจะต้องช่วยเหลือผู้ที่ยากจนขัดสนจริงๆ และไม่มีช่องทางจะตอบแทนเรา ความเห็นแก่ตัวของเราก็จะโผล่ขึ้นมา และมันจะพยายามแก้ตัวร้อยแปด เพื่อไม่ให้เราทำกิจเมตตาปรานี เช่นว่าเรายังไม่รวยพอบ้าง ปล่อยโอกาสให้ผู้อื่นทำบุญทำทานบ้าง คนยากจนเกียจคร้านในการทำมาหากินบ้าง ขอให้เราคิดเสมอว่า ถ้าหากพระเยซูเจ้าทรงหาทางแก้ตัว และหาเหตุผลเพื่อช่วยคนบาปอยู่เสมอ (เรื่องผู้หญิงคนบาปที่ถูกจับได้ขณะคบชู้) ทำไมเราจึงกล้าประณามเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน พระองค์ทรงกำชับไว้มิใช่หรือว่า จงอย่าตัดสินเพื่อว่าเราจะไม่ถูกตัดสิน ถ้าหากพระเป็นเจ้าทรงพร้อมเสมอที่จะยกฐานะของคนบาปให้สูงขึ้น และทรงมีพระประสงค์ให้เราช่วยเหลือคนยากจนและแม้แต่คนบาปด้วย เราจะกล้าตั้งคำถามพระองค์หรือว่าธุระอะไรของผม (ฉัน) ข้อแก้ตัวที่เรามักจะให้กับตัวเองหรือเรามักจะได้ยินคนที่เห็นแก่ตัวพูดเสมอก็คือ “เรามีธุระเต็มมือ ไม่มีเวลาที่จะไปสนใจเรื่องของชาวบ้าน” ถูกแล้ว นี่เป็นอุดมคติที่ดีน่าสรรเสริญ ถ้าหากว่าทุกคนสามารถถือตามคติข้อนี้ และเข้าใจว่าโลกของเราคงจะน่าอยู่มากกว่าในขณะนี้เป็นไหนๆ แต่ในสายตาแห่งความเชื่อในฐานะที่เราคริสตชนต่างก็เป็นลูกของพระ คติข้อนี้จะใช้ได้หรือ เราต่างคนต่างอยู่ในพระศาสนจักรได้หรือ เราจะเอาตัวรอดไปสวรรค์คนเดียวได้อย่างไร คตินี้ไม่ขัดกับคำสั่งสอนของพระอาจารย์เจ้าดอกหรือ เราเป็นส่วนประกอบของพระกายทิพย์ของพระคริสตเจ้า โดยมีพระองค์เป็นศีรษะและเราทุกคนเป็นอวัยวะมิใช่หรือ เมื่อเรารวมกันเป็นหนึ่งเดียวกันเช่นนี้ เราก็จำเป็นจะต้องรักกันและกัน ความทุกข์สุขของผู้อื่นและผลประโยชน์ของผู้อื่นก็ย่อมเป็นของเราด้วย เรามีโชคชะตาร่วมกันในองค์พระคริสตเจ้าและพระองค์ก็ทรงมีพระประสงค์ให้เราเป็นหนึ่งเดียวกันเหมือนกับพระบิดา พระบุตรและพระจิตเป็นหนึ่งเดียวกัน
    แน่นอน พระเป็นเจ้าไม่ได้เรียกร้องให้เราทำสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เราไม่สามารถที่จะช่วยมนุษย์ทุกคนในโลกได้ แต่เราก็สามารถที่จะให้ความช่วยเหลือแก่พี่น้องที่อยู่รอบข้างของเราได้ เพราะเรามีโอกาสจะรู้ถึงความต้องการหรือขัดสนของเขา  อนึ่งเราอาจจะภาวนาเพื่อพระศาสนจักรสากลได้ด้วย เช่น เราอาจจะภาวนาเพื่อให้คนบาปได้กลับใจและเพื่อความเจริญก้าวหน้าของพระศาสนจักร
    สำหรับความช่วยเหลือทางด้านจิตใจ เราอาจจะไปเยี่ยมเยียนคนเจ็บ คนไข้ เพื่อบรรเทาใจเขา เราอาจจะใช้เวลาอบรมสั่งสอนเด็ก เราอาจจะเข้าเป็นสมาชิกพลมารี ซึ่งทำงานโดยตรงเกี่ยวกับเรื่องนี้
    สำหรับความช่วยเหลือทางด้านวัตถุ เราอาจจะไปทำบุญทำทานโดยโตรง หรือผ่านทางคณะวินเซนต์ เดอ ปอล หรือดีกว่านั้นเสียอีก เราอาจจะสมัครเป็นสมาชิกคณะวินเซนต์ เดอ ปอล อย่างน้อยสมาชิกประเภทสนับสนุนก็ยังดี นอกจากนี้ เรายังอาจเข้าเป็นสมาชิกหรือสนับสนุนองค์กรสังคมสงเคราะห์ไม่ว่าจะจัดในรูปใด พูดง่ายๆ ถ้าหากเราพร้อมที่จะแสดงความรักต่อเพื่อนมนุษย์แล้ว เราจะพบหนทางที่จะแผ่เมตตาจิตอย่างแน่นอน เพราะพี่น้องที่ต้องการความช่วยเหลือทั้งฝ่ายวิญญาณและฝ่ายกายมีอยู่รอบด้าน เช่น เราอาจจะพูดคำสองคำเพื่อให้กำลังใจผู้ที่กำลังหมดหวัง เราอาจจะแนะนำหาทางแก้ปัญหาให้แก่คนที่คิดอะไรไม่ออก เราอาจจะช่วยเหลือเขาในด้านวัตถุ เชิญเขาเข้าร่วมประชุมในกิจกรรมของวัด ให้เขายืมหนังสือที่เราอ่านแล้ว โปรดจำไว้ว่า พระเยซูเจ้าเองเคยตรัสไว้ว่า ถ้าหากเราทำเช่นนี้กับพี่น้องของเรา พระองค์ทรงถือว่าเราได้กระทำต่อพระองค์เอง