แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

2. คนงานในสวนองุ่น (มธ 20:1-16)

คำอธิบาย
พระเยซูคริสตเจ้าทรงเล่าอุปมาเรื่องนี้เพื่อแสดงว่า  รางวัลตลอดชั่วนิรันดรสำหรับมนุษย์เป็นของประทานของพระเป็นเจ้า เป็นของขวัญอันล้ำค่าซึ่งมนุษย์ไม่สามารถจะได้รับโดยอาศัยความสามารถของมนุษย์แต่อย่างเดียว แม้มนุษย์จะพยายามอย่างไรก็ตาม ชาวฟาริสีมีความคิดว่าพวกเขาเท่านั้นที่เป็นสมาชิกในอาณาจักรสวรรค์นี้  ในฐานะที่เป็นประชากรของพระเป็นเจ้า และพวกเขาคัดค้านคำสั่งสอนของพระเยซูเจ้าที่สอนว่า  คนบาปและคนเก็บภาษีก็มีโอกาสเข้าในอาณาจักรสวรรค์ของพวกเขาด้วย

อาณาจักรสวรรค์เปรียบเหมือนพ่อบ้านผู้หนึ่งซึ่งออกไปตั้งแต่เช้าตรู่ เพื่อจ้างคนงานมาทำงานในสวนองุ่น ในสมัยนั้นในปาเลสไตน์และแม้ในสมัยนี้ด้วย  เช่นในประเทศอินเดีย  คนที่ต้องการทำงานจะต้องเข้าไปในเมืองหรือตามหมู่บ้าน แล้วก็ไปรวมกันในที่สาธารณะหรือตามย่านชุมชน เพื่อรอให้คนอื่นเขาจ้างไปทำงานตามที่เขาต้องการ การจ้างนั้นจะตกลงกันเป็นรายเดือนหรือรายสัปดาห์หรือรายวันก็ได้  ส่วนค่าจ้างก็ตกลงกันเองตามความพอใจของทั้งสองฝ่าย
    ครั้นได้ตกลงค่าจ้างวันละหนึ่งเหรียญกับคนงานแล้ว  เจ้าของสวนในอุปมาได้เลือกคนงานไว้กลุ่มหนึ่ง  และจ้างเป็นรายวัน  โดยจะให้ค่าจ้างวันละ 1 เหรียญ  ซึ่งเป็นอัตราค่าแรงตามปกติในสมัยนั้น
    เขาได้ออกไปในโมงที่สาม  ที่หก  และที่เก้า  ชาวโรมันแบ่งเวลากลางวันออกเป็น 12 ชั่วโมง  คือตั้งแต่ 6 โมงเช้า  ถึง 6 โมงเย็น  และในสมัยพระเยซูเจ้า ชาวยิวก็ถือตามนี้ เพราะฉะนั้น เจ้าของสวนก็ได้ออกไปจ้างคนงานครั้งแรกตอน 6 โมงเช้า  ต่อมาก็ 9 โมง  เที่ยง บ่าย 3 โมง  และตอนเย็น 6 โมง  ตามลำดับ  ที่เขาจ้างในเวลาไม่พร้อมกันอาจจะเป็นเพราะว่าครั้งแรกเขาคงคำนวนไม่ดี  และกลัวว่างานคงจะไม่เสร็จอีก จึงต้องจ้างคนงานเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แต่พระเยซูเจ้าได้ทรงประดิษฐ์ขึ้นเพื่อจะเป็นคำสอนของพระองค์มากกว่าก็เป็นได้
    ฉันจะให้ค่าจ้างตามสมควร  เจ้าของเสนอค่าจ้างที่ยุติธรรม  และยิ่งทียิ่งสายขึ้นเรื่อยๆ ดีไม่ดีอาจไม่มีใครว่าจ้างก็ได้
    ประมาณห้าโมงเย็น พ่อบ้านออกไปอีก  เจ้าของได้จ้างคนงานอีกพวกหนึ่งตอนเย็นมากแล้วให้ไปทำงานในสวนองุ่น  เขาถามพวกนั้นว่า ทำไมยืนอยู่เฉยๆ ตลอดทั้งวัน  พวกเขาตอบว่าไม่มีใครจ้าง  เจ้าของจึงได้ให้พวกเขาไปทำงาน  โดยไม่ได้ตกลงราคากันไว้  ส่วนพวกคนงานก็ไม่ได้ถามถึงค่าจ้างเช่นเดียวกัน  เพราะว่ามีเวลาทำงานเหลือเพียงชั่วโมงเดียวเท่านั้น  สู้ปล่อยให้นายจ้างทำตามความใจดีของเขาดีกว่า 
ไปเรียกคนงานมา จ่ายค่าจ้างให้เขา  พอ 6 โมงเย็น  ทุกคนก็เลิกงาน  เจ้าของจึงสั่งให้คนใช้ไปเรียกพวกคนงานมารวมกันเพื่อจะได้รับค่าจ้าง  โดยเริ่มจ่ายให้แก่พวกที่มาที่หลังสุดก่อน  การจัดแบบนี้จำเป็นสำหรับคำสอนในนิทานเรื่องนี้  เพราะถ้าหากพวกแรกได้รับเงินก่อน  พวกเขาก็คงจะกลับบ้าน  และคงไม่ทราบว่าพวกที่มาที่หลังได้รับเท่าไร
เมื่อพวกที่เริ่มงานเวลาห้าโมงเย็นมาถึง เขาได้รับคนละหนึ่งเหรียญ เจ้าของไม่ได้ตกลงกับพวกเขาว่าจะจ่ายค่าจ้างให้เท่าไร  แต่เนื่องจากเขาเป็นคนมีใจเอื้อเฟื้อโอบอ้อมอารี  เขาจึงให้ค่าแรงเท่ากับ 1 วันเต็ม   และเขาก็ให้พวกที่มาทำงานตอนบ่าย 3 โมง ตอนเที่ยงและตอน 9 โมง  คนละ 1 เหรียญ เหมือนกันหมด ไม่มีปัญหาอะไร เพราะทุกคนก็พอใจ  เพราะพวกเขาได้รับค่าจ้างมากกว่าที่พวกเขาหวังจะได้รับเสียอีก
    เมื่อคนงานพวกแรกมาถึง เขาคิดว่าตนจะได้รับมากกว่านั้น แต่ก็ได้รับคนละหนึ่งเหรียญเช่นกัน แต่พวกเขาก็บ่นแสดงความไม่พอใจทันที  ทำไมพวกที่ทำงานเพียงชั่วโมงเดียวจึงได้รับค่าจ้างเท่ากับพวกเขาซึ่งต้องทำงานหนักตลอดวัน พวกเขาคิดว่านี่เป็นการอยุติธรรม  แต่เป็นความอยุติธรรมจริงๆ หรือ
    เพื่อนเอ๋ย ฉันไม่ได้โกงท่านเลย ท่านไม่ได้ตกลงกับฉันคนละหนึ่งเหรียญหรือ จงเอาค่าจ้างของท่านไปเถิด ฉันอยากจะให้คนที่มาสุดท้ายนี้เท่ากับให้ท่าน ฉันไม่มีสิทธิ์ใช้เงินของฉันตามที่ฉันพอใจหรือ ท่านอิจฉาริษยาเพราะฉันใจดีหรือ เนื่องจากพวกคุณรู้สึกอิจฉาริษยา  พวกคุณจึงเห็นว่าความใจกว้างของผมกลายเป็นความอยุติธรรมไป  เจ้าของสวนยุติธรรมที่สุด  เพราะเขาได้ทำตามที่ได้ตกลงกันไว้ทุกประการ  ถ้าหากเขาได้จ่ายให้คนอื่นๆ คนละเหรียญเท่ากัน  เขาก็ไม่ผิดความยุติธรรมต่อพวกแรก  แต่เขาเป็นคนมีเมตตาต่างหาก  พระเป็นเจ้าพระองค์ทรงประทานความสุขตลอดทั้งชั่วนิรันดร  ก็คล้ายๆ กับเจ้าของสวนจ่ายค่าแรงคนงานนั่นเอง  บางคนบรรลุถึงความศักดิ์สิทธิ์โดยอาศัยการทรมานกายทรมานใจใช้โทษบาปเสียนาน  บางคนกลายเป็นนักบุญใช้เวลาเพียงไม่กี่ปี บางทีไม่กี่วันด้วยซ้ำ เนื่องจากพระองค์ทรงโปรดพระหรรษทานเป็นพิเศษแก่เขา  สำหรับทุกคนที่บรรลุถึงอาณาจักรสวรรค์  พวกเขาย่อมทราบอยู่ดีว่า  รางวัลนั้นใหญ่หลวงเกินกว่าที่เขาจะคิดหรือหวัง  นักบุญเปาโล กล่าวว่า “ข้าพเจ้าคิดว่า ความทุกข์ทรมานในปัจจุบันเปรียบไม่ได้เลยกับพระสิริรุ่งโรจน์ที่จะทรงบันดาลให้ปรากฏแก่เรา” (รม 8:18) เราไม่มีสิทธิ์ที่จะเรียกร้องอะไรจากพระเป็นเจ้า  ฉะนั้น  เราก็ไม่มีสิทธิ์ที่จะไปถามพระองค์ว่า  ทำไมพระองค์ทรงพระทัยดีต่อคนนั้น  ต่อคนนี้  ฯลฯ  ทั้งนักบุญเปาโล ซึ่งเคยได้สู้ทนความยากลำบากนานกว่า 30 ปี  เพราะเห็นแก่พระเยซูเจ้า  และโจรที่กลับใจซึ่งพระเยซูเจ้าได้ทรงสัญญาว่าเขาจะได้เข้าสวรรค์ในวันนั้นเองที่เขากลับใจ  ต่างก็ได้รับความยินดีเข้าสู่อาณาจักรสวรรค์ โดยอาศัยพระเมตตาของพระเยซูเจ้าด้วยกันทั้งคู่  และสำหรับทั้งสองคน  พวกเขาก็ได้รับบำเหน็จรางวัลที่มากกว่าที่เขาจะได้รับทั้งคู่
    ดังนี้แหละ คนกลุ่มสุดท้ายจะกลับกลายเป็นคนกลุ่มแรก และคนกลุ่มแรกจะกลับกลายเป็นคนกลุ่มสุดท้าย นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า  ไม่มีใครจะเรียกร้องอะไรจากพระเป็นเจ้าได้  เพราะพระองค์ไม่ได้เป็นหนี้ใคร สำหรับคนบางประเภท  ชาวฟาริสีที่คิดว่าพวกเขามีสิทธิ์ก่อนคนอื่นๆ ในอาณาจักรสวรรค์ของพระเป็นเจ้า  จนกระทั่งว่าคนอื่นไม่มีสิทธิ์นั้น  พระเยซูเจ้าก็ทรงสอนเขาว่าพระเป็นเจ้าจะกระทำต่อพวกเขาตามความยุติธรรม  พวกเขาอาจจะไปสวรรค์ได้  ถ้าหากพวกเขาประพฤติตนเหมาะสม  แต่พวกเขาไม่มีหน้าที่ที่จะไปห้ามพระเป็นเจ้า  พระองค์ก็มีอิสระและพระองค์จะให้ใครไปสวรรค์ก็ได้ทั้งนั้น  ยิ่งกว่านั้นพระองค์อาจจะให้ตำแหน่งเท่ากันหรือว่าสูงกว่าชาวฟาริสีแก่คนอื่นๆ ก็ได้ คนบาปที่สำนึกผิด  ลูกล้างผลาญที่กลับใจ  ก็เป็นที่รักใคร่ของพระบิดาเจ้าสวรรค์ไม่แพ้ลูกคนโตที่อยู่บ้านและไม่ต้องการกลับใจเหมือนกัน

คำสอน
การเรียกเข้ามาทำงานในสวนองุ่นโดยอาศัยพระคุณของพระเป็นเจ้าที่ได้ทรงประทานความเชื่อและศีลล้างบาป  เป็นพระคุณที่เราไม่สามารถจะขอบคุณพระเป็นเจ้าได้เพียงพอเลย  ตราบใดที่เราอยู่ในสวนองุ่นและทำงานอย่างซื่อสัตย์  กล่าวคือ  ถ้าหากเราร่วมงานกับพระหรรษทานปัจจุบันของพระเป็นเจ้าที่ทรงโปรดประทานให้แก่เราเสมอ เราก็มั่นใจได้ว่า เราจะเพิ่มพูนพระหรรษทานศักดิ์สิทธิกรในตัวเรา  และสมจะได้รับบำเหน็จในสวรรค์
    งานที่เราจะต้องทำในสวนองุ่นก็คือ  เราจะต้องทำหน้าที่ประจำวันตามสถานะของเรา  เช่น  ถ้าหากเราเป็นนักบวช  ก็ต้องทำหน้าที่ของนักบวช  ถ้าหากเราเป็นครู  ก็ต้องทำหน้าที่ของครูอย่างดี  ถ้าหากเราเป็นพ่อบ้านแม่เรือน  เราก็ต้องพยายามปฏิบัติตามหน้าที่พ่อบ้านแม่เรื่อนอย่างครบครัน  ด้วยความซื่อสัตย์และจริงใจ  ถ้าหากเราเป็นนักเรียน เราก็จะต้องทำหน้าที่ของนักเรียนอย่างดี เพราะนั่นแหละเป็นการทำตามน้ำพระทัยของพระเป็นเจ้า  ซึ่งเป็นหนทางแห่งความศักดิ์สิทธิ์  และเราจะได้บำเหน็จรางวัล  กิจการงานส่วนใหญ่ในโลกเราก็เป็นงานตามธรรมดาที่ทุกคนจะต้องทำไม่ว่าเขาจะเป็นคริสตชนหรือคนต่างศาสนา  แต่การงานต่างๆ เหล่านั้น  ถ้าหากเราทำในขณะที่เราอยู่ในสถานะพระหรรษทาน  หรือเมื่อเราทำด้วยความรักต่อพระเป็นเจ้า  กิจการต่างๆ เหล่านั้นก็บันดาลให้เกิดผลบุญกุศล  ซึ่งมีคุณค่าสำหรับชีวิตนิรันดร อาศัยศีลล้างบาปที่พระเป็นเจ้าได้ประทานให้แก่เรา  เราจึงกลายเป็นบุตรบุญธรรมของพระเป็นเจ้า  มีส่วนร่วมในชีวิตเหนือธรรมชาติของพระองค์  เราจำจะต้องขอบพระคุณและรำลึกถึงพระคุณประการนี้เสมอ  ศีลล้างบาปทำให้เราเกิดใหม่ “เราบอกความจริงแก่ท่านว่า ไม่มีใครเข้าสู่พระอาณาจักรของพระเจ้า ถ้าเขาไม่เกิดจากน้ำและพระจิตเจ้า” (ยน 3:5)
    เพื่ออาณาจักรสวรรค์  พระองค์อาจจะให้เราต้องทำงานอย่างหนักด้วยความเหน็ดเหนื่อย  หรือพระองค์อาจจะให้เราต้องทรมานกายทรกรรมใจทำการใช้โทษบาปของเรา  ถึงกระนั้นก็ดี  สวรรค์ก็เป็นบำเหน็จอันล้ำค่าเสมอ  แต่ที่พระองค์ทรงพอพระทัยให้เราดำรงชีวิตแบบธรรมดาท่ามกลางความยินดีระหว่างพ่อแม่  ญาติพี่น้องและมิตรสหาย เราจะหาความสนุกอย่างไรก็ได้  แต่ขอให้อยู่ในขอบเขตของศีลธรรมที่ดีงามและอยู่ในขอบเขตของกฎหมายเท่านั้น และในชีวิตแบบง่ายๆ นี้  เรายังมีโอกาสเข้าสู่อาณาจักรสวรรค์  ถ้าหากเรามีชีวิตพระหรรษทาน  นักบุญเปาโลได้กล่าวว่า “เมื่อท่านจะกินจะดื่มหรือจะทำอะไรก็ตาม จงกระทำเพื่อถวายพระเกียรติแด่พระเจ้าเถิด” (1คร 10:31)
    ถ้าหากเราจะหวนไปดูชีวิตในอดีต  เราจะเห็นว่าเราได้ใช้เวลาเพื่ออาณาจักรสวรรค์ของพระเป็นเจ้าน้อยจริงๆ  นับตั้งแต่เรารู้ความ  เข้าเรียน  ประกอบอาชีพ  เข้าอาราม  และมีชีวิตอยู่ในปัจจุบันนี้  เราอาจจะทำงานหมกมุ่นทั้งวันเกี่ยวกับธุรกิจของเรา  เกี่ยวกับการค้า  เรียน  หุงข้าว หุงปลา  แต่ว่าเราคิดถึงพระเป็นเจ้าน้อยเหลือเกิน ในชีวิตที่ผ่านๆมา เราอาจจะอยู่เฉยๆ ตลอดเวลาก็ได้  อุปมาของพระเยซูเจ้าบทนี้น่าจะให้กำลังใจเรา  ชีวิตของเราในขณะนี้อาจจะถึงตอน 9 โมงเช้า  ตอนเที่ยง  บ่าย 3 โมง  และบางคนอาจจะถึงตอน 5 โมงเย็นแล้ว และมีเวลาทำงานเพียงชั่วโมงเดียวเท่านั้น อย่างไรก็ตาม  แม้ภายในชั่วโมงเดียว  ถ้าหากเราทำงานด้วยความขยันและจริงจัง เราก็ยังมีโอกาสได้รับค่าแรงอย่างมากมาย เกินกว่าที่เราคาดหมายไว้ด้วย
    เราอาจจะไม่เหมือนกับชาวฟาริสีที่อิจฉาตาร้อน  และเราคงไม่บ่นว่าพระเป็นเจ้าว่าพระองค์ไม่ยุติธรรม  เท่านี้ก็พอแล้วใช่ไหม พระองค์ไม่เรียกร้องอะไรมากกว่านี้หรือ ไม่มีพี่น้องของเราที่ยังหางานไม่ได้อยู่รอบข้างเราดอกหรือ และเราไม่มีโอกาสช่วยเหลือพวกเขาได้เลยหรือ ถ้าหากเรารู้จักคุณค่าของอาณาจักรสวรรค์แล้ว  เราคงจะพยายามช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ร่วมโลกให้เขาได้มีโอกาสเข้ามาทำงานอยู่ในสวนของพระบิดาเจ้า  แม้ว่าพวกเขาอาจจะมีเวลาเหลืออยู่เพียงเล็กน้อยเท่าไรก็ตาม