แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

2
บุตรคนเล็กได้ออกจากบ้าน

บุตรคนเล็กพูดกับบิดาว่า “คุณพ่อครับ โปรดให้ทรัพย์สมบัติส่วนที่เป็นมรดกแก่ลูกเถิด” บิดาจึงได้แบ่งทรัพย์สมบัติให้แก่ลูกทั้งสอง ต่อมาไม่นาน บุตรคนเล็กได้รวบรวมสิ่งที่มีแล้วเดินทางไปยังประเทศห่างไกล

การปฏิเสธอย่างสิ้นเชิง
    ภาพวาดของเรมแบรนท์มีชื่อเต็มว่า “การกลับมาของลูกล้างผลาญ” สิ่งซึ่งตรงกันข้ามกับการกลับมาก็คือ “การออกไป” การกลับมาคือการกลับบ้านหลังจากที่ได้ออกไป เป็นการหวนคืนหลังจากที่ออกไปไกลหากบิดาได้ต้อนรับบุตรกลับบ้านด้วยความยินดียิ่ง ก็เพราะลูกของเขาคนนี้ “ตายไปแล้ว ได้กลับมีชีวิตอีก หายไปแล้ว ได้พบกันอีก”  ความยินดีใหญ่หลวงที่ได้รับจากการกลับมาของบุตรที่หายไป ได้บดบังความเสียใจใหญ่ยิ่งที่มีอยู่ก่อน การพบซ่อนการสูญหายไว้เบื้องหลัง  การกลับมาก็มีการจากไปซ่อนอยู่ ก่อนที่จะดูการกลับมาที่อ่อนโยนและเต็มไปด้วยความยินดีนี้ จำเป็นที่ผมจะต้องลิ้มรสเหตุการณ์แห่งความเศร้าโศกที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้เสียก่อน ผมจะสามารถเข้าใจ “การกลับมา” ก็ต่อเมื่อผมได้เข้าใจความหมายของ “การออกจากบ้าน” อย่างลึกซึ้งแล้วเท่านั้นที่ได้อย่างแท้จริง    เสื้อผ้าสีน้ำตาลอมเหลืองอ่อนๆ ของบุตร ดูงดงามมากเมื่อได้กลมกลืนกับเสื้อคลุมสีแดงของบิดา แต่ความจริงก็คือว่าลูกสวมใส่เสื้อผ้าที่ขาดวิ่น ซึ่งแสดงชัดเจนถึงความทุกข์ลำเค็ญที่เขาจากมา ในบริบทที่มีการโอบกอดด้วยความเมตตาสงสารนั้น  บาดแผลก็ดูเหมือนงดงามได้  แต่เป็นความงดงามที่มาจากความรักเมตตานั่นเอง
เพื่อที่จะเข้าใจธรรมล้ำลึกเรื่องความรักเมตตาอย่างแท้จริงนั้น ผมต้องมองดูความเป็นจริงอย่างซื่อสัตย์ ความเป็นจริงที่ว่านี้ก็คือ ก่อนที่จะบุตรจะลุกขึ้นและกลับมานั้น เขาได้พูดกับบิดาว่า “โปรดให้ทรัพย์สมบัติส่วนที่เป็นมรดกแก่ลูกเถิด” หลังจากนั้น เขาได้รวบรวมทุกสิ่งที่มีและออกเดินทางไป พระวรสารของนักบุญลูกาเล่าเหตุการณ์นี้อย่างง่ายๆ ราวกับเป็นเรื่องปกติ ซึ่งที่จริงแล้วมีบางสิ่งที่เจ็บปวดและน่าโกรธแค้น และเป็นสิ่งตรงกันข้ามกับธรรมประเพณีอันดีงาม เคนเนธ ไบเลย์ (Kenneth Bailey) ได้อธิบายคำอุปมาของนักบุญลูกาไว้ว่า การจากไปของบุตรนั้น เท่ากับอยากให้บิดาของตนตาย ไบเลย์เขียนว่า
    “ตลอด 15 ปีที่ผมได้ถามบุคคลต่างๆ ตั้งแต่โมร็อคโคจนถึงอินเดีย และจากตุรกีถึงซูดาน ในเรื่องการเรียกร้องทรัพย์สมบัติของบุตรในขณะที่บิดายังมีชีวิตอยู่ คำตอบที่ได้รับคล้ายๆ กัน คือ
    มีใครเคยเรียกร้องการแบ่งทรัพย์สมบัติจากบิดาในหมู่บ้านของคุณบ้างไหม?
    ไม่เคย!
    เขาสามารถที่จะเรียกร้องอย่างนั้นได้ไหม?
    เป็นไปไม่ได้!
    ถ้าคนหนึ่งทำเช่นนั้น จะเกิดอะไรขึ้น?
    บิดาของเขาจะตีเขาอย่างแน่นอน!
ทำไม?
    เพราะการเรียกร้องให้แบ่งทรัพย์สมบัตินั้นหมายถึง การแช่งให้บิดาของเขาตายนั่นเอง
    ไบเลย์อธิบายว่า ลูกไม่เพียงแต่ขอแบ่งทรัพย์สมบัติเท่านั้น แต่ยังขอในส่วนที่เป็นของตน หลังจากที่บิดาได้มอบทรัพย์สมบัติให้แก่ลูกแล้ว บิดาก็ยังมีสิทธิ์เหนือสิ่งที่เขาเคยมีอยู่ก่อน ตราบเท่าที่เขายังมีชีวิตอยู่ ดังนั้น สิ่งที่บุตรคนเล็กได้รับตามที่เขาเรียกร้อง จึงเป็นสิ่งที่ตรงกันข้ามกับสิ่งที่เคยปฏิบัติกันมา เขาไม่มีสิทธิ์จนกว่าบิดาของเขาจะเสียชีวิตไปแล้ว ความหมายนัยๆ ก็คือว่า “คุณพ่อครับ ผมทนรอจนกว่าคุณพ่อจะเสียชีวิตไม่ไหวครับ”
    ดังนั้น “การจากไป” ของบุตรคนเล็กจึงเป็นการกระทำผิดที่รุนแรงกว่าที่เราได้อ่านจากเรื่องอุปมาในตอนแรก เพราะเป็นการปฏิเสธบ้านที่เขาเกิด และเลี้ยงดูเขา เขาตัดขาดจากประเพณีของตน เมื่อนักบุญลูกาเขียนว่า “แล้วเดินทางออกไปประเทศห่างไกล” ท่านต้องการบอกว่านี่เป็นสิ่งที่มากกว่าความปรารถนาของชายหนุ่มที่จะออกไปดูโลกภายนอก นักบุญลูกาต้องการพูดถึงการตัดขาดจากวิธีคิด วิถีชีวิต และการปฏิบัติซึ่งได้รับสืบทอดมาจากบรรพบุรุษ ซึ่งเสมือนเป็นมรดกอันศักดิ์สิทธิ์ บุตรคนเล็กไม่เพียงแต่ไม่ให้เกียรติหรือขาดเคารพนับถือเท่านั้น แต่ยังทรยศต่อคุณค่าของครอบครัวและต่อหมู่คณะอีกด้วย “ประเทศที่ห่างไกล” ก็คือโลก ซึ่งทุกสิ่งที่เคยถูกมองว่าดีในบ้านนั้นได้ถูกละทิ้งไป
    คำอธิบายนี้มีความหมายสำหรับผมมาก มิใช่เพราะช่วยให้ผมเข้าใจเรื่องอุปมาได้ถูกต้องตามบริบททางประวัติศาสตร์เท่านั้น แต่โดยเฉพาะอย่างยิ่ง   เป็นคำอธิบายที่เชื้อเชิญให้ผมยอมรับว่าตัวเองเป็นบุตรคนเล็กอีกด้วย ในตอนแรก ผมรู้สึกว่ายากมากที่จะค้นพบการต่อต้านแบบนี้ในชีวิตของผม การปฏิเสธคุณค่าของมรดกที่ได้รับตกทอดมานั้น ไม่ใช่สิ่งที่ผมคิดอยากจะทำ แต่เมื่อผมใช้เวลาพิจารณาถึงหนทางที่แยบยล ซึ่งทำให้ผมชอบประเทศที่ห่างไกลมากกว่าบ้านของตัวเองที่อยู่ใกล้ๆ แล้ว ภาพของบุตรคนเล็กก็ผุดขึ้นมาอย่างรวดเร็ว ผมกำลังพูดถึงการออกจากบ้าน “ฝ่ายจิต” ซึ่งแตกต่างจากความจริงที่ว่าผมได้ใช้ชีวิตส่วนใหญ่นอกประเทศฮอลแลนด์ที่ผมรัก
คำอุปมาเรื่องลูกล้างผลาญแสดงถึงความรักเมตตาอันยิ่งใหญ่ของพระเจ้ามากกว่าเรื่องอื่นใดในพระวรสาร และเมื่อผมให้ตัวเองอยู่ตรงใจกลางของเรื่องภายใต้แสงสว่างแห่งความรักของพระเจ้า ผมก็ได้ค้นพบอย่างเจ็บปวดว่า การจากบ้านไปนั้นคล้ายกับประสบการณ์ฝ่ายจิตวิญญาณของผมมากกว่าที่ผมเคยคิด
    ภาพวาดของเรมแบรนท์ที่แสดงภาพบิดาต้อนรับบุตรนั้น มีการเคลื่อนไหวภายนอกน้อยมาก ภาพนี้แตกต่างจากภาพร่างด้วยดินสอเรื่องลูกล้างผลาญ ที่เขาวาดในปี ค.ศ. 1636 ซึ่งเต็มไปด้วยความเคลื่อนไหว ส่วนภาพลูกล้างผลาญที่เฮอร์มิเทจ ซึ่งเขาวาดในอีก 30 ปีต่อมานั้น เป็นภาพที่ไม่มีการเคลื่อนไหวใดๆ ทั้งสิ้น การกระทำของบิดาคือการอวยพรอันไม่มีสิ้นสุด และภาพบุตรชายที่ซบอยู่กับอกของบิดาคือ สันตินิรันดร
คริสเตียน ทัมเปล (Christian Tumpel) เขียนไว้ว่า “ช่วงเวลาของการต้อนรับและการให้อภัย ในกิริยาอาการที่ปราศจากการเคลื่อนไหวนั้นเป็นนิรันดร ท่าทีของบิดาและบุตรมิได้แสดงถึงสิ่งชั่วคราว แต่เป็นสิ่งถาวร” จากอบ โรเซนเบิร์ก (Jakob Rosenberg) ได้สรุปภาพนี้ไว้อย่างงดงามว่า “ภาพบิดาและบุตรแทบจะไม่มีการเคลื่อนไหวภายนอกเลย มีแต่การเคลื่อนไหวภายใน (...) เรื่องนี้ไม่ได้ต้องการพูดถึงความรักของบิดาแบบมนุษย์ (...) แต่ต้องการสื่อถึงความรักของพระเจ้าและพระเมตตากรุณาของพระองค์ รวมทั้งพลานุภาพของพระองค์ที่จะเปลี่ยนความตายให้กลับเป็นชีวิต”

ไม่สำเหนียกต่อเสียงเรียกร้องของความรัก
    ด้วยเหตุนี้ การออกจากบ้านจึงเป็นสิ่งที่มากกว่าเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวโยงกับเวลาและสถานที่ เป็นการปฏิเสธความเป็นจริงฝ่ายจิตที่ว่าผมเป็นของพระเจ้าทั้งหมด พระองค์ทรงยกผมไว้ให้ปลอดภัยในอ้อมกอดนิรันดร์ของพระองค์ และผมถูกจารึกอยู่ในฝ่าพระหัตถ์ของพระองค์และถูกซ่อนไว้ในร่มเงาของพระองค์ การออกจากบ้านนี้หมายถึงการไม่รู้ถึงความจริงว่า “พระเจ้าทรงปั้นตัวฉันอย่างลึกลับ ทรงก่อรูปร่างฉันขึ้นในส่วนลึกของโลก  ทรงถักทอฉันในครรภ์ของมารดา” (สดด.139:13-15) การออกจากบ้านคือการดำเนินชีวิตราวกับว่าผมไม่เคยมีบ้านมาก่อน และต้องพยายามมองหาบ้านใหม่ให้ได้
    บ้านคือศูนย์กลางของชีวิตผม ซึ่งผมสามารถได้ยินพระสุรเสียงที่ตรัสว่า “ท่านคือบุตรสุดที่รักของเรา  เราพอใจท่านมาก”  อันเป็นเสียงเดียวกันกับที่ให้ชีวิตแก่อาดัมคนแรก และที่ตรัสกับพระเยซูเจ้าผู้เป็นอาดัมคนที่สอง รวมทั้งเป็นเสียงเดียวกันกับเสียงที่ได้ตรัสแก่ประชากรของพระองค์  และปลดปล่อยพวกเขาให้เป็นอิสระ เพื่อพวกเขาจะได้เป็นแสงสว่างในท่ามกลางความมืดของโลก ผมได้ยินเสียงนี้ ซึ่งพูดกับผมในอดีต และยังคงพูดอยู่จนถึงปัจจุบัน เป็นเสียงแห่งความรักที่ไม่เคยขาดตอน ซึ่งบันดาลชีวิตและความรักแก่บุคคลที่ได้ยินเสียงนั้น เมื่อผมได้ยินเสียงดังกล่าว ผมก็รู้ว่าผมอยู่ที่บ้านกับพระเจ้าและผมไม่ต้องกลัวอะไรอีกแล้ว ในฐานะที่เป็นบุตรสุดที่รักของพระบิดาเจ้าสวรรค์ “แม้ข้าพระองค์จะเดินไปตามหุบเขาเงามัจจุราช ข้าพระองค์ไม่กลัวอันตรายใดๆ” (สดด. 23:4)
เช่นเดียวกับพระบุตรสุดที่รัก ผมสามารถ “รักษาคนป่วยให้หาย ปลุกคนตายให้คืนชีพ รักษาคนโรคเรื้อนและขับไล่ปีศาจ” (มธ.10:18)  ผมได้ “รับมาเปล่าๆ ผมก็ “ให้ไปเปล่าๆ”    และเช่นเดียวกับพระบุตรสุดที่รัก ผมกล้าเผชิญหน้า ปลอบโยน ตักเตือน และให้กำลังใจ โดยไม่กลัวการปฏิเสธหรือปรารถนาการยอมรับใดๆ ผมสามารถทนทุกข์ทรมานหรือถูกฆ่า โดยมั่นใจว่าความรักที่ผมได้รับนั้นเข้มแข็งกว่าความตาย เหมือนพระบุตรสุดที่รัก ผมเป็นอิสระที่จะดำเนินชีวิตและให้ชีวิต และเป็นอิสระที่จะสละชีวิตเพื่อให้ชีวิตเหมือนพระบุตรสุดที่รัก”
    พระเยซูเจ้าทรงทำให้ผมเข้าใจด้วยว่า ผมสามารถได้ยินเสียง ซึ่งเป็นเสียงเดียวกันกับที่พระองค์ได้ยินที่แม่น้ำจอร์แดนและภูเขาทาบอร์ และเมื่อพระองค์มีที่ประทับร่วมกับพระบิดา ผมก็มีเช่นเดียวกัน เมื่อพระองค์ภาวนาเพื่อสานุศิษย์ของพระองค์ พระองค์ตรัสว่า “เขาไม่เป็นของโลก ดังที่ข้าพระองค์มิได้เป็นของโลก  โปรดบันดาลให้เขาศักดิ์สิทธิ์โดยอาศัยความจริง พระองค์ทรงส่งข้าพระองค์มาในโลกฉันใด ข้าพระองค์ก็ส่งเขาไปในโลกฉันนั้น” (ยน.17:16-19) พระวาจานี้เผยแสดง บ้านที่แท้จริง บ้านอันถาวรของผม ความเชื่อจึงเป็นความมั่นใจว่า เรามีบ้านแท้อยู่    ณ ที่นั่น และยังคงอยู่ที่นั่นเสมอ มืออันหยาบกร้านของบิดาที่วางบนไหล่ของลูกล้างผลาญ  เป็นการอวยพรอยู่เสมอว่า “เจ้าคือบุตรสุดที่รักของเรา เราพอใจเจ้ามาก”
    อย่างไรก็ตาม ผมมักออกจากบ้านเป็นประจำ ผมหนีห่างไกลจากมือที่อวยพร ออกไปยังประเทศที่ห่างไกลเพื่อเสาะแสวงหาความรัก นี่เป็นโศกนาฏกรรมอันยิ่งใหญ่ของชีวิตผมและของชีวิตหลายๆ คนที่ผมได้พบ ผมไม่ได้ยินเสียงที่เรียกผมว่าบุตรสุดที่รัก ผมออกจากสถานที่แห่งเดียวที่ผมจะได้ยินเสียงเรียกผมเช่นนั้น ผมร่อนเร่ไปและหวังว่าจะได้พบสิ่งที่ผมไม่สามารถพบได้ในบ้าน
ในตอนแรก สิ่งนี้ดูเหมือนไม่น่าเชื่อ ทำไมผมจึงต้องออกจากสถานที่ที่ผมสามารถได้ยินสิ่งที่ผมปรารถนาจะได้ยิน?  ยิ่งผมคิดถึงคำถามนี้มากเท่าใด ผมยิ่งรู้สึกว่าเสียงที่แท้จริงของความรักก็คือ เสียงที่นุ่มนวลลึกซึ้ง และพูดกับผมในส่วนที่ซ่อนเร้นที่สุดของหัวใจผม ไม่ใช่เสียงอึกทึก ไม่ใช่เสียงที่บังคับให้ต้องสนใจ แต่เป็นเสียงของบิดาตาเกือบบอดที่ร้องไห้มากมาย และได้ผ่านความตายมามาก เฉพาะผู้ที่ยอมมอบตัวเองให้ถูกสัมผัสเท่านั้น จึงจะสามารถจะได้ยินเสียงนี้
    การรู้สึกถึงการอวยพรจากพระหัตถ์ของพระเจ้า และการได้ยินเสียงที่เรียกผมว่าบุตรสุดที่รัก ก็คือสิ่งเดียวกัน ประกาศกเอลียาห์ได้เข้าใจสิ่งนี้ชัดเจน เมื่อท่านยืนอยู่บนภูเขาเพื่อพบพระเจ้า ในตอนแรกมีเสียงพายุ แต่พระเจ้ามิได้อยู่ในพายุ ต่อมามีแผ่นดินไหว แต่พระเจ้ามิได้อยู่ในแผ่นดินไหว จากนั้นมีไฟเกิดขึ้น แต่พระเจ้าก็มิได้อยู่ในไฟนั้น ที่สุดมีบางสิ่งที่นุ่มนวลเกิดขึ้น ซึ่งบางคนเรียกสิ่งนี้ว่าเป็นสายลมเแผ่วเบา และบางคนว่าเป็นเสียงเล็กๆ เมื่อเอลียาห์รู้สึกเช่นนี้ ท่านได้ปิดหน้า เพราะท่านรู้ว่าพระเจ้าประทับอยู่ ในความอ่อนโยนของพระเจ้า เสียงนั้นได้สัมผัสท่าน (ดู 1พกษ.19:11-13)
    อย่างไรก็ตาม   มีเสียงอื่นๆ อีกที่ส่งเสียงดัง  เต็มไปด้วยคำมั่นสัญญาและล่อลวงเรา เสียงเหล่านั้นบอกว่า “จงออกไปและพิสูจน์ว่าคุณคือบุคคลที่มีคุณค่า” ทันทีที่พระเยซูเจ้าได้ยินพระสุรเสียงที่เรียกพระองค์ว่าบุตรสุดที่รัก พระองค์ก็ถูกนำไปยังทะเลทราย  ซึ่งเป็นสถานที่ที่พระองค์ได้ยินเสียงอื่นๆ อีก  เสียงนั้นแนะนำให้พระองค์พิสูจน์ว่า พระองค์ทรงสมควรเป็นที่รัก โดยต้องประสบความสำเร็จ มีชื่อเสียงและอำนาจ เสียงเหล่านี้เป็นเสียงที่ผมคุ้นเคยด้วย  เป็นเสียงที่เข้าถึงภายในให้ผมพิจารณาตัวเองเรื่องความซื่อตรงและไม่แน่ใจในคุณค่าของตัวผม ทำให้ผมคิดว่าผมจะไม่เป็นที่รัก หากไม่ทำงานอย่างหนักเพื่อให้ได้มา เสียงเหล่านี้ต้องการให้ผมพิสูจน์ต่อตัวเองและต่อคนอื่นๆ ว่า ผมสมควรเป็นที่รัก และเป็นเสียงที่ผลักดันให้ผมทำทุกวิถีทางเพื่อให้ตัวเองเป็นที่ยอมรับ   เสียงพวกนี้ปฏิเสธเด็ดขาดว่าความรักเป็นพระพรที่ได้รับมาเปล่าๆ ทุกครั้งที่ผมออกจากบ้าน นั่นหมายถึงผมสูญเสียความไว้ใจในเสียงที่เรียกผมว่า “บุตรสุดที่รัก” เพื่อเดินตามเสียงนั้น ซึ่งเสนอวิธีการต่างๆ ในอันที่จะได้รับความรักที่ผมปรารถนาอย่างยิ่ง
ตั้งแต่ที่ผมตั้งใจฟัง ผมก็ได้ยินเสียงนี้ และเป็นเสียงที่ไม่ออกห่างจากผมเลย เป็นเสียงที่ผ่านมาทางบิดามารดา เพื่อนๆ ครูอาจารย์ และเพื่อนร่วมงาน แต่โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นเสียงที่ผ่านทางสื่อมวลชนต่างๆ ที่อยู่รอบตัวผม บอกว่า “จงแสดงให้ผมเห็นสิว่าคุณเป็นคนดี คุณทำได้ดีกว่าคนอื่นๆ! ผลการเรียนของคุณเป็นอย่างไร จงแน่ใจเถิดว่าคุณสามารถทำได้โดยการศึกษาเล่าเรียน เราหวังอย่างยิ่งว่าคุณจะทำได้โดยตัวของคุณเอง หรือคุณแน่ใจว่าคุณต้องการที่จะเป็นเพื่อนกับคนเหล่านั้น?  เหรียญรางวัลเหล่านี้แสดงว่าคุณเป็นนักกีฬาที่เก่ง จงอย่าแสดงความอ่อนแอของคุณออกมา ฯลฯ เมื่อคุณหยุด ผู้คนก็จะไม่สนใจคุณ และเมื่อคุณตาย ทุกสิ่งก็จะหายไปหมด”
    ตราบใดที่ผมยังยึดกับเสียงที่เรียกผมว่าบุตรสุดที่รัก   ตราบนั้นคำถามและคำแนะนำเหล่านี้ก็จะไม่มีพิษภัยสำหรับผม บิดามารดา เพื่อนๆ  ครูบาอาจารย์ หรือแม้แต่สื่อมวลชนต่างๆ ล้วนแต่พยายามทำหน้าที่ของตน แท้จริงแล้ว คำแนะนำเหล่านี้สามารถแสดงถึงความรักของพระเจ้าด้วยการแสดงออกของมนุษย์ แต่เมื่อไรที่ผมลืมเสียงแห่งความรักที่ไม่มีเงื่อนไข เมื่อนั้นแหละเสียงคำแนะนำที่ว่านั้นก็จะชักนำให้ผมออกไปสู่ “ประเทศที่ห่างไกล” สำหรับผมแล้วไม่ยากเลยที่ผมจะรู้ตัว ความโกรธ ความแค้น ความอิจฉา ตัณหา ความโลภ ความหยิ่งจองหอง ความเกลียดชัง ล้วนเป็นเครื่องหมายชัดเจนว่าผมได้ออกจากบ้าน สิ่งนี้เกิดขึ้นง่ายมาก เมื่อผมสังเกตสิ่งที่เกิดขึ้นในตัวผมอย่างใส่ใจ ผมก็ได้ค้นพบอย่างน่าประหลาดใจว่าวันหนึ่งๆ มีช่วงเวลาน้อยมากที่ผมเป็นอิสระจากอารมณ์ ความปรารถนา และความรู้สึกดังที่กล่าวมา
ก่อนที่ผมจะรู้ตัว ผมก็ติดกับดักเดิมอยู่เสมอ ผมรู้สึกว่าตัวเองกำลังสงสัยว่าทำไมบางคนจึงทำร้ายผม ปฏิเสธผม หรือไม่สนใจผม และโดยไม่รู้ตัว ผมพบว่าตนเองกำลังอิจฉาความสำเร็จของคนอื่น รำพึงรำพันความโดดเดี่ยวของตนเองและการที่โลกเอาเปรียบผม แม้ผมจะตระหนักถึงสิ่งเหล่านี้ แต่ผมก็ฝันว่าผมเป็นคนรวย มีอำนาจและมีชื่อเสียง ความคิดเช่นนี้ผยแสดงความเชื่อของผมที่ว่า ผมเป็นบุตรสุดที่รักและเป็นที่พอพระทัยพระเจ้านั้น เปราะบางแค่ไหน ผมกลัวที่จะไม่เป็นที่รัก กลัวถูกกล่าวโทษ ถูกทำโทษ ถูกละเลย ถูกฆ่า จนกระทั่งว่าผมพัฒนากลไกการป้องกันตนเอง และแน่ใจว่าผมได้รับความรักที่ผมต้องการและสมควรได้รับ การทำเช่นนี้ยิ่งทำให้ผมอยู่ห่างไกลจากบ้านของบิดา และผมเลือกที่จะอยู่ใน “ประเทศที่ห่างไกล”

แสวงหาในที่ที่ไม่พบ
    คำถามมีอยู่ว่า “ใครเป็นเจ้าของตัวผม?” พระเจ้าหรือโลก? กิจกรรมต่างๆ ประจำวัน  ทำให้คิดว่าผมเป็นของโลกมากกว่าเป็นของพระเจ้า การถูกวิพากษ์วิจารณ์ธรรมดาทำให้ผมโกรธ และการถูกปฏิเสธเพียงเล็กน้อยก็ทำให้ผมรู้สึกเสียใจ คำสรรเสริญเยินยอเพียงน้อยนิดกระตุ้นผม และความสำเร็จเพียงเล็กน้อยก็ทำให้ผมตื่นเต้น เพียงแค่สิ่งเล็กน้อยเหล่านี้ก็สามารถทำให้ผมรู้สึกดีขึ้นหรือต่ำลงก็ได้ บ่อยครั้งที่ผมเป็นเหมือนเรือเล็กๆ ที่ลอยตามยถากรรมท่ามกลางคลื่นลม เวลาและพลังที่ผมใช้เพื่อรักษาสมดุลมิให้จมลงนั้น แสดงว่าชีวิตของผมก่อนสิ่งอื่นใดเป็นการต่อสู้เพื่อที่จะมีชีวิต มิใช่การต่อสู้ที่ศักดิ์สิทธิ์ แต่เป็นการต่อสู้ที่ทนทุกข์ ซึ่งมาจากความคิดผิดๆ ที่ว่าโลกเป็นผู้กำหนดตัวผม
ตราบเท่าที่ผมมัวแต่เสียเวลาถามคนโน้นคนนี้ว่า “คุณรักผมไหม และคุณรักผมจริงหรือเปล่า” ตราบนั้นผมได้ให้อำนาจแก่เสียงฝ่ายโลก และลดตัวเองอยู่ในสภาพทาส เพราะโลกเต็มไปด้วยคำว่า “ถ้า” โลกพูดว่า “ใช่ ฉันจะรักคุณ ถ้าคุณดูดี ฉลาด และร่ำรวย ฉันจะรักคุณ ถ้าคุณมีการศึกษาดี มีงานที่ดี และมนุษย์สัมพันธ์ดี ฉันจะรักคุณ ถ้าคุณสามารถผลิตได้มาก ขายและซื้อได้มาก” เงื่อนไขอันไม่สิ้นสุดเหล่านี้ซ่อนอยู่ในความรักแบบโลก เงื่อนไขเหล่านี้ยึดผมไว้เป็นทาส เพราะเป็นไปไม่ได้ที่จะตอบสนองข้อเรียกร้องเหล่านี้ได้หมด ความรักตามประสาโลกมีเงื่อนไขเสมอ ตราบเท่าที่ผมแสวงหาตัวจริงของผมในโลกแห่งความรักที่มีเงื่อนไขนี้ ตราบนั้นผมก็ยังยึดติดอยู่กับโลก เป็นโลกที่ส่งเสริมการยึดติด เพราะสิ่งที่โลกให้นั้น ไม่สามารถทำให้ความปรารถนาแห่งหัวใจผมสมหวังได้เลย
    การยึดติดดูเหมือนจะเป็นคำที่ดีที่สุดในการอธิบายถึงความหลงไป  ซึ่งซึมซาบอยู่ทั่วไปในสังคมปัจจุบัน การยึดติดนี้ทำให้เรายึดกับสิ่งต่างๆ ที่โลกได้ประกาศว่าเป็นกุญแจแห่งความสำเร็จ เช่น การสะสมทรัพย์สมบัติและอำนาจให้กับตัวเอง การแสวงหาสถานภาพ ความปรารถนาการยอมรับ การบริโภคอาหารและเครื่องดื่มอย่างฟุ่มเฟือย ความสัมพันธ์ทางเพศ โดยไม่มีการแยกแยะระหว่างตัณหากับความรัก การยึดติดเหล่านี้สร้างความปรารถนาที่ทำให้เราจมอยู่กับความพึงพอใจ และความต้องการลึกๆ ของเรา ถ้าเราดำเนินชีวิตอยู่ใต้อำนาจการหลอกลวงของโลก การยึดติดเหล่านี้ก็จะลงโทษให้เราต้องไปอยู่ใน “ประเทศที่ห่างไกล” ปล่อยให้เราเผชิญกับความหลอกลวงต่างๆ ไม่สิ้นสุด ในโลกที่การยึดติดทวีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ทำให้เราออกไปไกลจากบ้านของพระบิดา ชีวิตที่ตกเป็นทาสของสิ่งเหล่านี้ อาจเรียกได้ว่าเป็นชีวิตที่อยู่ใน “ประเทศที่ห่างไกล” และ ณ ที่นั้นเองที่เราเรียกร้องการปลดปล่อยให้เป็นอิสระ
    ผมคือลูกล้างผลาญ ทุกครั้งที่ผมแสวงหาความรักอันไม่มีเงื่อนไขในที่ซึ่งไม่สามารถพบได้ ทำไมผมถึงไม่รู้จักสถานที่ที่มีความรักแท้  แต่กลับไปแสวงหาที่อื่น ทำไมผมจึงออกจากบ้านที่ผมได้รับเรียกว่าเป็นบุตรพระเจ้า เป็นบุตรสุดที่รักของพระบิดา? ผมแปลกใจที่เห็นว่าผมรับพระพรของพระเจ้าอย่างไร? ทั้งในเรื่องสุขภาพ สติปัญญา และอารมณ์ความรู้สึก และผมใช้สิ่งเหล่านี้เพื่อให้ผู้คนประทับใจ ได้รับการยอมรับและคำสรรเสริญเป็นการตอบแทน แทนที่จะใช้เพื่อพระสิริมงคลของพระเจ้า  ใช่แล้ว บ่อยครั้งผมได้นำพระพรเหล่านี้ออกไปยังประเทศที่ห่างไกล และใช้เพื่อรับใช้โลกที่เอาเปรียบและไม่รู้คุณค่าที่แท้จริง เหมือนกับว่าผมต้องการพิสูจน์ให้ตนเองและโลกได้เห็นว่า ผมไม่ต้องการความรักจากพระเจ้า ผมสามารถดำเนินชีวิตด้วยตัวผมเอง  ผมต้องการเป็นอิสระไม่ขึ้นกับใครทั้งสิ้น ทั้งหมดนี้คือการตอบว่า “ไม่” อย่างสิ้นเชิงต่อความรักของพระบิดา เป็นความปรารถนาที่ไม่ได้กล่าวเป็นคำพูดว่า “ผมอยากให้พ่อตาย” คำว่า “ไม่” ของลูกล้างผลาญสะท้อนถึงการกบฏครั้งแรกของ  อาดัม กล่าวคือเป็นการปฏิเสธพระเจ้า ผู้ทรงสร้างเราดูแลเอาใจใส่เรา ด้วยความรัก เป็นการกบฏที่ทำให้ผมต้องออกจากสวนเอเดน ห่างไกลจากต้นไม้แห่งชีวิต เป็นการกบฏที่ทำให้ผมหายไปใน “ประเทศที่ห่างไกล”
    เมื่อกลับมามองดภาพวาดของเรมแบรนท์อีกครั้ง เวลานี้ผมเห็นถึว่ามีสิ่งที่มากกว่าท่าทีแห่งความรักเมตตาที่มีต่อบุตรที่หายไป เหตุการณ์สำคัญที่ผมเห็นก็คือการสิ้นสุดของการกบฏ เพราะการกบฏของอาดัมและของลูกหลานนั้นได้รับการอภัยแล้ว และการอวยพรครั้งแรกที่อาดัมเคยได้รับชีวิตนิรันดรก็กลับคืนมาดังเดิม  บัดนี้ ดูเหมือนว่าพระหัตถ์นั้นยื่นออกไปเสมอ แม้ว่าจะไม่มีไหล่มารองรับก็ตาม พระเจ้าก็ไม่เคยชักพระหัตถ์กลับ ไม่เคยถอนคำอวยพร  ไม่เคยหยุดเรียกเราว่าบุตรสุดที่รัก อย่างไรก็ตาม พระบิดาไม่สามารถบังคับบุตรให้อยู่แต่ในบ้าน พระองค์ไม่บังคับให้บุตรสุดที่รักรับความรักของพระองค์ พระองค์ต้องปล่อยให้เขาออกไปอย่างอิสระ แม้พระองค์รู้ว่าผลที่ตามมาคือความทุกข์ทรมาน ทั้งสำหรับบุตรและพระองค์เอง ความรักนี้ไม่กักบุตรไว้ที่บ้าน แต่เป็นความรักที่ทำให้พระองค์ปล่อยให้บุตรของพระองค์ค้นพบหนทางชีวิตของตนเอง ถึงแม้จะต้องเสี่ยงที่จะสูญเสียชีวิตก็ตาม
    ณ จุดนี้เองที่รหัสธรรมของชีวิตผมได้รับการไขแสดง ผมเป็นที่รักมากจนกระทั่งพระองค์ปล่อยให้ผมเป็นอิสระที่จะออกจากบ้าน การอวยพรยังคงอยู่ตั้งแต่แรกเริ่ม ผมได้ออกจากบ้านไปและก็ยังทำต่อไป แต่พระบิดายังทรงอยู่ที่นั่นรอคอยผม พระกรกางกว้างเพื่อต้อนรับผม และทรงกระซิบที่ข้างหูของผมอย่างนุ่มนวลว่า “เจ้าคือบุตรสุดที่รักของเรา เราพอใจเจ้ามาก”