บทสรุป
การกลายเป็นบิดา
“จงเป็นผู้เมตตากรุณาดังที่พระบิดาของท่านทรงพระเมตตากรุณาเถิด”
ขั้นของความว้าเหว่และโดดเดี่ยว
ครั้งแรกที่ผมได้เห็นภาพวาดเรื่องลูกล้างผลาญของเรมแบรนท์ นั่นคือจุดเริ่มต้นของการเดินทางฝ่ายจิตซึ่งชักนำให้ผมเขียนหนังสือเล่มนี้ และในขณะที่ผมมาถึงบทสรุป ผมก็ค้นพบว่าผมได้เดินทางมายาวไกลเพียงไร
ตั้งแต่ต้น ผมพร้อมที่จะยอมรับไม่เฉพาะบุตรคนเล็กเท่านั้น แต่บุตรคนโตด้วย ซึ่งได้เผยแสดงมุมมองการเดินทางฝ่ายจิตที่สำคัญแก่ผม นานทีเดียวที่บิดายังคงเป็นคนอื่น เป็นคนหนึ่งซึ่งอาจยอมรับผม ยกโทษให้ผม เสนอบ้านแก่ผม นำความสุขและสันติมาให้ผม บิดาเป็นบุคคลที่เรากลับไปหา เป็นเป้าหมายของการเดินทาง เป็นที่พักแห่งสุดท้าย ผมค่อยๆ ตระหนักด้วยความเจ็บปวดว่า การเดินทางฝ่ายจิตของผมไม่อาจบริบูรณ์ได้ ตราบเท่าที่บิดายังเป็นผู้ที่อยู่นอกตัวผมและเป็นคนแปลกหน้า
เป็นที่แน่ชัดว่า แม้ผมได้รับการอบรมด้านชีวิตจิตและเทววิทยาที่ดีที่สุด แต่สิ่งนี้ก็ไม่สามารถช่วยให้ผมเป็นอิสระได้อย่างสมบูรณ์จากภาพลักษณ์พระเจ้าพระบิดาผู้น่ากลัวและเข้มงวด และแม้ว่าผมได้เรียนรู้เกี่ยวกับความรักของพระบิดา ผมก็ไม่สามารถละทิ้งความคิดเรื่องอำนาจที่ครอบครองเหนือผม และใช้อำนาจนั้นตามน้ำพระทัยของพระองค์ อีกนัยหนึ่งก็คือ สำหรับผม ความรักของพระเจ้าถูกจำกัดด้วยความกลัวในอำนาจของพระองค์ และดูเหมือนจะเป็นการรอบคอบที่ผมรักษาระยะห่างจากพระองค์ แม้ว่าผมปรารถนาอยากอยู่ใกล้ชิดกับพระองค์อย่างยิ่งก็ตาม ผมรู้ว่าหลายคนมีประสบการณ์นี้เช่นเดียวกับผม ผมเห็นว่าความกลัวที่ยอมอยู่ใต้การแก้แค้นและการลงโทษของพระเจ้านั้น ทำให้ชีวิตด้านอารมณ์และความรู้สึกของหลายๆ คนต้องเป็นอัมพาตไป ชีวิตด้านอารมณ์ไม่ขึ้นกับอายุ ศาสนา หรือรูปแบบชีวิต ความกลัวพระเจ้าที่ทำให้ต้องเป็นอัมพาตนี้เป็นหนึ่งในโศกนาฏกรรมอันยิ่งใหญ่ของมนุษย์
ภาพวาดของเรมแบรนท์และชีวิตที่เศร้าสลดของเขา ได้นำเสนอเนื้อหาแก่ผม ซึ่งทำให้ผมค้นพบว่า ขั้นสุดท้ายของชีวิตจิตก็คือการกำจัดความกลัวพระเจ้าให้หมดสิ้นไป และดังนั้น การที่จะเป็นเหมือนพระองค์ก็เป็นสิ่งที่สามารถกระทำได้ ตราบเท่าที่พระบิดาเป็นบุคคลที่ก่อให้เกิดความหวาดกลัว ตราบนั้นพระองค์ก็ยังคงเป็นคนแปลกหน้าและไม่สามารถดำรงอยู่ภายในตัวผม แต่เรมแบรนท์ผู้ซึ่งนำเสนอบิดาที่เปราะบางที่สุดแก่ผม ทำให้ผมสำนึกว่ากระแสเรียกท้ายสุดของผม ที่จริงแล้วก็คือ การเป็นเหมือนบิดาและเลียนแบบบิดา และดำเนินชีวิตตามความเมตตากรุณาในชีวิตประจำวันนั่นเอง แม้ผมจะเป็นทั้งบุตรคนเล็กและบุตรคนโต แต่ผมก็จะไม่คงอยู่เป็นบุตรตลอดไป ผมต้องกลายเป็นเหมือนบิดา ไม่มีบิดาหรือมารดาคนใดที่เป็นพ่อแม่โดยมิได้เป็นลูกชายหรือลูกสาวมาก่อน แต่ลูกชายหรือลูกสาวทุกคนต้องเลือกอย่างมีสติที่จะออกจากความเป็นเด็ก ก่อนที่จะเป็นบิดาและมารดาสำหรับคนอื่นๆ ดูเหมือนว่าเป็นก้าวที่ยากและโดดเดี่ยวมาก โดยเฉพาะในยุคสมัยของประวัติศาสตร์ ซึ่งยากที่จะดำเนินชีวิตเป็นบิดามารดาที่ดี แต่ก็เป็นขั้นที่สำคัญในการทำให้การเดินทางฝ่ายจิตสำเร็จสมบูรณ์
แม้ว่าเรมแบรนท์ไม่ได้ให้บิดาอยู่ตรงกลางภาพวาด แต่ก็ชัดเจนว่าบิดาเป็นศูนย์กลางของเหตุการณ์ แสงสว่างมาจากตัวบิดา และความสนใจก็มุ่งไปที่ตัวเขา เรมแบรนท์ซื่อสัตย์ต่อเรื่องอุปมานี้ ดังนั้น เขาจึงปรารถนาให้ความตั้งใจอันดับแรกของพวกเรา มุ่งไปยังที่ตัวบิดาก่อนบุคคลอื่นๆ
ผมประหลาดใจที่เห็นว่า ผมใช้เวลาไปมากเท่าไรกว่าที่บิดาจะเป็นศูนย์กลางความสนใจของผม เป็นเรื่องง่ายมากที่ผมจะคิดว่าตัวเองเป็นบุตรทั้งสองคน การหายไปของเขาทั้งภายในและภายนอกนั้น สามารถเป็นที่เข้าใจได้ และเป็นธรรมดาของมนุษย์ ซึ่งทำให้เราคิดว่าเราเป็นหนึ่งในสองคนได้อย่างง่ายดาย ผมคิดว่าตัวเองเป็นเหมือนบุตรคนเล็กอยู่นาน และก็ไม่เคยคิดว่าตัวเองเหมือนบุตรคนโตมากกว่า แต่ทันทีที่เพื่อนของผมบอกว่า “คุณเป็นบุตรคนโตในเนื้อเรื่องมิใช่หรือ?” ผมก็มองเห็นว่าผมเป็นบุตรคนโตและไม่คิดอย่างอื่นอีก ในลักษณะเช่นนี้ เราทั้งหมดล้วนมีส่วนร่วมในความเจ็บปวดของมนุษย์ทุกรูปแบบ ความเห็นแก่ตัว ความโกรธ ตัณหา ความขุ่นเคือง ความอิจฉาริษยา ล้วนเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเรา ความเจ็บปวดของมนุษย์แสดงออกในหลายรูปแบบ แต่มิใช่ว่าความโกรธแค้น โจมตี อาชญากรรม และสงคราม จะหยั่งรากลึกในดวงใจของเรา
แล้วหัวใจของบิดาเป็นอย่างไร ทำไมถึงให้ความสนใจต่อบุตรทั้งสอง ในเมื่อบิดาต่างหากที่เป็นศูนย์กลาง และในเมื่อผมคิดว่าตัวเองเป็นบิดา ทำไมต้องพูดมากมายนักเกี่ยวกับการเป็นเหมือนบุตรทั้งสอง ทั้งๆ ที่คำถามที่แท้จริงคือ คุณสนใจที่จะเป็นเหมือนบิดาหรือไม่? การที่สามารถพูดได้ว่า “ลูกสองคนนี้เหมือนฉันเลย” ย่อมให้ความรู้สึกที่ดี เรารู้สึกว่ามีคนเข้าใจเรา แต่จะรู้สึกอย่างไรที่พูดว่า “บิดาเหมือนผมเลย” ผมต้องการจะเป็นเหมือนบิดาหรือ? ผมไม่ต้องการเป็นเพียงแค่ผู้ได้รับการอภัย แต่ผมต้องการเป็นผู้ให้อภัยด้วย และไม่เป็นเพียงผู้ได้รับการต้อนรับกลับบ้าน แต่เป็นผู้คอยต้อนรับด้วย ไม่เป็นเพียงผู้ได้รับความเมตตากรุณา แต่เป็นผู้ให้ความเมตตากรุณาด้วย
พระศาสนจักรและสังคมต่างมีข้อกำหนดแยบยล ที่ทำให้เราเป็นเด็กที่ต้องการการพึ่งพาอยู่เสมอ พระศาสนจักรในอดีตเน้นรูปแบบความนบนอบเชื่อฟัง ซึ่งทำให้ยากที่จะยอมรับความเป็นบิดาฝ่ายจิต และสังคมบริโภคก็สนับสนุนให้เราปล่อยตัวอยู่ในความพึงพอใจแบบเด็กๆ ใครจะท้าทายให้เราปลดปล่อยตัวเองให้เป็นอิสระจากการยึดติดแบบเด็กๆ และให้เรายอมรับภาระความรับผิดชอบแบบผู้ใหญ่? ตัวเราเองใช่ไหมที่พยายามอย่างแข็งขันที่จะหลบหนีจากหน้าที่อันหนักหน่วงของความเป็นบิดา? เรมแบรนท์ได้ทำสิ่งนี้แล้วอย่างแน่นอน หลังจากที่เขาได้รับความเจ็บปวดและความทุกข์ทรมานมากมาย ในเวลาที่เขาได้เฉียดใกล้ความตายนั้นเอง ที่เขาสามารถวาดภาพความเป็นบิดาฝ่ายจิตอย่างแท้จริงได้
คำยืนยันที่มั่นคงชัดเจนที่สุด ซึ่งพระเยซูเจ้าตรัสไว้คือ “จงเป็นผู้เมตตากรุณา ดังที่พระบิดาของท่านทรงพระเมตตากรุณาเถิด” (ลก.6:36) พระเยซูทรงบรรยายถึงความเมตตากรุณาของพระเจ้า ซึ่งไม่เพียงแต่จะแสดงให้ผมเห็นว่าพระเจ้าทรงปรารถนาดูแลผมมากเพียงไร หรือทรงอภัยบาปแก่ผม และประทานชีวิตใหม่ที่เปี่ยมสุขแก่ผมเท่านั้น แต่ยังเชื้อเชิญผมให้เป็นเหมือนพระเจ้า และให้แสดงความเมตตากรุณาต่อคนอื่น ดังเช่นที่พระองค์ได้ทรงแสดงแก่ผม ถ้าหากความหมายของเรื่องอุปมามีอยู่ประการเดียว คือการที่คนทำบาปและพระเจ้าอภัยบาปให้ ผมก็สามารถคิดอย่างง่ายๆ ว่า บาปของผมเป็นโอกาสดีที่พระเจ้าจะทรงให้อภัยผม ซึ่งดูไม่เป็นการท้าทายเลยถ้าจะการตีความเช่นนี้ ผมคงจะยอมอ่อนแอและยังคงหวังต่อไป ที่สุดแล้วพระเจ้าจะหลับพระเนตรและยอมปล่อยให้ผมเข้าบ้าน ความเพ้อฝันเช่นนี้ไม่ใช่สิ่งที่พระวรสารต้องการจะสื่อ
ผมเป็นบุตรคนเล็กหรือเป็นบุตรคนโตนั้นไม่สำคัญ สำคัญอยู่ที่ผมเป็นลูกของพระบิดาผู้ทรงเมตตากรุณา สิ่งนี้แหละที่ผมได้รับเรียกให้เป็นจริง ผมเป็นทายาท ไม่มีใครบอกสิ่งนี้ได้ชัดเจนเท่านักบุญเปาโล “พระจิตของพระองค์กับจิตของเราร่วมกันเป็นพยานว่า เราเป็นบุตรของพระเจ้า และเมื่อเราเป็นบุตร เราก็เป็นทายาท เมื่อเราเป็นทายาทของพระเจ้า เราก็ร่วมรับมรดกกับพระคริสตเจ้า และร่วมแบ่งปันในความทุกข์ทรมานเช่นเดียวกับร่วมแบ่งปันในพระสิริของพระองค์” (รม.8:16-17) แท้จริงแล้ว ในฐานะที่เป็นบุตรและทายาท ผมได้รับเรียกให้เป็นผู้สืบตำแหน่ง ผมถูกกำหนดให้เข้าสู่ฐานะของบิดา และให้มอบความเมตตากรุณาแก่คนอื่น ดังที่พระองค์ทรงมอบแก่ผม ที่สุดแล้ว การกลับไปยังบิดาเป็นการท้าทายให้กลายเป็นเหมือนบิดาด้วย
การเรียกให้เป็นเหมือนบิดานี้ ได้ขจัดการตีความเรื่องอุปมานี้แบบธรรมดาเกินไป ผมรู้ดีว่าผมต้องการกลับไปและได้รับการโอบกอด แต่ผมต้องการที่จะเป็นลูกและทายาท พร้อมกับข้อเรียกร้องทั้งหมดจริงๆ หรือ การอยู่ในบ้านของบิดาเรียกร้องว่าผมต้องทำให้ชีวิตของบิดากลายเป็นชีวิตของผมเอง และเปลี่ยนแปลงตัวผมเป็นเหมือนท่าน
เมื่อไม่นานนี้ ผมส่องกระจกดูตัวเอง และรู้สึกแปลกใจเมื่อเห็นว่าผมเหมือนกับพ่อมาก เมื่อมองดูลักษณะท่าทางของตัวเอง ทันทีผมก็นึกถึงชายคนหนึ่งที่ผมได้เคยเห็นเมื่ออายุ 27 ปี เป็นชายที่ผมเคารพนับถือพอๆ กับที่ได้วิพากษ์วิจารณ์ เป็นชายที่ผมรักพอๆ กับที่ผมกลัว ผมออกแรงมากในความพยายามที่จะค้นพบตัวเอง เมื่อเผชิญหน้ากับบุคคลนี้ มีคำถามมากมายที่เกี่ยวกับว่าผมเป็นใคร และเกี่ยวกับอนาคตของผมที่ถูกกำหนดขึ้นเพราะเป็นลูกของบุคคลนี้ เมื่อผมเห็นชายคนนี้ปรากฏขึ้นในกระจกเงา ผมแปลกใจมากที่ได้เห็นว่า ความแตกต่างทั้งหมดที่ผมรับรู้มาตลอดชีวิตนั้นช่างเล็กน้อยจริงๆ เมื่อเปรียบเทียบกับความคล้ายคลึงกัน ผมรู้สึกตกใจที่ได้สำนึกว่าแท้จริงแล้ว ผมเป็นทายาท เป็นผู้สืบตำแหน่ง เป็นผู้ซึ่งได้รับการชื่นชม เคารพนับถือ สรรเสริญ และไม่เป็นที่เข้าใจของคนอื่น ดังเช่นที่ผมรู้สึกกับพ่อ
ความเป็นบิดาที่มีความเมตตากรุณา
ภาพวาดบิดาเรื่องลูกล้างผลาญของเรมแบรนท์ ทำให้ผมเข้าใจว่า ผมไม่จำเป็นต้องใช้ความเป็นบุตรเพื่อทำให้เกิดช่องว่างหรือความห่างไกล หลังจากที่ได้ใช้สภาพความเป็นบุตรอย่างเต็มที่แล้ว ก็ถึงเวลาที่จะเอาชนะอุปสรรคและยอมรับความจริงว่า การเป็นคนชราที่อยู่ต่อหน้าผมนั้นคือทุกสิ่งที่ผมปรารถนาจะเป็น ผมไม่สามารถเป็นเด็กอยู่ได้ตลอดไป ผมไม่อาจกล่าวโทษบิดาเพื่อแก้ตัวในความผิดพลาดของตน ผมต้องกล้าที่จะยื่นมือออกไปอวยพร และต้อนรับลูกของผมด้วยความเมตตากรุณา โดยไม่คำนึงถึงว่าพวกเขาจะรู้สึกหรือคิดอย่างไรเกี่ยวกับตัวผม เนื่องจากการเป็นเหมือนพระบิดาที่เมตตากรุณานั้น เป็นเป้าหมายสูงสุดของชีวิตฝ่ายจิต ดังที่ปรากฏอยู่ในเรื่องอุปมาและในภาพวาดของเรมแบรนท์ ตอนนี้ผมจึงจำเป็นต้องค้นหาความหมายที่แท้จริง
อันดับแรกสุด ผมต้องระลึกถึงเนื้อเรื่องที่พระเยซูเจ้าทรงเล่าไว้ว่า “ชายคนหนึ่งมีลูกชายอยู่ 2 คน ...” นักบุญลูกาเขียนอีกว่า “คนเก็บภาษีและคนบาป ... เข้ามาใกล้เพื่อจะฟังพระองค์ พวกฟาริสีและคัมภีราจารย์บ่นว่า “ชายคนนี้ต้อนรับคนบาปและกินดื่มร่วมกับพวกเขา” (ลก.15:1-2) พวกเขาสงสัยในความถูกต้องของพระองค์ในฐานะอาจารย์ โดยการตำหนิว่าพระองค์ใกล้ชิดกับคนบาป พระเยซูเจ้าทรงตอบสนองคำวิพากษ์วิจารณ์ของพวกเขาด้วยการเล่าเรื่องอุปมาแกะที่หายไป เหรียญที่หายไป และเรื่องลูกล้างผลาญ
พระเยซูเจ้าต้องการชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนว่า พระเจ้าซึ่งพระองค์ตรัสถึงนั้นคือ พระเจ้าที่มีความเมตตากรุณา ผู้ต้อนรับคนบาปที่กลับใจให้เข้ามาในบ้านของพระองค์ด้วยความยินดี ด้วยเหตุนี้ การที่พระองค์ทรงคบหากับคนที่ชื่อเสียงไม่ดี และกินดื่มร่วมกับพวกเขา จึงไม่ขัดกับคำสอนของพระองค์เกี่ยวกับพระเจ้า แต่ทำให้คำสอนนี้เป็นตัวตนในชีวิตประจำวัน ถ้าพระเจ้าทรงอภัยแก่คนบาป ดังนั้น ผู้ที่เชื่อในพระองค์ก็จะต้องอภัยเช่นเดียวกันด้วย หรือถ้าพระเจ้าต้อนรับคนบาปให้กลับบ้าน ก็ย่อมแน่นอนว่า ผู้ที่ไว้ใจในพระเจ้าก็จะกระทำเช่นเดียวกัน หรือถ้าพระเจ้าทรงเมตตากรุณา ผู้ที่รักพระเจ้าก็จะปฏิบัติความเมตตากรุณาเช่นเดียวกันด้วย พระเจ้าผู้ซึ่งพระเยซูเจ้าประกาศถึงและปฏิบัติในพระนามของพระองค์นั้น เป็นพระเจ้าที่มีความเมตตากรุณา เป็นพระเจ้าผู้มอบพระองค์เป็นแบบอย่างและเป็นต้นแบบ สำหรับการประพฤติปฏิบัติทุกอย่างของมนุษย์ทุกคน
ยิ่งกว่านั้น การเป็นเหมือนพระบิดาเจ้าสวรรค์มิใช่เป็นเพียงแง่มุมหนึ่งที่สำคัญในคำสอนของพระเยซูเจ้าเท่านั้น แต่เป็นหัวใจของคำสอนทั้งหมดเลยทีเดียว ประสิทธิผลของพระวาจาและการเรียกร้องของพระเยซูเจ้านั้นช่างยิ่งใหญ่นัก เมื่อได้ยินเสียงเรียกให้กลายเป็นบุตรของพระเจ้าอย่างแท้จริง
ตราบใดที่เรายังเป็นของโลกนี้อยู่ ตราบนั้นเรายังคงเป็นทาสของรูปแบบการแข่งขันด้วยการคาดหวังสิ่งตอบแทนความดีที่เรากระทำ แต่เมื่อเราเป็นของพระเจ้า ผู้ทรงรักเราอย่างไม่มีเงื่อนไขแล้ว เราก็จะดำเนินชีวิตอย่างที่พระองค์ทรงกระทำ การกลับใจอันยิ่งใหญ่ที่พระเยซูเจ้าทรงเชื้อเชิญเรานั้น คือการผ่านจากการเป็นของโลกมาสู่การเป็นของพระเจ้า
ก่อนที่พระเยซูเจ้าจะทรงสิ้นพระชนม์ไม่นาน พระองค์ทรงอธิษฐานภาวนาเพื่อสานุศิษย์ของพระองค์ว่า “พระบิดาเจ้าข้า พวกเขาไม่เป็นของโลกเหมือนอย่างที่ข้าพระองค์มิได้เป็นของโลก โปรดให้พวกเขาทั้งหลายเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เหมือนอย่างที่พระองค์ทรงดำรงอยู่ในข้าพระองค์ และข้าพระองค์ก็อยู่ในพระองค์ ทั้งนี้เพื่อพวกเขาจะได้ดำรงอยู่ในเรา เพื่อโลกจะเชื่อว่าพระองค์ทรงส่งข้าพระองค์มา” (ยน.17:16-21)
เมื่อเราได้อยู่ในบ้านของพระเจ้า ในฐานะเป็นบุตรชายหญิงของพระองค์ เราก็สามารถเป็นเหมือนพระองค์ คือรัก ใจดี เอาใจใส่ดูแลเหมือนพระองค์ พระเยซูเจ้าทรงชัดเจนในเรื่องนี้ เมื่อทรงอธิบายว่า “ถ้าท่านรักผู้ที่รักท่าน ท่านจะได้บำเหน็จอะไร? แม้คนบาปก็รักผู้ที่รักเขา ถ้าท่านทำดีต่อผู้ที่ทำดีต่อท่าน ท่านจะได้บำเหน็จอะไรเล่า? แม้คนบาปก็ทำเช่นนั้นด้วย ถ้าท่านให้ยืมแต่เฉพาะคนที่หวังจะเอาคืนได้ ท่านก็จะรับบำเหน็จอะไร? แม้คนบาปก็เช่นกัน ให้คนบาปยืมเพื่อจะได้รับตอบแทน ฝ่ายพวกท่านจงรักศัตรู ทำดี และให้ยืมโดยไม่หวังตอบแทน และท่านจะได้รับรางวัลใหญ่ยิ่ง ท่านจะเป็นบุตรของพระผู้สูงสุด เพราะพระองค์ทรงพระทัยดี แม้แต่คนอกตัญญูและคนชั่วช้า จงเป็นผู้มีเมตตา เหมือนพระบิดาของท่านทรงพระเมตตากรุณาเถิด” (ลก.6:32-36)
นี่คือแก่นแท้ของพระวรสาร วิธีการที่มนุษย์ถูกเรียกให้รักกันและกันนั้น ก็คือวิธีการของพระเจ้า เราถูกเรียกให้รักซึ่งกันและกันด้วยความรักที่ไม่เห็นแก่ตัวและต้อนรับด้วยใจกว้าง เหมือนที่เราได้เห็นในภาพวาดบิดาของเรมแบรนท์ ความเมตตากรุณาซึ่งเรียกร้องจากเรานั้นเป็นความรักที่ไม่อิงอยู่บนการแก่งแย่งแข่งขัน แต่เป็นความเมตตากรุณาอย่างหาที่สุดมิได้ ซึ่งไม่มีการแก่งแย่งใดๆ ปะปนอยู่เลย เป็นความรักต่อศัตรูอย่างสิ้นสุดจิตใจ หากเราปรารถนาที่จะไม่เป็นเพียงแค่ได้รับจากพระเจ้า แต่ต้อนรับแบบพระองค์ เราก็ต้องเป็นเหมือนพระบิดาเจ้าสวรรค์ และมองโลกด้วยสายพระเนตรของพระองค์
แต่สิ่งที่สำคัญกว่าเนื้อหาของเรื่องอุปมา และคำสอนของพระเยซูเจ้าก็คือ พระบุคคลขององค์พระเยซูเจ้าเอง พระองค์ทรงเป็นบุตรแท้ๆ ของพระบิดาเจ้า พระองค์ทรงเป็นต้นแบบในการเป็นเหมือนพระบิดา ในพระองค์นั้น พระเจ้าประทับอยู่อย่างบริบูรณ์ ความรู้เรื่องพระเจ้าทั้งหมดดำรงอยู่ในพระองค์ พระสิริของพระเจ้าก็อยู่ในพระองค์ พลังอำนาจของพระเจ้าก็เป็นของพระองค์ พระองค์ทรงเป็นหนึ่งเดียวกับพระบิดาอย่างใกล้ชิดและสมบูรณ์ จนกระทั่งว่าถ้าได้เห็นพระเยซูเจ้า ก็เท่ากับได้เห็นพระบิดา “ฟิลิปพูดกับพระองค์ว่า โปรดแสดงพระบิดาแก่พวกเราเถิด พระเจ้าข้า” แต่พระองค์กลับตอบว่า “ผู้ใดได้เห็นเรา ก็ได้เห็นพระบิดา” (ยน.14:9)
พระเยซูเจ้าทรงแสดงให้เราเห็นถึงการเป็นบุตรอย่างแท้จริง พระองค์ทรงเป็นบุตรคนเล็กที่ไม่กระด้างกระเดื่อง พระองค์ทรงเป็นบุตรคนโตที่ไม่ขุ่นเคือง พระองค์ทรงนอบน้อมเชื่อฟังพระบิดาในทุกสิ่ง แต่ก็ไม่ใช่ทาส พระองค์ทรงได้ยินทุกสิ่งที่พระบิดาตรัส แต่สิ่งเหล่านั้นไม่ได้ทำให้พระองค์เป็นคนรับใช้ พระองค์ทรงทำทุกสิ่งที่พระบิดาทรงสั่งให้กระทำ แต่พระองค์ก็ยังคงมีอิสระ พระองค์ทรงให้ทุกสิ่ง ขณะเดียวกันก็ทรงรับทุกสิ่งด้วย พระองค์ทรงประกาศอย่างเปิดเผยว่า “เราขอบอกความจริงแก่ท่านทั้งหลายว่า พระบุตรไม่อาจทำสิ่งใดได้โดยพระองค์เอง แต่พระองค์ทรงกระทำในสิ่งซึ่งพระองค์ทรงเห็นจากพระบิดา และสิ่งซึ่งพระบิดากระทำ พระบุตรก็ทรงกระทำเช่นนั้นด้วย เพราะพระบิดารักพระบุตร และแสดงทุกสิ่งที่พระองค์ทรงกระทำแก่พระบุตร และพระองค์จะแสดงให้พระบุตรเห็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่างานเหล่านั้น ซึ่งจะทำให้ท่านทั้งหลายประหลาดใจ คือ พระบิดาทรงยกพระบุตรขึ้นมาจากความตาย และประทานชีวิตให้ และพระบุตรจะทรงให้ชีวิตแก่ทุกคนที่พระองค์ทรงเลือก เพราะพระบิดามิได้ตัดสินผู้ใด พระองค์มอบความวางใจในการตัดสินทั้งหมดไว้ที่พระบุตร เพื่อว่าทุกคนถวายเกียรติแด่พระบุตร เหมือนอย่างที่ถวายเกียรติแด่พระบิดา” (ยน.5:19-23)
นี่คือความเป็นบุตรพระเจ้า ซึ่งผมถูกเรียกให้มาเป็น ธรรมล้ำลึกของการไถ่กู้ก็คือ บุตรของพระเจ้าทรงรับเอากาย เพื่อให้ลูกๆ ที่หายไปของพระเจ้ากลับมาเป็นบุตรอย่างที่พระเยซูเจ้าทรงเป็น ในมุมมองนี้ เรื่องราวของลูกล้างผลาญจึงมีมิติใหม่ทั้งหมด กล่าวคือ พระเยซูเจ้าพระบุตรสุดที่รักของพระบิดา ทรงออกจากบ้านของพระบิดาเพื่อรับแบกบาปของบุตรพระเจ้าที่ดื้อดึง และนำพวกเขากลับไปยังบ้านของพระองค์ แต่ในขณะที่พระองค์เสด็จออกมานั้น พระองค์ก็ยังคงอยู่ใกล้ชิดกับพระบิดา โดยผ่านทางความนอบน้อมเชื่อฟังอย่างสิ้นเชิงของพระองค์ พระองค์ทรงเยียวยารักษาพี่น้องชายหญิงที่จมอยู่ในความขุ่นเคือง ดังนั้น เพราะผมพระเยซูจึงกลายเป็นทั้งบุตรคนเล็กและบุตรคนโต เพื่อแสดงให้ผมเห็นว่าจะเป็นเหมือนบิดาได้อย่างไร โดยผ่านทางพระองค์ ผมสามารถกลับเป็นลูกที่แท้จริงอีกครั้ง และในฐานะที่เป็นลูกที่แท้จริง ผมก็จะสามารถเติบโตและกลายเป็นผู้ที่มีความเมตตากรุณา เช่นเดียวกับที่พระบิดาเจ้าสวรรค์ของเราทรงเป็นผู้มีความเมตตากรุณาได้ในที่สุด
ขณะที่ชีวิตของผมผ่านเลยไป ผมได้ค้นพบความยากลำบากและการท้าทาย และยังได้พบกับความสำเร็จในการเติบโตสู่ความเป็นบิดาฝ่ายจิตอีกด้วย ภาพวาดของเรมแบรนท์ได้ตัดความคิดที่ว่าการแสวงหานี้เกี่ยวพันกับอำนาจ อิทธิพล หรือการควบคุม ผมอาจจะเห็นภาพลวงว่าวันหนึ่งเจ้านายทั้งหลายจะตายไป และที่สุดผมเองจะเป็นเจ้านายเอง แต่นี่เป็นวิธีคิดทางโลกซึ่งอำนาจเป็นความคิดหลัก ไม่ยากที่จะจินตนาการว่า คนที่ได้พยายามมาตลอดชีวิตที่จะดำเนินชีวิตโดยไม่มีเจ้านายนั้น แท้จริงเขาไม่ได้แตกต่างจากบรรพบุรุษของพวกเขาเลย ในเวลาที่เขาได้เคยกระทำเช่นนี้มาก่อน ความเป็นบิดาฝ่ายจิตไม่เกี่ยวข้องกับอำนาจหรือการบังคับควบคุม แต่คือบิดาที่มีความเมตตากรุณา ผมยังคงต้องมองภาพบิดาซึ่งกำลังโอบกอดลูกล้างผลาญของเขา เพื่อจะได้เห็นความจริงข้อนี้
แม้ว่าผมจะมีเจตนาที่ดีที่สุด แต่ผมก็ประหลาดใจที่ผมกลับพบว่าตัวเองยังคงต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจ เมื่อผมให้คำแนะนำ ผมต้องการที่จะรู้ว่าได้รับการปฏิบัติตามหรือไม่ เมื่อผมให้ความช่วยเหลือ ผมต้องการคำขอบคุณ เมื่อผมให้เงิน ผมก็ต้องการให้ใช้ตามที่ผมต้องการ เมื่อผมทำบางสิ่งที่ดี ผมต้องการให้มีการระลึกถึง อาจจะไม่ต้องถึงขั้นที่ต้องมีอนุสาวรีย์หรือศิลาจารึกเตือนความทรงจำ แต่ผมก็ไม่อยากถูกลืม ผมอยากจะมีชีวิตอยู่ในความคิดและการกระทำของคนอื่นๆ
แต่บิดาของลูกล้างผลาญไม่ได้เป็นห่วงตัวเอง ชีวิตที่ทุกข์ทรมานมาเนิ่นนาน ได้ทำให้เขาว่างเปล่าจากความปรารถนาที่จะบังคับควบคุมสิ่งใดๆ เขาคิดถึงแต่ลูกเท่านั้น เขาต้องการมอบตัวของเขาทั้งครบให้แก่ลูก และทุ่มเทตัวเองทั้งหมดเพื่อลูกชาย
ผมจะสามารถให้โดยไม่หวังสิ่งตอบแทน และรักโดยไม่มีเงื่อนไขใดๆ ในความรักนั้นได้หรือไม่ เมื่อผมคิดถึงความปรารถนาอันยิ่งใหญ่ที่จะได้รับการยอมรับและรัก ผมก็ตระหนักว่าสิ่งนี้จะเป็นการต่อสู้ตลอดชีวิต แต่ผมก็ยังมั่นใจว่าทุกครั้งที่ผมก้าวข้ามความต้องการนี้ และเป็นอิสระจากความคาดหวังสิ่งตอบแทนใดๆ ชีวิตของผมก็จะสามารถเกิดผลเป็นพระคุณของพระจิตเจ้าได้อย่างแท้จริง
มีหนทางไปสู่การเป็นบิดาฝ่ายจิตไหม? หรือผมถูกตัดสินให้ติดอยู่กับความต้องการของผมเองที่จะพบสถานที่หนึ่งในโลกของผม ซึ่งผมกลับมาใช้อำนาจแทนพลังแห่งความเมตตากรุณา มีการแก่งแย่งแข่งขันที่ทำให้หัวใจของผมหลงทางไป จนผมเห็นความเป็นเด็กของตัวเอง เสมือนเป็นผู้แข่งขัน ถ้าพระเยซูเจ้าทรงเรียกผมให้เป็นผู้เมตตากรุณาเหมือนที่พระบิดาเจ้าสวรรค์ทรงเป็นอย่างแท้จริงแล้ว และถ้าพระเยซูเจ้ามอบพระองค์เองเป็นหนทางนำไปสู่ชีวิตแห่งความเมตตากรุณา ผมก็จะไม่ประพฤติเยี่ยงคนที่แก่งแย่งกัน ผมต้องเชื่อว่าผมสามารถกลายเป็นเหมือนพระบิดา ซึ่งเป็นกระแสเรียกของผม
ความระทมทุกข์ การให้อภัย และความใจกว้าง
เมื่อมองดูภาพบิดาที่เรมแบรนท์วาด ผมเห็นหนทาง 3 ประการที่จะนำไปสู่ความเป็นบิดาที่มีความเมตตากรุณาอย่างแท้จริง นั่นคือความระทมทุกข์ การให้อภัย และความใจกว้าง
อาจจะแปลกที่คิดว่าความระทมทุกข์เป็นหนทางหนึ่งที่มุ่งสู่ความเมตตากรุณา แต่เป็นเช่นนั้นจริงๆ ความระทมทุกข์เรียกร้องผมให้ยอมรับบาปของโลก รวมถึงบาปของตัวเองด้วย เป็นเหมือนสิ่งที่ทิ่มแทงหัวใจของผม และทำให้ผมหลั่งน้ำตามากมาย ไม่ใช่น้ำตาที่หลั่งออกมาจากดวงตา แต่หลั่งออกมาจากหัวใจของผม เมื่อผมพิจารณาถึงการหลงทางมากมายของบรรดาบุตรพระเจ้า รวมทั้งตัณหา ความหยิ่งจองหอง ความรุนแรง ความโกรธ และความขุ่นเคือง และเมื่อผมมองดูสิ่งเหล่านี้ด้วยสายตาแห่งดวงพระทัยของพระเจ้า ผมก็มีแต่จะร้องไห้ด้วยความทุกข์ระทม
ดูเถิด วิญญาณของข้าเอ๋ย ทำไมมนุษย์คนหนึ่งถึงได้ทำให้เพื่อนมนุษย์ต้องทนทุกข์มากมายขนาดนี้ ดูคนเหล่านี้เถิด เขาคบคิดวางแผนที่จะทำอันตรายเพื่อนร่วมชาติ ดูพ่อแม่พวกนี้ที่ทารุณลูกๆ ดูเจ้าของสวนเหล่านี้ที่เอาเปรียบคนงานของเขา หญิงที่ถูกรังแก ชายที่ถูกข่มเหง และเด็กๆ ที่ถูกทอดทิ้ง ดูเถิด วิญญาณของข้าเอ๋ย จงมองดูโลก ค่ายกักกัน คุก บ้านสงเคราะห์ โรงพยาบาล และเจ้าจะได้ยินเสียงร้องของคนยากจน
เสียงร้องแห่งความทุกข์ระทมนี้คือการภาวนา ในโลกของเรามีคนที่ร้องไห้เช่นนี้เหลืออยู่น้อยมาก แต่ความระทมทุกข์เป็นหัวใจที่ทำให้มองเห็นบาปของโลก และรู้ว่าอิสรภาพต้องแลกมาด้วยความระทมทุกข์ ซึ่งถ้าไม่มีอิสระ ความรักก็ไม่อาจผลิบานได้ ผมเริ่มที่จะเข้าใจว่าส่วนหนึ่งของการภาวนาคือการร้องไห้ ความระทมทุกข์นี้ลึกซึ้งรุนแรง มิใช่เพียงเพราะบาปของมนุษย์มีมากเท่านั้น แต่โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เพราะความรักของพระเจ้าไม่มีที่สิ้นสุด เพื่อที่จะเป็นเหมือนพระบิดาผู้มีอำนาจแต่เมตตากรุณานี้ ผมต้องหลั่งน้ำตามากมาย และเตรียมหัวใจของผมให้ยอมรับทุกคน ไม่ว่าเขาจะเป็นมาอย่างไร และให้อภัยเขาจากหัวใจ
หนทางที่สองซึ่งนำผมไปสู่ความเป็นบิดาฝ่ายจิต คือการให้อภัย โดยผ่านทางการให้อภัย เราจะเป็นเหมือนพระบิดา การให้อภัยจากหัวใจนั้นเป็นสิ่งที่ยากมากและแทบจะเป็นไปไม่ได้ด้วยซ้ำ พระเยซูเจ้าตรัสกับสานุศิษย์ของพระองค์ว่า “ถ้าพี่น้องของท่านทำผิดต่อท่านวันละเจ็ดครั้ง และกลับมาหาท่านทั้งเจ็ดครั้ง พูดว่า 'ฉันเสียใจ' ท่านจงให้อภัยเขาเถิด” (ลก.17:4)
ผมพูดอยู่บ่อยๆ ว่า “ผมอภัยให้คุณ” แต่ว่าในขณะที่ผมกล่าวคำพูดนี้ หัวใจของผมยังคงมีแต่ความโกรธหรือขุ่นเคือง ผมยังคงอยากได้ยินว่าที่สุดแล้วผมเป็นฝ่ายถูก ผมต้องการได้ยินคำขอโทษ และต้องการได้รับความพึงพอใจจากคำสรรเสริญเป็นการตอบแทน เพียงเพราะว่าผมได้ให้อภัยแล้ว
แต่การอภัยของพระเจ้าไม่มีเงื่อนไขใดๆ เพราะมาจากหัวใจที่ไม่เรียกร้องสิ่งใดๆ เพื่อตัวเอง เป็นหัวใจที่ปราศจากการแสวงหาตัวเองอย่างสิ้นเชิง ซึ่งเป็นวิธีการให้อภัยของพระเจ้าซึ่งผมต้องฝึกปฏิบัติในชีวิตประจำวัน สิ่งนี้เรียกร้องให้ผมก้าวข้ามข้อโต้แย้งที่ว่าการให้อภัยนั้นไม่ฉลาด ไม่จริงใจ และเป็นไปไม่ได้ การให้อภัยเชื้อเชิญให้ผมก้าวข้ามความต้องการ การยอมรับ และคำชมเชยต่างๆ ที่สุด การให้อภัยเรียกร้องให้ผมก้าวข้ามบาดแผลของหัวใจที่ทำให้ผมรู้สึกเจ็บปวด รู้สึกผิด ต้องการจะควบคุม และวางเงื่อนไขบางอย่างระหว่างผมกับผู้ที่ผมต้องให้อภัย
การก้าวข้ามนี้เป็นกฎเกณฑ์แท้จริงของการให้อภัย อาจจะดีกว่าถ้าใช้คำว่า “ปีนข้าม” มากกว่าคำว่า “ก้าวข้าม” บ่อยครั้งที่ผมปีนข้ามกำแพงของข้อโต้แย้งและความรู้สึกโกรธ ซึ่งผมสร้างขึ้นมาระหว่างตัวเองกับคนอื่นๆ ที่ผมรัก แต่ผมไม่ได้รับความรักตอบแทน เป็นกำแพงของความกลัวที่จะเจ็บอีกครั้ง เป็นกำแพงของความหยิ่งและปรารถนาที่จะควบคุม แต่ทุกครั้งที่ผมปีนข้ามกำแพงสำเร็จ ผมก็ได้เข้าไปในบ้านซึ่งพระบิดาประทับอยู่ และได้สัมผัสกับเพื่อนบ้านของผมด้วยความเมตตากรุณาอย่างแท้จริง
ความระทมทุกข์ทำให้ผมเห็นเลยออกไปจากกำแพงนี้ และรู้ถึงความทุกข์ทรมานอันยิ่งใหญ่ ซึ่งเป็นผลมาจากความหลงของมนุษย์ ความระทมทุกข์เปิดหัวใจของผมให้ร่วมเป็นหนึ่งเดียวกับพี่น้องชายหญิง การให้อภัยเป็นวิถีทางที่จะก้าวข้ามกำแพง และต้อนรับคนอื่นๆ ในหัวใจ โดยไม่หวังสิ่งใดตอบแทน ในเวลาที่ผมระลึกได้ว่าผมเป็นลูกสุดที่รักแล้วเท่านั้น ที่ผมจึงจะสามารถต้อนรับคนอื่นๆ ซึ่งต้องการกลับมาด้วยความเมตตากรุณาอันเดียวกันกับที่พระบิดาได้ต้อนรับผม
หนทางที่สามเพื่อเป็นเหมือนพระบิดาคือ ความใจกว้าง ใน เรื่องอุปมานั้น บิดาไม่เพียงแค่ให้ทุกสิ่งแก่ลูกที่ต้องการออกจากบ้าน เพื่อไปตามทางที่เขาร้องขอเท่านั้น แต่บิดายังได้ให้รางวัลเมื่อเขากลับบ้านอีกด้วย และกับบุตรคนโต บิดาก็ได้บอกว่า “ทุกสิ่งที่พ่อมีก็เป็นของลูก” ไม่มีสิ่งใดที่บิดาเก็บไว้สำหรับตัวเองเลย เขามอบตัวเองทั้งครบแก่ลูกๆ
บิดามิได้ให้มากกว่าสิ่งที่เราคาดหวังว่าจะได้จากคนที่เราทำให้เขาโกรธเท่านั้น แต่เขาได้ให้ตัวเองทั้งครบโดยไม่เก็บสิ่งใดไว้ ทุกสิ่งเป็นของลูกทั้งสองคน ในลูกทั้งสองคนนั้น บิดาต้องการมอบชีวิตของเขาทั้งครบ สำหรับบุตรคนเล็ก บิดาให้เสื้อคลุมยาว แหวน รองเท้า และต้อนรับการกลับบ้านด้วยงานฉลอง เช่นเดียวกันสำหรับบุตรคนโต บิดาได้ขอร้องให้เขายอมรับว่าเขาอยู่ในหัวใจของบิดา และร่วมโต๊ะฉลองกับน้องชาย สิ่งนี้พิสูจน์ว่าพรมแดนของลักษณะความเป็นบิดาแบบผู้ปกครอง ได้ถูกยกเลิกไป นี่ไม่ใช่ภาพของบิดาที่น่าสนใจ แต่เป็นภาพของพระเจ้าผู้ทรงความดี ความรัก ให้อภัย ดูแลเอาใจใส่ ชื่นชมยินดี และเมตตากรุณาอย่างไม่มีที่สิ้นสุด พระเยซูเจ้าทรงแสดงความใจกว้างของพระเจ้า โดยการใช้ภาพลักษณ์ตามวัฒนธรรมของพระองค์ และขณะเดียวกันก็เปลี่ยนความหมายใหม่ด้วย
เพื่อที่จะเป็นเหมือนพระบิดา ผมต้องเป็นผู้มีใจกว้างเช่นเดียวกับพระองค์ เช่นเดียวกับที่พระบิดาทรงมอบพระองค์เองทั้งครบแก่ลูกๆ ของพระองค์ ผมก็ต้องให้ตัวเองทั้งครบแก่พี่น้องชายหญิงของผมเช่นกัน พระเยซูเจ้าตรัสชัดเจนว่า การอุทิศตนเป็นเครื่องหมายแท้จริงแห่งการเป็นศิษย์ของพระองค์ “ไม่มีความรักใดใหญ่ยิ่งกว่าการยอมสละชีวิตเพื่อมิตรสหายของตน” (ยน.15:13)
การอุทิศตนนี้เป็นกฎเกณฑ์อย่างหนึ่ง เพราะว่าไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ สำหรับบุตรของความมืดซึ่งตกอยู่ในความกลัว ความสนใจในตัวเอง ความโลภและยึดมั่นในอำนาจ แรงจูงใจอันยิ่งใหญ่ของพวกเขาก็คือ การเอาชีวิตรอดและการป้องกันตนเอง แต่สำหรับบุตรแห่งความสว่าง ผู้รู้ว่าความรักที่สมบูรณ์นั้นขับไล่ความกลัว ก็จะสามารถให้ทุกสิ่งที่เขามีเพื่อคนอื่นได้
ในฐานะเป็นบุตรแห่งความสว่าง เราเตรียมตัวเพื่อเป็นมรณสักขีที่แท้ คือ บุคคลซึ่งเป็นพยานยืนยันถึงความรักอันหาขอบเขตมิได้ของพระเจ้า ด้วยชีวิตทั้งหมดของเขาเอง การให้ทุกสิ่งจึงกลายเป็นการได้รับทุกสิ่ง พระเยซูเจ้าทรงแสดงสิ่งนี้อย่างชัดเจนโดยตรัสไว้ว่า “ผู้ใดยอมสูญเสียชีวิตของตนเพราะเห็นแก่เรา ... เขาจะรักษาชีวิตนั้นไว้” (มก.8:35)
ทุกครั้งที่ผมพยายามเป็นคนใจกว้าง ผมรู้ว่าผมได้ผ่านจากความกลัวไปสู่ความรัก แต่ในช่วงแรกของขั้นตอนนี้ยากมาก เพราะมีอารมณ์และความรู้สึกต่างๆ มากมายที่ขัดขวางมิให้ผมได้ให้อย่างอิสระ ทำไมผมจึงต้องให้พลัง เวลา เงินทอง รวมถึงความเอาใจใส่แก่คนที่ทำให้ผมขุ่นเคืองใจเล่า? ทำไมผมต้องแบ่งปันชีวิตกับบางคนซึ่งไม่รู้ถึงคุณค่าเลย? ผมพร้อมที่จะให้อภัย แต่ถ้าจะให้มากกว่านี้ล่ะ?
อย่างไรก็ตาม ความจริงก็คือว่าในทางชีวิตจิต บุคคลที่ทำให้ผมขุ่นใจนั้นเป็น “ญาติพี่น้อง” เป็น “พงศ์พันธุ์” ของผมเอง คำว่า “ความใจกว้าง” รวมเอาคำว่า “พงศ์พันธุ์” ซึ่งเราพบได้ในคำว่า “Gender, Generation, Generativity” ซึ่งในภาษาลาติน ใช้คำว่า “Genus” และในภาษากรีกใช้คำว่า “Genos” หมายถึง “ชนิดเดียวกัน พงศ์พันธุ์เดียวกัน” ความใจกว้างจึงเป็นการให้ซึ่งมาจากความสัมพันธ์ใกล้ชิด ความใจกว้างที่แท้มีพื้นฐานอยู่บนความจริง ไม่ใช่ในความรู้สึก บุคคลที่ผมให้อภัยนั้นเป็น “ญาติ” และเป็นคนในครอบครัวของผมเอง และทุกครั้งที่ผมปฏิบัติเช่นนี้ ความจริงดังกล่าวก็จะยิ่งชัดเจนมากขึ้นสำหรับผม ความใจกว้างให้กำเนิดครอบครัวใหม่ที่มีความใจกว้าง
ดังนั้นความระทมทุกข์ การให้อภัย และความใจกว้างจึงเป็น 3 วิถีทาง ซึ่งทำให้ภาพลักษณ์ของพระบิดาเจ้าเติบโตขึ้นในตัวผม เป็นลักษณะการเรียกของพระบิดาให้อยู่ในบ้านของพระองค์ ในฐานะที่เป็นบิดา ผมมิได้ถูกเรียกให้กลับบ้านเหมือนลูกคนเล็กหรือคนโต แต่ให้ผมอยู่ที่นั่นในฐานะเป็นคนหนึ่งซึ่งคอยต้อนรับด้วยความชื่นชมยินดีในการกลับมาของลูกๆ ที่หลงทาง เป็นการยากที่จะอยู่แต่ในบ้านและรอคอย เป็นการรอคอยที่ทุกข์ระทมเพื่อคนที่ออกไปจากบ้าน และเป็นการรอคอยด้วยความหวังที่จะให้อภัยและให้ชีวิตใหม่แก่คนที่กลับมา
ในฐานะที่เป็นบิดา ผมต้องเชื่อว่าทุกสิ่งที่หัวใจของมนุษย์ปรารถนานั้น สามารถมีอยู่ที่บ้าน ในฐานะที่เป็นบิดา ผมต้องเป็นอิสระจากความต้องการที่จะแสวงหาสิ่งที่ผมคิดว่าผมไม่ได้รับในสมัยเป็นเด็ก ในฐานะที่เป็นบิดา ผมต้องรู้ว่าในความเป็นจริงนั้น วัยหนุ่มของผมจบแล้ว และการทำตัวเป็นหนุ่มก็เป็นความพยายามที่ไม่มีประโยชน์ที่จะปิดบังความจริงที่ว่า ผมแก่และใกล้จะตายแล้ว ในฐานะที่เป็นบิดา ผมต้องกล้าที่จะแบกรับความรับผิดชอบของบุคคลผู้บรรลุวุฒิภาวะฝ่ายจิต และกล้าพอที่จะเชื่อว่าความยินดีแท้และความสำเร็จแท้มาจากการต้อนรับผู้บาดเจ็บจากชีวิตกลับสู่บ้าน และรักพวกเขาด้วยความรักที่ไม่เรียกร้องหรือคาดหวังสิ่งใดตอบแทนเลย
มีความว่างเปล่าที่น่ากลัวในความเป็นบิดาฝ่ายจิต นั่นคือการไม่มีอำนาจ ไม่ประสบความสำเร็จ ไม่เป็นที่นิยม ไม่มีชื่อเสียง ไม่เป็นที่พึงพอใจ แต่ในความว่างเปล่าที่ดูน่ากลัวนี้เอง ก็เป็นที่ที่มีอิสรภาพอย่างแท้จริง เป็นสถานที่ซึ่งไม่มีอะไรจะต้องสูญเสียอีกแล้ว เป็นสถานที่ซึ่งความรักไม่มีการเรียกร้อง และเป็นที่ซึ่งพบความเข้มแข็งทางจิตได้อย่างแท้จริง
ทุกครั้งที่ผมสัมผัสความว่างเปล่าที่ดูน่ากลัวนี้ แต่เกิดผลในตัวผม ผมรู้ว่าผมสามารถต้อนรับทุกคนได้โดยปราศจากการตัดสินลงโทษและให้ความหวังแก่เขา ผมรู้สึกเป็นอิสระที่จะรับภาระของคนอื่นๆ โดยไม่ต้องมีการประเมิน การจัดแบ่งหรือการวิเคราะห์ใดๆ เมื่อไม่มีการตัดสินใดๆ ผมก็สามารถก่อให้เกิดความวางใจอย่างอิสระได้
ครั้งหนึ่ง ในขณะที่ผมไปเยี่ยมเพื่อนซึ่งกำลังจะสิ้นใจ ผมมีประสบการณ์ถึงความว่างเปล่าอันศักดิ์สิทธิ์นี้ เมื่ออยู่กับเพื่อนคนนี้ ผมไม่มีความปรารถนาจะถามคำถามใดๆ เกี่ยวกับอดีตหรือคาดหวังอนาคต เราเพียงแค่อยู่ด้วยกันเท่านั้นโดยไม่กลัว ไม่รู้สึกผิดหรือละอาย ไม่วิตกกังวลใดๆ ในความว่างเปล่านั้น เราสามารถรู้สึกถึงความรักที่ไม่มีเงื่อนไขของพระเจ้าได้ และเราสามารถกล่าวอย่างที่ผู้เฒ่าซีเมโอนได้กล่าวไว้ ในขณะที่เขาอุ้มพระกุมารไว้ในวงแขนว่า “พระเจ้าข้า บัดนี้พระองค์ทรงให้ทาสของพระองค์ไปเป็นสุขตามพระดำรัสของพระองค์” (ลก.2:29) ในท่ามกลางความว่างเปล่าอันน่ากลัวนี้ มีความไว้วางใจ สันติ และความชื่นชมยินดีอย่างบริบูรณ์ ความตายไม่เป็นศัตรูอีกต่อไป ความรักกลับเป็นชัยชนะ
ทุกครั้งที่ผมสัมผัสความว่างเปล่าอันศักดิ์สิทธิ์ของความรักที่ไม่เรียกร้องนี้ สวรรค์และแผ่นดินสั่นสะท้าน และ “มีความชื่นชมยินดีในท่ามกลางทูตสวรรค์” (ลก.15:10) เป็นความชื่นชมยินดีในการกลับมาของลูกๆ เป็นความชื่นชมยินดีของความเป็นบิดาฝ่ายจิต
การดำเนินชีวิตแบบบิดาฝ่ายจิตนี้เรียกร้องการฝึกอย่างถอนรากถอนโคน เพราะผมเป็นบุคคลที่ไม่ยอมรับตนเอง และในการแสวงหาการยอมรับและความรัก ผมพบว่าเป็นไปไม่ได้ที่จะรักอย่างมั่นคงโดยปราศจากการเรียกร้องบางสิ่งตอบแทน แต่จริงๆ แล้ว การฝึกฝนนี้ก็คือการล้มเลิกความต้องการที่จะกระทำสำเร็จด้วยตัวเองเสมือนเป็นวีรกรรม เพราะการเป็นบิดาฝ่ายจิตและพลังแห่งความเมตตากรุณาจะเกิดขึ้น ผมต้องยอมให้ลูกคนเล็กที่ล้างผลาญและบุตรคนโตที่ขุ่นเคืองใจ ได้ก้าวขึ้นไปยังจุดที่ยอมรับความรักที่เมตตาและไม่มีเงื่อนไข ซึ่งบิดามอบให้ และเพื่อค้นพบการเรียกให้กลับมาสู่บ้านซึ่งพระบิดาประทับอยู่
ดังนี้เองที่ลูกทั้งสองในตัวของผมจะสามารถแปรเปลี่ยนไปสู่ความเป็นบิดาที่มีความเมตตากรุณาได้อย่างสมบูรณ์ การแปรเปลี่ยนนี้ทำให้ความปรารถนาอันลึกซึ้งในหัวใจที่กระวนกระวายของผมเป็นจริง ความชื่นชมยินดีที่ยิ่งใหญ่สำหรับผมก็คือ การยื่นแขนที่อ่อนล้าของผมออกไป และวางมือทั้งสองข้างในลักษณะการอวยพรบนไหล่ของลูกชายที่กลับบ้าน