บทที่ 3
พระจิตเจ้า : พระผู้เป็นเจ้า และผู้ทรงประทานชีวิต
พระจิตเจ้าของพระเป็นเจ้า ในบรรดาสิ่งสร้างและในประวัติศาสตร์
15. หากเป็นความจริงว่า เราจะสามารถเข้าใจความรอดของพระเยซูเจ้าได้ในบริบทแห่งการสำแดงออก ซึ่งแผนการแห่งความรอดของพระตรี-เอกภาพ ก็ย่อมหมายความว่า พระจิตเจ้าทรงมีส่วนสำคัญยิ่งยวดในรหัสธรรมของพระเยซูเจ้า และความรอดซึ่งพระองค์ทรงนำมาประทานให้ บรรดาสมาชิกของสมัชชาอ้างอิงถึงบทบาทของพระจิตเจ้า ในประวัติแห่งความรอดบ่อยครั้ง โดยให้ข้อสังเกตว่า การแยกแยะองค์พระผู้ไถ่ และพระจิตเจ้าเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง และจะทำให้ความจริงที่ว่า พระเยซูเจ้าทรงเป็นพระผู้ไถ่ของมนุษย์ทุกคนแต่เพียงพระองค์เดียวนั้น ผิดเพี้ยนไป
ในประวัติของคริสตศาสนา พระจิตเจ้ากับชีวิตและการประทานชีวิต เป็นสิ่งที่แยกกันไม่ได้ ข้อความเชื่อไนซีนคอนสตันติโนเปิล เรียกพระจิตเจ้าว่า “พระเป็นเจ้าและพระผู้ทรงประทานชีวิต” จึงไม่แปลกเลยที่การตีความเรื่องการสร้างโลกในหนังสือปฐมกาลนั้น จึงมองเห็นพระจิตเจ้าในลมพายุอันแรงกล้า ทีพัดผ่านอยู่เหนือน้ำ (ดู ปฐก.1:2) พระจิตเจ้าทรงประทับอยู่ตั้งแต่แรกสร้างโลก เป็นการแสดงออกถึงความรักของพระเป็นเจ้า องค์พระตรีเอกภาพเป็นครั้งแรก และทรงประทับอยู่ในโลก ในฐานะที่ทรงเป็นพลังบันดาลชีวิต ในเมื่อการสร้างเป็นจุดเริ่มต้นของประวัติศาสตร์ พระจิตก็ทรงเป็นพลังซ่อนเร้นที่ทรงประกอบพระราชกิจของพระองค์ในประวัติศาสตร์ ทรงนำประวัติศาสตร์ในหนทางแห่งความจริงและความดีงาม
การเผยแสดงพระบุคคลของพระจิตเจ้า และความรักซึ่งพระบิดาและพระบุตรทรงมีต่อกันและกัน เป็นสิ่งที่ปรากฏในพันธสัญญาใหม่ ในความคิดของคริสตชนนั้น พระองค์ทรงเป็นแหล่งกำเนิดแห่งชีวิตและสัตว์โลกทั้งหลาย การสร้างเป็นสื่ออิสระแห่งความรักของพระเป็นเจ้า เป็นสื่อซึ่งบันดาลให้ทุกสิ่งมีชีวิตขึ้นมาจากความว่างเปล่า ไม่มีสิ่งใดที่ได้รับการสร้างมา ที่มิได้เปี่ยมด้วยการแลกเปลี่ยนแห่งความรักอันไม่หยุดหย่อน ซึ่งเป็นการสำแดงออก ซึ่งชีวิตอันลึกซึ้งของพระตรีเอกภาพ และเปี่ยมด้วยพระจิตเจ้า “โลกเปี่ยมล้นด้วยพระจิตของพระเจ้า” (ปชญ.1:7) การที่พระจิตประทับอยู่ในบรรดาสิ่งสร้าง ย่อมบันดาลให้มีระบบระเบียบ กลมกลืน และเป็นการพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันของบรรดาสิ่งที่มีอยู่
มนุษย์ซึ่งได้รับการสร้างมาตามพระฉายาของพระเป็นเจ้า กลับเป็นที่ประทับของพระจิตเจ้าด้วยวิธีใหม่ เมื่อเขาได้ถูกยกให้มีเกียรติเป็นบุตร-บุญธรรมของพระเป็นเจ้า (ดู กท.4:5) อาศัยศีลล้างบาป เขาสัมผัสกับการ ประทับอยู่และพระอานุภาพของพระจิตเจ้า มิใช่ในฐานะที่ทรงเป็นผู้ทรงประทานชีวิตเท่านั้น แต่ในฐานะที่ทรงบันดาลให้สะอาดบริสุทธิ์ และทรงประทานความรอด อันก่อให้เกิดผลแห่งความรัก ความยินดี สันติ ความอดทน ความเอื้ออาทร ความดี ความซื่อสัตย์ ความอ่อนโยน และการควบคุมตนเอง (กท.5:22-23) ผลงานของพระจิตเจ้านี้ เป็นเครื่องหมายว่า “ความรักของพระเป็นเจ้าได้หลั่งลงมาในดวงใจของเรา เดชะพระจิตเจ้า ซึ่งพระเป็นเจ้าทรงประทานให้แก่เรา” (รม.5:5) ความรักนี้ หากรับไว้อย่างเสรี จะช่วยให้ชายหญิงเป็นเครื่องมือแห่งภาระกิจต่อมา โดยไม่หยุดยั้งของพระจิตเจ้า ซึ่งเรามองไม่เห็น ความสามารถที่จะมอบและรับความรักนี้เอง มากกว่าสิ่งอื่นใด ที่เป็นสักขีพยานยืนยันถึงการประทับอยู่ภายใน และพระอานุภาพของพระจิตเจ้า อันเป็นผลให้มีการเปลี่ยนแปลงและการเสริมสร้างใหม่ ซึ่งพระจิตเจ้าทรงบันดาลให้เกิดขึ้นในจิตใจของประชาชน พระองค์จึงทรงสามารถมีอิทธิพลเหนือสังคมและวัฒนธรรม “อันที่จริง พระจิตเจ้าทรงเป็นต้นกำเนิดของอุดมคติและการกระทำอันสูงสุด ซึ่งยังคุณประโยชน์ให้แก่มนุษยชาติ ที่กำลังเดินทางผ่านประวัติศาสตร์ พระจิตของพระเป็นเจ้าทรงกำหนดทิศทางของยุคต่างๆ และทรงบันดาลให้แผ่นดินได้รับการฟื้นฟูขึ้นใหม่ ด้วยการทรงมองการล่วงหน้าอย่างน่าพิศวง
ตามแนวทางของสภาพระสังคายนาวาติกันที่สอง บรรดาสมาชิกสมัชชาได้ให้ความสำคัญกับพระราชกิจอันมากมายหลากหลายของพระจิตเจ้า ผู้ทรงหว่านเมล็ดแห่งความจริงในบรรดาประชาชน ในศาสนาของเขา รวมทั้งวัฒนธรรมและปรัชญาของพวกเขา ซึ่งหมายความว่า ศาสนา วัฒนธรรมและปรัชญาเหล่านี้ สามารถช่วยประชาชนทั้งในส่วนตัวและส่วนรวม ให้ทำการต่อต้านความชั่วและส่งเสริมชีวิต รวมทั้งทุกสิ่งที่ดีงาม พลังแห่งความตายนั้น ทำให้ประชาชนและกลุ่มศาสนิกชนต่างเหินห่างจากกัน บันดาลให้เกิดการแก่งแย้งชิงดีกัน ไม่ไว้วางใจกัน และในที่สุด ก็มีการเข้าใจผิดกัน ตรงกันข้าม พระจิตเจ้าทรงสนับสนุนประชาชนในการแสวงหาความเข้าใจ และความยินยอมน้อมรับซึ่งกันและกัน ดังนั้นนับว่าถูกต้องแล้ว ที่สมัชชามองเห็นว่า พระจิตเจ้าทรงเป็นองค์ปฐมเหตุแห่งการเสวนาของพระศาสนจักรกับประชาชน วัฒนธรรม และศาสนาต่างๆ โดยทั่วไป