โลกาภิวัฒน์
39. เมื่อพิจารณาถึงปัญหาการส่งเสริมสถานภาพของมนุษย์ในเอเซีย บรรดาพระสังฆราชผู้ร่วมประชุมสมัชชา ยอมรับถึงความสำคัญของเศรษฐกิจโลกาภิวัฒน์ ในขณะที่ท่านยอมรับผลในด้านบวกที่มีอยู่มากมาย แต่ในขณะเดียวกันพวกท่านก็ได้ชี้ให้เห็นว่า โลกาภิวัฒน์ก็มีผลในด้านลบต่อผู้ที่ยากจน และมีแนวโน้มที่จะผลักดันให้ประเทศที่ยากจนกว่าและตกขอบอยู่แล้วให้ไปอยู่รอบนอกวงการความสัมพันธ์ในด้านเศรษฐกิจและการเมือง หลายประเทศในเอเซียไม่สามารถรักษาสถานภาพของตัวเองไว้ได้ ในตลาดเศรษฐกิจของโลก บางทีสิ่งที่สำคัญกว่าก็คือ มุมมองของวัฒนธรรมของโลกาภิวัฒน์ ซึ่งสื่อสารที่ทันสมัยสามารถบันดาลให้เกิดขึ้นได้ และกำลังนำสังคมเอเซียเข้าสู่วัฒนธรรมบริโภคนิยมสากล ซึ่งมุ่งไปทางโลกและวัตถุนิยม ผลก็คือการแตกสลายของครอบครัวที่มีมาตั้งแต่ดั้งเดิม และคุณค่าทางสังคม ซึ่งได้หล่อเลี้ยงประชาชนและสังคมมาจนกระทั่งปัจจุบัน ทั้งหลายทั้งปวงนี้ เป็นการบ่งชี้อย่างชัดเจนถึงปัญหาของโลกาภิวัฒน์ ในมุมมองของเชื้อชาติและศีลธรรมนั้น ควรได้รับการแก้ไขโดยตรง จากบรรดาผู้นำประเทศและองค์การต่างๆ ซึ่งเกี่ยวพันธ์กับการส่งเสริมสถานภาพของมนุษย์
พระศาสนจักรเน้นว่าเราจำเป็นต้องมี “โลกาภิวัฒน์ที่ปราศจากการตกขอบ” ข้าพเจ้าขอร่วมเสียงกับบรรดาพระสังฆราชผู้ร่วมประชุมสมัชชา เรียกร้องพระศาสนจักรท้องถิ่นต่างๆ โดยเฉพาะในประเทศแถบตะวันตก ให้ใช้ความพยายามเพื่อให้มีความแน่ใจว่า คำสอนเกี่ยวกับสังคมและพระศาสนจักร ได้มีบทบาทในการออกมาตรการทางด้านศีลธรรมและด้านกฎบัญญัติ ที่จะควบคุมการค้าอย่างเสรีในโลกและสื่อมวลชน ผู้นำคาทอลิกและผู้มีอาชีพต่างๆ ควรเรียกร้องให้รัฐบาลและองค์การการเงิน และการค้า ให้ยอมรับและปฏิบัติตามมาตรฐานเหล่านี้