แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

บทที่ 3 : พระคัมภีร์เขียนโดยการดลใจของพระเจ้า การตีความอธิบายพระคัมภีร์


11)    ข้อความจริงต่างๆ ที่พระเจ้าทรงเผยให้ทราบและมีเขียนไว้ในพระคัมภีร์นั้นได้รับการบันทึกลงไว้ด้วยการดลใจของพระจิตเจ้า  พระศาสนจักร มารดาศักดิ์สิทธิ์ อาศัยความเชื่อที่สืบจากอัครสาวกถือว่าหนังสือทุกเล่มในพันธสัญญาเดิมและในพันธสัญญาใหม่ รวมทั้งส่วนต่างๆทุกส่วนในหนังสือเหล่านั้น ทั้งหมดเป็นหนังสือศักดิ์สิทธิ์และอยู่ในสารบบพระคัมภีร์  เพราะได้เขียนขึ้นโดยการดลใจของพระจิตเจ้า (เทียบ ยน 20:31, 2 ทธ 3:16, 2 ปต 1:9-21, 3:15-16)  มีพระเจ้าทรงเป็นผู้นิพนธ์ และพระศาสนจักรได้รับมอบหมายในฐานะเป็นหนังสือเช่นนี้        แต่ทว่าในการนิพนธ์หนังสือศักดิ์สิทธิ์เหล่านี้    พระเจ้า ทรงเลือกสรรมนุษย์  และทรงใช้เขาให้เขียนโดยใช้กำลังและความสามารถของตนอย่างที่ว่า แม้พระองค์ทรงกระทำงานในตัวเขาและทรงใช้เขาให้เขียนทุกอย่าง และเฉพาะสิ่งที่พระองค์มีพระประสงค์ให้เขาเขียนเท่านั้น  เขาก็ยังเขียนอย่างผู้นิพนธ์ ที่แท้จริงด้วย
    ดังนั้น เนื่องจากว่าทุกสิ่งที่ผู้นิพนธ์ที่ได้รับการดลใจเขียนไว้ต้องถือว่าเป็นสิ่งที่พระจิตเจ้าทรงกล่าวไว้เช่นเดียวกัน    เราจึงต้องยอมรับว่าหนังสือต่าง ๆ ของพระคัมภีร์สอนความจริงอย่างหนักแน่น  ซื่อสัตย์  และถูกต้องไม่ผิดหลง    ความจริงนี้พระเจ้าทรงให้เขียนไว้ในพระคัมภีร์เพื่อความรอดพ้นของเรา    ดังนั้น  “พระคัมภีร์ทั้งหมดซึ่งได้รับการดลใจจากพระเจ้าจึงเป็นประโยชน์สำหรับสั่งสอนตักเตือน  แก้ความผิดหลง  และอบรมให้บรรลุถึงความชอบธรรม    เพื่อให้คนของพระเจ้าเป็นผู้ครบครัน  พร้อมที่จะประกอบกิจการ อันดีงามทุกอย่าง”   (2 ทธ 3:16-17)
12)    เนื่องจากในพระคัมภีร์ พระเจ้าตรัสทางมนุษย์และตามแบบอย่างมนุษย์    ผู้ตีความพระคัมภีร์จะรู้ชัดแจ้งว่าพระเจ้ามีพระประสงค์จะสื่ออะไรกับตน    จึงต้องพิจารณาด้วยความเอาใจใส่ว่าผู้เขียน พระคัมภีร์ต้องการจะให้ข้อความที่เขียนนั้นมีความหมายว่าอย่างไร และพระเจ้ามีพระประสงค์จะแสดงสิ่งใดโดยใช้ถ้อยคำของผู้เขียน
    เพื่อจะทราบความประสงค์ของผู้นิพนธ์พระคัมภีร์  เราต้องพิจารณา“แบบวรรณกรรม”  พร้อมกับสิ่งอื่นๆ ที่จะต้องพิจารณาด้วย  เพราะว่าความจริงในตัวบทนั้นย่อมเสนอไว้ และแสดงออกด้วยวิธีการแตกต่างกัน    แล้วแต่ว่าตัวบทนั้นจะเป็นแบบประวัติศาสตร์ แบบประกาศก หรือแบบกวีนิพนธ์ หรือแบบเขียนอื่นๆ  ผู้อธิบายพระคัมภีร์จะต้องค้นคว้าหาความหมายที่ผู้นิพนธ์พระคัมภีร์มุ่งหมายจะแสดง และได้แสดงออกจริง ๆ ในสภาพแวดล้อมเฉพาะตามสมัยและวัฒนธรรมของเขา  โดยใช้ “แบบวรรณกรรม” ที่ใช้กันในสมัยนั้น เราจะเข้าใจให้ถูกต้องว่าผู้นิพนธ์พระคัมภีร์ต้องการจะบอกสิ่งใดให้ทราบโดยข้อเขียนเช่นนั้นได้    ก็ต้องเข้าใจให้ถูกต้องถึงวิธีรับรู้  วิธีพูดและวิธีเล่าเรื่อง  ตามประเพณีประจำชาติที่ใช้กันอยู่ในสมัยของผู้เขียนเสียก่อน และยังต้องเอาใจใส่ถึงแบบต่างๆที่คนสมัยนั้น มักจะใช้ในการติดต่อสื่อสารกันโดยทั่วไปด้วย
    แต่เนื่องจากว่าเราต้องอ่านและเข้าใจพระคัมภีร์อาศัยพระจิตเจ้าองค์เดียวกันกับที่ทรงดลใจให้เขียน    ดังนั้น    เพื่อจะพบความหมายที่ถูกต้องของตัวบทต่าง ๆ ในพระคัมภีร์ เราจึงต้องระวังด้วยความเอาใจใส่ไม่น้อยกว่ากันถึงเนื้อหา ความเป็นหนึ่งเดียวของพระคัมภีร์ทั้งหมด  และความสอดคล้องกันของข้อความเชื่อต่างๆ ด้วย    เป็นหน้าที่ของผู้อธิบายพระคัมภีร์ที่จะทำงานตามกฎเกณฑ์เหล่านี้  เพื่อเข้าใจและแสดงความหมายของพระคัมภีร์ได้อย่างลึกซึ้งยิ่งขึ้น การศึกษาเช่นนี้จะได้เป็นการเตรียมให้พระศาสนจักรตัดสินได้อย่างสมบูรณ์ขึ้น    เหตุว่าเรื่องต่างๆเหล่านี้ทั้งสิ้นที่เกี่ยวกับวิธีอธิบายพระคัมภีร์ย่อมอยู่ในการวินิจฉัยของพระศาสนจักรเป็นขั้นสุดท้าย พระศาสนจักรปฏิบัติเช่นนี้ตามที่ได้รับ มอบหมายจากพระเจ้าให้มีหน้าที่รับใช้ในการเก็บรักษาและอธิบายพระวาจาของพระองค์นั่นเอง
13)    ดังนั้นพระคัมภีร์จึงแสดงให้เห็นว่า พระปรีชาญาณนิรันดรทรงถ่อมองค์ลงมาอย่างน่าพิศวงเพียงใด โดยที่ความจริงและความศักดิ์สิทธิ์ของพระเจ้ายังคงอยู่อย่างครบครัน  “เพื่อเราจะได้เรียนรู้ถึงพระมหากรุณาสุดพรรณนาของพระเจ้า   และทราบว่าพระองค์ทรงเอาพระทัยใส่ และจัดการปรับภาษาของพระองค์ให้เหมาะสมกับธรรมชาติของเราเพียงไร”    เพราะว่า พระวาจาของพระเจ้า เมื่อแสดงออกเป็นภาษามนุษย์ ก็เป็นเหมือนคำพูดของมนุษย์ ดังเช่นครั้งหนึ่งที่พระวจนาตถ์ของพระบิดานิรันดรทรงรับเอาธรรมชาติของมนุษย์ที่อ่อนแอ  ทรงเป็นเหมือนมนุษย์นั่นเอง