บทที่ 6 : พระคัมภีร์ในชีวิตพระศาสนจักร
21) พระศาสนจักรแสดงความเคารพต่อพระคัมภีร์เสมอมา เช่นเดียวกับที่แสดงความเคารพต่อพระกายของพระคริสตเจ้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพิธีกรรม พระศาสนจักรมิได้หยุดยั้งที่จะนำอาหารเลี้ยงชีวิตคริสตชนทั้งจากโต๊ะพระวาจาและจากโต๊ะพระกายพระคริสตเจ้าเสนอให้สัตบุรุษ พระศาสนจักรถือเสมอมาและยังถือต่อไปว่าพระคัมภีร์พร้อมกับธรรมประเพณีศักดิ์สิทธิ์ เป็นบรรทัดฐานสูงสุดของความเชื่อของตน เพราะว่าพระคัมภีร์ได้รับการดลใจจากพระเจ้า และบันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษรครั้งเดียวสำหรับตลอดไป จึงสื่อพระวาจาของพระเจ้าโดยไม่เปลี่ยนแปลง และทำให้เสียงของพระจิตเจ้ายังก้องอยู่ในวาจาของบรรดาประกาศกและอัครสาวก คำเทศน์ทั้งหมดของพระศาสนจักรจึงต้องได้รับการหล่อเลี้ยงและควบคุมจากพระคัมภีร์เช่นเดียวกับคริสตศาสนาเอง เหตุว่าในพระคัมภีร์ พระบิดาในสวรรค์ทรงพบกับบรรดาบุตรของพระองค์ด้วยความรักอย่างสุดซึ้งและทรงสนทนากับเขา ในพระวาจาของพระเจ้ามีพละกำลังและประสิทธิภาพมากมาย จนว่าพระวาจานั้นค้ำจุนและเป็นพลังของ พระศาสนจักรและเป็นพละกำลังแห่งความเชื่อ เป็นอาหารเลี้ยงวิญญาณและเป็นธารบริสุทธิ์ไม่มีวันเหือดแห้งของชีวิตฝ่ายวิญญาณสำหรับบรรดาบุตรแห่งพระศาสนจักร เพราะฉะนั้น คำกล่าวต่อไปนี้ถึงพระคัมภีร์จึงถูกต้องทีเดียว คือ “พระวาจาของพระเจ้านั้นมีชีวิตและทรงพลังอยู่เสมอ” (ฮบ 4:12) “เสริมสร้างและประทานส่วนมรดกให้ท่านพร้อมกับบรรดาผู้ศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย” (กจ 20:32 เทียบ 1 ธส 2:13)
22) คริสตชนทุกคนต้องมีโอกาสเข้าถึงพระคัมภีร์ได้โดยสะดวก เพราะเหตุนี้ พระศาสนจักรตั้งแต่สมัยเริ่มแรกจึงรับพันธสัญญาเดิมฉบับแปลโบราณเป็นภาษากรีกที่เรียกว่า “เซ็ปตัวยินตา” (Septuaginta หรือ LXX ซึ่งแปลว่า “เจ็ดสิบ”)1 ว่าเป็นของตน ส่วนฉบับแปลเป็นภาษาตะวันออกอื่นๆ และฉบับแปลเป็นภาษาลาติน โดยเฉพาะฉบับแปลที่เรียกว่า “วุลกาตา” (Vulgata) นั้น พระศาสนจักรก็ให้เกียรติเสมอมา แต่เนื่องจากว่าพระวาจาของพระเจ้าจะต้องพร้อมอยู่เสมอสำหรับทุกคนทุกเวลา พระศาสนจักรจึงมีความห่วงใยเยี่ยงมารดาจัดให้มีการแปลพระคัมภีร์เป็นภาษาต่าง ๆ อย่างเหมาะสมและถูกต้องโดยเฉพาะจากต้นฉบับภาษาเดิมทีเดียว คำแปลเช่นนี้ หากได้ทำขึ้นตามโอกาสเหมาะสมและโดยได้รับความเห็นชอบจากผู้ปกครองของพระศาสนจักร แม้จะได้ทำขึ้นโดยร่วมมือกับพี่น้องคริสตชนที่ยังแยกกันอยู่ คริสตชนทุกคนก็อาจนำมาใช้ได้
23) เจ้าสาวของพระวจนาตถ์ผู้ทรงรับสภาพมนุษย์ คือพระศาสนจักร ได้รับคำสั่งสอนจากองค์พระจิตเจ้า พยายามอย่างยิ่งที่จะก้าวหน้าในการทำความเข้าใจพระคัมภีร์ให้ลึกซึ้งมากขึ้น เพื่อจะให้พระวาจาของพระเจ้าเป็นอาหาร เลี้ยงดูบรรดาบุตรของตนอยู่เสมอ ด้วยเหตุนี้จึงถูกต้องแล้วที่พระศาสนจักร ส่งเสริมการศึกษาผลงานของบรรดาปิตาจารย์ทั้งภาคตะวันออกและตะวันตก รวมทั้งศึกษาพิธีกรรมด้วย บรรดาผู้เชี่ยวชาญพระคัมภีร์คาทอลิก และบรรดานักเทววิทยาจึงควรจะรวมกำลังกันอย่างเข้มแข็ง โดยที่พระศาสนจักรผู้มีอำนาจสอนคอยดูแลอย่างใกล้ชิด ใช้วิธีการอันเหมาะสม ทำการศึกษาค้นคว้าและอธิบายตัวบทพระคัมภีร์ เพื่อให้ผู้มีหน้าที่ประกาศสั่งสอนพระวาจาของพระเจ้าจำนวนมากที่สุดเท่าที่จะมากได้นำพระคัมภีร์มาเป็นอาหารเลี้ยงดูประชากรของพระเจ้าได้อย่างเกิดผล อาหารทิพย์นี้ให้ความสว่างแก่สติปัญญา ให้กำลังแก่เจตนาและปลุกจิตใจมนุษย์ให้มีความรักต่อพระเจ้า สภาสังคายนานี้สนับสนุนบรรดาบุตรของพระศาสนจักรผู้ศึกษาพระคัมภีร์ ให้มีความอุตสาหะมานะยิ่งๆขึ้นเพื่อดำเนินงานที่เริ่มด้วยดีแล้วนี้ให้สำเร็จลุล่วงไป โดยอุทิศกำลังทั้งหมดทำงานตามความคิดของพระศาสนจักร
24) เทววิทยานั้นตั้งอยู่บนพระวาจาของพระเจ้าที่เขียนไว้ และบนธรรมประเพณี เสมือนตั้งอยู่บนรากฐานอันถาวร พระวาจาให้ความแข็งแรงมั่นคงและให้ชีวิตอันสดชื่นอยู่เสมอแก่เทววิทยา ในการค้นคว้าพิจารณาความจริงทั้งปวงที่สะสมไว้ ในธรรมล้ำลึกของพระคริสตเจ้า โดยใช้ความเชื่อเป็นแสงสว่าง พระคัมภีร์บรรจุพระวาจาของพระเจ้า และเนื่องด้วยพระคัมภีร์เขียนขึ้นโดยการดลใจของพระเจ้า จึงเป็นพระวาจาของพระเจ้าอย่างแท้จริง ดังนั้นการศึกษาพระคัมภีร์จึงต้องเป็นเสมือนวิญญาณของเทววิทยา ศาสนบริการเกี่ยวกับพระวาจา ซึ่งหมายถึงการเทศน์สอนตามหน้าที่อภิบาล การสอนคำสอน และการอบรมตามนัยพระคริสตธรรมทุกอย่าง ซึ่งมีการเทศน์ในมิสซาเป็นส่วนสำคัญอย่างพิเศษนั้น ต้องได้รับการหล่อเลี้ยงอย่างดี และเจริญเติบโตอย่างศักดิ์สิทธิ์ อาศัยพระวาจาจากพระคัมภีร์นี่เอง
25) ดังนั้น บรรพชิตทั้งหลายโดยเฉพาะบรรดาพระสงฆ์ของพระคริสตเจ้า และคนอื่นๆ เช่นสังฆานุกร และผู้สอนคำสอน ซึ่งมีหน้าที่ประกาศสั่งสอนพระวาจาตามนิตินัย จึงจำเป็นต้องใกล้ชิดกับพระคัมภีร์ โดยอ่านและศึกษาอย่างลึกซึ้งในรายละเอียดอยู่เสมอ ขออย่าให้ใครในพวกนี้กลายเป็น “ผู้ประกาศพระวาจาของพระเจ้าแก่ผู้อื่นอย่างว่างเปล่าด้วยเสียงเท่านั้น แต่ภายในจิตใจเขามิได้เป็นผู้ฟัง พระวาจาเลย” (น.ออกัสติน) เมื่อเขาจะต้องนำพระวาจาอันเป็นสมบัติมหาศาลโดยเฉพาะในพิธีกรรมมาแบ่งปันกับบรรดาสัตบุรุษที่อยู่ในความดูแลของตน ในทำนองเดียวกัน สภาสังคายนานี้ขอเตือนอย่างหนักแน่นเป็นพิเศษให้คริสตชนทั้งหลาย โดยเฉพาะสมาชิกในคณะนักบวช อ่านพระคัมภีร์บ่อยๆ เพื่อจะได้เรียนรู้ “ความรู้ล้ำเลิศถึงพระเยซูคริสตเจ้า” (ฟป 3.8) “เพราะการไม่รู้พระคัมภีร์ คือการไม่รู้จักพระคริสตเจ้า” (น.เยโรม)
ดังนั้น ให้เขายินดีสัมผัสกับตัวบทพระคัมภีร์โดยตรงทางพิธีกรรม ซึ่งอุดมด้วยพระวาจาของพระเจ้า หรือทางการอ่านบำรุงศรัทธา หรือวิธีการอื่นที่เหมาะสมสำหรับการนี้ หรืออาศัยอุปกรณ์อื่นๆ ซึ่งในสมัยนี้แพร่หลายทั่วไปอย่างน่าชื่นชม ทั้งนี้โดยได้รับการเห็นชอบและสนับสนุนจากบรรดาผู้อภิบาลของพระศาสนจักร แต่ให้เขาระลึกด้วยว่าการอ่านพระคัมภีร์จะต้องมีการภาวนาควบคู่อยู่ด้วยเสมอ เพื่อจะเป็นการสนทนาของพระเจ้ากับมนุษย์ เพราะว่า “เราพูดกับพระเจ้าเมื่อเราภาวนา เราฟังพระองค์เมื่อเราอ่านพระวาจา” (น.อัมโบรส)
เป็นหน้าที่ของบรรดาพระสังฆราช “ผู้เป็นคลังรักษาคำสั่งสอนของบรรดาอัครสาวก” (น.อีเรเน) ที่จะใช้วิธีการอันเหมาะสมสั่งสอนสัตบุรุษที่อยู่ ในความปกครองดูแลของตนให้รู้จักใช้หนังสือพระคัมภีร์อย่างถูกต้อง โดยเฉพาะพันธสัญญาใหม่และพระวรสารเป็นพิเศษ พระสังฆราชทำหน้าที่นี้ โดยใช้คำแปลตัวบทพระคัมภีร์ที่มีคำอธิบายที่จำเป็นและเพียงพอจริงๆประกอบด้วย เพื่อว่าบรรดาบุตรของพระศาสนจักรจะได้มีความคุ้นเคยกับพระคัมภีร์อย่างปลอดภัยและได้ประโยชน์ และมีจิตใจเปี่ยมด้วยเจตนารมณ์ของพระคัมภีร์
ยิ่งกว่านั้น ควรให้มีการจัดพิมพ์พระคัมภีร์ที่มีคำอธิบายเหมาะสมแบบต่างๆที่ทุกคน แม้ผู้ที่มิใช่คริสตชนจะใช้ได้ด้วย และควรดัดแปลงพระคัมภีร์ให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมของเขา ให้ผู้อภิบาลสัตบุรุษ และคริสตชนทุกชั้นทุกฐานะพยายามเผยแพร่หนังสือพระคัมภีร์ประเภทนี้ทุกวิถีทางอย่างรอบคอบด้วย
26) ดังนั้น อาศัยการอ่านและการศึกษาพระคัมภีร์ “พระวาจาของพระเจ้าจะได้รุดหน้าไป และได้รับความเคารพนับถือ” (2 ธส 3:1) และการเผยความจริงอันเป็นขุมทรัพย์ที่พระศาสนจักรได้รับมอบหมายไว้นั้น จะได้เข้าสู่ดวงใจมนุษย์อย่างเต็มเปี่ยมยิ่งๆขึ้น ชีวิตของพระศาสนจักรเจริญเติบโตขึ้น จากการร่วมพิธีบูชามิสซาและรับศีลมหาสนิทบ่อยๆฉันใด เราก็หวังได้ว่า จะมีแรงผลักดันใหม่ๆ ต่อชีวิตฝ่ายจิตใจจากการเพิ่มความเคารพยิ่งๆขึ้นต่อพระวาจาของพระเจ้าซึ่ง “ดำรงอยู่ชั่วกาลนาน” (อสย 40:8 เทียบ 1 ปต 1:23-25) ฉันนั้น
ข้อความทั้งหมดและแต่ละข้อที่ประกาศไว้ในสังฆธรรมนูญฉบับนี้ บรรดาปิตาจารย์แห่งสภาสังคายนาเห็นชอบแล้ว และอาศัยอำนาจจากบรรดาอัครสาวก ซึ่งได้รับมอบมาจากพระคริสตเจ้า ข้าพเจ้า พร้อมกับบรรดาปิตาจารย์ที่เคารพเหล่านี้ จึงรับรอง กำหนดและตราไว้ในพระคริสตเจ้า และข้อความที่สภาสังคายนาได้ตราขึ้นนี้ ข้าพเจ้าสั่งให้ประกาศใช้เพื่อเป็นเกียรติแด่พระเจ้า
ประกาศที่กรุงโรม ณ พระมหาวิหารนักบุญเปโตร
วันที่ 18 เดือน พฤศจิกายน ค.ศ. 1965.
ข้าพเจ้า เปาโล สังฆราชแห่งพระศาสนจักรคาทอลิก
ตามด้วยการลงนามของบรรดาพระสังฆราชอื่นๆ